คนมองหนัง : “สันติ-วีณา” ภาพยนตร์เก่าปี 2497 หนังไทยเรื่องเดียวใน “คานส์ 2016”

คนมองหนัง

“สันติ-วีณา” ผลงานการกำกับของ “ทวี ณ บางช้าง” หรือ “มารุต” อำนวยการสร้างโดย “รัตน์ เปสตันยี” เมื่อ พ.ศ.2497 เป็นหนึ่งในหนังเรื่องสำคัญของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย

ทั้งในสถานะภาพยนตร์ไทยขนาดยาวเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ.2497 ไปถึง 3 สาขา ได้แก่ ถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี), กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ) และรางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา ในฐานะภาพยนตร์ที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมของเอเชียได้เป็นอย่างดี

และในสถานะภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสีขนาด 35 ม.ม.

 

แต่เรื่องราวภายหลังความสำเร็จหนนั้นกลับกลายเป็นปริศนาทางประวัติศาสตร์ เมื่อฟิล์มของภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย คนไทยรุ่นหลัง (รวมถึงรุ่น 2500) จึงไม่เคยมีโอกาสได้ชมหนังเรื่องนี้

แม้จะมีข้อมูลว่าฟิล์มสำเนาของภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” ได้ถูกขายให้แก่สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ทว่า ก็ยังไม่เคยมีใครพบเห็น (หรือพยายามสืบค้น) ฟิล์มเหล่านั้นเช่นเดียวกัน

กระทั่งใน พ.ศ.2555 “อลงกต ด้วงใหม่” นักวิจารณ์ภาพยนตร์เจ้าของนามปากกา “กัลปพฤกษ์” ขณะกำลังศึกษาระดับปริญญาเอกที่สหราชอาณาจักร ได้เดินทางไปใช้บริการห้องสมุดของสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร (บีเอฟไอ)

ก่อนจะพบเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นจากการสืบค้นข้อมูลว่า หนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ทางบีเอฟไอจัดเก็บไว้ มีรายชื่อของ “สันติ-วีณา” รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ฐานข้อมูลระบุว่าบีเอฟไอได้จัดเก็บฟิล์มเสียงต้นฉบับ และฟิล์มภาพ “บางส่วน” ของหนังไทยเรื่องนี้เอาไว้เท่านั้น

 

อลงกตแจ้งข่าวดังกล่าวให้หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ของไทยได้รับทราบ ทางหอภาพยนตร์จึงทำการติดต่อภัณฑารักษ์ของบีเอฟไอ เพื่อสอบถามถึงเรื่องราวเกี่ยวกับฟิล์มภาพยนตร์ “สันติ-วีณา”

โดยสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักรตอบกลับมาว่า สิ่งที่บีเอฟไอจัดเก็บไว้ ก็คือ ฟิล์มต้นฉบับเสียงขนาด 35 ม.ม. จำนวน 15 ม้วน ตลอดจนเบื้องหลังและไตเติ้ลภาพยนตร์จำนวน 1 ม้วน ของหนังไทยเรื่องนี้

ทั้งนี้ บีเอฟไอได้รับฟิล์มเหล่านั้นมาจากแล็บแรงค์ฟิล์ม เมื่อ พ.ศ.2518 อย่างไรก็ดี ขณะนั้น (พ.ศ.2555) สถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่า ฟิล์มต้นฉบับภาพของ “สันติ-วีณา” นั้นอยู่ที่ใด?

ต่อมา ใน พ.ศ.2556 “สัณห์ชัย โชติรสเศรณี” รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ได้ติดต่อประสานงานกับหอภาพยนตร์แห่งชาติของรัสเซีย (Gosfilmofond) ก่อนจะได้รับคำตอบว่า มีฟิล์มสำเนาของภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” ถูกเก็บอยู่ที่ Gosfilmofond จริงๆ สอดคล้องกับข้อมูลเก่าที่ระบุว่าหนังเรื่องนี้เคยถูกขายให้สหภาพโซเวียต

ฟิล์มสำเนาฉบับที่ถูกเก็บรักษาไว้ในรัสเซีย อยู่ในสภาพที่สีบางสีขาดหาย มีรอยขีดข่วน แต่รูหนามเตยอยู่ในสภาพดี และฟิล์มหดประมาณ 0.4 เปอร์เซ็นต์

จึงยังสามารถนำฟิล์มสำเนาฉบับนี้มาเข้าเครื่องสแกนเพื่อทำการบูรณะได้

 

ปี2557 “โดม สุขวงศ์” ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ และ “ชลิดา เอื้อบำรุงจิต” รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ได้รับอีเมล์จากเพื่อนนักวิชาการด้านภาพยนตร์ศึกษาชาวจีน แจ้งว่า ณ หอภาพยนตร์ของจีน ก็มีฟิล์มสำเนาของ “สันติ-วีณา” ถูกเก็บไว้อยู่อีกหนึ่งชุด

เมื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติของฟิล์มสำเนาทั้งสองฉบับแล้ว ฉบับที่ถูกเก็บไว้ในรัสเซีย จะมีภาพออกโทนสีม่วงทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าฟิล์มมีปัญหาเรื่องความเสื่อมของสี

ขณะที่ฉบับที่ถูกเก็บไว้ในจีน สีออกซีด มีรอยขีดข่วน แต่ที่สำคัญ คือ มีคำบรรยายภาษาจีนฝังอยู่ในเนื้อฟิล์ม ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการบูรณะ เพราะจะต้องมีการลบคำบรรยายออกจากภาพทีละเฟรม

หอภาพยนตร์จึงสรุป ณ เบื้องต้นว่า จะริเริ่มโครงการบูรณะภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” โดยใช้เสียงจากฟิล์มต้นฉบับที่อังกฤษ และใช้ภาพจากฟิล์มสำเนาที่รัสเซีย

 

อย่างไรก็ตาม ต่อมา ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิล์มภาพยนตร์ชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนของหอภาพยนตร์ไทย ได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบสภาพฟิล์มต้นฉบับของ “สันติ-วีณา” ที่สถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักรอย่างละเอียด

ก่อนจะพบว่าความผิดพลาดในการสะกดชื่อหนังเป็นภาษาอังกฤษอย่างแตกต่างกันสองเวอร์ชั่น ได้ส่งผลให้ฟิล์มบางชุดตกสำรวจหล่นหายไปจากฐานข้อมูล

และเมื่อเข้าไปตรวจสอบที่คลังเก็บฟิล์มของสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักรโดยถี่ถ้วนแล้ว จึงพบว่ามี “ฟิล์มต้นฉบับภาพ” ของ “สันติ-วีณา” รวมทั้งหมด 15 ม้วน ความยาว 12,700 ฟุต ถูกจัดเก็บไว้เช่นกัน

สภาพของฟิล์มต้นฉบับภาพนั้น เริ่มมีเชื้อราขึ้นตามขอบฟิล์ม และบางส่วนก็ลามไปอยู่ถึงในภาพหรือถึงชั้นของฟิล์ม สีเริ่มซีดจาง อัตราการหดตัวของฟิล์มค่อนข้างต่ำ รูหนามเตยฉีกขาดเล็กน้อย ส่วนต่อฟิล์มมีการขาดจากกันบ้าง

ส่วนฟิล์มต้นฉบับเสียงยังอยู่ในสภาพดี ไม่มีความเสียหายทางเคมีใดๆ

ด้วยเหตุนี้ หอภาพยนตร์จึงตัดสินใจดำเนินการบูรณะหนังเรื่อง “สันติ-วีณา” โดยใช้ฟิล์มต้นฉบับภาพและเสียง ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่อังกฤษ เป็นฐานข้อมูลหลัก

และได้ติดต่อว่าจ้างบริษัท L”Immagine Ritrovata จากประเทศอิตาลี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการบูรณะภาพยนตร์ด้วยระบบดิจิตอล ให้มาบูรณะ “สันติ-วีณา” เป็นไฟล์ดิจิตอล ความละเอียดระดับ 4k

 

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 เมษายน ทางเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ได้ประกาศข่าวดีว่า ภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” ฉบับบูรณะ จะได้รับเกียรติให้ฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้

โดยหนังถูกจัดให้อยู่ในสาย “คานส์ คลาสสิคส์” ซึ่งจะคัดเลือกภาพยนตร์เก่าทรงคุณค่าจากทั่วทุกมุมโลก ที่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาเป็นอย่างดีแล้ว ไปจัดฉาย

“สันติ-วีณา” จึงเป็นหนังไทยเพียงเรื่องเดียว ที่ถูกคัดเลือกเข้าฉายในโปรแกรมอย่างเป็นทางการของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปีนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2544 “ฟ้าทะลายโจร” ภาพยนตร์แนวย้อนยุคของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” ถือเป็นหนังไทยเรื่องแรกสุดที่ถูกคัดเลือกเข้าไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อย่างเป็นทางการ

วิศิษฏ์เปิดเผยโดยไม่ปิดบังว่า ผลงานของเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังของ “รัตน์ เปสตันยี”

อีก 15 ปีต่อมา ภาพยนตร์ที่อำนวยการสร้างโดยรัตน์เมื่อ 62 ปีก่อน จึงมีโอกาสถูกนำไปจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเดียวกัน

 


สำหรับผู้สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดอ่านบทความ “62 ปีที่หายไป สันติ-วีณา หนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ” โดย สัณห์ชัย โชติรสเศรณี ใน “จดหมายข่าวหอภาพยนตร์” ฉบับพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 (ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.fapot.org/files/images/news33_s.pdf)