โลกร้อนเพราะมือเรา : หมดสิ้นข้อสงสัย

รายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกชิ้นใหม่ล่าสุดรวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศตลอดทั้งปี 2559 ชี้ชัดว่าปรากฏการณ์ภัยแล้ง คลื่นความร้อน ปริมาณฝนและการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกทำลายสถิติเก่าๆ

ข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกไล่ลำดับสถิติของปีที่แล้วดังนี้

อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าก่อนเกิดยุคอุตสาหกรรมประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส

ประชาชนในทวีปแอฟริกาหลายล้านคนอดหยากเพราะพืชไร่เสียหายเนื่องจากเกิดภาวะภัยแล้ง ปริมาณฝนลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 60 เปอร์เซ็นต์

เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนนับแสนคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน

ระดับน้ำแข็งในทะเลน้ำแข็งของขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ลดลงมากที่สุด

ฝนตกหนักที่สุดในฤดูหนาวที่สกอตแลนด์และจีนทำสถิติใหม่

ที่ฝรั่งเศสเกิดภาวะภัยแล้งในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมหนักที่สุด

ที่แคนาดา ช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาว มีอากาศแห้งแล้งหนักที่สุดจนเป็นให้เกิดไฟป่ารุนแรงมากที่สุดในแคว้นอัลเบอร์ต้าและฟอร์ต แม็ก เมอร์เรย์

อุณหภูมิในฤดูใบไม้ร่วงที่นครซานติอาโก ประเทศชิลี ทะลุ 37.3 องศาเซลเซียส สูงสุดทำลายสถิติเดิม

พื้นที่ที่เรียกว่า “สวาลบาร์ด” ของขั้วโลกเหนือ มีอุณหภูมิพุ่ง 6.5 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2503-2533

ภัยแล้งในรัฐทาสมาเนียของออสเตรเลียยาวนานยืดเยื้อจนทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงหลังภัยแล้งสิ้นสุด เกิดฝนตกหนักในเดือนเมษายน-ธันวาคม ปริมาณฝนทำลายสถิติเก่าๆ

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกสรุปว่า “สภาวะภูมิอากาศโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว”

นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่าอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้จะผลักให้สภาวะภูมิอากาศเลวร้ายต่อไป ต้นเหตุเป็นเพราะปริมาณก๊าซพิษที่ชาวโลกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมีจำนวนมากมายมหาศาล

“ฉะนั้น อากาศเลวร้ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมาจากฝีมือของคนอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ อีกต่อไป”

“เอียน จอห์นสตัน” นักข่าวสิ่งแวดล้อมของหนังสือพิมพ์อินดีเพนเดนต์ แห่งอังกฤษอ้างคำพูดของนักวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์เดฟ เรย์ ประธานการบริหารจัดการก๊าซคาร์บอนแห่งมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ประเทศอังกฤษ บอกว่า กินเนสส์บุ๊กต้องเพิ่มบทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเพื่อบันทึกสถิติใหม่ๆ เพราะมีสถิติใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอด

 

ขอกลับมาที่รายงานการประเมินความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของประเทศอังกฤษ ประจำปี 2560 ต่อเนื่องจากคราวที่แล้ว

ในบทที่สองว่าด้วยข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศในประเทศอังกฤษ บทนี้ชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ 4 อย่างที่ทำให้ภูมิอากาศของอังกฤษเปลี่ยนแปลงเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ปรากฏการณ์แรก ได้แก่ อุณหภูมิบนเกาะอังกฤษ มีค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบช่วงระหว่างปี 2548-2557 กับปี 2504-2533 ค่าเฉลี่ยสูงขึ้น 0.9 องศาเซลเซียส

เฉพาะปี 2557 เป็นปีที่อังกฤษมีอากาศร้อนที่สุด

อุณหภูมิของอังกฤษเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา

ที่น่าสังเกตคือตั้งแต่ปี 2533 ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิตลอดทั้งปีทำสถิติติดอันดับปีที่ร้อนที่สุดถึง 10 ครั้ง

ปรากฏการณ์ที่สอง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอังกฤษ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.2-1.4 มิลลิเมตรต่อปี ตั้งแต่ปี 2444 เป็นต้นมา และมีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น นับจากปี 2533

ส่วนค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของระดับทะเลโลกอยู่ที่ 0.3 มิลลิเมตรต่อปี

ปรากฏการณ์ที่สาม ปริมาณฝนตกในสกอตแลนด์ตลอดทั้งปี มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงต้นทศวรรษของศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้ ปริมาณฝนที่ตกในไอร์แลนด์เหนือ แคว้นเวลส์และในอังกฤษ ตลอดทั้งสิบปีที่ผ่านมา ก็มีนัยยะสำคัญเช่นเดียวกัน

ที่น่าสนใจ ปริมาณฝนที่ตกในฤดูหนาวหนักมากจนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเอ่อสูงและกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก

ปรากฏการณ์สุดท้าย ได้แก่ ลมพายุ ความถี่ของการเกิดพายุในช่วงฤดูใบไม้ร่วงระหว่างปี 2493-2546 มีสูงและรุนแรงเพิ่มขึ้น

 

ในรายงานฉบับนี้ผู้เชี่ยวชาญของอังกฤษ ศึกษาแนวโน้มอนาคตจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศในสองระดับ

ระดับแรก ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มสูง 2 องศาเซลเซียสหรือน้อยกว่านั้น ภูมิอากาศของอังกฤษในช่วงฤดูร้อน เกิดภัยแล้ง น้ำในแม่น้ำลดลงราว 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเกิดฝนตกระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้น 5-20 เปอร์เซ็นต์

อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้อากาศร้อนจัด ประชาชนที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ จะเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนเฉลี่ย 700-1,000 คนต่อปี

ระดับที่สอง ถ้าอุณหภูมิโลกสูงทะลุไปถึง 4 องศาเซลเซียส สภาวะอากาศของอังกฤษจะแปรปรวนรุนแรง ชาวอังกฤษต้องปรับตัวรับมืออย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมใหญ่ ชายฝั่งทะเลทรุดพัง

ผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องประเมินผลกระทบ ความเสี่ยงและการเตรียมตัวรับมือ ในทั้งสองระดับอย่างละเอียด เพราะเชื่อว่า หากชาวโลกยังร่วมกันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณเข้มข้น อังกฤษต้องเผชิญกับหายนภัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น