ฉัตรสุมาลย์ : ประสบการณ์ตรง การขอวีซ่าไปอินเดีย

ไปอินเดียอีกแล้ว ใช่ค่ะ ยังไม่ถึงอินเดียค่ะ คราวนี้อยากเล่าประสบการณ์การไปทำวีซ่า ไปอินเดียมา 70 กว่าครั้ง ส่วนมากให้คนอื่นทำให้ ไม่ค่อยมีประสบการณ์ตรง สมัยก่อนต้องไปทำที่สถานทูต สมัยนั้นยังอยู่ที่ถนนปั้น สีลม ต่อมาย้ายมาที่สุขุมวิทซอย 23 เกือบสุดซอย กำแพงเป็นรูปทรงแบบอินเดีย เห็นชัด

เมื่อมีคนไปอินเดียมากขึ้น สถานทูตก็เลยจัดจ้างบริษัทเอกชนมารับช่วงหน้างานตรงนี้ไป

คราวนี้ออกไปอยู่ที่อาคารที่อยู่ด้านหน้าของซอย 23 ที่ว่านี้

ต่อมาก็ย้ายไปอยู่ที่อาคาร 253 ในสุขุมวิท 21 ใกล้ไปทางเพชรบุรี

 

คราวนี้ท่านธัมมนันทาได้รับนิมนต์ไปประชุมทางวิชาการที่นาลันทา เดิมเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงของโลกทีเดียว สมัยใหม่นี้เพิ่งเริ่มต้น กำลังอยู่ในช่วงของการจัดตั้งขอเป็นมหาวิทยาลัยเต็มตัวค่ะ การจัดงานร่วมกับรัฐบาล จดหมายเชิญก็เป็นจดหมายเชิญจากรัฐบาล

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) ก็ได้รับนิมนต์เหมือนกัน ท่านน่าจะส่งตัวแทนไป

ทางเจ้าภาพช้ามากในเรื่องการส่งตั๋ว ถ้าส่งมาในนามของท่านธัมมนันทา ไม่ได้ขึ้นเครื่องค่ะ ต้องส่งมาในนามของผู้เขียน แต่ได้ข้อมูลที่จองตั๋วแล้ว ผู้เขียนตัดสินใจไปทำวีซ่าทั้งที่ยังไม่มีตั๋ว

อันนี้เป็นเงื่อนไขในการขอวีซ่าค่ะ ต้องมีตั๋วไปแสดง

เราสามารถกรอกแบบฟอร์มขอวีซ่าออนไลน์ได้ แต่พอกรอกถึงหน้า 3 เครื่องก็ไม่ทำงานต่อ ทดลองเครื่องคอมพิวเตอร์ 3 เครื่อง ประสบปัญหาเดียวกัน

ตกลงต้องไปกรอกใบสมัครที่หน้างานเลย

คราวนี้มาถึง รูปติดวีซ่า ต้องการรูปพื้นขาว ขนาด 2 นิ้ว คูณ 2 นิ้ว ไม่ใช่ขนาดทั่วไป เราถ่ายรูปกันเองจากสมาร์ตโฟนแล้วปริ๊นต์บนกระดาษรูป แล้วก็มาเกร็งตัดให้ได้ขนาด 2 นิ้ว คูณ 2 นิ้ว

ถ้าไม่ถ่ายรูปไป จะเสียค่าถ่ายรูป 150 บาทค่ะ สมควรที่จะเตรียมไป

 

เช้าวันนั้น เป็นวันที่ 8 มีนาคม เราออกไปตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง กลัวรถติด เอารถไปจอดไว้ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ แล้วต่อแท็กซี่ไปที่อาคาร 253 สุขุมวิทซอย 21 เราบอกแท็กซี่ให้เข้ามาทางเพชรบุรี จะถึงอาคารก่อน

ขณะที่วิ่งอยู่บนเพชรบุรี พระอาทิตย์ขึ้นสวยมาก นึกว่าเห็นคนเดียว ปรากฏว่า คนขับก็คงเห็นเช่นกัน เห็นเขาควักสมาร์ตโฟนออกมาถ่ายรูปพระอาทิตย์กำลังขึ้นพ้นอาคารในย่านนั้น

ทันทีที่เลี้ยวเข้าสุขุมวิทซอย 21 พอข้ามสะพาน ก็เห็นอาคาร 253 อยู่ขวามือ โชเฟอร์ดีมาก อุตส่าห์เลี้ยวข้ามเลนไปส่งถึงหน้าอาคาร เราไปถึงเพิ่ง 7 โมง ผู้เขียนดีใจว่า จะได้มีเวลาให้ท่านธัมมนันทาฉันเช้าแถวนั้น

พอก้าวเข้าไปในอาคาร น้องหนูที่ตั้งโต๊ะขายของอยู่หน้าลิฟต์ทักทายว่า เรามาทำวีซ่าสถานทูตอินเดียใช่ไหม รู้สึกดีจัง ที่เขาทักทายอย่างเป็นมิตร สมัยนี้ไม่ค่อยมีคนพูดกับเราสักเท่าไร ชีวิตมันเร่งรีบ และผู้คนก็ก้มหน้าอยู่กับโทรศัพท์เป็นส่วนใหญ่

เราได้ข้อมูลใหม่ค่ะ บริษัทที่ทำวีซ่าย้ายไปแล้ว หัวใจตกไปที่ตาตุ่ม

น้องหนูหน้าตาน่ารักบอกทิศทางอย่างชัดเจน เราต้องข้ามถนนไปอีกฝั่งหนึ่ง แล้วเดินขึ้นไปทางสุขุมวิท 400 เมตร เราจะเห็นอาคาร P.S.Tower บริษัทอยู่ชั้น 10 ค่ะ

เออ อย่างน้อยก็ไม่ได้ย้ายไปไกลคนละมุมโลก ถามลูกคนที่พาไป เธอว่า ข้อมูลในออนไลน์ยังเป็นที่เก่าอยู่ ไม่ว่ากัน เดินสัก 400 เมตรก็เป็นการออกกำลังกายที่ดีนะ

 

ไม่ช้าเราก็มาถึงอาคารที่ว่า เราอุตส่าห์ขึ้นลิฟต์ไปที่ชั้น 10 ให้เห็นด้วยตาเสียก่อนว่าเราจะต้องมาตรงนี้นะ ตกใจอีก เมื่อพบประกาศว่า การขอวีซ่านั้น ใช้เวลา 3-5 วันทำการ และวันจันทร์ที่ 13 เป็นวันหยุดของอินเดีย นับนิ้วเสร็จสรรพ ถ้า 5 วันจริงๆ เราจะได้วีซ่าวันที่ 15 เราจะต้องเดินทางเช้าวันที่ 16 ค่ะ

เฉียดฉิวนะ

ตอนนั้น เพิ่ง 7 โมงครึ่ง เราลงไปนั่งร้านอาหารริมถนนใต้อาคาร จัดการให้ท่านธัมมนันทาฉันอาหารเช้าข้างทางอย่างนั้นแหละ

เนื่องจากเดินทางมาหลายสิบกิโล ก็เลยต้องไปแวะเยี่ยมห้องน้ำ ที่อยู่ข้างหลังยาม มีหนูตัวใหญ่ตายจนแห้งแล้ว นอนหงายเก๋งอยู่ ไม่ส่งกลิ่นรบกวน คิดว่าประเดี๋ยวยามเขาคงมาจัดการเอง

กลับไปร้านอาหารที่ลูกศิษย์จัดการสั่งอาหารเตรียมไว้ให้ สองคน 100 บาทค่ะ ท่านผู้อ่านจะเดาได้ว่า เรากินอาหารขนาดไหน จ่ายราคานั้น

แต่ก็เป็นอาหารมื้อหนึ่งที่ยังชีวิตได้ดี

มีเวลาอีกครึ่งชั่วโมง กว่าจะถึงเวลาประตูเปิด เวลา 08.30 น. เข้าไปในอาคาร P.S.Tower นอกจากร้านขายน้ำ ก็ไม่มีที่นั่งเลยค่ะ เราก็เลยตกลงว่าจะขึ้นไปรอที่หน้าประตูสำนักงาน พอออกจากลิฟต์ก็ถึง มีคนคิดอย่างเราสัก 3 คน แต่มีกระเป๋าของทัวร์ที่ต้องมาทำวีซ่าให้ลูกค้าวางอยู่ เรียกว่าให้กระเป๋าเข้าคิวไว้ให้

เรายืนเข้าคิวจนเหงื่อแตก ไม่ถูกสุขลักษณะเลยค่ะ บริเวณหน้าลิฟต์ไม่มีอากาศถ่ายเท

สถาปนิกผู้ออกแบบเขาก็ไม่ได้คาดว่าพื้นที่หน้าลิฟต์จะมีคนมายืนเป็น 40 คน

อดทนค่ะ

 

เจ้าหน้าที่ในสำนักงานเปิดประตูออกมาทำธุระเห็นท่านธัมมนันทายืนเข้าคิวอยู่ ก็นิมนต์เข้าไปนั่งข้างใน ลูกศิษย์ฆราวาสที่ตามมาด้วยขอตามเข้าไปด้วย เขาไม่ยอมค่ะ

ข้างในมีที่นั่งเก้าอี้เป็นแถวแบบโรงพยาบาล แต่แอร์เย็น และดูกว้างขวาง ความรู้สึกดีกว่าที่ทำการที่เดิม (อาคาร 253) เห็นข้อมูลว่า สามารถขอวีซ่า 5 ปีได้ สนใจมากค่ะ เพราะไปอินเดียทุกปี มา 36 ปีแล้ว ขอไว้สัก 5 ปีก็จะได้ไม่ต้องลำบากมาขอวีซ่าบ่อยๆ

แต่สอบถามกับคนนอก บอกว่า ค่าขอวีซ่า 6,000 ถึง 7,000 บาท แล้วไม่รู้ว่าเขาจะให้ไหม เขาจะดูละเอียดมาก เท่าที่รู้มายังไม่เคยมีใครได้

อุ๊ต๊ะ เลิกคิดไป

อีก 10 นาที จึงจะถึงเวลาทำการค่ะ ท่านธัมมนันทาเข้าไปถามข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ว่า ยังไม่ได้กรอบแบบขอวีซ่า เขาแนะว่า ให้ลงไปข้างล่าง มีร้านทำให้ เดินเข้าไปในร้านอาหาร ข้างในจะเป็นห้องที่เขารับกรอกแบบฟอร์มให้

เออ อันนี้ก็เป็นประสบการณ์นะ

 

รีบออกมาข้างนอกเรียกลูกศิษย์ที่ยังยืนอยู่ในคิว ลงลิฟต์ไปหาร้านที่ว่า เป็นห้องเล็กๆ ชายหนุ่มเจ้าของกิจการรีบฉีดยาไล่แมลงสาบ ประเดี๋ยวเดียวมีแมลงสาบวิ่งออกมานอนหงายเก๋ง กลัวคนจะเหยียบตาย รีบปัดเขาให้เข้าไปใต้เครื่องถ่ายเอกสาร ไม่ให้ถูกเหยียบ ห้องนั้นมีเครื่องถ่ายเอกสาร และมีโต๊ะวางคอมพิวเตอร์ สำหรับกรอกใบสมัครให้ลูกค้า มีเก้าอี้นั่งสัก 6 ตัว เป็นเก้าอี้ไม่มีพนัก จะได้นั่งกันได้หลายคน

ท่านธัมมนันทาเป็นลูกค้าคนแรก 8 โมงครึ่งพอดี มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามานั่งประจำที่หน้าคอมพิวเตอร์ เรากรอกข้อมูลเบื้องต้นให้เขาแล้ว เขาก็ทำหน้าที่กรอกลงในใบสมัครเหมือนที่เราพยายามทำเปี๊ยบเลย พอถึงหน้า 3 ที่ของเราไม่ไปต่อ เขาคลิกทีเดียวถึงหน้า 4 คือหน้าสุดท้ายที่จะบอกว่า เราได้เลขหมายลงทะเบียนแล้ว

ใช้เวลา 10 นาทีค่ะ จ่ายไปหัวละ 300 บาท

เอกสารที่เราต้องใช้ มีแบบฟอร์มขอวีซ่า ที่เพิ่งเสียเงินไป 300 บาทนั่นแหละค่ะ

ถ่ายเอกสารบัตรประจำตัว ถ่ายเอกสารสำเนาทะเบียนบ้าน รูปขนาด 2 นิ้ว สองใบ หนังสือเชิญจากทางอินเดีย (หากมี)

พอได้เอกสารครบ เราก็ขึ้นไปชั้น 10 เข้าไปก็เจอคิวยาวเลยค่ะ คิวนี้ รอไปที่เคาวน์เตอร์ 1 เพื่อตรวจเอกสาร

เราไปต่อท้าย น่าจะเป็นคนที่ 20 ท่านธัมมนันทาก็ไปต่อคิวด้วย คนงานของสถานทูตเดินมาให้ท่านไปนั่ง ให้ลูกศิษย์ยืนคิวแทน เขาสุภาพมาก ให้ความเคารพพระ

ส่วนคิวด้านใน เวลานี้อยู่ที่หมายเลย 103 มีเสียงเรียกทางไมโครโฟน ว่าถึงคิวนี้ให้ไปที่เคาวน์เตอร์นั้นๆ

มีระเบียบดี ดีกว่าที่เก่า

ห้ามใช้โทรศัพท์เสียงดัง ห้ามเอาเครื่องดื่มเข้ามา

พอถึงคิวตรวจเอกสาร ปรากฏว่า เอกสารของท่านธัมมนันทาที่ถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนที่มีมาเพียงครึ่งหน้านั้น ต้องไปถ่ายใหม่ ให้เต็มเอ4 คือขี้เหนียวกระดาษ

นี่ขนาดตรวจกันมาแล้วนะ

โชคดีว่ามีเครื่องถ่ายเอกสารอยู่ใกล้ๆ

เสร็จจากตรงนี้ เราได้คิวที่ 123/1 และ 2 เพราะเราไปกันสองคน

 

พวกที่เข้าคิวกับเราทีแรกเสร็จแล้วค่ะ กลับออกมาทักทายกับท่านธัมมนันทาก่อนที่จะลากลับ

ตอนนี้มีพระภิกษุมากันหลายรูป สัก 6-7 รูป รูปหนึ่งมาทักทายท่านธัมมนันทา ว่าเป็นแฟนคลับตามอ่านงานของท่านอยู่ ท่านก็เลยขอที่อยู่ จะได้ส่งหนังสือไปให้อ่าน

รอไม่นาน เจ้าหน้าที่ก็เรียกหมายเลข 123 ตรวจเอกสารอีก ต้องให้ไปถ่ายใหม่อีก 2 ใบ คือ หนังสือเชิญจากรัฐบาลอินเดียที่เราใช้กระดาษที่ใช้แล้ว (ขี้เหนียวอีกแล้ว)

ขำจัง ข้างหลังเป็นการ์ตูนที่ท่านธัมมนันทาใช้สอนภาษาอังกฤษ อันนี้เป็นนโยบายของวัตรเลยค่ะ ให้ใช้กระดาษใช้แล้ว นอกจากจะเป็นเอกสารทางการ อย่างคราวนี้เป็นต้น

มีใบบวชที่แนบไป เจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าจะเว้นค่าธรรมเนียมหรือไม่ ต้องไปถามหัวหน้า หัวหน้าว่า ต้องเป็นสุทธิบรรณสงฆ์ คือไม่ยอมรับภิกษุณีนั่นเอง ทั้งที่เคยได้รับการยกเว้นครั้งก่อน

ไม่ว่ากัน ชำระค่าวีซ่าไป 1,958 บาท เงินจำนวนนี้ ในที่สุดรัฐบาลอินเดียก็ต้องจ่ายค่ะ เพราะเป็นแขกของรัฐบาลอินเดีย เขาดูแลตั๋วและค่าใช้จ่าย เช่น ค่าวีซ่า เราถือใบเสร็จไปขอเบิกคืนได้

เป็นภิกษุณี นอกจากจะต้องมีความอดทน อดกลั้น ต่อคำดูถูกเหยียดหยาม ว่า เป็นทั้งทำผิดกฎหมาย และเป็นภิกษุณีปลอมแล้ว ภิกษุณีต้องมีเงินด้วยค่ะ

เสร็จจากตรงนี้ ให้ไปสแกนนิ้วมือที่เคาน์เตอร์ 6 สแกนหมดสี่นิ้วขวา แล้วก็สี่นิ้วซ้าย

แล้วก็วางหัวแม่โป้งทั้งสองข้าง

เรียบร้อย ได้ใบเสร็จว่าเราจ่ายเงินแล้ว

มารับได้ ให้รอยืนยันว่าวีซ่าเสร็จเมื่อไหร่ โดยเช็กจากสมาร์ตโฟน

 

ตอนมารับวีซ่านี้ กำหนดเวลาเดียว คือ 16.30 น. โหดมากค่ะ รถติดอย่างยิ่ง ทางบริษัทที่รับทำวีซ่าควรพิจารณาขยับเวลาอื่น เพราะไม่สะดวกอย่างยิ่งที่จะเข้ามาที่สุขุมวิทตอน 16.30 น. ส่งข้อมูลต่อให้สถานทูตพิจารณาสั่งการแก้ไขนะคะ

ข้อสำคัญเขาอ่านมติชนสุดสัปดาห์ไหม

หรือว่าเราควรจะเขียนคำร้องเป็นภาษาอังกฤษถึงสถานทูตโดยตรง?

ทันทีที่เราขอวีซ่าเรียบร้อย เราก็จะได้รับการยืนยันทางโทรศัพท์ว่า เขารับเรื่องที่เรายื่นไว้แล้ว

วันรุ่งขึ้น ตอน 5 โมงเย็นได้รับข่าวสารนัดให้ไปรับวีซ่าได้ ตกลงเขาดำเนินการให้ด่วนทีเดียว อาจจะเป็นเพราะจดหมายเชิญจากรัฐบาลนั่นเอง

เฮ้อ โล่งอก ได้เดินทางแน่ๆ ละค่ะ

อาทิตย์ถัดไป จะรายงานเรื่องการประชุมที่นาลันทา เชิญติดตามนะคะ