สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ลายสือไทย… มรดกความทรงจำแห่งโลก (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ตอนที่แล้วผมทิ้งคำถามกับ ครูทุเรียน พรมมิ ครูสอนภาษาไทยผู้แกะรอยลายสือไทยจากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ 1 ถอดออกมาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนและบทเรียนสอนการอ่าน การเขียนอักษรไทยโบราณหรือลายสือไทยว่า ครูคิดอย่างไรกับการเรียนการสอนภาษาไทยปัจจุบันที่สอนแบบใหม่ ให้นักเรียนจดจำเป็นรายคำ ไม่ใช่แบบแจกลูกผสมคำแบบเดิม

“การสอนภาษาไทยกับการสอนลายสือไทยเป็นคนละประเด็นกันค่ะ” ครูทุเรียนเกริ่น การสอนภาษาไทยก็อย่างหนึ่ง การแกะรอยการอ่าน การเขียนลายสือไทยก็อีกส่วนหนึ่ง

“วิธีสอนภาษาไทยเป็นคำคำ เป็นความพยายามหาวิธีการสอนแบบใหม่ มุ่งให้เด็กจดจำเป็นคำคำไป ความเห็นดิฉันไม่โอเค เช่นคำว่า รถไฟมา ตามา สอนเป็นคำคำ เอารูปรถไฟมาให้ดูเด็กก็จำ แต่ไม่รู้วิธีสะกด การใช้พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ อะไร อย่างไร อยู่ๆ ก็สอนเป็นคำเลย ไม่รู้ว่าสะกดด้วยมาตราอะไร แม่อะไร แม่กด แม่กก แม่กง แม่เกย ฯ เด็กไม่รู้ ส่วนการสอนแบบเดิมแจกลูกผสมคำ เด็กผันอักษรทีละตัว รู้จักวิธีการผสมคำ พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ ได้ผลดีกว่า ป.1 อ่านป้ายได้ อ่านหนังสือพิมพ์ได้ ทำให้พื้นฐานการอ่านและเขียนของเด็กต่อไปดีกว่า”

“ทุกวันนี้ การเรียนสาขาการสอนภาษาไทยตามมหาวิทยาลัย คนเรียนน้อยลง ไม่ค่อยมีคนสนใจ ส่วนมากชอบไปทางบริหารมากกว่าวิชาการ” ครูขวัญศิษย์สะท้อนคิด

 

ฟังครูทุเรียนจบ ฟังเสวนาสมาชิกในวงสัมมนาต่อ นายพยอม วงศ์พูล ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการจังหวัด บอกว่า การเรียนการสอนภาษาไทยในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ทุกโรงเรียนจะมุ่งการอ่าน การเขียนภาษาไทย แบบแจกลูกผสมคำ ระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนลายสือไทย

ฟังแล้วคิดถึงคำขวัญในการรณรงค์การอ่าน การเขียนภาษาไทยของเขตพื้นที่ประถมศึกษาสุโขทัย เขต 2 ตั้งแต่ครั้งที่ นายมาณพ ษมาวิมล เป็นผู้อำนวยการ ปัจจุบันย้ายไปเป็น ผอ.เขตพื้นที่ประถมศึกษาอุทัยธานี เขต 1 ที่ว่า “ลูกพ่อขุนราม ลายมืองาม จบ ป.3 อ่านออกเขียนได้ทุกคน” ส่งผลให้สถิติการอ่านออกเขียนได้ของเด็กนักเรียนในจังหวัดสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

ครูเคียง ชำนิ พนักงานราชการโรงเรียนไกรในวิทยาคมรัชมังคลาภิเษก ครูสอนสังคมและดนตรีไทย ขอไมค์ต่อ “วันหนึ่งเด็กๆ ถามผมว่า สุโขทัยเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยใช่ไหม ผมจึงเริ่มต้นค้นคว้าหาความจริง จริงๆ แล้วไม่ใช่ ไม่ได้เก่าแก่สุด อู่ทอง ละโว้ เก่าแก่กว่า

“แต่ทำไมคนไทยนึกถึงสุโขทัยเป็นอันดับแรก เพราะมีของดีหลายอย่าง 70 กว่าเรื่องในลายแทงศิลาจากรึกเขียนไว้มากมาย เครือข่ายสุโขทัย 10 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างแคว้นสุโขทัย พูดภาษาสุโขทัย” ครูย้ำ

ตามต่อด้วย น.ส.เบญจพัฒน์ เตชะวีรพงค์ อัยการประจำจังหวัดสุโขทัย หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของสถาบันพลังจิตานุภาพหลวงพ่อวิริยังค์ สาขาที่ 120 วัดไทยชุมพล เข้าร่วมกิจกรรมแกะรอยลายสือไทย ประสานกิจกรรมของสถาบันพลังจิตานุภาพ ฝึกอบรม สอนสมาธิ เข้ากับกิจกรรมแกะรอยลายสือไทยอย่างกลมกลืน

“การฟ้องร้องคนผิดเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง จริงๆ ต้องแก้ที่จิตใจ สภาวะทางจิตใจของเด็ก เป็นเรื่องที่เคยมีมาแล้วในอดีตไปอ่านในหลักศิลาจารึกมีตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง เอาศิลาจารึกมาสังคายนาให้เกิดความเป็นรูปธรรม เอางานด้านคุณธรรม จริยธรรมเป็นวาระของจังหวัด วาระของชาติ บูรณาการให้เกิดเกิดสุขภาวะ จัดอบรมเด็ก ผู้หญิง ผู้นำชุมชน ฝึกสมาธิ ฝึกจิต หลักสูตรครูสมาธิ ทำใจให้สงบไม่ให้จิตตก”

เธอย้ำด้วยความยินดีกับกิจกรรมของโรงเรียนและสมาคมลายสือไทย

 

ขณะที่อาวุโสสมาชิกอีกท่าน พันโทเชาวน์ วัตถพาณิชย์ วัย 88 ปี ออกแบบเขียนฟอนต์ลายสือไทยมอบให้สมาคมลายสือไทยนำไปใช้ในการเรียนการสอน การฝึกอบรม

ท่านเหล่านี้กับภูมิปัญญาชุมชน ปราชญ์ท้องถิ่นอีกหลายท่าน ต่างร่วมเสริมแรงซึ่งกันและกัน จะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งหรือไม่ก็ตาม ทำให้คุณค่าของหลักศิลาจารึกเป็นที่กล่าวขานต่อเนื่องเรื่อยมา จนวันที่ 16 ตุลาคม 2546 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศขึ้นทะเบียนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชไว้ในทะเบียนความทรงจำแห่งโลก (Memory Of the world Register) ยิ่งทำให้พวกเขามีกำลังใจดำเนินงานและกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ นำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติยิ่งขึ้น

จากศิลาจารึกทั้ง 4 ด้าน ด้านที่หนึ่งมี 35 บรรทัด ด้านที่สองมี 35 บรรทัด ด้านที่สามมี 27 บรรทัด ด้านที่สี่มี 27 บรรทัด ลักษณะการเขียน พยัญชนะ สระอยู่ในบรรรทัดเดียวกัน พยัญชนะต้นและสระเชื่อมติดต่อกัน การประสมคำถ้ามีตัวสะกดเขียนแยกห่างออกไป

หลายคนในวงสัมมนา ไม่ได้ไปดูของจริงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเสียนาน เลยมีคำถามว่า “ข้อความเกี่ยวกับสุขภาวะที่ถูกถอดออกมา ปรากฎอยู่ตรงไหนในหลักศิลา เขียนไว้ว่าอย่างไร”

ตามด้วยคำถามเชิงประวัติศาสตร์ โบราณคดี การแกะรอย ถอดความเฉพาะหลักที่ 1 หลักอื่นๆ มีอีกหรือไม่ มีกี่หลักแน่ สาระเป็นอย่างไร

คำตอบที่ได้ยังไม่ชัด ต้องศึกษาค้นคว้าหาอ่านต่อ

 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะโดยมีหลักศิลาจารึกเป็นสื่อกลางของพวกเขายังจะดำเนินต่อไป ทุกคนช่วยกันอ่าน ช่วยกันเขียน ช่วยกันแปล ช่วยกันรักษา และพูดเสียงเดียวกันว่า จะขยายผลต่อไป เผยแพร่ให้เกิดการรับรู้ทั่วโลก เพราะเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกไปแล้ว

ร่วมเวทีฟังไป คิดตามไป นอกจากรักษาสมบัติทางวัฒนธรรม นำมาเป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อสุขภาวะ กาย ใจ ปัญญาแล้ว ความภาคภูมิใจจากการมีตัวอักษรเป็นของตัวเองจะเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นหรือไม่ ถ้าทำให้กระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับลายสือไทย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการอ่านออกเขียนได้ วัฒนธรรมการอ่านของเด็กไทย คนไทยเข้มแข็งมากขึ้นๆ

เรื่องนี้จึงเป็นความท้าทายต่อทุกฝ่ายไม่เฉพาะแต่สมาคมลายสือไทย จังหวัดสุโขทัยเท่านั้น