คนมองหนัง | “Reply 1988” : “ความสุข-ความหวัง” ของ “คนจนเมือง”

คนมองหนัง

“Reply 1988” คือซีรี่ส์เกาหลีที่โด่งดังมากในช่วงระหว่างปลายปี 2015 ถึงต้นปี 2016 ซึ่งเพิ่งถูกนำมาเผยแพร่ในแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์

แน่นอนว่าธีมหลักของซีรี่ส์เรื่องนี้นั้นไม่แตกต่างจาก “Reply 1997” และ “Reply 1994” ที่มาก่อนหน้า นั่นคือภารกิจการตามหา “สามี” ให้ตัวละครนำหญิง ในบรรยากาศย้อนรำลึกโหยหาอดีต

แม้จะเป็นภาคสุดท้าย/ล่าสุดของซีรี่ส์ชุด “Reply” แต่ “Reply 1988” กลับเป็นเรื่องแรกสุดในไตรภาคนี้ที่ผมมีโอกาสได้ดูจนจบด้วยความประทับใจ

หากพิจารณาดีๆ เราจะพบว่า “Reply 1988” นั้นกล่าวพาดพิงถึงประเด็นทางสังคมหนักๆ เช่นเดียวกับ “หนังเกาหลีร่วมสมัย” หลายเรื่อง

อาทิ การอาศัยอยู่ใน “บ้านชั้นใต้ดิน” ของครอบครัวนางเอกในซีรี่ส์เรื่องนี้ ก็คล้ายคลึงกับชะตากรรมปากกัดตีนถีบของกลุ่มตัวละครหลักใน “Parasite”

หรือจะมีตัวละครสมทบรายหนึ่ง ซึ่งตลอดทั้งเรื่อง คนดูน่าจะประเมินว่าเธอทำหน้าที่ “แม่-เมีย” ได้ไม่สมบูรณ์นัก ก่อนที่เธอจะเริ่มมีตัวตนมากขึ้นในช่วงท้ายๆ และบทพูดหนึ่งที่ชวนขบคิด ก็คือ การเผยความในใจว่าเธออยากเป็นตัวของเธอเอง โดยให้คนอื่นๆ เรียกชื่อเสียงเรียงนามอันแท้จริง มากกว่าจะถูกเพื่อนบ้านพากันเรียกขานว่าเธอเป็น “แม่ของ…”

ประเด็นนี้ชวนให้นึกถึงหนังแนวสตรีนิยมเรื่อง “Kim Ji-young, Born 1982” อยู่ไม่น้อย

แต่น่าสนใจว่า ในภาพรวม “Reply 1988” ได้พยายามนำเอาประเด็นขัดแย้งเคร่งเครียดจริงจังเหล่านั้นมาปรุงแต่งเป็น “ละครดราม่า” รสชาติกลมกล่อม ซึ่งชูรสด้วยอารมณ์โรแมนติก ความอบอุ่น และอารมณ์ขันเบาๆ ที่มีอิทธิพลอยู่เหนือการกดขี่ ความเหลื่อมล้ำ และอารมณ์เก็บกดกดดันต่างๆ

ดูเหมือนผู้ชมหลายคนจะรู้สึกอินกับ “วัตถุความทรงจำ” หรือ “วัฒนธรรมป๊อปในความทรงจำ” เช่น แฟชั่นเครื่องแต่งกาย เทปเพลง วิดีโอ หนัง/ละครเก่า เพลงเก่า โปสเตอร์เก่า ตู้เกม ของเล่น คอมพิวเตอร์รุ่นโน้น ฯลฯ ที่ปรากฏในซีรี่ส์เรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่ผมเห็นว่า “Reply 1988” นำเสนอไว้ได้ดีไม่น้อย คือ ภาวะเปลี่ยนผ่านของ “อารมณ์ความรู้สึก” หรือ “องค์ความรู้ของยุคสมัย” บางประการ

ในตอนที่แม่ของ “ด็อกซอน” (นางเอก) ต้องกินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะรอลุ้นผลการตัดชิ้นเนื้อจากเต้านมไปตรวจพิสูจน์ว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่

ณ ช่วงปลายทศวรรษ 1980 นั้น ทำให้เราตระหนักว่าโรคภัยดังกล่าวเคยเป็นเรื่องใหญ่และน่ากังวลมากๆ เพียงใด สำหรับสตรีผู้เข้าตรวจสุขภาพและสมาชิกครอบครัวรายอื่นๆ

ก่อนที่ต่อมา พัฒนาการทางด้านสาธารณสุขจะจัดการกับปัญหาสุขภาพเรื่องนี้ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

และการมี “ถุงน้ำ” ในทรวงอกของแม่ “ด็อกซอน” ก็ไม่ใช่สิ่งร้ายแรงน่าหวาดวิตกถึงขีดสุดอีกต่อไป

คล้ายคลึงกับประเด็น “วัยทอง” ที่บรรดาตัวละครแม่ๆ ใน “Reply 1988” ต่างมีอาการเช่นนี้กันตอนกลางทศวรรษ 1990 ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น อาการที่ว่าแทบจะถูกมองเป็นเหมือน “โรคภัยไข้เจ็บ” ประเภทหนึ่ง แต่เมื่อมาถึงปัจจุบัน กลับไม่มีใครตื่นตระหนกตกใจกับมันในฐานะปัญหาสุขภาพใหญ่โตอีกแล้ว

นอกจากนั้น ผมยังเพิ่งมาเรียนรู้ผ่านการดูซีรี่ส์เรื่องนี้ว่าประเด็นเรื่องการแต่งงานระหว่างคนนามสกุลเดียวกัน นั้นเคยเป็นปัญหาถกเถียงทางกฎหมายและสังคมในเกาหลีใต้มาจนถึงช่วงกลางทศวรรษ 1990 ก่อนที่รัฐ-สังคมจะค่อยๆ ผลักดันปรับเปลี่ยนแก้ไขไม่ให้มันเป็นปัญหาขัดแย้งเหมือนดังก่อนเก่า

ในท่ามกลางการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ที่หลายคนพยายามพยากรณ์ถึง “แบบแผน-วิถีชีวิตใหม่ๆ” (new normal) ซึ่งจะเป็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีหลังวิกฤต

ความเปลี่ยนแปลงด้าน “อารมณ์ความรู้สึก-องค์ความรู้” ที่ “Reply 1988” ฉายภาพ กลับเป็นกระบวนการใหม่ๆ ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น ไปพร้อมๆ กับการค่อยๆ ระเหยหาย-ลดหย่อนอิทธิพลลงไปของแนวคิดนามธรรมดั้งเดิมบางเรื่อง

แบบที่พอมารู้ตัวอีกที อะไรหลายๆ อย่างก็ปลาสนาการไปจากชีวิตเราเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน รูปแบบของซีรี่ส์ “Reply 1988” เอง ก็เหมือนจะอ้างอิงไปยัง “ละครซิตคอมจบในตอน” เมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อน เป็นซิตคอมที่พูดเรื่องครอบครัว ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ปมปัญหา อุปสรรคยากลำบาก แต่อย่างไรเสีย ทุกอย่างจะลุล่วงผ่านพ้นไปได้ด้วยอารมณ์ขัน การแสวงหาความสุข และการมีความหวังของบรรดาตัวละครหลัก-รอง

โดยส่วนตัว ผมคิดว่านี่เป็นวัฒนธรรมบันเทิงหรือวัฒนธรรมละครทีวีในแบบยุค 90 มากๆ (ระหว่างดูจะแอบคิดถึง “สามหนุ่มสามมุม” หรือ “คู่ชื่นชุลมุน” อะไรทำนองนั้น)

พูดอีกอย่างได้ว่า ในเชิงเป้าประสงค์ “Reply 1988” ดูจะเป็นมหรสพความบันเทิงที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคภายในประเทศ/วัฒนธรรมเฉพาะ เป็นการมองย้อนกลับไปรำลึกตรวจสอบอดีตของตัวเอง มากกว่าจะหวังเป็น “เค-ดราม่า” ที่เวิร์กกับอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลกหรือรสนิยมสากลร่วมสมัย (แม้ผลลัพธ์ที่ได้จะประสบความสำเร็จทั้งสองทางก็ตาม)

เอาเข้าจริง ซีรี่ส์เรื่องนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับแพลตฟอร์มอย่างเน็ตฟลิกซ์ด้วยซ้ำ หากพิจารณาจากความยาวต่อตอนหรือจังหวะการลำดับภาพ

ประเด็น “ชนชั้น” ใน “Reply 1988” คืออีกเรื่องที่น่าใส่ใจและซับซ้อนพอสมควร

ในแง่หนึ่ง ตัวละครรุ่นพ่อ-แม่ส่วนใหญ่ในซีรี่ส์เรื่องนี้ คือ “คนจนเมือง” หรือ “คนชั้นกลางระดับล่าง” ซึ่งมีความรู้ระดับประถมศึกษา (บางครอบครัวอาจมีพ่อจบ ม.ปลาย และเหมือนจะมีแค่ครอบครัวเดียว ที่พ่อ-แม่จบปริญญา) พวกเขาส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ อาศัยอยู่บริเวณโซนนอกๆ ของกรุงโซล และพยายามจะส่งเสียคนรุ่นลูกให้ได้ศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย

ประเด็นนี้ทำให้นึกถึง “Itaewon Class” ที่ตัวละครวัยรุ่นเกาหลียุค 2000 เป็นต้นมา ดูจะไม่ใส่ใจกับความรู้และปริญญาบัตรในมหาวิทยาลัย พวกเขาไม่ได้มองสถาบันอุดมศึกษาเป็นก้าวย่าง/บันไดขั้นสำคัญในการไต่เต้าทางสังคมอีกต่อไป

ส่วนมหาวิทยาลัยใน “Parasite” ก็กลายเป็นเพียงความฝันอันไกลเกินเอื้อมสำหรับลูกหลานคนยากจนในสังคมเกาหลียุคปัจจุบัน

ขณะที่มหาวิทยาลัยใน “Reply 1988” ยังคงเป็น “สิ่งจำเป็น” สำหรับวัยรุ่นยุค 90 ที่ต้องการจะถีบตัวเองออกมาจากฐานรากของพีระมิด

ยิ่งกว่านั้น ชีวิตของตัวละครคนจนเมือง/คนชั้นกลางระดับล่างในซีรี่ส์เรื่องนี้ ยังสามารถพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ง่ายๆ ผ่านการเล่นตลกของโชคชะตาหรือการถูกหวยรางวัลใหญ่

ดังจะเห็นว่าครอบครัวที่รวยที่สุดครอบครัวหนึ่งในซอย คือ บ้านที่ถูกหวยโอลิมปิก 1988 ซึ่งพ่อแม่จบประถม ลูกคนโตต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยถึง 7 ครั้ง

ส่วนอีกครอบครัวที่อาศัยอยู่ตรง “ชั้นใต้ดินด้านล่าง” ของบ้านหลังเดียวกัน กลับมีหัวหน้าครอบครัวเป็นพนักงานธนาคาร ซึ่งต้องแบกรับภาระหนี้สิ้นจากการไปค้ำประกันให้คนอื่น และมีลูกสาวคนโตเล่าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศ

นอกจากเรื่อง “ดวงเฮง” เหล่าตัวละครใน “Reply 1988” ก็สามารถประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ และการแบ่งปันระหว่างคนในชุมชน ไปจนถึงการมีพรสวรรค์/ความสามารถพิเศษของปัจเจกบุคคล

“หนุ่มน้อยมหัศจรรย์” เช่น “แท็ก” นั้นไม่ต้องเรียนหนังสือ แต่กลับสร้างรายได้หลายร้อยล้านวอนต่อปี เพราะมีความสามารถพิเศษขั้นเอกอุเรื่องโกะ เขาต่างจากตัวละครหลายรายใน “Itaewon Class” ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ

อาจสรุปได้ว่าโชคชะตาที่เอื้ออำนวย, ความประหยัดอดออม ตลอดจนการมีที่ทางในสังคมของผู้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ ภาพแทนของ “ความหวัง” ที่พอจะเป็นไปได้สำหรับคนจนเมือง/คนชั้นกลางระดับล่างยุค 80-90 (ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997)

ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับอาการสิ้นหวังไร้ทางออก ณ ทศวรรษ 2010 ดังที่ปรากฏในหนังรางวัลออสการ์เรื่อง “Parasite”