สมหมาย ปาริจฉัตต์ : แกะรอยลายสือไทย… แล้วจะไปอย่างไรต่อ (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปิดโลกสุขภาวะดีมีสุขตามรอยลายสือไทยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ร่วมสร้างเสริมการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะ โดยเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มีหลักศิลาจารึกเป็นสื่อ ดำเนินต่อไปด้วยความคึกคัก

ครูทุเรียนและคณะชาวสมาคมลายสือไทย จังหวัดสุโขทัย เน้นว่า เหตุเพราะบริบทของประชาชนชาวสุโขทัยปัจจุบันมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมต่างจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงสร้างแรงบันดาลใจให้เธอและคนอื่นๆ หาวิธีถ่ายทอดต่อเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตปัจจุบันให้มีสุขภาวะที่ดีมีคุณภาพอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน เป็นการอนุรักษ์และสืบสานลายสือไทย เผยแพร่อักษร การเขียน ประสมคำตามหลักการเขียนตามศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่มีความสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง

คิดหลักสูตรชีวิตดีมีสุขตามรอยลายสือไทยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชขึ้นมาแล้ว ขยายผลจากการเรียนการสอนเด็กในโรงเรียน เป็นหลักสูตรสำหรับครู ครอบครัว และชุมชน และจัดกิจกรรมสร้างเครือข่าย ชีวิตดีมีสุขตามรอยลายสือไทยควบคู่กันไป

โดยนำเอาสาระจากข้อความต่างๆ ที่ปรากฏในหลักศิลาจรึก ซึ่งสะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ การปฏิบัติตนตามลักษณะนิสัยคนไทยสมัยสุโขทัย เป็นแนวทาง

ดังประโยคที่ว่า “เมื่อชั่วพ่อกูกูบำเรอแก่พ่อกูบำเรอแก่แม่กูได้ตัวเนื้อตัวปลากูเอามาแก่พ่อกู กูได้หมากส้มหมากหวานอันใดกินอร่อยกินดีกูเอามาแก่พ่อกูกูไปตีหนังวังช้างได้กูเอามาแก่พ่อกูกูไปท่อบ้านท่อเมืองได้ช้างได้งวงได้ปั่วได้นางได้เงือนได้ทองกูเอามาเวนแก่พ่อกูพ่อกูตายยังพี่กูพร่ำบำเรอแก่พี่กูดั่งบำเรอแก่พ่อกู”

แสดงถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณของคนสุโขทัย


ในด้านประเพณีและศาสนา

“คนในเมืองสุโขทัยนี้มักทานมักทรงศีล มักโอยทานพ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ทังชาวแม่ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนางลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลายทั้งผู้ชายผู้หญิงฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคนเมื่อโอกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึ่งแล้วเมื่อกรานกฐินมีพนมเบี้ยมีพนมหมากมีพนมดอกไม้มีหมอนนั่ง หมอนโนนบริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้านไปสูดญัติกฐินเถิงอไรญิกพู้นเมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวลานดํบงคํด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณเสียงเลื้อนเสียงขับใครจักมักเล่นเล่นใครจักมักหัวหัวใครจักมักเลื้อนเลื้อนเมืองสุโขทัยนี้มี่สี่ปากประตูหลวงเที้ยนย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟเมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก”

สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตที่มีสุขภาวะในด้านกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา

ถอดความหมายออกมาแล้วอธิบาย สะท้อนเรื่องอะไร คำที่เขียนหมายถึงอะไร ต่างจากการเขียนในปัจจุบันอย่างไร

“อย่างคำว่า ท่อบ้าน ท่อเมือง หมายถึง ตีบ้าน ตีเมือง ได้ปั่วได้นาง หมายถึง ได้บริวารชาย บริวารหญิง ได้เงือนหมายถึงได้เงิน แล่ปีแล้ญิบล้าน บริจาคทานปีละล้านสองล้าน อไรญิกพู้นหมายถึงป่าไกลโพ้น ดํบงดํด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณคือประโคมตี ใครจักมักเลื้อนเลื้อน เลื้อนคื่อร้องรำทำเพลง” เธอแปลความอย่างคล่องแคล่ว

ทั้งหมดนี้สมาคมลายสือไทย จังหวัดสุโขทัย เทศบาลเมืองสุโขทัย สภาวัฒนธรรมจังหวัดสุโขทัยร่วมกันจัดพิมพ์ การถอดความ รูปแบบการเขียน อธิบายความหมายไว้ในหนังสือชื่อ สืบสานลายสือไทยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทั้งหมด 5 บท

 

ความที่กล่าวถึงพระจริยวัตรของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้านต่างๆ อาทิ ด้านศาสนธรรม สิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้านศิลปกรรม ฯ อยู่ในบทที่ 4

ว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินที่ตนหามาได้ ปรากฏในด้านที่ 1 บรรทัดที่ 22 เขียนว่า “ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล้ล้มตายหายกว่าเหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมันช้างขอลูกเมียเยียเข้าไพร่ ฟ้าข้าไทยป่าหมากป่าพลุกพ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น” การเขียนอักษร ใช้ตัว ค.คน และ ข.ขวด เดิม

ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 5 “หมากขามก็หลายในเมืองนี้ใครสร้างไว้แก่มัน”…คณะผู้ถอดความชี้ว่า ข้อความตรงกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตราที่ 17(1) ทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยลำพังหรือร่วมกับผู้อื่นและ (2) ไม่มีผู้ใดถูกจำกัดสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ

ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 48 บัญญัติถึงสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง…การสืบมรดกย่อมได้รับความคุ้มครอง

และข้อความที่ว่า “เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า…”

ผู้ถอดความชี้ว่าสอดรับกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการ หรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

 

ครับ คุยกันไป ฟังอธิบายความหมายคำโบราณไป คำถามจากเสวนาสมาชิกบางคนดังขึ้น “แล้วหลักศิลาจารึกมีกี่หลัก แกะรอย ถอดความเฉพาะหลักที่ 1 หลักอื่นๆ มีอีกไหม อยู่ที่ไหน ข้อความเขียนว่าอย่างไร สื่อความหมายเรื่องอะไร” ยังไม่ทันมีใครเฉลย วงสัมมนาจบลงเสียก่อน

ปรากฏว่าคำตอบอยู่ในหนังสือ “ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มรดกความทรงจำแห่งโลกคือของจริง” เทศบาลเมืองสุโขทัยและสมาคมลายสือไทย จังหวัดสุโขทัย จัดพิมพ์เผยแพร่นั่นเอง

เนื้อหาเป็นการอัญเชิญกระแสพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการเปิดอภิปรายเรื่องศิลาจารึกหลักที่ 1 วันเสาร์ 5 มีนาคม 2532 ณ ห้องประชุมอาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ถนนสีลม ผู้จัดทำนำมาตีพิมพ์ไว้โดยละเอียด

ทรงมีพระดำรัสถึงหลักศิลาจารึกหลักต่างๆ ว่าหลักที่ 1 ก็คือศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

หลักที่ 2 ซึ่งมีความสำคัญเหมือนกันเรียกว่าศิลาจารึกวัดศรีชุม วัดศรีชุมเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงมืองสุโขทัยอีกทีหนึ่ง กล่าวว่าหลวงสโมสรพลการ (ต่อไปได้เป็นพระยาสโมสรฯ) พบในอุโมงค์ของวัดศรีชุมเมื่อปี 2430 เข้าใจว่าผู้สั่งให้จารึกคือสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณีศรีรัตนลังกาเถระพระมหาสามี

หลักที่ 3 เรียกว่า ศิลาจารึกนครชุม ไม่ทราบแน่ว่ามาจากไหน ทำขึ้นในปี พ.ศ.1900 ผู้สร้างขึ้นคือพระมหาธรรมราชาลิไท

หลักที่ 4 ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นภาษาเขมร รัชกาลที่ 4 ได้ทรงนำมาในปี 2376 ที่กล่าวกันอย่างชัดเจนพร้อมกับมนังคศิลาบาตรได้ทำขึ้นในปี 1904 ผู้ที่ทำคือพระยาลิไท

หลักที่ 5 ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง เป็นภาษาไทย ได้จารึกในปีเดียวกันคือ 1904 พบที่อยุธยาในปี 2450

หลักที่ 8 คือ หลักสุดท้ายคือศิลาจารึกสุมนกูฏของเมืองสุโขทัย

พระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตรัสถึงหลักศิลาจารึกแต่ละหลักไว้อีกมาก ท่านที่สนใจหาอ่านเต็มๆ ได้ในหนังสือเล่มที่ว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

ผมได้อ่านเอาภายหลัง เลยไม่ได้ถามครูทุเรียนและสมาคมลายสือไทย จังหวัดสุโขทัย วันนั้นว่าจะแกะรอย ถอดความ หลักศิลาหลักอื่นๆ ต่อไปอีกหรือไม่

การนำเอาของดีในอดีตมารับใช้ปัจจุบัน ถ้าท่านผู้มีใจใฝ่ดี มีพื้นฐานเดิมอยู่แล้วเหล่านี้ไม่ทำ แล้วใครจะทำ