ในประเทศ : “พิธา” ชำแหละ CPTPP ถ้าไม่ “อุ้มทุนหนา ฆ่าทุนน้อย” ต้องเปิดให้สภาตรวจสอบ

ท่ามกลางความสนใจของสังคมทุกภาคส่วนที่จับจ้องอยู่กับการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่การนำเสนอข่าว

กลับปรากฏรายงานข่าวว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 28 เมษายน

ซึ่งทันใดที่สังคมรับทราบการนำเสนอข่าวนี้ คำว่า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-PacificPartnership ) หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก กลายเป็นจุดสนใจขึ้นมา พร้อมกับกระแสการคัดค้านการเคลื่อนไหวดังกล่าวจากหลายภาคส่วน

เริ่มด้วยในโลกออนไลน์ ที่เปิดแคมเปญ “Mob from Home” ขึ้นมา ท่ามกลางเสียงกล่าวหาว่า ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลดำเนินการลักไก่

ฉวยโอกาสในช่วงเวลาที่สังคมตกอยู่ในภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 แอบนำเสนอเรื่องดังกล่าว

 

ขณะเดียวกัน ฟากฝั่งของนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ หรืออดีตรัฐมนตรี เช่น นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อ.ยักษ์ หรือนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ต่างออกมาคัดค้านการเคลื่อนไหวโดยให้เหตุผลไปในทางเดียวกันว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จริง จะเป็นการทำร้ายประเทศชาติโดยตรง

โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรและเภสัชกรรม เปรียบเสมือนลูกกวาดสอดไส้ยาพิษ

หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุข ก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยเช่นกัน

โดยมีรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ผู้บริหารกระทรวงทำหนังสือชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากไทยตัดสินใจเป็นสมาชิก CPTPP ระบุชัดว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่สนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP

ด้วยความกังวลที่จะมีผลกระทบต่อระบบการผลิตยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ จะต้องนำมาใช้ดูแลรักษาชีวิตและสุขภาพของคนไทย ให้ที่ประชุม ครม.วันที่ 28 เมษายนทราบ

 

ในจำนวนคนที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ ยังรวมถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ “Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เรียกร้องให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชน และพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ในการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ซึ่งเป็นการยอมให้ประเทศไทยเสียอํานาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันนายพิธาให้สัมภาษณ์กับรายการ The Politics ในเครือมติชน ถึงกรณีการออกมาคัดค้านเรื่องนี้

โดยระบุว่า หากไทยเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ภาพรวมจะมองเห็นชัดว่าไทยได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากเดิมประเทศสมาชิกในกลุ่ม CPTPP มีทั้งหมด 12 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม

ต่อมาในปี 2017 สหรัฐอเมริกาขอถอนตัวออกไป ทำให้กลุ่ม CPTPP เหลือเพียง 11 ประเทศ

ซึ่ง 9 จาก 11 ประเทศในกลุ่มนี้ ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA อยู่แล้ว มีเพียงเม็กซิโกกับแคนาดา ที่ไทยจะได้ตลาดเพิ่มหากเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP

ด้วยเหตุผลนี้ นายพิธาเสนอว่า ทำข้อตกลงระหว่างประเทศกับเม็กซิโกและแคนาดาโดยตรงจะดีกว่าหรือไม่

ส่วนกรณีที่รัฐบาลระบุว่า หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP จะทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น มีการดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น นายพิธาระบุว่า จากข้อมูลที่มี ประเทศไทยส่งออกไป 11 ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม CPTPP คิดเป็น 34-35% หรือ 1 ใน 3 อยู่แล้ว ทำให้ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลต้องการเพิ่มตัวเลขมากไปกว่านี้หรือไม่

ประกอบกับสถานการณ์ภายหลังการระบาดหลังโควิด ที่อาจทำให้ไทยต้องปรับเปลี่ยนแผนเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

นอกจากนี้ นายพิธายังให้ข้อมูลว่า นอกจากกลุ่ม CPTPP ขณะนี้ยังมีกลุ่มที่เรียกว่าอาร์เซ็ป ที่มีกลุ่มสมาชิกคือ จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศในอาเซียน ซึ่งมีมูลค่าขนาดใหญ่กว่า CPTPP และไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องแรงงาน หรือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ อย่างที่หลายฝ่ายกังวล เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หากเราต้องการตลาดใหม่ และเป็นคำถามย้อนกลับไปทางรัฐบาลได้เปรียบเทียบว่า จำเป็นแค่ไหนที่ต้องเข้าร่วม CPTPP

ส่วนในประเด็นที่ผู้คัดค้านหลายฝ่ายกังวล กรณีหากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP คือ การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ต้นทุนของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหาร นายพิธาระบุว่า ข้อกำหนดหากเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP บทที่ 18 กำหนดให้ประเทศที่เข้าร่วม ต้องทำตามอนุสัญญาที่กลุ่มบัญญัติไว้

หนึ่งในอนุสัญญาที่บัญญัติไว้คือ UPOV (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) หรืออนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ขณะที่ไทยมีกฎหมายของตัวเองในเรื่องนี้คือ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 หมายความว่า หากไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ไทยต้องปรับกฎหมายให้เป็นเช่นเดียวกับกฎหมายของกลุ่ม คืออนุสัญญา UPOV

โดยในอนุสัญญาระบุไว้ว่า กรณีจะเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป เกษตรกรจะเก็บเมล็ดไว้เองไม่ได้ เพราะเมล็ดพันธุ์ถือเป็นลิขสิทธิ์ ส่งผลให้ต้องซื้อจากทุนใหญ่เท่านั้น

ตรงกันข้ามกับจุดแข็งของประเทศไทยในเรื่องความหลากหลายของพันธุ์พืช ที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรรายเล็กรายน้อยสามารถทำตลาดโดยตรงได้

แต่ในกรณีหากเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาตามข้อตกลง เท่ากับเปิดโอกาสให้สามารถนำเมล็ดพันธุ์ไปจดลิขสิทธิ์ ส่งผลให้เกษตรกรไทยอาจต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่แพงขึ้น

 

นอกเหนือจากรายละเอียดของการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ที่หลายฝ่ายกังวล นายพิธาระบุว่า หลักใหญ่ที่ควรกังวลมากกว่า ไทยจะได้หรือจะเสียอะไรหากเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP คือ รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 178 ที่ให้อำนาจรัฐบาลไม่ต้องขออนุมัติกรอบการเจรจาจากรัฐสภา เพื่อไปเจรจาทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ หรือกรณีที่รัฐบาลไปเจรจามาแล้ว แล้วนำเรื่องเข้าสู่สภาเพื่อวินิจฉัย 60 วัน หากในกรอบเวลา 60 วัน สภาวินิจฉัยไม่แล้วเสร็จ ถือว่าเห็นชอบกรอบการเจรจานั้น

ซึ่งนายพิธามองว่า นี่คือเรื่องที่ควรเป็นกังวลมากกว่า เนื่องจากรายละเอียดของ CPTPP มีมากถึง 30 บท และส่วนใหญ่เป็นเรื่องการตีความทางกฎหมายที่ต้องลงรายละเอียด ใช้ความเชี่ยวชาญ และเวลา หากมีการอนุมัติที่ง่ายเกินไปด้วยกรอบกฎหมายที่มี โดยขาดการตรวจสอบจากนิติบัญญัติ ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน อาจส่งผลให้มีปัญหาตามมาได้

ด้วยความกังวลดังกล่าว นำมาสู่ข้อเสนอของนายพิธาว่า การเปิดสภาเพื่อให้มีการพูดคุยนำเสนอข้อมูล รวมถึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาทบทวนเรื่องข้อตกลง ให้ประชาชนได้สะท้อนเสียงผ่านผู้แทนราษฎร เพื่อให้การทำงานเกิดการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติควบคู่ไปด้วยกันได้ จะช่วยแก้ปัญหาและความสงสัยของพี่น้องประชาชนได้

ที่สำคัญที่สุดรัฐอย่าฉวยโอกาสเพื่อที่จะ “อุ้มทุนหนา ฆ่าทุนน้อย”

 

นายพิธายังเรียกร้องว่า แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้เอื้ออำนวยตรงนี้ แต่หากมีพรรคการเมืองเช่น พรรคก้าวไกล ยื่นญัตติด่วน อยากจะขอความร่วมมือจากสภา บันทึกญัตตินี้เข้าไปให้มีการอภิปราย ซึ่งที่ผ่านมา นายพิธาระบุว่า มี ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลออกมาให้ความคิดต่อเรื่องนี้ในทิศทางคล้ายกันว่า ให้ชะลอ แล้วมาศึกษากันใหม่ ถือเป็นทิศทางที่ดี ที่น่าจะมีการอภิปรายเกิดขึ้น

ส่วนกรณีหากยังไม่มีการเปิดสภา นายพิธามองว่า อย่างไรกระทรวงพาณิชย์ควรต้องกลับไปศึกษาใหม่ ที่บอกว่าหากเข้าร่วม CPTPP จะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้าน ยังจริงอยู่หรือไม่ เพราะด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด ส่งผลให้ทั้งโลกกลับหัวกลับหาง ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีมาตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมาถูกต้านลงเยอะ ทำให้ฉากทัศน์ของโลกเปลี่ยนไป ซึ่งต้องมาประเมินกันใหม่ ว่าข้อตกลงต่างๆ ที่ไทยจะเข้าร่วม

คุ้มค่ากับตลาดที่ได้กลับมาหรือไม่

 

จากแรงกดดันหลายทางที่แสดงออกคัดค้านการนำเรื่องเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ได้ถอนการเสนอเรื่อง CPTPP เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมแล้ว

โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เหตุผลว่า เมื่อยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ระหว่างฝ่ายต่างๆ จึงได้ถอนเรื่องออกไปแล้ว และจะไม่เสนอเรื่องนี้อีก ตราบใดที่ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการถอนเรื่องนี้จากวาระการประชุมแล้ว และนายจุรินทร์ยืนยันแล้วว่าจะไม่เสนอเรื่องนี้อีก

แต่กลุ่มผู้คัดค้านในสังคมออนไลน์ยังยืนยันที่จะจัดชุมนุมเรียกร้องต่อไป เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสนำเรื่องนี้กลับเข้ามาพิจารณาอีกครั้ง

พิธาทิ้งท้ายว่า พรรคก้าวไกลจะทำงานร่วมกับเอ็นจีโอและภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ CPTPP พลาดสายตาแน่นอน