จัตวา กลิ่นสุนทร : เรื่องเล่าเกี่ยวกับ “บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)”

การขาดทุนยับเยินป่นปี้เป็นหนี้จำนวนมหาศาล จน (อาจจะ) ต้องถึงกับล้มละลาย ของ “บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)” สายการบินแห่งชาติ ซึ่งมาพร้อมๆ กับการระบาดของ ไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)

สายการบินแห่งชาติ เจ้าของสโลแกน “รักคุณเท่าฟ้า” แลนดิ้งครั้งสุดท้ายตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 แล้วจอดพักนิ่งสนิทเพื่อหวังโผผินบินสู่เวหากันอีกครั้งหากได้รับการโอบอุ้มฟื้นฟูจากรัฐบาล

ว่ากันว่าการบินไทยขาดสภาพคล่อง มีเงินสดเหลือสำหรับที่จะจ่ายเงินเดือนพนักงานได้อีกไม่เกิน 2 เดือน

ความจริงการบินไทยขาดทุนสะสมมาอย่างต่อเนื่องจนติดลบเป็นหนี้เป็นแสนล้านมาหลายรัฐบาล

สุดท้ายมาหนักหนาสาหัสในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้ามาบริหารประเทศด้วยการยึดอำนาจมาด้วยปืน รถถัง กำลังพลจากกองทัพ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน และได้เป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันที่เรียกว่ามาจากการเลือกตั้ง

แต่นักประชาธิปไตยทั้งหลายไม่มีใครยอมรับเนื่องจากบรรดากลุ่มก้อนของผู้คนที่ร่วมด้วยช่วยกันใช้ความอภินิหารของกฎหมายปูทางย่างเหยียบเข้ามาสืบทอดอำนาจ

การบินไทยได้ชื่อว่าเป็นสายการบินที่ฝักใฝ่การเมืองมากที่สุด ในปี พ.ศ.2556-2557 สหภาพการบินไทยได้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านการเลือกตั้ง และชัตดาวน์ (Shut Down) กรุงเทพฯ กับ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) ผลประกอบการออกมาปรากฏว่าขาดทุนสุทธิ 15,572.56 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นห้าพันห้าร้อยเจ็ดสิบสองล้านบาทห้าสิบหกสตางค์)

ปี พ.ศ.2558 ขาดทุนสุทธิ 8,338.42 ล้านบาท (แปดพันสามร้อยสามสิบแปดล้านบาทสี่สิบสองสตางค์), ปี พ.ศ.2559 กำไรสุทธิ 678.11 ล้านบาท (หกร้อยเจ็ดสิบแปดล้านบาทสิบเอ็ดสตางค์) ปี พ.ศ.2560 ขาดทุนสุทธิ 1,555.01 ล้านบาท (หนึ่งพันห้าร้อยห้าสิบห้าล้านบาทหนึ่งสตางค์), ปี พ.ศ.2561 ขาดทุนสุทธิ 11,525.97 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยยี่สิบห้าล้านบาทเก้าสิบเจ็ดสตางค์) ปี พ.ศ.2562 ขาดทุนสุทธิ 10,802.75 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นแปดร้อยสองล้านบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์)

ถึงสิ้นปี พ.ศ.2563 ซึ่งเกิดเหตุการณ์วิกฤตมีโรคระบาดไปทั่วโลกจนสั่นสะเทือนวงการธุรกิจการบินจนแทบยืนอยู่ไม่ได้ และการบินไทยต้องหยุดบินจึงไม่ต้องคาดหมายเรื่องผลกำไร นอกเสียจากว่าจะขาดทุนมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น

คาดหมายว่าคงต้องเกินกว่าหมื่นล้านแน่ๆ

 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตัดสินใจอย่างไรกับการบินไทย

ซึ่งมีทั้งผู้เสนอให้ปล่อยให้ล้มละลายขายทรัพย์สินใช้หนี้ไป

หรือรัฐบาลพยายามค้ำจุนด้วยการใส่เงินภาษีอากรของประชาชนให้อีก

เนื่องจากการบินไทยไม่มีแผนในการฟื้นฟูชัดเจนเพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารองค์กรให้คืนกลับมาสู่อุตสาหกรรมการบินได้อีก

พูดกันง่ายๆ อย่างไม่ต้องอ้อมค้อมว่า ถ้าการบินไทยยังไม่ได้รับการผ่าตัดใหญ่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยทีมหมอฝีมือชั้นยอด ซึ่งย่อมต้องเจ็บปวด สายการบินแห่งนี้คงไม่มีโอกาสโงหัวฟื้นกลับมาหยิ่งผยองได้อีกต่อไป

ไม่น่าเชื่อว่าการบินไทย ซึ่งเคยได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสายการบินที่ดีที่สุดอยู่ในอันดับ 5 ของโลก

และในปี พ.ศ.2558 การบินไทย รวมกับไทยสมายล์ เคยมีเครื่องบินถึง 102 ลำ มากที่สุดในประวัติศาสตร์

เป็นที่เข้าใจกันดีว่าการบินไทยเป็นเหมือนกับสมบัติของกองทัพอากาศ แม่ทัพอากาศเป็นบอสส์โดยตรง เพราะเกี่ยวพันการบินพาณิชย์ในประวัติศาสตร์ในฐานะเจ้าของสถานที่ สมัยตั้งแต่เริ่มต้นเครื่องบิน นักบิน และช่างอากาศยานล้วนมาจากกองทัพอากาศ

การบินไทยเคยมีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ถึง 17 คน โดยนับถึงปี พ.ศ.2559 แต่การบินไทยจะถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทางการเมืองเสมอเพราะเป็นแหล่งผลประโยชน์

ทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจะเกิดการปลดกรรมการผู้จัดการใหญ่ การโยกย้ายกรรมการบริษัท

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจแห่งผลประโยชน์ เป็นที่ทำมาหากินแบบผูกขาดของคนไม่กี่กลุ่มมาอย่างยาวนาน

พนักงานจำนวนมากฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย จ้างเงินเดือนในอัตราสูง เงินรางวัลจำนวนมาก ให้ผลตอบแทนพนักงานทำมาหากินกันอย่างสุขสบาย

แต่ถ้าหากไม่มีเส้นสายเกี่ยวพันกันอย่าหวังได้ย่างเหยียบเข้าไปได้

ในขณะที่ประชาชนเจ้าของประเทศซึ่งมีส่วนสนับสนุนด้วยภาษี แทบไม่เคยได้ประโยชน์อะไร?

 

ปีพ.ศ.2502 รัฐบาลไทยดำเนินการให้บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (Thai Airways Company Limited-(บดท.)-(TAC) และสายการบิน สแกนดิเนเวียน (Scandinavian Airline System-(SAS) ทำสัญญาร่วมทุนกัน

ต่อมาปี พ.ศ.2503 การบินไทยจดทะเบียนจัดตั้งด้วยเงินทุน 2 ล้านบาท เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ดำเนินธุรกิจการบินพาณิชย์ ในฐานะสายการบินแห่งชาติของประเทศไทย

ถึงวันนี้นับเป็นเวลา 50 ปี—

คณะรัฐมนตรีมีมติให้การบินไทยนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ.2534

และเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 3,000 ล้านบาท

กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ ตามมาด้วยธนาคารออมสิน

รวมทั้งกระจายสู่นักลงทุนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ

 

มีเรื่องเก่าๆ แต่หนหลังเกี่ยวกับการบินไทยมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ได้รู้กันบ้างถ้ายังไม่รู้

ไม่ทราบว่าคนรุ่นใหม่ๆ จะยังจำสายการบินแอร์สยาม (Air Siam) ได้หรือไม่

แต่ผู้สูงอายุอย่างผม หรือใกล้เคียงกันย่อมจะยังไม่เลือนหายไปไหน

สายการบินแห่งนี้มีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2508 ภายใต้ชื่อ Varan-Air Siam เกิดหลังการบินไทยประมาณ 4-5 ปี โดยให้บริการราวปี พ.ศ.2512

จำได้ว่าแรกๆ เจ้ากอแก้วประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ เจ้านายฝ่ายเหนือที่เด่นดังในสังคมเคยบริหารงานอยู่ช่วงหนึ่ง

แอร์สยาม (Air Siam) เคยทำการบินเส้นทางบินกรุงเทพฯ-ลอสแองเจลิส สหรัฐอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ถึงปีต้องเลิกไปเนื่องจากไม่คุ้มทุนเพราะเป็นเส้นทางที่มีผู้โดยสารจำนวนน้อย แต่กลับมีการแข่งขันสูงจากสายการบินต่างๆ

แอร์สยามยังมีเส้นทางบินกรุงเทพฯ-โตเกียว และกรุงเทพฯ-ฮ่องกง ซึ่งล้วนเป็นเส้นทางที่การบินไทย สายการบินแห่งชาติให้บริการอยู่

สายการบินแอร์สยามถูกกดดันอย่างหนักจากรัฐบาล เพราะไม่ต้องการให้สายการบินอื่นมาบินทับเส้นทางกับสายการบินแห่งชาติ

ในที่สุดบริษัทเครื่องบินที่ให้แอร์สยามเช่าเครื่องมาทำการบินจึงยกเลิกสัญญาเอาเครื่องบินกลับไป สายการบินแห่งนี้ก็มีอันต้องขาดสภาพคล่องล้มละลาย เลิกกิจการไปในปี พ.ศ.2520

พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ (ถึงแก่อสัญกรรม) อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ระหว่างปี พ.ศ.2517-2520 ในฐานะประธานบอร์ดการบินไทย ซึ่งร่วมอยู่ในคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (2519) กดดันให้คณะปฏิรูปสั่งปิดสายการบินนี้ในปี พ.ศ.2519

แต่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมสมัยนั้นสามารถต่อรองอยู่มาจนถึงปี พ.ศ.2520

 

อาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช (ถึงแก่อสัญกรรม) เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) ปี พ.ศ.2518-2519 ในนามรัฐบาลสหพรรค ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวของประเทศนี้ ที่ไม่ใช้บริการของการบินไทยสายการบินแห่งชาติ ระหว่างอยู่ในตำแหน่ง เรียกว่าโกรธกับสายการบินแห่งชาติ

โดยท่านบอกว่าสายการบินไทย (อะไร)– “เล่นการเมือง–”

การประชุมคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2518 นอกจากเรื่องอื่นๆ แล้วก็มีวาระเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งการแบ่งผู้โดยสารของเส้นทางกรุงเทพฯ-ฮ่องกง ระหว่างการบินไทยกับแอร์สยาม รายละเอียดเบื้องหลังลึกซึ้งเป็นอย่างไรไม่ทราบได้ แต่ข่าวเล็ดลอดออกมาว่าอาจารย์คึกฤทธิ์ลำเอียงเข้าข้างทำการช่วยเหลือสายการบินแอร์สยาม

การบินไทยจึงทำการประท้วงต่อต้านนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งรณรงค์ไม่ให้เลือกพรรคกิจสังคม หลังจากรัฐบาลยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2519

เอกสารในการหาเสียง ใบปลิวต่างๆ ที่แจกจ่ายเพื่อหาเสียงเลือกตั้งของพรรคกิจสังคม ถูกคนการบินไทยห้ามนำเข้าบริษัท

เป็นที่มาของคำว่า การบินไทย “เล่นการเมือง” จากปากท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช เอง และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ใช้บริการของการบินไทยทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศอีกเลย กระทั่งพ้นจากตำแหน่ง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อมาว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนั้น ท่านพยายามช่วย “การบินไทย” ทุกอย่าง เพราะเป็นสายการบินแห่งชาติ

ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมข่าวที่ออกมาถึงเพี้ยนไปตรงข้าม