วงค์ ตาวัน | 7 ประเด็น 99 ศพ

วงค์ ตาวัน

การตามหาความจริงเหตุการณ์ 99 ศพ นับเป็นกระแสที่ร้อนแรงในวาระครบ 10 ปีเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดงปี 2553 นำมาสู่การถกเถียงในหลายปมประเด็น ที่สำคัญทำให้ทั่วสังคมไทยได้ตระหนักว่า เหตุการณ์เข่นฆ่ากันกลางเมืองหลวง มีภาพถ่าย วิดีโอ บันทึกความจริงไว้มากมาย

แล้วเป็นไปได้อย่างไร ที่ยังไม่สามารถนำพยานหลักฐานเหล่านี้ขึ้นสู่กระบวนการศาล เพื่อพิสูจน์ความถูก-ผิดได้

แต่ความจริงที่สามารถคืบหน้าไปบางส่วน และเป็นเครื่องยืนยันที่มีน้ำหนักชัดเจนก็คือ

พนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนการไต่สวนชันสูตรศพของผู้เสียชีวิต เพื่อนำขึ้นไต่สวนในชั้นศาล พิสูจน์ในเบื้องต้นว่า คนตายคือใคร และตายด้วยอะไร ใครทำให้ตาย

มีการทยอยนำขึ้นไต่สวนในชั้นศาลช่วงปี 2555 ต่อมาศาลได้ชี้ผลการไต่สวน โดยระบุว่ามีจำนวน 17 ศพถูกกระสุนปืนจากเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติการตามคำสั่ง ศอฉ. หรือถูกยิงจากฝั่งเจ้าหน้าที่ ศอฉ. บางรายระบุได้ชัดเจนว่ายิงโดยเจ้าหน้าที่ ศอฉ.จากจุดไหน

น่าเสียดายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ด้วยการก่อม็อบล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 อันนำมาสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ในที่สุด ผลการไต่สวนชันสูตรศพก็ทำได้เพียงเท่านั้น สำนวนอื่นๆ ที่พนักงานสอบสวนเตรียมเอาไว้ เงียบหายไป

คดีที่จะพิสูจน์ว่าจะต้องมีการรับผิดชอบความตายของคน 99 คน ก็ไม่สามารถนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลย

เมื่อความจริงไม่สามารถนำขึ้นพิสูจน์ผ่านกระบวนการสืบพยานหลักฐานในชั้นศาลได้

ทำให้แต่ละฝ่ายต่างอ้างอิงข้อมูลเพื่อตอบโต้กันไปมา

โดยรัฐบาลขณะนั้น ผู้นำทหารขณะนั้น โยนความผิดไปที่กองกำลังชายชุดดำ ผู้ก่อการร้ายแฝงตัวในม็อบ และฝ่ายผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง มีการเผาบ้านเผาเมือง

เพื่อปฏิเสธว่าที่ตายทั้งหมดร่วมร้อยศพนั้น ไม่ใช่ความผิดของผู้มีอำนาจในขณะนั้นเลย

การชุมนุมของ นปช.เริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2553 ข้อเรียกร้องคือให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา เนื่องจากไม่ยอมรับที่มาของรัฐบาลนี้ โดยผลการเลือกตั้งเมื่อธันวาคม 2550 นั้น พรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะท่วมท้น แต่ต่อมานายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ จากการเลือกตั้งดังกล่าวพ้นจากตำแหน่งด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วเกิดการพลิกขั้วทางการเมือง ผ่านการเจรจาลับในค่ายทหาร นำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปลายปี 2551

การชุมนุมเรียกร้องยุบสภายืดเยื้อ จนกระทั่งคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 จึงเกิดความรุนแรงขึ้นระหว่างม็อบกับเจ้าหน้าที่ทหารของ ศอฉ.

มีข้อน่าสังเกตคือ

1. การปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เกิดขึ้นตั้งแต่กลางวัน เหตุการณ์ยืดเยื้อไปเรื่อย จนเมื่อเริ่มเข้าสู่เวลาค่ำมืด ได้มีนักวิชาการ นักสันติวิธี ออกมาเรียกร้องให้ ศอฉ.หยุดปฏิบัติการผลักดันผู้ชุมนุม โดยชี้ชัดเจนด้วยประสบการณ์เหตุการณ์ม็อบก็คือ

ในเวลาค่ำมืด อาจเกิดเหตุรุนแรงได้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งเป็นที่รู้กันดีว่า เหตุการณ์ประท้วงในบ้านเมืองเรานั้น มักมีการจุดชนวนโดยมือลึกลับที่เรียกว่ามือที่สาม

แต่ ศอฉ.ก็ไม่หยุดปฏิบัติการ ความวุ่นวายยังต่อเนื่องต่อไป จนในที่สุดก็เกิดเสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหวขึ้นกลางวงของเจ้าหน้าที่ทหาร จากนั้นจึงมีเสียงปืนดังระงม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้นำอาวุธปืนออกมาใช้เพื่อตอบโต้ เลือดนองถนน มีคนตายในค่ำคืนนั้นทันที 25 คน เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย

พร้อมกับมีการปรากฏตัวของกลุ่มชายชุดดำ พร้อมกับสาดกระสุนปืน

ในภายหลังมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงพบว่าเสียงระเบิดกลางวงเจ้าหน้าที่ทหารนั้นเป็นระเบิดมือ ที่ต้องโยนในระยะไม่ไกลนัก และจะต้องเป็นคนที่รู้ว่าจุดนั้นเป็น บก.ส่วนหน้าของฝ่ายทหาร แต่ก็ถือเป็นการจุดชนวนความรุนแรงที่ได้ผล จากนั้นฝ่ายทหารจึงต้องใช้อาวุธปืนเพื่อโต้ตอบ ผลก็คือ มีการเสียชีวิตมากมาย โดยเฉพาะฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดงตายไปเกือบ 20 ราย มีช่างภาพชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต 1 ราย

2. ที่กล่าวอ้างว่าชายชุดดำคือกองกำลังติดอาวุธฝ่ายม็อบ มีปรากฏวิดีโอเห็นชายชุดดำรัวปืนเป็นชุดจริง และยืนอยู่กับฝ่ายม็อบ แต่ไม่เห็นชัดเจนว่าวิถีปืนของชายชุดดำกลุ่มนั้น ยิงใส่เจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่ อีกทั้งในภายหลังพยานหลักฐานก็บ่งบอกว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่ถูกสังหารด้วยระเบิดมือ ที่ขว้างในระยะไม่ไกล

สำคัญสุด เมื่อเสียงปืนเสียงระเบิดดังขึ้น เริ่มมีคนล้มตาย ภายใน ศอฉ.เองประเมินว่า เสื้อแดงต้องขยายความรุนแรงไปสู่การจลาจลใหญ่แน่นอน แต่แล้วนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และแกนนำเสื้อแดง กลับใช้ไมโครโฟนประกาศ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยุติปฏิบัติการ ให้ทั้งสองฝ่ายถอยออกมา หยุดการปะทะ เพราะมีการล้มตายมากแล้ว

ใน ศอฉ.เองก็ยังงงกับท่าทีดังกล่าว ก่อนจะสรุปว่า ถ้าเสื้อแดงมีแผนใช้อาวุธก่อความรุนแรง เพื่อขยายผลไปสู่การล้มรัฐบาล แล้วจะเรียกร้องให้ยุติการปะทะทำไม

นี่คือความจริงของคืนแรกของการนองเลือดและล้มตาย พร้อมการปรากฏตัวของกลุ่มชายชุดดำ ที่ไม่เห็นหน้าเห็นตา และไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นใคร

แทนที่รัฐบาลเองเห็นความรุนแรงคนตายไป 25 คนในคืนแรกจะหาทางออกอย่างอื่น แต่ก็ยังเดินหน้าปฏิบัติการกระชับพื้นที่ต่อไป และยกระดับปฏิบัติการของทหารในการสลายม็อบอีกด้วย

3. มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้กระสุนจริงได้ อ้างว่าเพื่อป้องกันตัวเอง แต่เอาเข้าจริงๆ การให้ทหารถือปืนบรรจุกระสุนจริงเข้าไปเผชิญหน้ากับม็อบ ใครก็รู้ว่าจะเกิดการสูญเสียต่อประชาชนได้ง่ายดายมากๆ มิหนำซ้ำยังถึงขั้นขึ้นป้ายประกาศเป็นเขตใช้กระสุนจริงอีกด้วย

4. เหตุนองเลือดครั้งสุดท้ายก่อนจะถึงปี 2553 ก็คือพฤษภาคม 2535 ซึ่งหลังจากนั้น รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ที่เข้ามาแก้ไขปัญหา ได้สอบสวนความผิดพลาดแล้ว มีมติ ครม.ให้ประเทศไทยเลิกใช้ทหารเข้าสลายการชุมนุม ให้จัดตั้งตำรวจปราบจลาจลครั้งใหญ่ จัดซื้อเครื่องมือสลายฝูงชน ที่ไม่ต้องล้มตาย โล่ กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ซึ่งรัฐบาลต่อๆ มาก็ปฏิบัติตามโดยตลอด

แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์อ้างเหตุมีชายชุดดำ มีก่อการร้ายในม็อบ จึงให้ใช้ทหารเข้าปฏิบัติการ พร้อมกระสุนจริง ทั้งหมดนี้ขัดแย้งกับบทสรุปของสังคมไทยหลังนองเลือดเมื่อปี 2535 อย่างสิ้นเชิง

หนักกว่านั้น มีคลิปวิดีโอปรากฏชัดว่าได้ใช้สไนเปอร์ซุ่มยิงระยะไกลมาใช้ในปฏิบัติการนี้ด้วย จึงทำให้มีคนล้มตายไปเรื่อยๆ จาก 10 เมษายน ยังรุนแรงไปกว่าเดือน จนสิ้นสุดเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 รวมตายไปทั้งสิ้น 99 คน

5. มีการกล่าวหาว่าม็อบเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง โดยการเผาอาคารเกิดขึ้นจริงในช่วงบ่ายของวันที่ 19 พฤษภาคม เผาห้าง เผาโรงหนัง แต่เกิดขึ้นหลังจากม็อบถูกสลายหมดสิ้น แกนนำถูกคุมตัวไปขังหมดแล้ว ผู้ชุมนุมทยอยกลับบ้านอย่างเสียขวัญ

ถ้ายังมีเสื้อแดงฮาร์ดคอร์ไปเผาห้างเผาอาคารต่างๆ เปรียบกันว่าต้องระดับพระเอกหนังฮอลลีวู้ด ชัค นอริส ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน เท่านั้นจึงจะทำได้ เสื้อแดงปกติมีแต่หนีเตลิด หนีการจับกุมกระเจิงไปหมดแล้ว

ต่อมาคำพิพากษาของศาล ที่ให้ยกฟ้องจำเลยเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาเผาห้างยังเป็นเครื่องยืนยันอีกด้วย โดยคนถือถังดับเพลิงกลับถูกหาว่าถือถังแก๊ส

6. มีผู้ชุมนุมนับพันที่ขวัญกระเจิงเข้าไปหลบในวัดปทุมวนาราม เนื่องจากมีป้ายประกาศเป็นเขตอภัยทาน แต่ยังมีการยิงใส่วัดในตอนเย็น ต่อเนื่องถึงค่ำของวันที่ 19 พฤษภาคม จนตายไปอีก 6 คน

มีตำรวจที่รักษาการณ์ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติถ่ายวิดีโอไว้ เห็นเจ้าหน้าที่ ศอฉ.ยืนเล็งปืนบนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดและยิงใส่เข้าไปในวัด โดยภาพชัดเจนว่ายืนยิงโดยไม่ต้องก้มหลบ แปลว่าไม่มีการยิงตอบโต้จากในวัด

ผลการไต่สวนชันสูตรศพ ศาลชี้ว่า 6 ศพดังกล่าว ถูกยิงด้วยเจ้าหน้าที่ ศอฉ.บนรางรถไฟฟ้าและอีกชุดบนพื้นราบ ทั้งไม่มีชายชุดดำ ไม่มีการต่อสู้ใดๆ

7. คนตายที่วัดปทุมฯ เป็นพยาบาลอาสา เป็นกู้ภัย เป็นชาวบ้าน และทั้งหมด 99 ศพ ไม่มีศพไหนมีอาวุธ เป็นก่อการร้ายชายชุดดำเลยแม้แต่ศพเดียว