สูตรสำเร็จในชีวิตตามหลักพุทธศาสนา ว่าด้วยการให้ทาน และ พระพุทธพจน์

สูตรสำเร็จในชีวิต (18)

การให้ทาน (2)

ครั้งที่แล้วได้พูดไว้ว่า การให้ทานจะเป็นบุญกุศลจริงๆ จะต้องครบองค์ประกอบ 3 อย่างคือ ของที่ให้ต้องบริสุทธิ์ เจตนาต้องบริสุทธิ์ ผู้รับก็ต้องบริสุทธิ์ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีผลเหมือนกัน แต่ผลไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น

พูดถึงทาน ทำให้นึกถึงอีกคำหนึ่งคือ จาคะ หรือปริจจาคะ (ไทยเขียนบริจาค) สองคำนี้ใช้แทนกันได้ ในที่ใดท่านใช้คำเดียวว่า “ทาน” ในที่นั่น ย่อมคลุมถึงความหมายของ “จาคะ” (หรือปริจจาคะ) ด้วย

แต่ถ้าสองคำมาด้วยกัน (อย่างในทศพิธราชธรรม) ทาน หมายถึงการให้วัตถุสิ่งของ การสละวัตถุสิ่งของให้คนอื่นจะด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็แล้วแต่ เรียกทานทั้งนั้น ส่วนจาคะ (หรือปริจจาคะ) ก็จะหมายเฉพาะการเสียสละกิเลส (เช่น สละความตระหนี่เหนียวแน่น, สละความเห็นแก่ตัว)

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายกว่านี้ก็ว่า จาคะ หมายถึง สละความหวงแหนสิ่งของที่ตนมีออกจากใจ หรือ “ตัดใจ” ทาน หมายถึง กิริยาอาการที่ยื่นสิ่งของนั้นให้คนที่ควรให้ แต่ถ้าใช้คำว่าทาน หรือจาคะโดดๆ ก็รวมทั้งสองความหมายนั้นอยู่ในคำเดียวกัน

มีพระพุทธพจน์แสดงสาเหตุที่คนให้ทานต่างๆ กัน น่าสนใจดี ขอคัดมาให้ดูดังนี้

บางคนให้ทานเพราะหวังผล มีจิตผูกพันกันจึงให้ หวังสะสมจึงให้ คิดว่าจากโลกนี้ไปแล้วจะได้กินได้ใช้

บางคนให้ด้วยคิดว่า การให้เป็นการกระทำที่ดี

บางคนให้ด้วยคิดว่า พ่อ-แม่ ปู่-ย่า ตา-ยาย เคยทำกันมา ไม่ควรให้เสียจารีตประเพณี

บางคนให้ด้วยคิดว่า เรามีอยู่มีกินควรแบ่งปันให้คนที่เขาไม่มีอยู่มีกิน บางคนให้ด้วยคิดว่า การให้ทานของตนเป็นเกียรติยศ

บางคนให้ด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานจิตใจจะโสมนัสแช่มชื่น บางคนให้โดยฐานเป็นอลังการเป็นบริขารของจิต (หมายถึงเป็นเครื่องปรุงแต่งจิตให้ดีขึ้น ฝึกจิตให้มีคุณภาพขึ้น)

ความมุ่งหมายของการให้ทานของคนสมัยพระพุทธเจ้ากับสมัยปัจจุบันคงไม่แตกต่างกันมากนัก

ท่านชอบการให้แบบไหน ก็เลือกเอาก็แล้วกัน

การให้ทานมีอยู่ 2 ประเภทคือ ให้เจาะจงคนให้ เรียก ปาฏิปุคคลิกทาน กับ ให้แก่สงฆ์หรืออุทิศแก่ส่วนรวมเรียก สังฆทาน

อย่างแรก ทำได้ง่าย และถูกจริตนิสัยคนส่วนมาก เพราะเวลาอยากให้อะไรแก่ใครก็อยากจะให้แก่คนที่เรารัก ชอบพอหรือนับถือเป็นส่วนตัว แม้ไม่รู้จักส่วนตัว เช่น เวลาใส่บาตร บางคนยัง “เลือก” พระเลยว่าใส่รูปนี้ดีกว่าอะไรทำนองนี้

อย่างหลัง (สังฆทาน) ทำยาก เพราะการทำใจให้เป็นกลางไม่เอียงไปข้างรักข้างชังนั้นทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญว่า การให้ทานไม่เจาะจง หรือให้อุทิศแก่สงฆ์ทั้งปวงมีอานิสงส์ (ผล) มากกว่าถวายทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียอีก

คนส่วนมากยังเข้าใจผิดว่า ถวายทานแก่พระภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไปจึงจะเรียกสังฆทาน ไม่จริงดอกครับ ถวายพระรูปเดียวก็เป็นสังฆทานได้ ขอเพียงอย่า “เจาะจง” หรือ “เลือก” ก็แล้วกัน

วิธีถวายสังฆทานก็ไม่ต้องฟังนัก “พิธีรีตอง” ที่ไหนให้มากเรื่อง ตระเตรียมข้าวปลาอาหารที่ต้องการถวาย ตั้งจิตอุทิศแก่พระสงฆ์ทั้งหมดไม่เจาะจงผู้ใด พบตัวแทนพระสงฆ์รูปใด (จะเป็นพระหรือสามเณรก็ตาม) ก็นิมนต์มารับสังฆทานที่บ้าน เท่านี้ก็เป็นสังฆทานแล้วครับ

ลองหัดให้โดยไม่เจาะจง ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ให้เพื่อการให้อย่างแท้จริงสักพักสิครับ จะรู้สึกว่าใจเราบริสุทธิ์สะอาด และสูงขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว