เส้นทางวิบากที่ถูกลืมของ ปตท. กับความท้าทายในอนาคต (2) : เริ่มงานที่ ปตท.

เริ่มงานที่ ปตท.

ผม (ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์) อยู่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยังไม่ครบเทอม และระหว่างที่อยู่การทางพิเศษฯ ก็ได้ทำงานกับท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ท่านให้ความสนใจกับงานพัฒนา ท่านก็มาดูงาน มาคุย เรียกผมไปถามเรื่องทางด่วนกับขนส่งมวลชนจนท่านคงถูกคอ ชอบใจ

ตอนนั้น รัฐบาลกำลังคิดว่า จะแก้ปัญหาน้ำมัน พอดีช่วงนั้นเป็นช่วงที่โอเปคขึ้นราคาน้ำมันครั้งแรกๆ จาก 3-4 เหรียญเป็น 10-12 เหรียญต่อบาร์เรล คนก็เดือดร้อนไปทั้งโลก

น้ำมันในเมืองไทยก็ขาดแคลน เราก็มีองค์การเชื้อเพลิง สังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นคนทำเรื่องขายปลีก และจัดหาน้ำมัน ซึ่งก็ต้องอาศัยบริษัทน้ำมันข้ามชาติเป็นผู้นำเข้า แล้วองค์การเชื้อเพลิงมาจัดจำหน่าย

พอเกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลน ก็มีปัญหาการกักตุนน้ำมัน ผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงก็เดือดร้อน เมื่อเดือดร้อนก็โวยวาย รัฐบาลก็ต้องหาทางแก้ไข

ตอนนั้นรัฐบาลก็ดูแล้วไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เพราะเราไม่มีองค์กรที่มีกำลังพอที่จะช่วยแก้ ก็ต้องอาศัยบริษัทน้ำมันข้ามชาติ ซึ่งท่านนายกฯ เชิญพวกผู้จัดการบริษัทเหล่านี้มาขอความช่วยเหลือ ซึ่งหลายๆ คนไปมองเค้าว่า เอาเปรียบ

ซึ่งความจริงผมคิดว่าเขามาช่วยจัดหาให้จากแหล่งเชื้อเพลิงของเขา แต่มันก็แน่นอน ในยามที่น้ำมันขาดแคลนทั่วโลกมีปัญหา การขึ้นราคาอะไรต่างๆ ก็ทำให้การจัดหาน้ำมันเข้าประเทศเราก็ต้องไม่สะดวกและต้องเสียราคาเพิ่ม ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกธุรกิจ ที่เรามักจะมองว่า เขาเอาเปรียบ เขามาฉกฉวยขูดรีด เอาผลประโยชน์ไป

ผมคิดว่า ต่างคนต่างทำหน้าที่ในภาคเศรษฐกิจ เขาก็ทำการค้า เขาก็ต้องทำกำไร ถ้าเขาไม่มีกำไร เขาก็ลงทุนต่อไม่ได้ ทุกคนก็ต้องทำหน้าที่ของเขา

แต่ว่าช่วงนั้น เราช่วยตัวเองไม่ได้ เพราะเราไม่มีหน่วยงานที่จะไปหาน้ำมัน หรือสำรวจขุดเจาะหรือซื้อขายน้ำมัน เราก็ต้องอาศัยบริษัทน้ำมันข้ามชาติ ซึ่งก็มีเชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ 3 บริษัทนี้เป็นหลัก

ท่านนายกฯ เกรียงศักดิ์ก็รู้สึกว่า อะไรๆ เราก็ต้องไปพึ่งต่างชาติในเรื่องของพลังงาน บริษัทต่างชาติเข้ามาทำการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง สำรวจ และผลิต รับสัมปทาน แต่ไม่มีของคนไทยเลย จึงคิดว่า น่าจะตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อที่จะมาทำให้ประเทศมีน้ำมันเชื้อเพลิงพอใช้ และเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของรัฐในการควบคุม กำกับดูแลด้วย

ท่านถึงมีความคิดที่จะจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จึงออก พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ปี 2521 และมอบหมายภารกิจการจัดตั้งให้ผมมาทำ

 

แต่งานนี้คงไม่เกิดขึ้น ถ้าท่านอดีตนายกฯ พจน์ สารสิน ไม่ปูทางไว้สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ)

ท่านต้องการสร้างขีดความสามารถให้เราเป็นตัวของตัวเองในด้านพลังงาน จึงมีการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2514 ออกเป็นกฎหมาย และมีการจัดระบบการให้สัมปทาน และพวกบริษัทฝรั่งก็เข้ามารับสัมปทานผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมและทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่ยุคนั้น ทำให้เราเจอก๊าซธรรมชาติที่อ่าวไทยหลังจากให้สัมปทานไประยะหนึ่ง

ผมจึงคิดว่า ต้องให้เครดิตท่าน

ส่วนผมเข้ามาถึงจุดที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งท่านนายกฯ เกรียงศักดิ์คงชอบที่ผมทำงานให้ท่านที่การทางพิเศษฯ ถึงอยากให้ผมมาจัดตั้ง ปตท. และจะให้ผมดูแลทั้ง 2 องค์กร คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ ปตท. ซึ่งผมมาคิดดูแล้ว คิดว่า ไม่น่าจะทำได้ หลังจากมาศึกษาในรายละเอียดด้วย 3 ประการ

ประการแรก ภารกิจนี้มันใหญ่หลวง เฉพาะเรื่องการรับดูแลเรื่องพลังงานของชาตินี่มันเป็นเรื่องใหญ่มาก มันต้องให้ผู้บริหารอุทิศตนมากกว่าเต็มเวลา (Fulltime) และถ้าต้องใช้เวลาไปดูแลองค์กรอื่นด้วย ผมคิดว่ามันไม่น่าเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

ประการต่อมา ผมคิดว่า การทางพิเศษฯ ก็คงหาคนที่มารับภาระต่อได้ ก็ไม่ใช่งานลึกลับซับซ้อนอะไร เพราะมีคนเรียนมาเยอะทางด้านวิศวโยธา ด้านขนส่งมวลชน ทางด้าน Traffic Engineer มีเยอะ ก็เลยคิดว่าเราคงรับไว้ไม่ได้

ประการสุดท้าย คือ ข้อกฎหมาย เข้าใจว่าเป็นระเบียบสำนักนายกฯ หรือระเบียบของทางราชการ หรือกฎหมายพื้นฐานอะไรซักอย่าง กำหนดให้การทำงาน Fulltime ต้องอุทิศเวลาเหมือนผม Fulltime ในฐานะผู้ว่าการ ปตท. ก็ต้องอุทิศเวลาทั้งหมดที่มีให้กับ ปตท. ไม่ใช่เอาเวลาไปให้องค์กรอื่น มันก็จะเป็นการขัดต่อหลักการของกฎหมายที่ให้ Fulltime

ผมจึงเรียนท่านไปว่า ผมคิดว่าคงลำบากด้วยประการต่างๆ ที่เล่าให้ฟัง ก็ขอเป็นว่ามาช่วยจัดตั้ง ปตท. อย่างเดียว สำหรับการทางพิเศษฯ ผมคิดว่าหาคนอื่นมาทำต่อได้

ผมถึงได้ย้ายมาจัดตั้ง ปตท.

 

แผนงาน ที่เริ่มจากการไม่มีความรู้และประสบการณ์

เริ่มต้นเราไม่มีความรู้และประสบการณ์อะไรเลย แต่เรามีหัวอยู่บนบ่านี่ไม่ต้องกลัว มีสมอง เพียงแต่จัดการให้มันได้เป็นผลขึ้นมา

ผมเชื่อว่า การบริหารในระดับสูง ถ้ามีหลักมีเกณฑ์ มีจุดยืนที่ถูกต้อง อดทน กล้าคิดกล้าทำ กล้าตัดสินใจ ก็ทำได้

“หลักการของผมนั้น ผมพยายามทำให้ง่ายที่สุด ด้วยการ หนึ่ง – ทำงานอย่างมีแผน เป็นแผนที่ง่ายๆ สอง – ตัดสินใจ

ขั้นตอนการตัดสินใจนี้ สำคัญมาก ผมว่าปัญหาหลักในการบริหารที่พบกันอยู่ทั่วๆ ไปก็คือ เมื่อถึงเวลาตัดสินใจแล้ว ไม่ตัดสินใจ ด้วยสาเหตุไม่กล้า ไม่รู้ หรือลืมก็แล้วแต่ เมื่อผู้บริหารไม่ตัดสินใจ งานมันก็ไม่เกิด แล้วก็ไม่ก้าวหน้า คนที่ทำงานกับผมเขาจะรู้นิสัยว่า ถึงเวลาตัดสินใจ ถึงเวลาคิดดีแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าดีแล้วเมื่อมีปัญหาจึงค่อยมาแก้ ผมว่าอีกสิ่งหนึ่งที่นักบริหารหลายคนไม่ค่อยเอาใจใส่ก็คือ การกำหนดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมถือว่าสำคัญมาก ถึงเวลาทำแล้วต้องทำ สมมติเช่น รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ผมทำโรงแยกก๊าซตามแผนการ เมื่อถึงเวลาแล้วถ้าหากผมไม่ทำ งานก็ขาด รัฐบาลก็ยุ่ง ผู้ถือหุ้นก็ยุ่ง

ผมคิดว่า หลักการบริหารนั้น เราต้องวางระบบให้ง่ายๆ ถึงเวลาแล้วตัดสินใจ อย่าลังเลมาก เราไม่สามารถการันตีได้ว่าอะไรได้ผลครบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครทำได้ แต่เมื่อเราแน่ใจว่าผลที่ได้จะมีมากกว่าเสีย เราก็เอา คือ ผมจะไม่ค่อยยอมให้มีการเลื่อนเวลาเกิดขึ้น รองผู้ว่าการ ปตท. ทุกคนรู้ดีว่า ถ้าเป็นเรื่องเลื่อนเวลาแล้ว นั่นต้องเป็นเรื่องคอขาดบาดตายจริงๆ ผมจึงยอมเพราะไม่งั้นงานไม่เสร็จ จะทำให้โครงการช้าไปอยู่เรื่อยๆ”

คัดบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์

“ผมสร้าง ปตท. จากไม่มีอะไรเลย…” นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2530