ฟ้า พูลวรลักษณ์ | ความตายแต่ละอย่างเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก เล่มใหม่ (๖๔.๑๖)

มีคนบอกว่า ความตายแต่ละอย่างเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เช่น คนฆ่าตัวตายร้อยคน คนที่ตายเพราะประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนร้อยคน หรือคนที่ตายเพราะโควิดร้อยคน ไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบหรือหักล้างกันได้เหมือนตัวเลขบนบัญชี

แต่ก็มีบางคนชอบเอามาเปรียบเทียบกัน และบอกว่านี้คือความจริง พวกเขาบอกว่า ที่คุณไม่เปรียบเทียบ เพราะคุณกลัวความจริงต่างหาก ด้วยตัวเลขมันฟ้อง

ถ้าเช่นนั้น วันนี้ เราลองมาเปรียบเทียบกันดู คนตายจากโรคมะเร็ง ปีละ 9-10 ล้าน คนตายเพราะโรคเบาหวาน ปีละ 3-5 ล้าน หรือมีคนตายจากโรคมาลาเรีย ปีละครึ่งล้านคน มาเทียบกับคนตายจากโควิด

ข้อโต้แย้งคือ

๑ พวกมันไม่ใช่โรคติดต่อ

ดังนั้น เราจึงหันมาดูโรคติดต่อ ที่เทียบได้ใกล้เคียงที่สุดคือไข้หวัดใหญ่ ด้วยเพราะมันเกิดจากไวรัสเช่นเดียวกับโควิด ที่จริงแล้วโควิดคือสายพันธุ์หนึ่งของไข้หวัด มีอาการของโรคคล้ายกัน แพร่เชื้อด้วยการไอหรือจาม จากละอองฝอยในอากาศเหมือนกัน

ต่อมาเราต้องเปรียบเทียบเป็นรายวันจะเห็นชัดเจนกว่า ด้วยเพราะโควิดยังไม่จบ เราไม่รู้ว่ามันจะระบาดนานเท่าไร ไข้หวัดใหญ่มีอัตราการตายวันละ 795-1,781 คน ฉันจะสมมุติให้เป็นตัวเลขกลมๆ คือตายวันละ 1,000 คน เทียบกับโควิดทุกวันนี้ เรามีคนตายเพราะโควิดเท่าไร คิดแบบง่ายๆ คือวันละ 4,000 คน เท่ากับว่า โควิดคือไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่ร้ายแรงกว่าเดิมสี่เท่า

เรามาโฟกัสตรงจุดนี้

๑ มันเป็นโรคใหม่ เป็นโรคติดต่อ และเป็นโรคติดต่อที่ง่ายที่สุด เฉกเช่นเดียวกันโรคหวัดสามัญ

๒ มันร้ายแรงกว่าไข้หวัดใหญ่สี่เท่า

สองข้อนี้รวมกัน ทำให้เห็นว่ามันร้ายกาจไม่เบา

ไข้หวัดสามัญที่จริงติดต่อกันได้ง่ายมาก เพียงแต่เพราะมันเป็นโรคเก่า มนุษย์มีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว จึงไม่ร้ายแรง หรือโรคไข้หวัดใหญ่ ที่มนุษย์มีวัดซีนแล้ว แม้ว่าโดยธรรมชาติของไวรัสมันจะกลายพันธุ์ไปเรื่อย ทำให้บางครั้งวัคซีนก็เอาไม่อยู่ แต่ทว่าโดยรวมคือ ความเป็นโรคระบาดของมัน ไม่ได้ร้ายแรงเหมือนสมัยแรกที่มันปรากฏตัว

เทียบกับโควิด เพียงสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว ในหนึ่งวันก็มีคนตายเพราะโรคนี้ มากเท่าคนตายเพราะโรคหวัดทุกชนิดแล้ว

แต่คนตายในอีกสองร้อยกว่าประเทศที่เหลือ คือส่วนเกิน

และต้องอย่าลืมว่า นี้เป็นตัวเลขของแต่ละวัน แบบไม่มีวันหยุด เรายังไม่รู้ว่ามันจะกินเวลานานเท่าไรที่เหลืออยู่ ส่วนเกินวันละสามพันคน หากนานเป็นปี นั่นคือ 1,095,000 คน

ฉันเพียงเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ทั้งที่ฉันก็เชื่อว่า ความตายแต่ละแบบ เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้

ชีวิตเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน การเปรียบเทียบความตายแต่ละแบบ บางครั้งคล้ายจะได้ แต่ก็ยังไม่ได้

คนที่ฆ่าตัวตายเพราะความเครียดทางเศรษฐกิจ

จะเอามาหักล้าง กับคนที่ป่วยตายเพราะโควิด ไม่รู้จะจัดวางลงบัญชียังไง

หลังโควิด โลกนี้จะเปลี่ยนไป สรุปง่ายๆ คือ ก่อนโควิด โลกนี้เต็มไปด้วยผู้คนจับกลุ่มกันแน่นไปหมด แต่หลังโควิด สังคมมนุษย์จะเข้าสู่ social distancing

ลองคิดถึงภาพกิจกรรมต่างๆ ในยุคก่อนโควิด ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การสังสรรค์ การชมกีฬา การทำกิจกรรมทางศาสนา การขึ้นรถไฟฟ้า ฯลฯ เรียกว่าทุกอย่าง เราจะเห็นภาพผู้คนแออัดเบียดเสียดกันแน่นไปหมด

ซึ่งสมัยก่อน เราไม่รู้สึกผิดอะไร แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว หากมนุษย์หลังโควิด ย้อนกลับไปเหมือนเดิม แสดงว่ามีบางอย่างผิดปกติในตัวมนุษย์ อย่าทำอย่างนั้นเด็ดขาด

เช่นการเดินทาง ทุกประเทศควรจะจำกัดการเดินทางโดยเครื่องบิน สำหรับทุกคน ให้บินได้เพียงปีละสองครั้งเท่านั้น หมายถึงการบินไป-กลับถือเป็นหนึ่งครั้ง เท่ากับฉันบินไป-กลับได้อย่างมากแค่ปีละสองครั้ง อาจมียกเว้นบางคนที่มีความจำเป็น

แต่คนปกติทั่วไป เช่นคุณกับฉัน หากจะบินเกินนั้น ต้องทำเรื่องขออนุญาตพิเศษ และหากมีเหตุผลเพียงพอก็บินได้ หากแต่ต้องจ่ายราคาตั๋วเครื่องบินแพงกว่าปกติสามเท่า ส่วนครั้งที่สี่ ก็ต้องจ่ายเงินสี่เท่า เงินส่วนเกินนั้น ต้องนำเข้าสู่กองทุนรักษ์โลก

เท่ากับว่า การท่องเที่ยวทั่วโลกจะลดลงทันที ธุรกิจการท่องเที่ยวจะฝ่อตัวลง

นี้คือการรับมือกับโลกที่ฟุ่มเฟือยเกินตัวมาช้านาน และโควิดนี้คือจุดเปลี่ยน นี้คือการไม่เสียของ นี้คือการมองโลกแบบตามความเป็นจริงด้วย และมีอุดมคติด้วย

ฉันพูดเช่นนี้ แบบคนชอบท่องเที่ยว สมัยก่อน ฉันบินปีละประมาณ 20 ครั้ง เท่ากับฉันลดการเดินทางลงถึงสิบเท่า

แต่หากว่าทั้งโลกทำแบบนี้ ฉันก็เต็มใจ ด้วยถึงเวลาเปลี่ยนแปลง

แต่หากให้ฉันทำคนเดียว ฉันก็จะไม่ทำ ด้วยไม่มีประโยชน์

การเดินทางแบบอื่น ยังจำเป็นต้องวางกฎด้วยเช่นกัน เช่น การเดินทางโดยรถยนต์

ที่น่าประหลาด การเดินทางโดยเรือ อาจไม่ต้องมีกฎ เพราะมันช้ามาก ใครจะเดินทางเรือไปอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งกินเวลานานมาก น้อยคนจะทำ จึงไม่จำเป็นต้องวางกฎ

ทุกธุรกิจต้องปรับเปลี่ยน บางอย่างเราต้องปล่อยให้มันฝ่อตัวไปเอง แต่จะมีบางอย่างพัฒนาขึ้น ขยายตัวขึ้น เช่น สายการบินเราต้องปล่อยให้ฝ่อตัวลง ฟุตบอลเราต้องปล่อยให้ฝ่อตัวลง

แต่หลักคิดของมนุษย์ต่างหากที่ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนที่รากฐาน ทุกวันนี้ เราหื่นกระหาย ละโมบ และฟุ่มเฟือยเกินตัว ด้วยหลักคิดของเราทุกวันนี้ คือเราเป็นพระเจ้า และเรายึดโลกนี้เป็นสมบัติส่วนตัวของเรา สองความคิดนี้ ผิดทั้งคู่

เหตุการณ์โควิดทำให้เราเห็นภาพที่น่าตื่นตะลึง โลกที่สงบขึ้น ชายฝั่งทะเลยาวเหยียด สงบและสวยงาม โอโซนที่ดีขึ้นทันตา ฝูงปลาโลมา วาฬ ปลาฉลามหายาก หรือแม้แต่ฝูงพะยูน สัตว์หลายชนิดที่หายากกลับมาสู่หมู่เกาะทางใต้ของไทย หรือฝูงสัตว์ป่าที่ออกมาเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ตามป่าเขาของไทย

แสดงว่าทันทีที่มนุษย์ลดการเคลื่อนไหว สัตว์ป่าเหล่านี้ก็กลับมาเรียกร้องสิทธิในการเคลื่อนไหวตามเส้นทางเดิม ซึ่งโดนมนุษย์ยึดครองไป

เราต่างหากที่ไป disrupt พวกมัน และทำมานานจนเราไม่รู้สึกตัว เส้นทางการเดินทางที่เคยเป็นของพวกมันช้านาน เพิ่งจะแสดงร่องรอยให้เห็นในวันนี้ มันลี้ลับ น่าตื่นตะลึง

โควิดสอนให้มนุษย์รู้ตัว ว่าเราไม่ใช่พระเจ้า และสิทธิเสรีภาพของเราก็มีมากเกินไป เราไปทำลายสิทธิเสรีภาพของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนดาวเคราะห์นี้ จนไร้คำบรรยาย เราหวงแหนเสรีภาพของเรามากจนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองไม่รู้จบ

เพิ่งจะมีครั้งนี้ ที่เราได้ทบทวนตัวเอง


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่