ประภาส อิ่มอารมณ์ : นมัสการสังเวชนียสถาน 4 ตำบล (1)

หลังการไปเที่ยวพม่ากลับมาด้วยความอิ่มเอิบใจ จากการชักชวนของเพื่อนคนเดิม…คราวนี้เขามีโปรแกรมใหม่มาให้พิจารณา ไปแสวงบุญที่อินเดีย เขาไปมาแล้วสองครั้งยังอยากไปอีก

คนไกลวัด และสวดมนต์ไม่ได้สักบทอย่างเราถูกเจาะจงแกมบังคับ…ให้ต้องไป และลงชื่อไว้ให้แล้วด้วย

แถมหยามหน้าว่า “ถ้าไม่มีเงิน กูออกให้ก็ได้วะ” มันรู้จุดอ่อนของเรา ที่มีม็อตโต้ “ลูกผู้ชายฆ่าได้ แต่หยามกันไม่ได้”

และอิทธิพลของซีรี่ส์อินเดียเรื่อง “พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก” ก็พลอยส่งให้ต้องกลายเป็นลูกทัวร์ตามขบวนแห่กับเขาไปด้วยจนได้

วันแรก – ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ก็ส่อเค้าทะแม่งๆ โชยกลิ่นไม่สู้ดีว่า การเดินทางครั้งนี้น่าจะมีสถานการณ์ภายภาคหน้าไม่ค่อยสวย เพราะคนจัดทัวร์นัดมาเจอกันสามทุ่ม รอแล้วรอเล่าจนผู้จะร่วมไปแสวงบุญทยอยกันมาครบ แต่การประสานงานของผู้จัดกับสายการบินไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก

แต่สุดท้ายก็สามารถออกตั๋วได้ แล้วเจ้าหัวหน้าทัวร์ก็แวบหายไปก่อน บอกว่าจะเดินทางตามสมทบทีหลัง ปล่อยให้หญิงสาวชื่ออ้วนแต่ตัวผอมรับภาระเป็นผู้ดูแลคณะทัวร์ต่อไป

เดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 01:05 น. โดยการสายบิน IndiGO 6E44

ถึงสนามบินเดลลี ประเทศอินเดีย เวลาประมาณ 03:30 น. ตามเวลาท้องถิ่น อากาศหนาว 11 องศาเซลเซียส และกว่าจะผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองก็เป็นเวลาเกือบชั่วโมง

ไกด์ชาวอินเดียมาคอยต้อนรับ และพาขึ้นรถบัสออกเดินทาง โดยไม่มีการแจ้งโปรแกรม ปล่อยให้ลูกทัวร์ที่ยังงัวเงียนั่งหลับนกต่อไปด้วยระยะทางที่ยาวนาน

ถ้าตามแผนการท่องเที่ยวที่แจกมาจากเมืองไทยก็คาดเดาว่าคงมุ่งหน้าสู่เมืองอาคราซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามันอยู่ไกลขนาดไหน

ถามเด็กสาวที่ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นคนที่มาคอยให้บริการจากบริษัททัวร์ก็อ้อมแอ้มบอกว่าอีกไม่นานๆ อยู่ทุกคราวไป

จนทั้งคณะที่มาเริ่มมีอาการไม่สบอารมณ์เพราะแกร่วกันมาตั้งแต่ 3 ทุ่มที่เมืองไทยแล้ว อยากได้เข้าที่พักและผ่อนคลายอิริยาบถบ้าง

น้องคนของทัวร์ก็ทำได้แค่เอาขนมปังกรอบไส้สับปะรดที่ใส่ปี๊บมาแจกปลอบใจ

แต่น้ำดื่มที่ถูกริบไปตอนขึ้นเครื่องมาไม่มีกลั้วคอสักขวด เพราะทุกคนคิดว่าเมื่อลงเครื่องแล้วจะได้เข้าที่พักจึงไม่มีใครซื้อมาจากสนามบิน… จึง…ฝืดคอสิ้นดี

เมื่อถึงจุดพักเข้าห้องน้ำที่มีแห่งเดียว เหมือนได้พบโอเอซิสกลางทะเลทราย จึงไม่มีใครรอช้าที่จะได้ลงจากรถมายืดแข้งยืดขาให้คลายเมื่อยเสียที แล้วบังคับให้เจ้าบังซึ่งทำหน้าที่นำทัวร์ซื้อน้ำมาแจก

พอออกรถได้ เหตุการณ์ก็ยังคงดำเนินไปตามลักษณะเดิมคือ รถวิ่งตะลุยต่อไปแถมเครื่องปรับอากาศเสีย ต้องเปิดพัดลม โดยมีเด็กรถอินเดียนตัวดำมาคอยกระโดดเปิดช่องระบายอากาศที่หลังคารถอยู่เรื่อยๆ

จนเวลาอาหารกลางวันมาถึงก็ยังไม่มีวี่แววการเตรียมการสำหรับมื้อนี้เช่นกัน และแม้ลูกทัวร์ยินดีจะออกเงินซื้อกินกันเองก็หมดหนทาง เพราะตลอดเวลาที่รถวิ่งผ่านไปเป็นท้องทุ่งท้องนาที่ไม่มีร้านค้าหรือผู้คนอาศัยอยู่ให้เห็นเลย

ดังนั้น วิธีที่จะบรรเทาความหิวได้ก็คือต่างคนต่างควักเสบียงกรัง ที่บางคนรู้สถานการณ์ล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี แบ่งกันในกลุ่มสนิทสนมและแจกจ่ายด้วยความเมตตากับคนที่ไม่มีด้วยความเอื้ออาทร

จนเวลาล่วงเลยประมาณสี่โมงเย็นในประเทศไทยจึงถึงเมืองอาครา ผ่านป้อมปราการเมืองสูงตระหง่านของราชวงศ์โมกุล พอสร้างความตื่นตาตื่นใจได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เหยียบแผ่นดินอินเดียมา

ปัญหาก็ตามมาเล็กน้อยเพราะคนขับพาไปหลงทางอยู่พอสมควร ก่อนจะพบและได้เข้ากินอาหารเช้ารวบกลางวันที่โรงแรมยมุนา

และให้เวลาพักประมาณหนึ่งชั่วโมง เพื่อใช้เวลาที่เหลือเข้าชมอนุสรณ์แห่งความรัก และเป็นสิ่งก่อสร้างหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ชิ้นเอกของโลก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่พักนัก

เห็นแล้วชื่นใจ หายเหนื่อยไปตามๆ กัน เพราะคุ้มกับความแสนยากลำบากในการเดินทาง และเรียกขวัญกำลังใจในการที่จะต้องเผชิญกับความวิบากที่เชื่อมั่นว่า จะต้องพบเจอในเวลาข้างหน้าอีกสิบกว่าวันได้บ้างพอสมควร

 

 

 

ทัชมาฮาล สุสานหินอ่อนที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความรักที่สวยที่สุดในโลก สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระจักรพรรดิโมกุลผู้มีรักมั่นคงต่อพระมเหสีของพระองค์ เจ้าชายขุร์รัม ชึ่งต่อมาคือสมเด็จพระจักรพรรดิชาห์ชะฮัน พระราชสมภพในปี พ.ศ.2135 พระบิดาคือ จักรพรรดิชาห์ ชหานชีร์ จักรพรรดิองค์ที่สี่แห่งราชวงศ์โมกุลแห่งอินเดีย

ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าชายขุร์รัมได้พบกับ อรชุมันท์ พานุ เพคุม ธิดาของรัฐมนตรี เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 14 พรรษา พระองค์ทรงหลงใหลและรักนาง เจ้าชายขุร์รัมจึงซื้อเพชรด้วยเงิน 10,000 รูปี และบอกแก่พระบิดาของพระองค์ว่ามีความประสงค์ที่จะแต่งงานกับบุตรสาวของรัฐมนตรี

พิธีอภิเษกถูกจัดขึ้นหลังจากนั้น 5 ปี ในปี พ.ศ.2155 จากนั้นมาทั้งสองก็มิเคยอยู่ห่างกันอีกเลย

หลังจากที่พระเจ้าชาห์ชะฮัน ขึ้นครองราชบัลลังก์ในปี พ.ศ.2171 พระองค์มอบความไว้วางใจแก่ อรชุมันท์ พานุ เพคุม และเรียกนางว่า มุมตัซ มาฮาล “อัญมณีแห่งราชวัง”

พระมเหสีติดตามพระองค์ตลอดเวลาแม้แต่ในสนามรบ แนะนำพระองค์ในเรื่องราชการของประเทศ และพระองค์ซาบซึ้งในน้ำพระทัยของพระมเหสียิ่งนัก

ครั้นในปี พ.ศ.2174 พระมเหสีมุมตัซสิ้นพระชนม์ หลังจากให้กำเนิดทายาทองค์ที่ 14

การสิ้นพระชนม์ของพระมเหสีทำให้พระเจ้าชาห์ชะฮันโศกเศร้าอยู่ถึงสองทศวรรษ ราชสมบัติส่วนใหญ่สูญเสียไปเพื่อการสร้างอนุสรณ์แห่งความรักของทั้งสองพระองค์

พระเจ้าชาห์ชะฮันถูกลูกชายขึ้นชิงราชบัลลังก์ และกักขังพระองค์อยู่ถึง 8 ปี จนกระทั่งสวรรคตในปี พ.ศ.2209 ตามตำนานกล่าวว่า ในวันสุดท้ายของชีวิต พระองค์ใช้เวลาทั้งวันในการจ้องมองเศษกระจกเงาที่สะท้อนภาพของทัชมาฮาล และสิ้นพระชนม์พร้อมด้วยเศษกระจกนั้นยังอยู่ในกำมือ

พระเจ้าชาห์ชะฮันถูกฝังในทัชมาฮาล เคียงข้างมเหสีซึ่งพระองค์ไม่เคยลืมเลยจนสิ้นพระชนม์

รุ่งขึ้น เวลา 07.00 น. แทนที่จะได้รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม ไกด์มันพาออกเดินทางไปรับประทานอาหารเช้าที่วัดไทยเชตวันมหาวิหาร ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ได้ลิ้มรสข้าวต้มมังสวิรัติ แกล้มปลาสลิดที่ผู้มีประสบการณ์ในการทัวร์อินเดียหอบหิ้วมาจากเมืองไทย ชื่นใจมาก

และตบท้ายด้วยกาแฟร้อนๆ ที่ทางวัดมีไว้ให้อย่างอิ่มหนำสำราญ ก่อนเดินทางไปชมปูชนียสถานที่เมืองสาวัตถี

เมืองสาวัตถีในสมัยพุทธกาลเป็นเมืองที่ใหญ่พอกับเมืองราชคฤห์และพาราณสี เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขายในสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นเมืองสาวัตถีมีพระเจ้าปเสนทิโกศลปกครองร่วมสมัยกับพระเจ้าพิมพิสาร

นอกจากนี้ เมืองสาวัตถีนับว่าเป็นเมืองสำคัญในการเป็นฐานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุดถึง 25 พรรษา เป็นที่ตรัสพระสูตรมากมายและเป็นเมืองที่พระพุทธศาสนามั่นคงที่สุด เพราะมีผู้อุปถัมภ์สำคัญ เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขา เป็นต้น

ศาสนสถานที่สำคัญที่เมืองสาวัตถี เช่น วัดเชตวันมหาวิหารที่ถือเป็นวัดพุทธศาสนาแห่งแรกของโลกที่อนาถบิณฑิกสร้างถวาย ในสมัยที่ท่านเป็นพ่อค้า ชื่อ สุทัตตะ ไปประกอบธุรกิจยังเมืองราชคฤห์ และได้ประกาศตนเป็นอุบาสกกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จที่เมืองสาวัตถี และได้สร้างวัดพระเชตวันมหาวิหารถวายพระองค์

ตอนกลางวันกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่วัดไทยเชตวันมหาวิหารอีกครั้ง และทำบุญทอดผ้าป่าสมทบทุนในการสร้างโครงการ เพื่อให้เป็นรมณียสถานที่สมบูรณ์แบบ งดงามด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ทั้งศิลปกรรม ธรรมชาติ และพุทธศิลป์ สำหรับเป็นอาวาสที่พักศึกษาปริยัติธรรม และปฏิบัติวิปัสสนาของหมู่สงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ชาวไทยได้สะดวกขึ้น และเป็นวัดไทยแห่งแรกแห่งนครสาวัตถี

จากนั้นเดินทางสู่ชายแดนประเทศเนปาลทันที ซึ่งใช้เวลายาวนาน และแถมต้องเสียเวลาไปเข้าคิวรอทำพิธีการผ่านการเข้าเมือง และใช้เวลาเดินทางจนดึกดื่นเพื่อแวะทานอาหารค่ำที่วัดไทยลุมพินี ก่อนเข้าพักที่วัดเกาหลีซึ่งมีสภาพที่ไม่สะอาด แต่ไม่มีทางเลือก เพียงเพื่อพักหลับนอนสำหรับแก้ปัญหาในเรื่องการไม่สามารถหาที่พักได้เท่านั้น ซึ่งเป็นความผิดอันมหันต์ของคนนำทัวร์ที่ไม่เป็นมืออาชีพพอ

วันต่อมา ตื่นแต่ตีห้าและรีบออกเดินทางกลับไปรับประทานอาหารเช้าที่วัดไทยลุมพินีอีกครั้ง และทอดผ้าป่า ก่อนเดินทางไปนมัสการสถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานที่สำคัญในการเดินทางตามรอยบาทพุทธองค์ในดินแดนพุทธภูมิครั้งนี้

สำหรับการประสูติ พระองค์ได้ตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังภายหลังว่า “ดูก่อนอานนท์ หญิงอื่นๆ ย่อมนั่งคลอดบ้าง นอนคลอดบ้าง ส่วนมารดาแห่งพระโพธิสัตว์หาเป็นอย่างนั้นไม่ มารดาแห่งโพธิสัตว์ย่อมยืนคลอดพระองค์”

“ดูก่อนอานนท์ ในกาลใดโพธิสัตว์ออกจากครรภ์แห่งมารดา ในกาลนั้นเป็นผู้สะอาดหมดจด ไม่เปื้อนด้วยเมือก ไม่เปื้อนด้วยเสมหะ ไม่เปื้อนด้วยเลือดด้วยหนองของไม่สะอาดแต่อย่างใด เป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ เหมือนแก้วมณีที่วางอยู่บนผ้าเนื้อเกลี้ยงอันมาแต่แคว้นกาสี แก้วก็ไม่เปื้อนผ้า ผ้าก็ไม่เปื้อนแก้ว เพราะเป็นของสะอาดหมดจดทั้งสองแห่ง”

“ดูก่อนอานนท์ โพธิสัตว์คลอดแล้วเช่นนี้ เหยียบแผ่นดินด้วยฝ่าเท้าอันสม่ำเสมอ ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ก้าวไปเจ็ดก้าว มีฉัตรขาวกั้นอยู่เบื้องบน ย่อมเหลียวดูทิศทั้งหลาย และทรงเปล่งวาจาประกาศสูงสุดว่า

“เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ของเราจะไม่มีอีกแล้ว”

 

หลังจากนั้นได้ออกเดินทางไกลอีกครั้งเพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองกุสินารา และแวะพักผ่อนที่ศูนย์ 960 ในระหว่างทางผ่าน ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับผู้แสวงบุญได้แวะพักผ่อน เข้าห้องน้ำ ซื้อของที่ระลึก และรับประทานของว่าง ที่มีโรตีทอด โรยนมข้นใส่ชามใบต้นรัง (สาละ) ซึ่งอร่อยสมคำลือเลื่อง ที่หากินที่ไหนในอินเดียไม่ได้นอกจากที่นี่

เป็นสิ่งดีๆ ที่สอดแทรกให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอิบในระหว่างสิ่งร้ายๆ ราวกับโอเอซิสกลางทะเลทราย

เป็นรางวัล ที่เหมือนจงใจแกล้งทดลองความอดทนของพวกเรามาโดยตลอด

และเสมือนเป็นเครื่องเตือนสติว่า จะทำอะไรต้องมีการลงทุน ทุกอย่างไม่ได้มาด้วยของฟรีเสมอไปนั่นเอง

ถึงวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-อินเดีย ในดึกของวันนั้น ซึ่งเป็นวัดไทยที่สวยงามทันสมัยที่สุดในประเทศอินเดีย สร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติการครองราชสมบัติครบ 50 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในดินแดนพุทธภูมิ

หลังอาหารมื้อเย็นที่มืดค่ำแล้ว ที่ “อู่ข้าว” และเครื่องดื่มที่ “อู่น้ำ” ได้ร่วมกันทอดผ้าป่าในพระอุโบสถที่สง่างาม ก่อนรีบเข้านอน ที่ห้องพักสะอาดสะอ้าน เพื่อตื่นรับประทานเช้าอีกมื้อก่อนเดินทางไปชมสถานที่ต่างๆ ต่อไป

 

กุสินารา เป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานแห่งที่ 4 ในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองเอกหนึ่งในสองของแคว้นมัลละ อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมืองปาวา เป็นที่ตั้งของสาลวโนทยาน หรือป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

ปัจจุบันกุสินารา มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญคือสถูปใหญ่ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วิหารปรินิพพานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานอยู่ภายในและมีซากศาสนสถานโบราณโดยรอบมากมาย

ตอนกลางคืนต้องนอนที่วัดทิเบต และชาวคณะออกเดินทางตั้งแต่สี่นาฬิกาสู่แม่น้ำคงคา เพื่อล่องเรือชมบรรยากาศยามเช้าและหลีกเลี่ยงการจราจร เราเคยเห็นบรรยากาศจากสารคดีแล้วไม่น่าชื่นชมนัก จึงขอนอนต่อ ตอนสายๆ จึงไปสมทบกินอาหารเช้าที่วัดไทย และได้รับข้าวกล่องเป็นอาหารสำหรับกินบนรถมื้อกลางวัน

บ่ายจัดๆ ก็ถึงเมืองสารนาถ เป็นพุทธสังเวชนียสถานแห่งที่ 3 (1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ) ตั้งห่างจากเมืองพาราณสี เมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาฮินดูไปทางเหนือ อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน หรือแคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล

เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถ เนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย สารนาถยังรู้จักกันดีในชื่อ “อิสิปตนมฤคทายวัน”