“Montien Atelier” พื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ รวมองค์ความรู้ศิลปินร่วมสมัย-คนสำคัญของเมืองไทยผู้ล่วงลับ (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตอน 1

Montien Atelier ดำเนินงานภายใต้ Estate of Montien ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลและเผยแพร่แนวความคิดทางศิลปะของมณเฑียร ที่นำโดย จุมพงษ์ บุญมา ทายาทเพียงคนเดียวของ มณเฑียร บุญมา

ร่วมกับคณะกรรมการจากสาขาศิลปะผู้เคยมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับ มณเฑียร บุญมา

ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาโครงการอย่าง อภิสิทธิ์ หนองบัว ซึ่งเป็นหนึ่งในศิษย์ใกล้ชิดของมณเฑียร

โดยมี โสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์ เป็นภัณฑารักษ์ผู้คัดสรรผลงานและออกแบบนิทรรศการครั้งนี้

“มันเริ่มมาจากตอนที่บ้านนี้มันปิดไว้ ไม่ได้ทำอะไรเลย ผมก็ย้ายไปอยู่อีกบ้านนึง ใกล้ๆ กัน พอผมเรียนจบที่เมืองไทยแล้วไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นจนผมกลับมา ผลงานของคุณพ่อหรือข้อมูลหลายๆ อย่างหลังจากที่คุณพ่อเสียไปสิบกว่าปีที่อยู่ในบ้านหลังนี้ เราไม่ได้ไปยุ่งหรือไปแตะอะไรเลย มันอยู่ตรงนั้นหมด

หลังจากนั้นทางที่บ้านก็คุยกันว่า ในเมื่อบ้านนี้มันปิดอยู่เฉยๆ เราจะอยากลองปรับปรุงบ้านให้มันเป็นหอศิลป์ของคุณพ่อดีไหม

สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าชั้นล่างทำเป็นร้านอาหาร ส่วนชั้นบนทำเป็นหอศิลป์ของคุณพ่อ

พอถึงช่วงนั้นปุ๊บเราก็ขนย้ายของออก ปรากฏว่าตอนรื้อเราเจอของเยอะมาก เราเจอผลงานและข้าวของหลายๆ ชิ้นของคุณพ่อที่ไม่คิดว่าจะได้เจอ และไม่คิดว่ามันยังมีเก็บเอาไว้อยู่ ก็เลยรู้สึกว่าอยากทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อต่อไปคนจะได้มาศึกษาได้

เลยเริ่มคิดว่าจะจัดเก็บของเหล่านี้ยังไง พอดีช่วงนั้นได้คุยกับพี่เบี้ยว (อภิสิทธิ์ หนองบัว) ปรึกษากัน แล้วก็ไปคุยกับทางแกลเลอรี VER และพี่ฤกษ์ฤทธิ์ (ตีระวนิช) เขาก็สนใจและแนะนำให้เราทำเป็น Archive ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาเลย

ผมก็เลยคิดว่าจะทำยังไงดี ก็ต้องหาคนมาจัดการรวบรวมเรียบเรียงข้อมูลกันใหม่หมดเลย เราก็เลยมาบอกพี่ตาล (โสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์) ซึ่งเคยทำนิทรรศการ (ตายก่อนดับ : การกลับมาของ มณเฑียร บุญมา”, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ, 2005) ให้คุณพ่อมาก่อนให้มาช่วยทำตรงส่วนนี้”

แบงค์ จุมพงษ์ บุญมา ลูกชายของ มณเฑียร บุญมา กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของพื้นที่ทางศิลปะแห่งใหม่ล่าสุดนี้

“แบงค์เรียกเรามาตั้งแต่ตอนรื้อบ้านว่า ให้ช่วยเข้ามาดูหน่อยว่าอะไรทิ้งได้หรือไม่ได้

เราก็เข้ามาดู แล้วก็บอกเขาว่า ให้เขาเก็บทุกอย่าง ทิ้งไม่ได้ เดี๋ยวค่อยมาว่ากันว่าจะทำยังไง

ตอนเราทำนิทรรศการ ตายก่อนดับ เคยมาค้นที่บ้านนี้ดูแล้ว ก็เจอประมาณหนึ่ง แต่พอมารื้ออีกครั้งเนี่ย เหมือนเจอขุมสมบัติเลย อันนี้ไม่เคยเจอ ไม่เคยเห็น คือของเหล่านั้นถ้าคนไม่รู้ก็จะคิดว่าเป็นขยะ แต่เรารู้ว่ามันเป็นชิ้นส่วนในการทดลองในการทำงานศิลปะของอาจารย์

หลังจากนั้นก็ย้ายทุกอย่างไปไว้ในโกดังของผู้รับเหมา เราก็ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อกับพื้นที่ตรงนี้ ไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหน

พอได้ไปคุยกับพี่ฤกษ์ฤทธิ์ เขาก็เสนอไอเดียนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น”

ตาล โสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์ ภัณฑารักษ์ของงานกล่าวถึงบทบาทของเธอใน Montien Atelier แห่งนี้

“จริงๆ แล้วเราไปคุยกับพี่ฤกษ์ฤทธิ์ เปรยกับเขาว่า งานของอาจารย์มณเฑียร จะทำยังไงดี เขาก็เลยเสนอว่าทำในรูปแบบ Archive เก็บข้อมูลไหม? เพราะส่วนใหญ่เขาทำให้ศิลปินกันทั้งนั้น

พี่เขาพูดมาคำนึงว่าถ้าเป็นที่ต่างประเทศเนี่ย จะมีคนยื่นมือเข้ามาทำให้ด้วยซ้ำไป เราไม่ต้องไปดิ้นรนทำด้วยซ้ำ

เขาก็ถามว่าเราจะทำไหม ถ้าจะทำเขาก็จะสนับสนุน

เราปรึกษากับแบงค์ เขาก็ตกลง และบังเอิญในเดือนกุมภาพันธ์ครบรอบสิบสองปีหลังจากการเสียชีวิตของอาจารย์พอดีด้วย เราก็เลยตกลงทำกัน

พอเราและทุกคนมาเห็นของแล้วก็อยากจะทำอะไรกับมัน เรารู้สึกได้เลยว่าของมันขลังมาก มันมีพลังมาก พี่ฤกษ์ฤทธิ์เองก็บอกว่าเราต้องทำให้อาจารย์เขา ไม่งั้นต่อไปมันจะหายหมด

อย่างมีครั้งนึงตอนช่างมาที่บ้าน ช่างรับเหมาเขาก็ไม่รู้ว่าของบางชิ้นต้องทิ้งหรือเก็บเอาไว้ เพราะเขาแยกไม่ออกว่ามันคืองานศิลปะหรืออะไร ของแตกหักเสียหายเขาก็ถามว่ามันเป็นงานศิลปะหรือไม่ใช่ ผมต้องตอบว่าจริงๆ มันใช่ทุกชิ้นแหละ

และมันตลกมากตรงที่ช่างไปเห็นดินเผาเกาะเกร็ด แล้วคิดว่าเป็นงานศิลปะ เลยไม่ทิ้ง แต่ไปทิ้งไอ้ที่เป็นงานศิลปะแทน ซึ่งโทษเขาไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ไง

อย่างบาตรแตก อิฐมอญเขาก็ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะของอาจารย์ ผู้รับเหมาเขาก็มาถามว่าตกลงจะเอายังไง อันไหนจะเก็บ อันไหนจะทิ้ง

ผมบอกว่าถ้าเป็นผม กระดาษแผ่นนึงผมยังเก็บเลย ของทุกชิ้นมันไม่ใช่สมบัติ แต่มันเป็นประวัติศาสตร์ มันควรจะถูกเอาไปให้คนรุ่นหลังศึกษา ถ้าเราไม่รีบทำ ไม่งั้นมันจะหายไปหมด

พี่ฤกษ์ฤทธิ์เขาให้มาคำนึงว่า ทำไมเราไม่นำของเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการขยายแนวความคิดของศิลปินคนนี้ ดีกว่าเก็บเอาไว้ในกล่อง เก็บไว้ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ให้ใครเห็นเลย

เราก็เลยเห็นพ้องว่าควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย และควรจะมีฐานข้อมูลและศูนย์กลาง แล้วมันจะเป็นที่ไหนล่ะ? มันก็ต้องกลับมาเป็นที่นี่แหละ”

อภิสิทธิ์ หนองบัว ศิลปินร่วมสมัยผู้เป็นศิษย์ใกล้ชิดของ มณเฑียร บุญมา กล่าวถึงความเป็นมาเป็นไปของ Archive ทางศิลปะแห่งนี้

“ตรงนี้มันเป็นบ้านที่คุณพ่ออยู่ เราก็ตั้งใจหยิบเอาของที่เหลืออยู่มาจัดการให้เรียบร้อย เพื่อเปิดให้คนเข้ามาดูเข้ามาค้นหาข้อมูล เป้าหมายส่วนตัวของผมก็คืออยากให้คนได้มีโอกาสเข้ามาศึกษางานของคุณพ่ออีกครั้ง เพราะมีคนชอบมาถามหาผมหลายครั้งว่ามีงานพ่อเหลือไหม ผมก็ยังไม่รู้เลยว่าในบ้านเรามีข้อมูลแค่ไหนจนได้มาทำตรงนี้ มันก็เป็นเรื่องดี ที่คนทั่วไปจะได้รู้ว่าถ้าอยากจะมาสืบค้นมาศึกษาข้อมูลเรื่องของคุณพ่อ ก็มาตรงนี้ก็ได้” จุมพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง คำว่า Atelier (อาตอลิเยร์) เป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่าสตูดิโอ (Studio) ในภาษาอังกฤษ

ระหว่างที่อาจารย์มณเฑียรศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้านประติมากรรมที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น เป็นการเรียนการสอนแบบสตูดิโอ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีเสรีภาพทางความคิดและการทดลองในการทำงานศิลปะเป็นอย่างมาก

ซึ่งอาจารย์เคยเล่าผ่านจดหมายและสมุดบันทึกว่าการเรียนแบบ Atelier นั้นมีความเหมาะสมกับการเรียนการสอนศิลปะเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาในการทำงานศิลปะได้มากกว่า

และอาจารย์มณเฑียรยังพยายามผลักดันให้มีการสอนในลักษณะสตูดิโอเกิดขึ้นในประเทศไทยในเวลาต่อมา เมื่อเขากลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั่นเอง

ใครสนใจจะเข้าไปชมหรือสอบถามข้อมูลก็สามารถส่งข้อความทาง Inbox ที่เพจ facebook @MontienAtelier หรือเบอร์โทรศัพท์ 08-1714-3075

ขอบคุณภาพข้อมูลจาก Montien Atelier