หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ห่วง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกเงือกกรามช้าง - เป็นนักปลูกป่าที่ทำหน้าที่ได้ดี เพราะพวกมันบินได้ไกล กระจายเมล็ดพืชไปได้ทั่ว

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ห่วง’

 

งานชิ้นหนึ่ง ผมเล่าถึงความห่วงใยที่พ่อมีให้ ว่า คืนหนึ่งขณะนอนในเต็นท์ริมลำห้วย ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผมฝันว่าพ่อมาปลุกให้ตื่น เพราะมีงูสามเหลี่ยมตัวเขื่องเลื้อยมานอนอยู่ข้างๆ เต็นท์

ผมจบงานชิ้นนั้นด้วยข้อความนี้

“ว่าตามจริงขณะมีชีวิตอยู่ พ่อไม่เคยบอกผมหรอกว่ากังวลแค่ไหนกับงานที่ต้องอยู่ในป่าเกือบตลอดเวลาของผม แต่ถึงวันนี้ อยู่ในป่าลึก รายล้อมด้วยความมืดมิด ผมรู้แล้วว่าพ่อห่วงผมเพียงใด”

 

ในการให้สัมภาษณ์หนังสือฉบับหนึ่ง ผมเล่าถึงสถานภาพความสัมพันธ์ระหว่างผมกับพ่อนั้น เรียกได้ว่า เป็นแบบโบราณๆ

พ่อกับลูกชายไปด้วยกันไม่สะดวกนัก ลูกชายต่อต้านความรักความหวังดีของพ่อ ส่วนพ่อก็ไม่พูดตรงๆ ว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่ส่งเสริมสนับสนุนกับสิ่งที่ลูกชายคิด หรืออยากกระทำ เพราะเหตุผลเดียวคือ ความรักและห่วงใย

ผมผ่านวัยที่คิดถึงเพียงหนทางของตัวเองมานาน รับรู้ถึงความห่วงใยที่คนรอบข้างมี

รับรู้ความรู้สึกของพ่อ

หลังผ่านพ้นคืนที่ผมฝันถึงพ่อ ไม่นานนัก ผมก็พบว่ามีอีกคนหนึ่งห่วงผมมากกว่าที่เคยรู้

 

ตอนนั้นเป็นช่วงฤดูฝน ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันตก

“ปีนี้ดูเหมือนจะแล้งกว่าปีก่อนนะครับ” เจริญ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าจะแก มาจากสำนักงานเขต เดินทางกลับไปหน่วยเพื่อไปรับเจ้าหน้าที่จากหน่วยพิทักษ์ป่า ที่อยู่ไกลๆ ไปประชุมงานลาดตระเวนประจำเดือน

ทุกหน่วยจะส่งตัวแทนหน่วยละสองคนเข้าไปเสนอ ผลการเดินลาดตระเวน การลาดตระเวนที่เรียกว่าลาดตระเวนเชิงคุณภาพ คือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้กับงานปกป้องชีวิตสัตว์ป่า รวมทั้งแหล่งอาศัยพวกมันอย่างได้ผล

ทุกทีมได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ตรวจสอบปัจจัยคุกคามอย่างละเอียด เมื่อนำข้อมูลต่างๆ มานำเสนอในที่ประชุม หัวหน้าจะเห็นภาพชัดว่าบริเวณใดมีร่องรอยการคุกคามมาก จะเน้น หรือเพิ่มการลาดตระเวนในบริเวณนั้นๆ ได้

ข้อมูลในจีพีเอสบอกระยะทางที่พวกเขาเดิน และพวกเขาบันทึกพิกัดและถ่ายรูปร่องรอยที่เป็นปัจจัยคุกคามไว้

หลายครั้งผมมีโอกาสนั่งอยู่ในที่ประชุม ดูพวกเขานำเสนองานที่ทำ ผมเห็นความมุ่งมั่นเอาจริงของคนทำงานในป่า

และรู้สึกได้ถึงความหวัง

เป็นความหวังของเหล่าสัตว์ป่า ที่จะมีโอกาสดำเนินชีวิตไปตามวิถีในบ้านของพวกมัน

 

แม้จะเป็นปีที่สายฝนคล้ายจะเบาบาง ไม่ได้ตกชนิดท้องฟ้ามืดฉ่ำฝนนานนับสัปดาห์ ปริมาณน้ำฝนที่ทุกหน่วยวัดตอนเช้าและรายงานไปที่เขต ทางวิทยุสื่อสาร มีไม่มาก

แต่กระนั้นก็เถอะ ที่พูดกันว่า “แล้ง” ของป่าที่นี่ ไม่ได้หมายความว่าฝนจะทิ้งช่วงยาวนาน สภาพเส้นทางสัญจรไม่ได้อยู่ในสภาพดีกว่าปีอื่นๆ เลย

เจริญมีประสบการณ์เดินทางบนเส้นทางนี้ยาวนาน เขากับเจ้ากระทิงโทน รถคู่ใจ เป็นความหวังที่คนในหน่วยรู้ว่าเขาจะนำเสบียงที่รอ มาถึงหน่วยได้ในช่วงที่สายฝนหนักเกินกว่ารถคันอื่นจะฝ่ามาได้

เจ้ากระทิงโทน หากนับตามอายุ ก็ยังอยู่ในวัยน้า อ่อนกว่ารถคันอื่นที่อยู่ในวัยลุง-ป้า บางคันน่าจะเป็นคุณปู่เสียด้วยซ้ำ

นานนับสิบปีที่เจริญใช้เส้นทางนี้ แต่หลังจากสุ เมียซึ่งนั่งอยู่เบาะหน้าเสียชีวิต เขาก็ขอหัวหน้าย้ายไปอยู่หน่วยข้างนอก

“อยู่บนทางนี้แล้วคิดถึงยัยสุครับ ยังทำใจไม่ได้” เขาบอกเหตุผล

 

วันนั้น เจริญแวะมาคุยกับผมที่แคมป์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางที่เขาต้องผ่าน

“หม่องโจเป็นอย่างไรบ้างล่ะ เห็นลุงคอแตกบอกว่า วันก่อนงูสามเหลี่ยมอยากเข้าไปนอนด้วยเหรอ” เขาเรียกผมว่าหม่องโจ อันหมายถึงลุงในภาษากะเหรี่ยง และเรียกอดิเทพด้วยชื่อเดิม

“นั่นสิครับ ดีว่ารู้สึกตัวก่อน” ผมตอบ

ทำงานในป่า การถูกงูพิษกัด คือสิ่งที่เราพยายามหลีกเลี่ยง

ไม่มีใครกลัวเหล่าสัตว์ ซึ่งถูกยกให้เป็นสัตว์อันตราย เป็นผู้ร้ายในภาพยนตร์หรือนิยายทั้งหลายนั่นหรอก ไม่ว่าจะเป็นเสือ ช้าง รวมทั้งกระทิง

กับสัตว์เหล่านั้น หากไม่เผชิญหน้ากันอย่างกระชั้นชิด หรือติดตามมันกระทั่งไม่เหลือระยะห่างที่มันอนุญาต โอกาสจะบาดเจ็บเพราะพวกมันมีน้อยมาก

นานแล้ว ผมเคยให้สัมภาษณ์หนังสือฉบับหนึ่งไว้ว่า “ถ้าพลาดท่าโดนงูจงอางกัด สิ่งที่ทำได้คือ หาต้นไม้ที่เหมาะๆ นั่งเอนหลังพิง และรอเวลาจากไปอย่างสงบ”

ครั้งที่ทำงานอยู่แถบทิวเขาบูโด จังหวัดนราธิวาส อูมาเล่าให้ผมฟังถึงเรื่องของหญิงวัยกลางคนผู้หนึ่งเข้าไปกรีดยางในสวนตั้งแต่เช้ามืด เธอพลาดท่าโดนงูพิษชนิดหนึ่งฉกแถวๆ มือ

สิ่งที่เธอทำคือ ใช้มีดฟันแขนตัวเองจนขาด เพื่อป้องกันไม่ให้พิษแล่นผ่านถึงหัวใจ

ผมฟังแล้วก็ไม่ได้ซักหรอก ว่าจริงหรือไม่ แต่ฟังอย่างยกย่องในความใจเด็ดของเธอ

ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะความกล้าหรือใจเด็ดเช่นนี้ คือหนึ่งในคุณสมบัติของผู้หญิง

มันทำให้ผมรู้ว่า ถ้าโดนงูพิษกัด เลือกนั่งใต้ต้นไม้ รอเวลา ดูเหมือนจะเป็นการยอมจำนนเร็วเกินไป

 

ทุกครั้งที่ไปหาแม่ที่บ้าน ผมพบกับหญิงชราที่ไม่เคยปกปิดความห่วงใยที่มีให้ผม

ว่าตามจริง แม่ไม่ค่อยรู้นักหรอกว่า ผมทำอะไร ส่วนใหญ่จะอ่านเรื่องผมตอนสัมภาษณ์ในหนังสือต่างๆ

แม่ผ่านการผ่าตัดรักษาอาการเส้นเลือดในสมองตีบมาหลายปี ถึงวันนี้ก็ไม่อยู่ในสภาพปกติ

แม่จะดึงตัวผมไปกอด จูบแก้มซ้าย-ขวา มือเหี่ยวย่นจับมือผมแน่น

พูดประโยดเดิมๆ “เป็นอะไรไหมลูก ปลอดภัยดีไหม แม่สวดให้ตลอด และบอกให้พ่อเข้าไปดูแลแกในป่าด้วย อย่าให้มีอันตรายเกิดขึ้นกับลูก”

ผมหัวเราะขำ แม้จะไปอยู่ “ที่อื่น” แล้ว พ่อยังฟังแม่

ผมกอดแม่ รับรู้ด้วยหัวใจว่า แม่ “ห่วง” ผมมากกว่าที่เคยรู้