แมลงวันในไร่ส้ม / ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับความทรงจำเดือด ของวิกฤตพฤษภาฯ

แมลงวันในไร่ส้ม

ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กับความทรงจำเดือด

ของวิกฤตพฤษภาฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานสภาพเศรษฐกิจเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน (KR-ECI) และดัชนีภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ในการสำรวจช่วงเดือนเมษายน 2563 ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก

จากเครื่องชี้ด้านรายได้และการออมที่ยังคงปรับตัวแย่ลง อย่างไรก็ตาม ค่างวด (ภาระหนี้สิน) ของครัวเรือนปรับตัวลดลงจากอานิสงส์ของมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงิน

ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 ยังเผชิญความเสี่ยงสูง แม้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศจะลดลงมาอยู่ในระดับหลักหน่วย และมีการทยอยคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไปบ้างแล้ว

แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการปรับตัวทางธุรกิจภายใต้การรักษาระยะห่างทางสังคมอาจจะใช้ระยะเวลาเป็นปี ขึ้นอยู่กับการคิดค้นวัคซีนและการผลิตที่เข้าถึงประชากรหมู่มาก ท่ามกลางปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จ

 

รัฐบาลประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ถึง 30 เมษายน จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ดึงอำนาจจากกฎหมายต่างๆ มาไว้ที่นายกรัฐมนตรี ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดมีอำนาจสั่งการปิดกิจการเสี่ยง ห้ามเดินทางระหว่างจังหวัด อำเภอ และทีเด็ดคือการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามออกจากเคหสถานตามเวลาที่กำหนด

ผลที่ตามมาคือ กิจการต่างๆ ต้องหยุด การจ้างงานยุติตามไป จนมีเสียงเตือนจากภาคเอกชนว่า หากยังปล่อยไป เศรษฐกิจจะชะงัก จะทำให้เกิดการตกงานนับล้านคน

แม้มีการจ่ายเงินเยียวยาผู้รับผลกระทบ แต่ตัวเลขผู้มาลงทะเบียนเกินจำนวนจากที่รัฐบาลคาดไว้ 3 ล้านคน ไปถึง 20 ล้านคน สะท้อนสภาพแฝงเร้นของความยากจนขาดแคลนของคนในประเทศ

ทำให้มีการปลดล็อก โดยจัดแบ่งเป็นเฟสต่างๆ 4 เฟส เริ่มจากกิจการเสี่ยงน้อยสุด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา เฟสที่ 2 เมื่อ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลายกิจการโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าใหญ่ ได้เปิดบริการพร้อมกับขยับเคอร์ฟิว จาก 22.00-04.00 เป็น 23.00-04.00 น.

ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลังจากสิ้นอายุเมื่อ 30 เมษายน มีการต่อไป 1 เดือนถึง 31 พฤษภาคม และล่าสุดต่ออีกครั้งถึงสิ้นมิถุนายน

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบการ ทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาผ่อนคลายเคอร์ฟิวอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเป็น 24.00-04.00 น.

ขณะที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ รัฐบาลอาจหวังผลในเรื่องการเมือง เพราะเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนของเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ พฤษภาทมิฬ 2535 การสลายม็อบ 99 ศพ เดือนพฤษภาคม 2553 และรัฐประหารครั้งล่าสุด 22 พฤษภาคม 2557

การรวมตัวของประชาชน นักการเมือง นักศึกษาในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งทำกันเป็นปกติทุกปี แม้แต่ในห้วงที่มีการรัฐประหาร จึงกลายเป็นความผิด มีการจับกุมดำเนินคดี

นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช

 

นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รัฐบาลใช้หมอเป็นเครื่องมือ ใช้โควิดเป็นข้ออ้าง ให้ยาไม่ตรงกับโรค

การจับกุมคุณหมอทศพร เสรีรักษ์ และเพนกวิน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับอีกหลายคนที่ทำกิจกรรมครบรอบ 6 ปี รัฐประหารของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม เป็นการยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อสกัดม็อบ

เพราะกระบอกเสียงอย่าง ศบค.ที่แถลงทุกวัน ไม่เคยชี้แจงหรืออธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่ามีผลอย่างไรกับการสกัดการระบาดของโรคอย่างเป็นวิชาการ

เห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ใส่ใจที่จะวิเคราะห์ข้อมูลว่าผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวหลายหมื่นคนนั้น มีผู้ป่วยด้วยโรคโควิดแล้วนำส่งโรงพยาบาล เพื่อการรักษาและไม่แพร่เชื้อต่อ จำนวนทั้งหมดกี่ราย ซึ่งควรแถลงให้ประชาชนทราบและเชื่อว่าเคอร์ฟิวจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นช่วยสกัดโควิดได้จริงๆ

อีกเรื่องที่ควรทำแต่ก็ไม่ทำคือ ทุกวันตะบันตรวจวัดอุณหภูมิทุกห้าง ร้านอาหาร สถานที่ทุกแห่ง วันละหลายแสนคน แล้วพบว่ามีไข้กี่คน ควรรายงาน และถ้ามีไข้ ไม่อนุญาตให้เข้าแล้วต้องนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจโควิด โดยอำนาจตามมาตรา 14, 19, 22, 24 และ 28 พ.ร.บ.โรคติดต่อ ถ้าพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อก็รับไว้รักษาและกักกันโรค

วันนี้ชัดเจนแล้วว่าหมอถูกใช้เป็นเครื่องมือให้อ้างโควิดเพื่อยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน ทั้งที่หมอเองก็รู้แก่ใจว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ช่วยสกัดโควิด แต่ช่วยสกัดม็อบ

หมอยอมขายกันจนหมดตัว ทั้งวิชาความรู้ และจรรยาแพทย์ โดยให้ยาไม่ตรงกับโรค ใช้ยาชื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อรักษาอำนาจ แต่ไม่รักษาโรคโควิด

เป็นข้อความจากหมอถึงหมอ ที่เมื่อกลายเป็นข่าวในระบบออนไลน์ มีประชาชนเข้ามาอ่านและแสดงการสนับสนุนข้อสังเกตดังกล่าวอย่างท่วมท้น

 

วันที่  26 พฤษภาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงตอนหนึ่งว่า ก่อนใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อเพียงอย่างเดียว และต้องทำงานข้ามกระทรวง เช่น การตั้งด่านคัดกรองคนเดินทาง

การทำงานโดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ไม่สามารถทำได้ หรืออาจจะทำได้ไม่ดี แตกต่างจากหลังที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นเพียงกฎหมายหนึ่งใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังมีกฎหมายอีกกว่า 40 ฉบับ

จึงทำให้มีการทำงานอย่างบูรณาการกัน และมีศูนย์ปฏิบัติการด้านความมั่นคง (ศปม.) เป็นผู้นำในการทำงาน

“ตัวอย่างเช่น เรื่องของหน้ากากอนามัย ที่ช่วงแรกมีความขาดแคลน โดยทางกระทรวงสาธารณสุขจะต้องจัดสรรให้เพียงพอ แต่แท้จริงต้นทางการผลิตในโรงงาน มีสัญญาที่จะต้องส่งสินค้าไปต่างประเทศ สิ่งต่างๆ เหล่านี้กฎหมายฉบับเดียวจัดการไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นจากการบูรณาการจากกฎหมายอื่น ทำให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมขึ้นมาและต้องมีเพียงพอใช้ในประเทศ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า โดยสรุปแล้วภาครัฐต้องเข้มข้น เอกชนต้องเข้มแข็ง ประชาชนต้องร่วมแรงกันเพื่อให้ประเทศไทยได้ไปต่อ เนื่องจากขณะนี้กิจการต่างๆ เริ่มเปิดขึ้นมาแล้ว ภาคเอกชนต้องช่วยเราให้เข้มแข็ง และประชาชนต้องร่วมใจกัน เพื่อให้เราชนะโควิด-19

เป็นความซับซ้อนของการแพทย์ เศรษฐกิจและการเมือง

แต่เข้าใจได้ไม่ยาก ในโลกที่ข้อมูลต่างๆ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้