พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู : เลือด น้ำตา และความหวังของชาวเอธิโอเปีย

ชนชั้นปกครองด้วยการแสวงหาอำนาจและความเห็นแก่ตัว ทำร้ายประชาชนในทุกหย่อมหญ้า ในปี ค.ศ. ๑๙๘๕ เราคงเคยได้ยินเพลง We are the world เพื่อขอบริจาคให้ชาวเอธิโอเปียผู้หิวโหย นำโดยไลโอเนล ริคชี และราชาเพลงป๊อบ ไมเคิล แจ็คสัน ผู้ล่วงลับ ได้เงินไปช่วยเหลือชาวเอธิโอเปีย ๖๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคงไม่มากพอ กับภาพ เด็กหัวโต แขนขาลีบนอนดื่มนมมารดาที่ตายแล้วแมลงวันตอมหึ่ง ทุกคนผอมแห้ง อดอยากและหนีตายกันจำนวนมาก ประมาณ ๑ ล้านคน เสียชีวิตและหิวโหยอีกนับไม่ถ้วน

เหตุเริ่มจากจักรวรรดิเอธิโอเปียที่ยังปกครองด้วยระบอบศักดินาเจ้าที่ดิน แม้ว่าจักรพรรดิฮาเล เซลาสซีจะเอาใจพวกทหาร ตำรวจด้วยการให้ที่ดินแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะรักษาอำนาจไว้ได้ กลุ่มหัวรุนแรงนำโดยพันตรีในกองทัพที่ชื่อว่า เมนกิสตู ด้วยว่ามีพรรคพวกคุมกลไกกำลังในกองทัพไว้ได้หมด ก็ทำการยึดอำนาจ และล้มราชวงศ์ลงใน ค.ศ. ๑๙๗๕ ตอนแรกก็ดูดีเพราะทำการแจกจ่ายที่ดินจากราชาที่ดินทั้งหลายไปให้ประชาชนเหล่าไพร่

แต่เพราะระบอบที่นำมาใช้ที่หนุนหลังโดยสหภาพโซเวียตคือลัทธิคอมมิวนิสต์โดยใช้ชื่อพรรคแรงงาน ที่ใช้การยึดทรัพย์สินทั้งหลายเป็นของรัฐด้วยความคิดชาตินิยม ก็ตามมาด้วยการคอรัปชั่นอย่างมโหฬารตามปกติของระบบราชการที่มีอำนาจเด็ดขาด ไพร่ทั้งหลายจึงไม่ได้ที่ดินตามที่ควร ยิ่งไปกว่านั้นกลายเป็นการเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองอันยาวนานถึง ๑๖ ปี ๘ เดือน ๓ สัปดาห์และ ๒ วัน กว่าจะหมดอำนาจลง

กลุ่มต่อต้านระบอบทหารของเมนกิสตู มีทั้งพวกสนับสนุนการถวายคืนราชบัลลังก์หรือขวาจัด ไปจนถึงคอมมิวนิสต์ซ้ายจัดด้วยกัน  ตลอดระยะเวลาของสงครามมีผู้เสียชีวิตไปประมาณ ๕ แสนคนจากความรุนแรง หลายเรื่องด้วยกัน ท้ายที่สุดเพราะการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ทั้งฝ่ายเมนกิสตูและฝ่ายกบฏที่สนับสนุนโดยอัลบาเนีย ต่างก็หมดตัวช่วย เหลือแต่การยึดพื้นที่ของฝ่ายกบฏจนได้ชัยชนะ ส่วนเมนกิสตูนั้นลี้ภัยไป ซิมบับเว

ความอดอยากของชาวเอธิโอเปียเกิดจากการสู้รบและนโยบายการตัดอาหารและการทำการเกษตรของประชาชนเพื่อมิให้ฝ่ายกบฏมีทรัพยากร นอกเหนือจากนั้นก็ลักษณะของรัฐบาลทหารเอง ที่มีประชาชนบอกว่า มีแต่เข้ามาปล้นสะดม ข่มขืน  คนเฒ่าคนแก่ต้องหนีตายไปประเทศซูดาน คนหนุ่มเข้าไปกับพวกกบฏ ใครที่หนีไม่ทันก็จะถูกจับเป็นตัวประกันเพื่อให้ฝ่ายกบฏมอบตัว  โรงเรียนถูกปิดเพราะเชื่อว่าสอนให้คนต่อต้านรัฐบาล

เวลานั้นรัฐบาลเอธิโอเปียไม่ยอมให้ฝ่ายตะวันตกเข้ามาให้การช่วยเหลือเพราะเชื่อว่าจะสนับสนุนฝ่ายกบฏ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงเพราะฝ่ายกบฏได้รับข้าว อาหารและเสบียงจากกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนตะวันตกทำให้อยู่รอดได้ ทั้งยังมีทุนส่งสมาชิกไปศึกษาในประเทศตะวันตกและประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์เซียจำนวนมากอีกด้วย สิ่งที่ตามมาคือกรณีของเอธิโอเปียเริ่มเป็นที่สนใจขององค์กรระหว่างประเทศต่างจากเดิม เพราะองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆเหล่านี้เองที่ได้ช่วยขับเคลื่อนให้

จากนโยบายการกดขี่เกษตรกรและไพร่นี้ ส่งผลร้ายกลับไปหารัฐบาลเมนกิสตูเอง นั่นก็คือภาวะอดอยากรุนแรงจากการขาดอาหาร ไพร่ที่รองรับระบอบการปกครองล่มสลาย ตายไปจำนวนมาก ไม่มีผู้ผลิตให้กับทหารและรัฐบาล ทำให้ทหารหมดศักยภาพตามไป

ตรงกันข้ามกับฝ่ายกบฏที่ยังมีการผลิต มีเสถียรภาพในการดูแลประชากรของตน ทั้งผู้ลี้ภัยที่เคยหนีไปซูดานก็ค่อยๆกลับเข้ามา กลุ่มพ่อค้าคนกลางเคลื่อนย้ายการผลิตไปเชื่อมต่อกับฝ่ายกบฏมากขึ้นเรื่อยๆ มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เช่น รองเท้ายาง น้ำตาล นมและธัญพืชเพื่อเอามาเป็นทุนในการสู้รบได้ดีขึ้น

จุดพลิกผันที่ทำให้ฝ่ายกบฏได้ชัยชนะนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วคือสิ่งที่นักปฏิวัติทั่วโลกเคยทำมานั่นก็คือ แจกที่ทำกินให้กับราษฎรที่เคยเป็นไพร่มาก่อน จัดบริการสาธารณะให้ทั่วถึง อีกทั้งฝ่ายกบฏนั้นมีองค์กรบริหารที่รับผิดชอบ ไม่ทุจริต คอรัปชั่นเกลื่อนกราดเมื่อเทียบกับฝ่ายรัฐบาล

เสาหลักในการสร้างเสถียรภาพให้กับกลุ่มกบฏมี ๕ เรื่องใหญ่ๆคือ การศึกษาและวัฒนธรรม ศาสนา สตรี ปฏิรูปที่ดินและการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น

ใน ค.ศ. ๑๙๙๑ เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายไม่ได้สนับสนุนเมนกิสตูอีกต่อไป และประเทศตะวันตกคือสหรัฐฯเข้ามาไกล่เกลี่ย ทุกสิ่งก็เข้าสู่การปกครองปกติ แต่ยังคงเป็นระบอบสังคมนิยมที่ชนชั้นนำปกครอง เพราะเชื่อตามทฤษฏีเลนินและเหมาฯ ที่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์เท่านั้นจะนำการปฏิวัติและการปกครองได้

มาปัจจุบันเอธิโอเปียเปลี่ยนไปมาก แม้ว่ารัฐยังปกครองด้วยอำนาจและความรุนแรง รวมถึงการปราบปรามผู้เห็นต่างอยู่ แต่ก็ได้นำนโยบายการเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร โดยได้มาดูงานและนำระบบของ มาเลย์เซีย (เป็นมุสลิมด้วยกัน) สิงคโปร์และเกาหลีใต้ ไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน

และยังได้รับการบริจาคอย่างมากจากประเทศซาอุดิอารเบีย ภายหลังจากที่เคยมาติดต่อกับรัฐบาลทักษิณฯที่จะให้ชาวนาไทยผลิตข้าวส่งให้ตะวันออกกลางแล้วถูกต่อต้านด้วยข้อหาขายชาติจนถอยออกไป ในปีต่อมาก็ได้นำเม็ดเงินไปลงในเอธิโอเปียโดยตั้งเป้าในอนาคตให้เป็นแหล่งอาหารสำหรับคนในตะวันออกกลาง เทคโนโลยีและเงินทุนดังกล่าวนี้ทำให้เอธิโอเปียในปัจจุบันกลายเป็นประเทศทีมีการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค (๙.๙ % ในปี ๒๐๑๔)

ประเทศเอธิโอเปียประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เป็นการลงทุนด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการส่งออกร้อยละ ๘๔ ส่วนมากไปยุโรป และมีการจ้างงานร้อยละ ๘๐ ในภาคนี้ (๒๐๑๔) รัฐเองใช้เงินประมาณร้อยละ ๑๗ ของงบประมาณ เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาเกษตรกรรม ๔ เรื่องได้แก่ ทักษะ ทรัพยากร เงินทุนและการประสานงาน ทำให้การเจริญเติบโตในภาคเกษตรกรรมอยู่ที่ร้อยละ ๗ ต่อปีต่อเนื่องเป็นสิบปี

เอธิโอเปียจัดตั้งหน่วยงานกลางของรัฐแต่ดำเนินการโดยภาคเอกชนเพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้กับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อโดยทำตัวเป็นคนกลางในเรื่องคลังสินค้าให้ เพื่อทำให้เกิดราคาที่สมเหตุผล มีการขนส่งถูกต้องตามเวลา มีผลผลิตสม่ำเสมอได้คุณภาพ และมีระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายทั้งในจนถึงต่างประเทศ

องค์กรกลางที่ว่านี้ ทำการรับสินค้า คัดเลือกเกรด ชั่งน้ำหนัก ให้หลักประกันคุณภาพและราคา ตลอดจนการเก็บรักษา เพื่อให้มั่นใจว่ามีสินค้าคืออุปทานที่แน่นอน สามารถส่งมอบให้กับผู้รับได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี

เอธิโอเปียตั้งเป้าหมายไว้ว่าในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า คือ ค.ศ. ๒๐๒๖ จะมีความมั่นคงด้านอาหาร ทั้งนี้ก็ด้วยการทุ่มเทของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่คอรัปชั่น เกษตรกรนับล้านๆคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีระบบเกษตรกรรมที่ยืดหยุ่นสามารถรับมือกับความแปรปรวนของสภาวะอากาศและความผันผวนของตลาดได้ดี

แน่นอนว่า ระบอบการปกครองกึ่งเผด็จการของเอธิโอเปียยังมีปัญหาทางการเมืองและความรุนแรงอยู่ อนาคตที่สดใส เห็นแสงสว่างของชาวเอธิโอเปียยังอยู่อีกยาวไกล แต่ด้วยยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง การเปิดรับเทคโนโลยีและการผลิตใหม่ๆ การเปิดให้ผู้ขายคือเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศและผู้ซื้อติดต่อกันอย่างมีหลักประกันถึงความยุติธรรมและคุณภาพ การจะกลับไปสู่ความทุกข์ยาก อดอยากจากการแย่งชิงอำนาจและการปกครองแบบรัฐบาลทหารอย่างเดิมนั้น คงไม่มีอีกแล้ว