“Montien Atelier” พื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ รวมองค์ความรู้ศิลปินร่วมสมัย-คนสำคัญของเมืองไทยผู้ล่วงลับ (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของพื้นที่ทางศิลปะแห่งใหม่ของประเทศไทยที่มีชื่อว่า Montien Atelier (408 Art Space)

แต่พื้นที่ทางศิลปะแห่งนี้ไม่ได้มีรูปแบบเป็นหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์อย่างที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกัน

หากมันเป็นพื้นที่ที่ทำหน้าที่เป็น Archive หรือสถานที่เก็บรวบรวมองค์ความรู้ของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทยผู้ล่วงลับไปแล้ว

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า มณเฑียร บุญมา หนึ่งในศิลปินคนสำคัญของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยและนานาชาติ

ผลงานของเขาได้เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะและเทศกาลศิลปะที่โดดเด่นในระดับนานาชาติมากมายหลายแห่ง ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่

เขามุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม ศิลปะจัดวาง ที่สะท้อนแนวความคิดเกี่ยวกับธรรมชาติ สังคม และการรุกคืบของอุตสาหกรรม ภายใต้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นกระแสหลักในช่วงทศวรรษที่ 90

ซึ่งนับเป็นงานศิลปะที่มีแนวทางก้าวล้ำนำหน้าในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก

แต่หลังจากที่ภรรยาของเขาป่วยด้วยโรคมะเร็ง เขาก็หันเหเข้าสู่กระบวนการคิดและการตั้งคำถามเชิงพุทธปรัชญาต่อความหมายของการเกิด มีชีวิต และความตาย

และผสมผสานแนวคิดเกี่ยวกับสมุนไพรและสถานพยาบาลในลัทธิมหายานของอาณาจักรเขมรโบราณเข้ากับงานศิลปะร่วมสมัย

เขาเป็นศิลปินไทยคนแรกๆ ที่ผสมผสานแนวทางศิลปะแบบคอนเซ็ปช่วลอาร์ตของตะวันตกเข้ากับปรัชญาตะวันออกและพุทธศาสนาได้อย่างลุ่มลึกและลงตัว

นอกจากบทบาทการเป็นศิลปิน มณเฑียรยังมีบทบาทอันโดดเด่นในฐานะอาจารย์สอนศิลปะที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ริเริ่มแนวทางการสอนศิลปะโดยเน้นแนวความคิดที่ชัดเจนและมีเหตุผล เปิดโอกาสให้นักศึกษาค้นคว้าเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ศิลปะ

และยังเปิดกว้างต่อการทดลองของนักศึกษา โดยสามารถนำเอาวัสดุหรือเรื่องราวใกล้ตัวมาประกอบสร้างและตั้งคำถามให้เป็นงานศิลปะได้

ลูกศิษย์หลายคนของเขาได้รับการถ่ายทอดอิทธิพลทางความคิดจากมณเฑียรและก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็น นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, โฆษิต จันทรทิพย์, มนตรี เติมสมบัติ เป็นอาทิ

นอกจากนั้น มณเฑียรยังเป็นผู้สนับสนุนและผลักดันให้นักศึกษาและเพื่อนอาจารย์ได้รวมตัวกันสร้างกิจกรรมทางศิลปะอย่าง “เทศกาลเชียงใหม่จัดวางสังคม” ที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนและก้าวออกจากพื้นที่หอศิลป์มาแสดงในพื้นที่สาธารณะของเชียงใหม่ในช่วงปี 1992-1995

จนกลายเป็นหมุดหมายสำคัญอันหนึ่งของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยไปในที่สุด

หลังจากที่ภรรยาของเขาเสียชีวิต มณเฑียรได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษให้กับหลายมหาวิทยาลัย

และมีส่วนร่วมในการสร้างบุคลากรทางศิลปะมากมาย และสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับคนในวงการศิลปะอย่างสูงในเวลาต่อมา

ด้วยระยะเวลากว่า 20 ปีในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ มณเฑียร บุญมา อุทิศแรงกายแรงใจให้กับการทำงานศิลปะและตระเวนแสดงงานศิลปะทั้งในและต่างประเทศมากมาย แม้กระทั่งในยามที่ป่วยหนักและร่างกายไม่เอื้ออำนวยเขาก็ยังคงมุ่งสร้างผลงานศิลปะจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ผลงานศิลปะและความคิดของเขาเป็นหนึ่งในพลังที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยอย่างมาก

จนเรียกได้ว่า ถ้าไม่มี มณเฑียร บุญมา โฉมหน้าของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยอาจจะไม่พัฒนามาถึงจุดที่มันเป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็เป็นได้

Montien Atelier คือบ้านหลังเก่าที่ มณเฑียร บุญมา อาศัยอยู่กับครอบครัว และใช้เป็นสตูดิโอที่เขาทดลองทำงานศิลปะเกือบตลอดช่วงชีวิตการเป็นศิลปิน ภายหลังจากการจากไปของเขา สถานที่แห่งนี้ยังคงบรรจุวิญญาณแห่งการเป็นศิลปินของเขาเอาไว้ไม่เสื่อมคลาย

ในปี 2016 บ้านหลังนี้ได้มีการปรับปรุงใหม่โดยใช้ชื่อว่า 408 Art Space และเปิดให้บริการในสามส่วน

โดยส่วนแรกคือ ชั้นล่าง ที่เป็นร้านอาหาร Early Birds Get Coffee ซึ่งดำเนินงานโดยเครือญาติของมณเฑียร

ส่วนพื้นที่ที่สองคือด้านหน้าของบ้าน ที่เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ประชุม เวิร์กช็อป

ส่วนที่สามคือบริเวณชั้นสอง ซึ่งเป็นพื้นที่ของ Montien Atelier เป็นสถานที่จัดแสดง Archive หรือหอจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นคลังแห่งองค์ความรู้ของมณเฑียร ที่ประกอบไปด้วยเอกสารสำคัญอย่าง จดหมาย ภาพร่างผลงานบางส่วน ศิลปะวัตถุที่เป็นองค์ประกอบในการแสดงงานศิลปะของมณเฑียร ตลอดจนสมุดบันทึก ภาพถ่าย และเอกสารสำคัญที่หาดูได้ยากยิ่ง ซึ่งยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้ในบ้านหลังนี้

รวมถึงข้อมูลในระบบดิจิตอล หนังสือสะสมส่วนตัวของมณเฑียร และวิดีโอบันทึกการสัมภาษณ์ของมณเฑียรในสื่อต่างๆ ที่ถูกรวบรวมไว้ด้วยกัน

โดยทั้งหมดเปิดให้สาธารณชนสามารถเข้าชมและศึกษาค้นคว้าได้ รวมถึงจะเป็นพื้นที่ในการจัดแสดงผลงานหมุนเวียนของมณเฑียรขนาดย่อมต่อไปในอนาคต