E-DUANG : นิยาม ความหมาย รุ่นใหม่ การเมือง หลังยุด โควิด-19

ปัจจัยอะไรทำให้เกิดการรวมตัวของนักการเมืองในกลุ่ม “แคร์”อัน แยกและแตกตัวมาจากคนที่เคยสังกัดพรรคไทยรักไทย พรรคพลัง ประชาชน พรรคเพื่อไทย

อาจเป็นเพราะการดำรงอยู่ในพรรคเพื่อไทยทำให้สูญเสียโอกาสเนื่องจากผลสะเทือนของ”รัฐธรรมนูญ”

ดังเช่นที่เคยมี”พรรคไทยรักษาชาติ” ปรากฏขึ้น

การรวมตัวขึ้นของ นายพงษ์ศักดิ์ รัตกพงษ์ไพศาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย จึงเป็นการสานต่อภารธุระนั้น

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งการปรากฏขึ้นพร้อมกับคำว่า”แคร์” สะท้อนให้รับรู้ถึงความห่วงหา อาทร และการประสานขานรับกับสภาพการณ์ใหม่ในทางการเมือง

การเมืองของ “คนรุ่นใหม่” การเมืองอันพรรคอนาคตใหม่ได้สร้างปรากฎการณ์มาแล้วในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณไปยัง “คนรุ่นใหม่”

 

หากมองจากตัวบุคคลในเชิงเปรียบเทียบ มีความแตกต่างอย่างแน่นอนในทางกายภาพ

ระหว่างนักการเมืองรุ่น นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย

กับนักการเมืองรุ่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

เพราะ 4 คนแรกอยู่ในยุคเดือนตุลาคม 2516

ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อาจยังเป็นเด็กในสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 หรือแม้กระทั่งสถานการณ์ในเดือนตุลาคม 2519 ก็ตาม

จินตภาพของ “คนรุ่นใหม่”จึงย่อมแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

ในยุคแห่งพรรคไทยรักไทย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายภูมิธรรม เวชยชัย อาจเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่

แต่พลันที่ นายธนาธร รุ่งเรืองกิจ ปรากฏพร้อมกับพรรคอนาคตใหม่ 3 คนนั้นก็ล่วงพ้นจากคำว่า”รุ่นใหม่”แล้วในเชิงกายภาพ

 

การนิยามความหมายของ”รุ่นใหม่”จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญมากยิ่งกว่ายังอยู่ที่ว่าจะสามารถระด”รุ่นใหม่”เข้ามาร่วมอย่างมีลักษณะ”กัมมันตะ”อย่างไร

นี่ย่อมเป็นภารธุระที่นักการเมืองในกลุ่ม”แคร์”จะต้องแบกรับและลงมือทำให้เห็นอย่างเป็น”รูปธรรม”

นิยามความหมายต่อ”คนรุ่นใหม่”จึงต้องแจ่มชัด เป็นจริง

หากไม่แจ่มชัดก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถเป็นแม่เหล็กในการดูดดึง”คนรุ่นใหม่”ให้เข้ามาร่วม