ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อย่าบีบให้ประชาชนทวงความเป็นธรรมถึงทำเนียบรัฐบาล

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

แม้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะเป็นขาลงจนไม่รู้ว่าจะลงอีกอย่างไร รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยอ้างว่าสถานการณ์การระบาดยังไม่ดีขึ้น ต่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ตอนนี้จะต่ำที่สุดในรอบเดือนครึ่งแล้วก็ตาม

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่แค่ 3 ราย พลเอกประยุทธ์มีข้ออ้างในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินน้อยมาก แต่โฆษก ศบค.ก็ร่วมมือกับเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปิดปากประชาชนโดยอ้างว่า พ.ร.ก.ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ต่อให้เสียงเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.จะดังทั่วประเทศก็ตาม

นักวิชาการบางคนมองการต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินวันที่ ๒๗ เป็นรัฐประหารที่มีใบรับรองแพทย์เป็นเครื่องมือ และถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์ที่พลเอกประยุทธ์ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จหลังจากไวรัสระบาด ก็จะยิ่งเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ไม่มีเหตุผลในการต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินแม้แต่นิดเดียว

ในวันที่ 18 มีนาฯ ซึ่งมีคำสั่งปิดผับและสนามมวย ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 35 ราย ส่วนในวันที่ 26 มีนาฯ ซึ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่คือ 111 และในวันที่ 3 เมษาฯ ซึ่งประกาศเคอร์ฟิว ผู้ติดเชื้อใหม่คือ 103 ราย หรือสิบเจ็ดเท่าของผู้ติดเชื้อใหม่ในวันต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในปัจจุบัน

ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาที่ไวรัสระบาดสูงขึ้นทุกวัน แต่ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกแน่ๆ ที่ต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปในเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงกว่าเดิมเลยสิบเจ็ดเท่า , ลดลงต่อเนื่องสามสัปดาห์ และลดลงจากเลขสามหลักสู่เลขหลักเดียว

ตรงกันข้ามกับผู้นำในนานาอารยประเทศที่แก้ปัญหาโควิดโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสังคม รัฐบาลไทยตั้งโจทย์ที่เรียวแคบว่าการแก้ปัญหาไวรัสคือ “เป้าหมาย” ที่ไม่ต้องสนใจคนในสังคมเลยก็ได้ มาตรการของรัฐจึงมุ่งไปที่การ “ทำยอด” ผู้ติดเชื้อให้ต่ำที่สุดโดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงทางสังคม

วันเดียวกับที่พลเอกประยุทธ์ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน ผู้หญิงคนนึงกินยาเบื่อหน้ากระทรวงการคลังประท้วงรัฐบาลเยียวยาล่าช้า, วันถัดมามีคนนอนข้างถนนรอพบรัฐมนตรี คลัง และสุดท้ายเกิดเหตุแท๊กซี่ปีนรั้วขู่ฆ่าตัวตาย หากยังไม่ได้รับเงินเยียวยา

แม้คลังจะรีบจ่ายเงินห้าพันเพื่อดับไฟแค้นที่ลุกลามในประชาชน แต่เหตุชาวบ้านฆ่าตัวตายเป็นเพียงเศษเสี้ยวของคนทุกข์ที่ไปร้องทุกข์หน้าคลังแล้วถูกขับไล่ ยิ่งไปกว่านั้นวิธีที่รัฐบาลแก้โควิด-19 ทำให้ประชาชนทุกข์นับไม่ถ้วน ขณะที่รัฐดำเนินมาตรการดูแลประชาชนล่าช้าและจำกัดเหลือเกิน

โควิดเป็นวิกฤติของสังคมไทยเช่นเดียวกับเป็นวิกฤติของสังคมอื่น แต่วิธีที่รัฐไทยแก้ปัญหาโควิด-19 ชี้ให้เห็นว่ารัฐเผชิญวิกฤติที่ทำให้ปัญหาโควิดลุกลามเป็นปัญหาอื่นอย่างที่ไม่ควรเป็น

กลไกที่พลเอกประยุทธ์ใช้แก้ปัญหาโควิดคือระบบราชการ แต่สถานการณ์โควิดแสดงให้เห็นว่าราชการในฐานะ “ระบบ” มีประสิทธิภาพในการแก้วิกฤติประเทศน้อยมาก เพราะนอกจากกรมควบคุมโรคกับกระทรวงสาธารณสุขที่ทำหน้าที่ดีเยี่ยม หน่วยราชการอื่นกลับล้มเหลวแทบทุกทาง

กระทรวงพาณิชย์ล้มเหลวในการแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน กระทรวงการคลังไม่มีปัญญาเยียวยาประชาชน 5,000 ได้ทั่วถึง กระทรวงอุตสาหกรรมแจกหน้ากากผ้าบ้านละชิ้นแบบสิ้นคิด ส่วนกระทรวงกลาโหมที่มีกำลังพลและงบประมาณมหาศาลนั้นแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย

รัฐบาลประยุทธ์และหมอสายอำนาจนิยมชอบเปรียบโควิดเป็นสงคราม แต่วิธีที่พลเอกประยุทธ์ใช้ระบบราชการสู้สงครามโควิดกลับตีแผ่ความห่วยของระบบราชการทั้งหมด

ในเวลาที่คนทั้งประเทศยากลำบากที่สุด ระบบราชการทำบทบาทที่ควรทำไม่ได้ และพลเอกประยุทธ์ก็ไม่มีสติปัญญาพอจะใช้ความเป็นผู้นำไปกำกับราชการทำเรื่องที่ควรทำ

การเยียวยาประชาชนคือตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ รวมทั้งความไม่ได้เรื่องของพลเอกประยุทธ์ในเวลาที่ประเทศใช้ยุทธศาสตร์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ตามข้อเสนอขององค์การอนามัยโลกเรื่อง “ระยะห่างทางกายภาพ” ตั้งแต่ต้นมีนาคม

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ามาตรการซึ่งมุ่งทำให้คน “อยู่บ้าน” โดย “สั่งปิดงาน” ทำให้คนนับล้านเดือดร้อนขั้นไม่มีจะกิน แต่วิธีที่รัฐบาลแก้ปัญหานี้กลับล่าช้าจนคนตกงานมีข้าวกินเพราะประชาชนช่วยกันเอง ไม่ใช่เพราะความช่วยเหลือจากรัฐบาล

หนึ่งเดือนของการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงานไม่มีงานทำอย่างที่ควรเป็น แต่พลเอกประยุทธ์ไม่สามารถกระทั่งเปลี่ยนคนเหล่านี้เป็นกำลังพลเยียวยาประชาชนยามวิกฤติโควิดรูปแบบต่างๆ เช่นใช้สถานที่ราชการเป็นศูนย์กระจายข้าวปลาอาหารระดับชุมชน

ภาพประชาชนเข้าคิวรอข้าวรอน้ำจากเอกชนทำให้หน่วยงานรัฐอับอายจนฉุกคิดได้ว่าต้องดูแลประชาชน แต่คำถามคือทำไมรัฐราชการต้องรอถึงปลายเดือนเมษากว่าจะ “ตาสว่าง” และทำไมพล.อ.ประยุทธ์ไม่สั่งการระดมเจ้าหน้าที่มาลำเลียงความช่วยเหลือให้ประชาชนทุกครอบครัว

หนึ่งเดือนของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือหนึ่งเดือนที่รัฐราชการล้มเหลวกระทั่งภารกิจที่ง่ายที่สุดอย่างสังคมสงเคราะห์ ไม่ต้องพูดถึงการเยียวยาที่ล่าช้าและไร้ระบบจนกระทบต่อชีวิตประชาชน

ไม่มีใครรู้ชัดๆ ว่าคนไทยเดือดร้อนจากคำสั่งปิดงานของรัฐบาลกี่ล้านคน แต่จำนวนผู้ลงทะเบียนขอการเยียวยา 28 ล้านคน ถูกรัฐบาลยอมให้การเยียวยาแค่ 14 ล้านคน โดยเมื่อถึงปลายเดือนเมษายนนั้นมีคนเพียง 8 ล้านคนที่ได้รับการเยียวยาแล้ว ขณะที่อีกเกือบ 5 ล้าน ต้องรอไปถึงเดือนพฤษภาคม

สำหรับคนที่ได้เงินเยียวยา 5,000 เงินก้อนนี้ไม่พอเมื่อเทียบกับรายจ่ายและรายได้สมัยทำงานอาชีพต่างๆ แต่สำหรับคนที่ตกงานตั้งแต่ 18 มีนาคม แล้วยังไม่ได้รับเงินเยียวยา ความล่าช้าของรัฐหมายถึงความเสี่ยงจะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน หรือถูกยึดมอเตอร์ไซค์ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากิน

ต้องชื่นชมกระทรวงการคลังที่ยอมรับโดยปริยายถึงความห่วยของ AI โดยยอมเติมเจ้าหน้าที่รัฐและธนาคารทำงานเยียวยาสิทธิประชาชน แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่าการเยียวยาที่ล่าช้าจนคนอีกหกล้านยังไม่ได้อะไรนั้นเป็นเรื่องผิดปกติที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างสิ้นเชิง

คนไทยทุกคนทราบว่าพลเอกประยุทธ์รังเกียจระบบประชาธิปไตยและไม่ฟังเสียงประชาชน กลไกที่พลเอกประยุทธ์ใช้ควบคุมประเทศคือระบบราชการที่ทหารเป็นหลัก แต่ความเละเทะในการดูแลปากท้องและเยียวยาประชาชนคือหลักฐานว่ากลไกนี้ไม่มีประสิทธิภาพ และยิ่งกว่านั้นคือไม่มีหัวใจ

ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่รัฐสั่งประชาชนอยู่บ้านเพื่อสกัดไวรัสระบาด แต่ขณะที่หลายประเทศจ่ายเงินช่วยประชาชนโดยตรง หรือไม่ก็จ่ายเงินเดือนประชาชนผ่านนายจ้าง เราเป็นประเทศเดียวที่ระบบราชการไร้ประสิทธิภาพกลายเป็นผู้พิพากษาว่าจะช่วยและไม่ช่วยใครยามทุกข์ท่วมแผ่นดิน

สิบกว่าปีนี้สังคมไทยถูกบีบให้คิดแคบๆ เรื่องประชาธิปไตยและเผด็จการ ระบบไหนดูแลประชาชนดีกว่ากัน แต่ที่จริงความสามารถของรัฐในการดูแลประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ระบอบการเมือง” ล้วนๆ หากยังขึ้นอยู่ “สมรรถะของกลไกรัฐ” ในการดูแลประชาชนด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะชอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ สิ่งที่ทุกฝ่ายในสังคมไทยควรยอมรับร่วมกันคือกลไกรัฐราชการไม่มีประสิทธิภาพในดูแลทุกข์สุขประชาชนจนข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะยากจนกลายเป็นข่าวรายวันของประเทศมาแล้วเกือบเดือน

วิกฤติโควิดเป็นจุดเปลี่ยนของโลกและของประเทศไทย คำถามคือทำไมในโลกซึ่งผู้นำประเทศและผู้มีอิทธิพลทางความคิดพูดถึง “โลกยุคหลังโควิด-19” ว่าจะเกิด New Normal หรือ “บรรทัดฐานใหม่” สังคมไทยยังไม่ได้ยินพลเอกประยุทธ์และผู้นำระบบราชการพูดอะไรแบบนี้แม้แต่ครั้งเดียว

ท่ามกลางความพยายามของภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่คิดปรับโครงสร้างสังคม ประเทศไทยกลับมีผู้นำซึ่งเลือกวิธีบริหารด้วยกลไกที่ล้าหลัง, ปราศจากประสิทธิภาพ และเป็น Old Normal (มาตรฐานเก่า) จนอนาคตของประเทศเหมือนคนที่มองไปข้างหน้าแล้วเห็นแต่ฝาโลง

สังคมไทยหลังวิกฤติโควิดต้องการการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในระบบการเมืองและระบอบการปกครองอย่างที่พลเอกประยุทธ์ไม่มีทางทำได้เลย

อย่าให้ถึงจุดที่ประชาชนต้องไปทวงความเป็นธรรมถึงทำเนียบรัฐบาล