สมชัย ศรีสุทธิยากร | เปิดสภาวิสามัญ ประชาชนได้ประโยชน์อะไร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ความเห็นที่ต่างกันสองฝ่าย เมื่อฝ่ายค้านเห็นว่าควรเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 เพื่อระดมความคิดที่เป็นประโยชน์และให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล แต่ฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภากลับเห็นว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีแล้ว การเปิดประชุมวิสามัญเป็นเกมการเมือง ไม่สมควรในช่วงนี้

ตามวรรคสองแห่งมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ปีหนึ่ง รัฐสภามีการประชุมสมัยสามัญสองสมัย สมัยหนึ่งให้มีกำหนดระยะเวลา 120 วัน ซึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการปิดสมัยประชุมไปเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 และสมัยประชุมสามัญครั้งที่ 1 ของปี พ.ศ.2563 จะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563

ช่วงนี้จึงเป็นช่วงปิดสมัยประชุม ซึ่งหากเป็นในอดีตเราจะเห็นกรรมาธิการชุดต่างๆ ของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไปดูศึกษาดูงานในต่างประเทศกัน

เพียงแต่ปีนี้มีสถานการณ์พิเศษ ที่ไม่มีการดูงาน หรือแม้กระทั่งการประชุมกรรมาธิการชุดต่างๆ ก็พลอยงดไปด้วย

รัฐสภาจึงอยู่ในภาวะเงียบเหงา เงียบจนหลายคนตั้งคำถามว่า เขารับเงินเดือนเปล่าๆ กันหรือไร

การประชุมสภาสมัยวิสามัญ

มาตรา 123 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ส.บวก ส.ว. แต่ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสองสภารวมกัน สามารถเข้าชื่อกันร้องขอต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญได้ ซึ่งหากนำจำนวน ส.ส.กับ ส.ว.รวมกันคือ 750 คน จำนวนหนึ่งในสามที่ต้องการคือ 250 คน ดังนั้น แม้ฝ่ายค้านอยากจะให้มีการเปิดใจจะขาด แต่ฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย วุฒิสภาไม่ได้รับสัญญาณใด ลำพังของเสียงในสภาของฝ่ายค้าน ไม่เพียงพอต่อการเข้าชื่อกันขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญอย่างแน่นอน

นอกเหนือจากฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นฝ่ายริเริ่มแล้ว วรรคสามแห่งมาตรา 122 ยังให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้ริเริ่มได้ หากเป็นกรณีที่เป็นความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ โดยพระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาตามคำแนะนำของฝ่ายบริหาร

กล่าวง่ายๆ คือ หากมีทั้งสองฝ่ายเห็นถึงประโยชน์และความจำเป็น ก็สามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้

แต่เหลียวไปในวันนี้ ดูเหมือนจะไม่ได้ยินฝ่ายรัฐบาลเอ่ยถึงความจำเป็นดังกล่าวใดๆ

ทำไมต้องประชุมสมัยวิสามัญ

มีเรื่องเร่งด่วนจำเป็นเพื่อประโยชน์ให้รัฐอย่างใดบ้าง

ประการแรก ในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดออกมา 5 ฉบับดังนี้

1) การประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ประกาศ 26 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2563) เพื่อรวมอำนาจการบริหารของรัฐมนตรีไว้ที่นายกรัฐมนตรีเพื่อความรวดเร็วมีประสิทธิภาพของการแก้ไขสถานการณ์โรคระบาด

2) พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (18 เมษายน 2563) หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

3) พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2563 (18 เมษายน 2563) หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้ 400,000 ล้านบาท

4) พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (18 เมษายน 2563) หรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.ช่วย SME 500,000 ล้านบาท

และ 5) พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (18 เมษายน 2563) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้โดยมีผลถูกต้องตามกฎหมาย

ตามหลักของการออกพระราชกำหนดนั้น จะต้องเป็นไปในกรณีจำเป็นเร่งด่วน เช่น เพื่อปกปัดภัยพิบัติสาธารณะ เป็นกรณีฉุกเฉินที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เมื่อมีการประชุมรัฐสภา ครม.ต้องรีบนำ พ.ร.ก.ดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาโดยมิชักช้า หรือแม้แต่อยู่นอกสมัยประชุม หาก ครม.เห็นว่าจำเป็น ก็สามารถขอให้มีการเรียกประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาพระราชกำหนดได้

เงิน 1.9 ล้านล้านบาท จาก พ.ร.ก. 3 ฉบับ คือ ยอดเงินการใช้จ่าย เกินกว่าครึ่งของงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2563 จึงควรที่ให้รัฐสภามีส่วนในการได้เห็นถึงรายละเอียด แผนงาน โครงการใช้จ่ายเงินว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือยังมีจุดใดที่รัฐสภาเห็นว่าเป็นรายการใช้จ่ายที่เกิดหรือไม่เกิดประโยชน์บ้าง

ประการที่สอง การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ จะเป็นการระดมความคิดจาก ส.ส. และ ส.ว.ที่มองวิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลและอาจมีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการในสถานการณ์วิกฤต ตลอดจนช่วยกันตรวจสอบส่วนที่เป็นข้อบกพร่องในการบริหารที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารวัสดุครุภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนในระยะเวลาหนึ่ง การบริหารด้านเงินเยียวยาที่สับสนและไม่ทั่วถึงยังประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง การประกาศปิดสถานประกอบการแต่ไม่มีแผนงานรองรับ ทำให้คนเกิดการว่างงานกะทันหัน และเป็นปัญหาสังคมตามมา เป็นต้น

ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มีเขาไม่มีเรา ศัตรูเฉพาะหน้าคือโรคระบาดร้ายแรง ส.ส.และ ส.ว.จึงเปรียบเสมือนคลังสมองที่สำคัญ ยิ่งวุฒิสภา ที่มีฐานะสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ ควรจะใช้โอกาสดังกล่าวในการอภิปรายให้ความเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้

นายกรัฐมนตรีที่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา จึงควรใช้โอกาสการเปิดประชุมสภาวิสามัญเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ หากความเห็นเจ้าสัว 20 รายเป็นความเห็นที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ

เชื่อว่าความเห็นของสองสภา ร่วม 750 คน ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการรับฟังไม่น้อยไปกว่ากันเช่นเดียวกัน

ประการที่สาม การเปิดประชุมสภาวิสามัญ เป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่อยู่ในแต่ละเขตพื้นที่และทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไป สามารถนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

เพราะการที่รัฐบาลรับฟังแต่รายงานจากกลไกราชการ

คำตอบที่ได้อาจเป็นพฤติกรรมการรายงานในระบบราชการ เช่น ไม่ต้องการให้เห็นถึงปัญหา ต้องการให้เห็นถึงผลสำเร็จที่เป็นหน้าตาของรัฐ หรือซุกสิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาไว้ ดังเช่น กรณีการมีข่าวที่ห้ามรายงานเรื่องการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในสถานพยาบาล เป็นต้น

เมื่อรัฐบาลได้ทราบถึงปัญหาที่แท้จากปากของผู้แทนราษฎรในพื้นที่ การแก้ปัญหาที่รวดเร็วตรงจุดจะเกิดขึ้นและยังต่อความสำเร็จในการร่วมแก้ภาวะวิกฤต

ประการที่สี่ การเปิดประชุมสมัยวิสามัญ คือ สิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในรัฐสภาของผู้นำประเทศ และเสริมความเชื่อมั่นและเห็นประโยชน์แห่งรัฐสภาจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ คำถามแปลกๆ เช่น สภามีไว้ทำไม วุฒิสภามีไว้ทำไม หรือทำไมประเทศต้องจ่ายเงินเดือนให้คนเหล่านี้จะหมดไป ในขณะที่รัฐเองก็จะได้รับการยอมรับจากสังคมในด้านการพร้อมสำหรับการถูกตรวจสอบ มีการบริหารงานด้วยความโปร่งใส มีรัฐสภาเป็นกลไกสนับสนุนการทำงาน ปราศจากเสียงครหาว่าละเลยที่จะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

อย่ามองว่า ฝ่ายที่ต้องการเปิดสมัยวิสามัญว่า เพียงเพื่อต้องการใช้เวทีรัฐสภามาเป็นเครื่องโจมตีการทำงานของรัฐ หรือเป็นเกมการเมืองเท่านั้น

เพราะหากทำมาตลอดเป็นผลงาน เป็นสิ่งที่ดี เป็นทองแท้ จะไปกลัวอะไรครับ