มุกดา สุวรรณชาติ : ปฏิรูป-ปฏิหลอก คือ…วาทกรรม ที่ลงมือทำ… คือชิงอำนาจ

มุกดา สุวรรณชาติ

12 ปี และ 6 ปี…แห่งความหลัง
ที่หลอกลวง

เดือนธันวาคม 2556 นับตั้งแต่ กปปส.ประกาศต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และก็มีการขานรับจากคณะรัฐประหาร คสช. จนมีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อ 6 ตุลาคม 2557 เร็วมาก แค่ 4 เดือนหลังยึดอำนาจได้ มีสมาชิก 250 คน และก็ถูกยุบเร็วมาก 6 ตุลาคม 2558 ไม่ถึงปี เพราะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มีผลให้ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับ…เขาอยากอยู่ยาว…และรัฐบาลชั่วคราวที่สัญญาว่าจะอยู่ไม่นาน ก็เลื่อนไปอีก 5 ครั้ง มาเลือกตั้งปี 2562

เรื่องจริงคือไม่มีการปฏิรูป แต่มีการล้มระบอบประชาธิปไตย

และนี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศเราถอยมาจนถึงจุดนี้

เรื่องโรคระบาด Covid-19 เป็นเพียงตัวเร่งมาเปิดแผลที่เป็นหนองเน่าอยู่ภายในออกมาให้เห็นเร็วขึ้นเท่านั้น

แต่การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองทุกวันนี้ คล้ายระบอบอำมาตยาธิปไตย ดังนั้น ผลที่ออกมาก็จะคล้ายการบินไทย

จนถึงวันนี้ใช้เวลาตั้งนาน ปฏิรูปอะไรได้บ้าง หรือเป็นแค่…วาทกรรม…ที่หลอกกัน เพื่อใช้ชิงอำนาจกันเท่านั้นเอง

เมื่อครั้งที่ต้องการโค่นอำนาจรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองถูกใช้ให้ออกมาเป็นแนวหน้า ตามด้วยการรัฐประหารสำเร็จในปี 2549

แต่การสืบทอดอำนาจที่ต้องการผ่านกระบวนการเลือกตั้ง กลับไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ เพราะประชาธิปัตย์ (ปชป.) แพ้พรรคพลังประชาชน ม็อบพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองต้องออกแรงอีกรอบ โดยการยึดทำเนียบรัฐบาล

และสุดท้ายก็ถูกหลอกให้ไปยึดสนามบินทั้งๆ ที่จะใช้ตุลาการภิวัฒน์ปิดเกมในอีก 2-3 วัน เป็นการทำลายชื่อเสียงของกลุ่มอย่างย่อยยับ และกลายเป็นคดีความติดตัวมาจนทุกวันนี้

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจ ผู้ได้รับประโยชน์เต็มที่กลับกลายเป็นพรรค ปชป. สำหรับแกนนำพันธมิตรฯ ทุกคนล้วนมีชะตากรรมแบบที่ปรากฏในข่าว ถึงรอดตายก็มีคดี ต่อรองอะไรไม่ได้

 

บทเรียน ลับ…ลวง…หลอก
ในเกมชิงอำนาจ
หลอกประชาชน หลอกม็อบ

ต้องย้อนดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นหลังล้อมปราบการชุมนุม 2553

นี่คือภาค 2 ของการชิงอำนาจ

มีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 ที่เพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แต่กลุ่มอำนาจเก่าไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในครั้งนั้นจึงพยายามหาทางชิงอำนาจกลับคืนและก็ทำได้สำเร็จ แต่ต้องใช้ทั้งม็อบ กปปส.+ตุลาการภิวัฒน์+การรัฐประหาร 2557

เกมโค่นอำนาจนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2557 เป็นการระดมกำลังของกลุ่มอำนาจเก่าครั้งใหญ่ เพื่อชิงอำนาจอธิปไตยจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเกินกว่าครึ่งสภา

ครั้งแรกใครๆ ก็คิดว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ซึ่งไม่รู้เรื่องการเมืองอะไรเลย ทำแต่ธุรกิจ คงไปไม่รอดเกิน 6 เดือน ยิ่งเห็นน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่ยังไม่ทันรับตำแหน่งก็คิดว่าไปไม่รอดแน่

แต่พอผ่านไปได้เพียง 1 ปี กระแสความนิยมเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าถ้าปล่อยไปอย่างนี้ก็จะมีโอกาสติดปีกแบบนายกฯ ทักษิณ

ดังนั้น จึงต้องหาทางกำจัดโดยเร็ว เมื่อพรรคเพื่อไทยพลาดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม จึงก่อม็อบขึ้น

ความผิดจากการล้อมปราบผู้ชุมนุมในปี 2553 กลายเป็นแรงกดดันให้กลุ่มอำนาจเก่าต้องชิงอำนาจมาให้ได้อีกครั้ง

ที่จริงรัฐบาลเริ่มเจอกระแสต้านตั้งแต่ปี 2555 ในกรณีม็อบแช่แข็ง

แต่ครั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เอาแล้ว ทำให้ ส.ส ส่วนหนึ่งของประชาธิปัตย์ต้องออกหน้าเอง ทิ้งความเชื่อมั่นแนวทางรัฐสภา มาตั้งกลุ่ม กปปส.โดยกลุ่มอำนาจเก่าได้เปิดหน้าระดมกำลังทุกองค์กร ทุกสถาบัน ตั้งแต่ระดับกรรมการสภามหาวิทยาลัยจนถึงนักศึกษา ลงมาเดินประท้วงบนถนน

แต่ 9 ธันวาคม 2556 รัฐบาลประกาศยุบสภาคืนการตัดสินใจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นายกฯ ยิ่งลักษณ์กลายเป็นผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี

ฝ่าย กปปส.รู้ว่าเลือกตั้งใหม่ก็คงไม่ชนะ จึงประกาศว่าต้องมีการปฏิรูปการเมืองก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง จากนั้นก็ตอบโต้โดยใช้แผนปิดกรุงเทพฯ

อันนี้ไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่เป็นการใช้ม็อบปิดถนนตามแยกสำคัญ ตั้งแต่ 13 มกราคม ปิดไปเป็นเดือน (รายละเอียดของการเคลื่อนไหวทางการเมืองประมาณ 7 เดือนต้องไปหาอ่านในวิกิพีเดีย)

 

ใครร่วมมือกัน หรือใครหลอกใช้ใคร

มีการเคลื่อนไหวปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งและการส่งบัตรเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ไม่สามารถจัดได้ในบางพื้นที่ แม้ส่วนใหญ่จะจัดเลือกตั้งได้ สุดท้ายศาลก็สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ผลจากการปิดเมืองที่เรียกว่า Bangkok Shutdown และขัดขวางการเลือกตั้ง การทำให้คนอื่นเดือดร้อน พฤติกรรมของการ์ดกลุ่ม กปปส.ทำให้แนวร่วมที่เคยร่วมกับกลุ่ม กปปส.ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่เข้ามาร่วมอีก

สุดท้ายคนน้อยลงเหลือเป็นหลักหมื่นและก็เหลือเป็นหลักพัน ต้องย้ายไปรวมกันอยู่ในสวนลุมพินี

นักวิเคราะห์มองว่า ถ้าทหารออกมาทำรัฐประหารช่วงปลายปี 2556 อำนาจอาจตกอยู่ในมือของ กปปส. และสุเทพ 9 ธันวาคม 2556 กปปส.คิดตั้งสภาประชาชนทำหน้าที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติ จะมีสมาชิก 400 คน โดย 300 คนเป็นผู้แทนจากอาชีพต่างๆ และอีก 100 คนที่เหลือ กปปส.จะเลือกเอง

แต่เหตุการณ์ไม่เป็นแบบปี 2549 ทหารไม่ออกมาช่วงที่คนเยอะ ทำให้ม็อบอยู่นานยิ่งลำบาก

4 เมษายน 2557 ไม่รู้ว่าใครไปบอก กปปส. จนคิดว่าทหารไม่ยุ่งแล้ว แต่จะใช้ตุลาการภิวัฒน์จัดการรัฐบาลรักษาการเร็วๆ นี้ สุเทพประกาศบนเวทีว่า กปปส.จะเป็นผู้มีอำนาจที่สุด และจะประกาศความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้อย่างเหมาะสม และคำสั่งของคนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ก็จะถือเป็นกฎหมาย…

…เราจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เป็นของประชาชน จากนั้นจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ได้รัฐบาลของประชาชน โดยตนจะเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง พร้อมยกตัวอย่างอำนาจของจอมพลสฤษดิ์หลังรัฐประหาร (รายละเอียด ดูคลิป)

7 พฤษภาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์พ้นจากการรักษาการ เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาฯ สมช. แต่ในช่วงบ่าย ที่ประชุม ครม.ได้มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

 

ไม่มีนายกฯ มาตรา 7
ไม่ได้เป็นรัฏฐาธิปัตย์…
หลอกจนนาทีสุดท้าย

วันที่ 12 พฤษภาคม 2557 กปปส.เคลื่อนม็อบจากสวนลุมฯ ไปหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติเพื่อกดดันให้วุฒิสภาหาทางแต่งตั้งนายกฯ แบบพิเศษตามมาตรา 7

แต่ช่วงเวลานั้นสายไปเสียแล้ว เพราะเหลือผู้คนสนับสนุนเพียงน้อยนิด และนี่คือจุดชี้วัดว่า กปปส.หมดหน้าที่แล้วและอำนาจควรเป็นของใคร

ในขณะที่กลุ่มเสื้อแดงก็มาตั้งม็อบหวังจะปกป้องรัฐบาล และคัดค้านการตั้งนายกฯ ตามมาตรา 7 ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม ที่ถนนอักษะ พุทธมณฑลซึ่งเคยมาทดลองทำมาแล้ว 1 ครั้ง แม้จะอยู่ไกลกันมากจากสวนลุมฯ แต่ก็เป็นข้ออ้างให้ทหารเคลื่อนกำลังเข้ามาควบคุมความสงบ

ทหารเข้ามาใน กทม.เพื่อคุมสถานการณ์ตั้งแต่มีการประกาศปิดกรุงเทพฯ แล้ว แต่กว่าจะออกมาตั้งบังเกอร์ทั่วกรุงเทพฯ ให้เห็น ก็เป็นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

14 พฤษภาคม กปปส.พยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย นายสุเทพเลขาธิการ กปปส. กล่าวปราศรัยบนเวทีชุมนุมถนนราชดำเนินนอก “ถ้า 16 พฤษภาคม ประธานวุฒิสภาทำไม่ได้ (หาตัวนายกฯ คนกลางไม่ได้) วันที่ 17-18 พฤษภาคม คนอื่นไม่ทำ เราแสดงเอง จัดการเรียบร้อย วันที่ 19 พฤษภาคม เรียกข้าราชการมารายงานตัวต่อประชาชน ให้ปลัดกระทรวง อธิบดี ผวจ. ผบ.ตร. ผบ.เหล่าทัพทั้งหลายมารายงานตัวต่อประชาชน ผมไปจัดเตรียมที่ไว้ที่ตึกสันติไมตรีแล้ว… ขอส่งข่าวนี้ไปถึงบรรดาข้าราชการทั้งหลายให้ซักซ้อมไว้ได้เลย”

แต่ผลคือ ไม่มีนายกฯ คนกลาง จาก ส.ว. และก็ไม่มีใครมารายงานตัว มีแต่เสียงหัวเราะ

การชุมนุมของทั้ง 2 ม็อบในเดือนพฤษภาคม 2557 ฝ่ายทหารก็ประเมินกำลังว่าอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปด้วยกันทั้งคู่ ฝ่าย กปปส.ซึ่งเคยคึกคักเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ตอนนี้ก็เสื่อมความนิยมไปมากแล้ว ถึงเวลาที่จะเคลียร์ปัญหาโดยไม่ต้องออกแรงมาก

วันที่ 20 พฤษภาคม ฝ่ายทหารจึงอ้างสถานการณ์และประกาศกฎอัยการศึก จากนั้นก็สามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดได้ไม่ยาก

21-22 พฤษภาคม มีการเชิญคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมาร่วมประชุม และจัดการกักตัวไว้ในวันที่ทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม

มีผู้วิเคราะห์ว่า เพราะกลัวแกนนำเสื้อแดงนำคนต่อต้านแล้วจะรุนแรง จึงจำเป็นต้องหลอกมาประชุมร่วมกับทุกฝ่าย

หลังรัฐประหาร กลุ่มที่หวังว่าเขาจะเชิญไปเป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี หรือผู้ครองอำนาจรัฐแบบสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กันเพราะงานนี้ผู้ที่ทำรัฐประหารไม่เชิญใคร นอกจากพวกตัวเอง จึงต้องรอไปอีก 5 ปี ไปเลือกตั้งก็ได้ ส.ส.นิดเดียว ยังดีที่คดีต่างๆ ยังไม่มารุม

 

สรุปว่า 6 ปี
ไม่ได้ปฏิรูปอะไรให้ก้าวหน้า
มีแต่ทำให้ล้าหลัง

หลังการรัฐประหารจนถึงวันนี้เป็นเวลา 6 ปี สุดท้ายเราก็ต้องกลับมามีการเลือกตั้งแบบย้อนยุค

ที่จะปฏิรูป คือ ปฏิหลอก มีผลงานให้เห็นถึงวันนี้ คือ

1. ปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้ถอยหลัง โดยให้ ส.ว.แต่งตั้ง เลือกนายกฯ แทนประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ถอยหลังไปถึง 40 ปี เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521 คือรัฐสภามี ส.ส.เลือกตั้ง และมี ส.ว.จากการแต่งตั้งทั้งหมด 250 คน ไม่ให้ประชาชนเลือกเลย ให้ ส.ว.เหล่านั้นสามารถมาลงคะแนนเลือกนายกฯ ได้ด้วย เท่ากับมีคะแนนเสียงเป็นหลักประกันว่าโอกาสสืบทอดอำนาจตั้งแต่ยังไม่ทันเลือก

2. ปฏิรูปวิธีการเลือกตั้ง ให้ได้เปรียบ โดยเปลี่ยนกฎใหม่ เพราะกฎเก่าลองมาสองครั้ง ทั้งปี 2550 และ 2554 แพ้เรียบ จึงต้องกำหนดให้เป็นการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม แม้แพ้เลือกตั้งในเขตต่างๆ ก็ยังนำคะแนนไปนับ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ คือให้ใช้บัตรใบเดียวในการเลือก ส.ส.เขตมานับคะแนนทั้ง ส.ส.เขตและมาคิดสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไหนชนะได้ ส.ส.เขตเยอะแล้ว ก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยหรือไม่ได้เลย โอกาสที่พรรคใหญ่แบบเพื่อไทยจะได้คะแนนแบบท่วมท้นเกินครึ่งก็ยากมากๆ

และระบบนี้ยังเป็นการปิดกั้นพรรคใหม่ที่ไม่มีเงินทุนไม่ให้เกิด หรือเป็นแค่พรรคขนาดจิ๋ว ซื้อได้

3. ปฏิรูปการดูด โดยให้ ส.ส.ย้ายพรรคได้ง่ายขึ้น

ดูดก่อนเลือกตั้ง คือ…ดูดอดีต ส.ส.ที่มีโอกาสชนะมาลงเลือกตั้งเขต มาสังกัดพรรค ถ้าชนะก็จะได้ ส.ส. 1 คน แต่ถ้าแพ้ก็ยังมีคะแนนเป็นที่ 2-3 ซึ่งอาจจะได้หลายหมื่นสะสมไว้เป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

แต่ถ้าดูดหลังเลือกตั้ง คือไล่ซื้อพวกไร้อุดมการณ์ จะได้ลิงและงูเห่า ทั้งจากพรรคเล็กๆ และพรรคใหญ่ แต่ต้องมีกล้วยตอบแทน

4. ปฏิรูปให้มีการยุบพรรคและตัดสิทธิ์ ส.ส.ได้ง่ายขึ้น โดยเขียนข้อห้ามไว้เยอะๆ ในกฎหมายลูก ซึ่งต้องตีความ และให้คนฟ้องต่อองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญได้ง่ายๆ

ทั้ง 4 ข้อล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยและพรรคการเมืองทั้งสิ้น

นับจาก 2549 ถึงปัจจุบันไม่มีการปฏิรูปให้ก้าวหน้าขึ้น แถมยังถอยหลังสวนทางกับโลก ต่างชาติไม่มั่นใจเสถียรภาพทางการเมือง นักลงทุนไม่มั่นใจต่อระบบยุติธรรมในประเทศ มีการทุจริตที่ทำให้การทำงานยุ่งยากและแพงขึ้น เขาไม่ให้เวลาเราอีกแล้ว กระแสการย้ายฐานการลงทุนจึงเกิดขึ้น

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่