ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : โรคห่า ข้าทาส และผีปอบ กับชะตากรรมของคนนอกที่สองคอน

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ที่มาภาพ : http://dmiceplanner.businesseventsthailand.com/dmice/venue-detail.php?m=1518136

โรคห่า ในความหมายดั้งเดิมหมายถึงโรคระบาด จะเป็นโรคอะไรก็ได้ เพราะคำว่า “ห่า” แปลว่า มากๆ ในที่นี้คือมีคนตายมาก ไม่ใช่หมายถึงอหิวาตกโรคเป็นการเฉพาะ อย่างที่เข้าใจผิดกันในชั้นหลัง เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันนี่แหละ

แต่หลายครั้งการระบาดของโรคห่าก็ไม่น่ากลัวเท่ากับใจคน

ตัวอย่างที่น่าเศร้าครั้งหนึ่งในไทยเกิดขึ้นที่ บ้านสองคอน จ.นครพนม (ปัจจุบันตั้งอยู่ใน ต.ป่งขาม อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร)

ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน บริเวณพื้นที่ สองคอน ยังเป็นเพียงพื้นที่รกร้างที่ถูกถากถางและบุกเบิกโดยข้าราชการยศไม่ใหญ่โตนัก พร้อมกับไพร่ทาสบริวารอีกหลายสิบชีวิต พื้นที่รกร้างดังกล่าวจึงค่อยกลายมาเป็นชุมชนขนาดย่อม พอกินพออยู่กันแบบสโลว์ไลฟ์ เศรษฐกิจพอเพียง

จนกระทั่งวันหนึ่งโรคห่าก็ได้มาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้

และก็ด้วยความเป็นหมู่บ้านที่ไกลปืนเที่ยงขนาดนั้น ซ้ำยังเป็นช่วงเวลาที่ผู้คน (แม้กระทั่งไพร่ฟ้าหน้าใสๆ ที่ไม่ใช่ชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ เองก็ตาม) ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีใหม่จากโลกตะวันตก ซึ่งก็รวมถึง หยูกยาและความรู้ทางการแพทย์ต่างๆ ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรทำนองนี้ขึ้น จึงยกให้เป็นเรื่องความ “เฮี้ยน” ของเจ้าที่เจ้าทาง หรือผีสางนางไม้

ผีทำแน่ๆ ครับ ไม่อย่างนั้นอยู่ๆ ในชุมชนที่ปิดซะขนาดนี้โรคมันจะระบาดมาจากไหนได้?

ว่าแล้วก็ต้องไปเชิญอะไรที่ปราบผีมาให้ได้ ไม่อย่างนั้นชาวบ้านชาวช่อง ประชากรชาวสองคอนคงจะอยู่เป็นสุขกันไม่ได้แน่

 

เคราะห์ดีที่สิ่งมีชีวิตที่มาปราบผีมีชื่อว่าคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ซึ่งก็คือบาทหลวงสัญชาติฝรั่งเศส ที่ถูกส่งตัวมาเผยแพร่คริสต์ศาสนาตามหัวเมืองภาคอีสาน

แต่คุณพ่อท่านไม่ได้ปราบผีด้วยวิธีการแบบในภาพยนตร์ประเภทเอ็กโซซิสต์ที่เราเห็นกันอยู่เนืองๆ หรอกนะครับ อะไรที่ท่านนำมาน่าจะเป็นยารักษาโรค และความรู้ทางการแพทย์แผนตะวันตกสมัยใหม่มากกว่า

ในยุคอาณานิคม บาทหลวงผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์มักจะเข้ามาพร้อมกับความรู้ทางการแพทย์ เรียกได้ว่า เผยแพร่ศาสนาไป รักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วยไป เป็นการซื้อใจผู้คนให้หันมาเข้ารีตเป็นศาสนิกชนในพระเยซูเจ้า

เราจึงมีคำเรียกบาทหลวงเหล่านี้ว่า “หมอสอนศาสนา” นั่นเอง

ดังนั้น ผีร้ายที่หอบเอา “โรคห่า” มาเพ่นพ่านในบ้านสองคอนนี้ จึงพ่ายแพ้ให้กับความรู้ทางการแพทย์นำสมัยเมื่อครั้งกระโน้น ไม่ใช่ไม้กางเขน น้ำมนต์ บทสวด หรือพระคัมภีร์ (Bible แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ที่ไหน

เมื่อปราบผีห่าลงได้แล้ว ผู้คนในบ้านสองคอนจำนวนหนึ่งจึงพากันศรัทธาต่อพระเจ้า ศาสนาคริสต์ และแน่นอนว่าย่อมศรัทธาต่อบาทหลวงเกโกด้วย คุณพ่อท่านนี้จึงสามารถปลูกวัดในคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก ลงที่บ้านสองคอนได้อย่างมั่นคง เมื่อเรือน พ.ศ.2430 (ข้อมูลบางแห่งอ้างว่า พ.ศ.2428) เช่นเดียวกับที่ท่านเคยสร้างวัดคริสต์ขึ้นในเมืองอุบลราชธานีมาก่อนแล้วเมื่อ พ.ศ.2424

และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ศาสนาคริสต์ก็หยั่งรากฝังลึกลงในบ้านสองคอน ดินแดนที่ผีห่าเคยออกอาละวาดมาโดยตลอด

 

พลเมืองที่บ้านสองคอนค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นมาจากการที่ประชากรบางส่วนมาจากบรรดาทาส ที่คุณพ่อเกโกไถ่ตัวมา จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2450 ที่บ้านสองคอนก็มีคริสต์ศาสนิกชนอยู่มากถึง 188 คน และคุณพ่อท่านก็ได้ตั้งชื่อวัดที่บ้านสองคอนนี้ว่า “วัดพระแม่ไถ่ทาส”

แต่ที่บ้านสองคอนก็ยังมีประชากรบางส่วนย้ายมาจากที่อื่น ซึ่งจะเรียกว่าย้ายก็คงไม่ถูกนัก เพราะส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้ไม่เป็นที่ต้อนรับในชุมชนดั้งเดิมของตนเอง ด้วยข้อหาอุกฉกรรจ์เพราะถูกใส่ความว่าเป็น “ปอบ”

ใช่ครับ ใช่ “ผีปอบ” เดียวกันกับที่มักจะถูกพรรณนาว่าร้ายว่า มีบุคลิกหลุกหลิกๆ ไม่สบตา หรือสุงสิงกับใคร ชอบหลบไปอยู่โดดเดี่ยว ปลูกเรือนซะห่างไกลผู้คนในชุมชน แต่รู้หมดว่าบ้านไหนมีตัวอะไรให้ควักตับไตไส้พุงมาพอประทังให้อิ่มท้องของปอบได้บ้าง? ยิ่งใครท้องใครอะไรรู้หมดครับ เพราะลูกน้อยในท้องของแม่นั่นแหละ ที่เชื่อกันว่าเป็นอาหารระดับมิชลินสตาร์ของผีปอบเลย

แต่บนพื้นฐานของความเป็นโลกสมัยใหม่ ปอบที่ไหนคงจะไม่ถูกนับเป็นสิ่งมีชีวิตอีกสปีชีส์หนึ่ง ที่ดำรงอยู่รอบกายมนุษย์อย่างเราๆ หรอกนะครับ ถ้าไม่บังเอิญว่า บ้านสองคอนในยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สมัยใหม่ของสยามนั้น ถือเป็นชายขอบของชายขอบเลยทีเดียว

ในสายตาของคนทั่วไปในขณะนั้น “ชาวคริสต์” ที่อาศัยอยู่ในบ้านสองคอน จึงมีทั้งพวก “ปอบ” ลี้ภัย และบรรดาคนที่เคยเป็น “ทาส” ซึ่งต่างก็เป็น “คนนอก” ในสายตาชาวพุทธอีสาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายตาจากชาวพุทธส่วนกลาง ในนามแห่งอำนาจรัญสยามอันศักดิ์สิทธิ์แน่

 

ปลายปี พ.ศ.2483 เมื่อ “กรณีพิพาทอินโดจีน” ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสปะทุขึ้นมา ชุมชนของ “คนนอก” อย่างบ้านสองคอนก็จึงต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ ที่ดูจะร้ายแรงยิ่งกว่าพวก “ผีห่า” ที่เคยนำโรคระบาดมาให้ชุมชนแห่งนี้เสียอีก

กรณีพิพาทอินโดจีนที่ว่าก็คือ เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในสมรภูมิสงครามมหาเอเชียบูรพา อันเป็นสมรภูมิอีกแห่งหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีคู่กรณีเป็นประเทศไทยและฝรั่งเศส

ผลจากการเชื้อชวนให้คลั่งชาติของลัทธิเผด็จการท่านผู้นำ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในระยะนั้น ทำให้เกิดกระแสการทวงคืนดินแดนที่ถูกทำให้เชื่อว่าสยามเสียให้กับฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าจะเป็นประเทศลาว หรือเขมรส่วนใน 4 จังหวัดคือ เสียมเรียบ พระตะบอง โพธิสัตว์ และศรีโสภณ

ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว ดินแดนต่างๆ เหล่านี้ไม่เคยเป็นของสยามในทางนิตินัย อย่างรัฐชาติสมัยใหม่ (ซึ่งหมายถึงการมีดินแดนและขอบเขตบนแผนที่ซึ่งได้รับการรับรองจากนานาชาติ) เลย

กระแสคลั่งชาติบานปลายไปจนถึงขั้นที่ว่า นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ณ ขณะจิตนั้น ลุกออกมาเดินขบวนประท้วงกันเพื่อเรียกร้องเอาดินแดนที่เสียไปจากกรณี ร.ศ.112 คืนจากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2483

และนำไปสู่สมรภูมิย่อยๆ อย่างสมรภูมิบ้านพร้าว หรือยุทธนาวีที่เกาะช้าง เป็นต้น

และด้วยสถานการณ์อย่างที่ว่า ชาวคริสต์จากบ้านสองคอน ในฐานะที่เป็นคนนอก ก็นับได้ว่า “อยู่ยาก” อยู่แล้ว แต่การที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกของประเทศไทยในยุคนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของคณะบาทหลวงชาวฝรั่งเศส ก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านสองคอนอยู่ยากขึ้นไปอีกนับเท่าตัวเลยทีเดียว

 

บาทหลวงเปาโล ฟีเกต์ ซึ่งประจำอยู่ที่วัดพระแม่ไถ่ทาสในขณะนั้นถูกบังคับให้เดินทางออกจากประเทศไทย ส่วนพระศาสนจักรคาทอลิกในไทยก็ถูกกระแสโจมตี และเบียดเบียนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่บ้านสองคอนนี่แหละ

นายสีฟอง อ่อนพิทักษ์ ครูประจำวัดในขณะนั้น ได้เขียนจดหมายไปร้องเรียนนายอำเภอมุกดาหาร (ขณะนั้นยังไม่เป็นจังหวัด) ว่าชุมชนและหลักความเชื่อของพวกเขากำลังถูกทั้งเหยียดหยาม ทั้งเบียดเบียน และนั่นก็เป็นเหตุให้ครูสีฟองถูกนายตำรวจสองนายอุ้มไปสังหาร

แต่สิ่งที่ชั่วร้ายยิ่งกว่าก็คือ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เรียกประชุมชาวบ้านสองคอนแล้ว “สั่ง” ให้เปลี่ยนศาสนา

ปรากฏว่ามีคริสชนจำนวน 8 คนที่ไม่ยอมรับในอำนาจเถื่อนดังกล่าว หนึ่งในจำนวนนั้นโชคดีที่พ่อของเธอมาตามตัวกลับบ้านได้ทัน

ในขณะที่อีก 7 คนที่เหลือไม่ได้โชคดีอย่างนั้น

ลูกกระสุนหลุดออกจากรังเพลิง พร้อมกลิ่นโชยเหม็นไหม้ แต่ก็ไม่เหม็นเท่ากับความตาย ทีละนัดๆ พร้อมกับชีวิตที่ปลิดปลิวของเธอผู้กล้าหาญทีละคนๆ

พวกเธอทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้หญิง มีทั้งคนที่เป็นซิสเตอร์ (นางชี) และลูกบ้านสองคอน

เคราะห์ยังดีที่มีคนหนึ่งหนีรอดจากความตายมาได้

ยอดจำนวนผู้เสียชีวิตที่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นของความคลั่งชาติจึงมีทั้งสิ้น 6 คน ไม่ใช่ 7 อย่างที่เกือบจะเป็น

แต่ก็นั่นแหละครับ ในชุมชนเล็กๆ ที่รอดพ้นจากโรคระบาด ด้วยฤทธิ์ของผีห่ามาได้รอบหนึ่ง กลับถูกความคลั่งราวกับติดโรคระบาดจากผีห่าอีกตน แต่คราวนี้เป็นโรคห่าทางใจ ที่ดูจะร้ายแรงยิ่งกว่ามาระรานจนพวกเธอต้องเสียชีวิตลง

เราก็คงได้แต่หวังใจว่าพวกเธอจะได้ไปสู่สุคติในดินแดนแห่งพระเจ้าของพวกเธอ และไม่ต้องมาทนทรมานในดินแดนที่ชวนอนิจจังนี้อีก

วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2532 พระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศสดุดีวีรกรรมให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ทั้ง 7 คน เป็น “บุญราศีมรณสักขี”

โดย “บุญราศี” (The Blessed) คือคำนำหน้าชื่อยกย่องคริสต์ชนที่เสียชีวิตไปแล้ว และภายหลังปรากฏว่ามีกิตติศัพท์และคุณงามความดี มีผู้เคารพนับถือมากมาย จนสัตบุรุษและคณะสงฆ์ส่งเรื่องไปที่สันตะสำนัก เพื่อขอให้สอบสวนพิจารณาว่าคนเหล่านี้เป็นคนดีจริง จึงได้ประกาศเป็นบุญราศี หรือนักบุญ (Saint) และนับเป็นชาวไทยกลุ่มแรกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุญราศี

ผมไม่แน่ใจนักว่า ถ้าเลือกได้พวกเขาจะอยากเป็นบุญราศี หรืออยากจะมีชีวิตอยู่โดยปกติสุข?

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว “ผีห่า” ที่ว่าร้าย บางทีก็ทำลายชีวิตคนได้ไม่เจ็บปวดเท่าน้ำมือของ “มนุษย์” ด้วยกันเองนี่แหละ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่