วิรัตน์ แสงทองคำ : เศรษฐี 20 คน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ไม่ว่าจะมองมุมไหน ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาๆ และดูเป็นปริศนาอยู่ไม่น้อย

“…ผมจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเราให้มากขึ้นได้อย่างไรบ้าง มหาเศรษฐีของประเทศไทยทั้งหลายล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ผมขอให้ท่านได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันช่วยเหลือประเทศ และร่วมเป็นทีมประเทศไทยด้วยกันกับเรา”

สาระสำคัญข้างต้นอ้างมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (17 เมษายน 2563)

ถ้อยแถลงอย่างเป็นการเป็นงานของผู้นำประเทศครั้งนี้ดูจะแตกต่างอย่างตั้งใจและเป็นเรื่องที่จริงจังอย่างมาก กลายเป็นประเด็นซึ่งผู้คนสนใจอย่างกว้างขวาง

เชื่อว่ามีอีกบางมิติที่มีนัยยะสำคัญ

 

ผู้นำประเทศกล่าวถึงกลุ่มบุคคลเฉพาะกลุ่มอย่างเจาะจงเป็นครั้งแรก “มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน” ทั้งขยายความให้ความสำคัญยกฐานะให้ “เป็นผู้อาวุโสของสังคม” ขณะเดียวกันยอมรับโดยดุษณีว่ากลุ่มบุคคลเฉพาะกลุ่มที่ว่า เป็นผู้ “มีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ”

นับเป็นการสื่อสารระหว่างผู้นำกับสาธารณชนพลเมืองอย่างตั้งใจอย่างตรงไปตรงมา สะท้อนให้เห็นภาพที่เป็นจริงเป็นจัง ว่าด้วยความเป็นไปของโครงสร้างสังคมไทย โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มากกว่าบทวิเคราะห์ของนักสังเกตการณ์ทางสังคมคนอื่นๆ ที่ผ่านๆ มา

ที่ผู้คนตื่นเต้น ให้ความสนใจ และตั้งข้อสังเกตกันอย่างครึกโครม เป็นประเด็นเกี่ยวกับรายชื่อ “ผู้ร่ำรวย 20 คน”

ทั้งนี้ คงไม่มีใครใคร่จะแน่ใจนักว่า จะเป็นใคร มีนิยามและที่มาอย่างไร เมื่อถึงเวลาเปิดรายชื่อ คงมีบทสนทนาต่อเนื่องกันอีก ที่มีความเป็นไปได้ เชื่อกันว่าอาจอ้างอิงไม่มากก็น้อยมาจากข้อมูลของสื่อระดับโลก ซึ่งตั้งใจจัดทำมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

โดยได้รับการยอมรับ อ้างอิงถึง ในแวดวงสังคมธุรกิจไทยพอสมควร

ที่มา : Forbes Thailand

Forbes Thailand”s 50 Richest โดย Forbes Magazine สื่ออเมริกันซึ่งนิยมจัดอันดับต่างๆ อย่างมากมาย จัดทำกรณีประเทศไทยขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อจัดอันดับผู้ร่ำรวย 50 คนแรกของประเทศไทย เว้นวรรคไปบ้างในบางช่วง ก่อนจะมาจัดทำอย่างต่อเนื่องติดต่อกันในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

โดยพิจารณาจาก “มูลค่าทรัพย์สิน” (Net worth) “จัดทำขึ้นโดยใช้ข้อมูลการถือหุ้นและการเงินที่ได้รับจากตระกูลและบุคคลต่างๆ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และนักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแล” (อ้างจาก Forbes Thailand)

ข้อมูลล่าสุด (13 มีนาคม 2563) เพิ่งเปิดเผยขึ้นในช่วงเวลาสำคัญในวิกฤตการณ์ COVID-19 โดยระบุว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน 2562 ส่งผลให้ทรัพย์สินรวมของ 50 อภิมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2563 มีมูลค่าทรัพย์สินรวมที่ 1.32 แสนล้านเหรียญ ลดลงเป็นจำนวน 18%”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา “มูลค่าทรัพย์สิน” ของบางตระกูล บางคน ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะอยู่ในลิสต์ 20 คนด้วยอย่างมิพักสงสัย ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าตื่นเต้น

โดยเฉพาะพี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มีมากถึงเกือบๆ 9 แสนล้านบาท

เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้นำเครือข่ายธุรกิจใหญ่ในนามกลุ่มทีซีซี 3.43 แสนล้านบาท

และตระกูลจิราธิวัฒน์แห่งกลุ่มเซ็นทรัล 3.1 แสนล้านบาท

ยิ่งพิจารณาข้อมูลย้อนหลังกลับไปในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จะยิ่งเห็นภาพที่น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้น ภายใต้รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน คนที่อ้างถึงข้างต้น ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสของทั้ง 3 ราย ด้วยปรากฏมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ที่ระบุว่าจะออก “จดหมายเปิดผนึก” นั้น เชื่อว่าผู้คนคงไม่ให้ความสนใจนัก โดยเฉพาะ “เนื้อหา” ทั้งนี้ เนื่องด้วยถ้อยแถลงข้างต้นได้กล่าวถึงสาระสำคัญไว้จนครบถ้วนแล้ว ทั้งเป็นที่รู้และเข้าใจกันดีว่า ผู้ร่ำรวยในฐานะเจ้าของเครือข่ายธุรกิจใหญ่กับผู้มีอำนาจรัฐในสังคมไทย มีความสัมพันธ์อันดีระดับวงในแต่ไหนแต่ไรมา มีเครือข่ายการสื่อสารและบทสนทนา ทั้งโดยตรง ผ่านเส้นสาย หรือตัวแทนกันอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งยังมีระบบสื่อสารที่เปิดเผย วงกว้าง อย่างเป็นเรื่องเป็นราว มักอ้างอิงโมเดล เป็นบทเรียนอันคลาสสิค ตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้โครงสร้างหน่วยงานที่เรียกว่า คณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน (กรอ.) ก่อตั้งเมื่อปี 2524 ให้ภาคธุรกิจมีบทบาท มีส่วนร่วมในพลังขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปเป็นร่าง เป็นระบบ ครั้งแรกๆ ของสังคมไทย

โครงสร้าง กรอ.ดูเป็นแบบแผนและระบบ ผ่านองค์กรตัวแทนภาคธุรกิจสำคัญๆ ซึ่งจัดตั้งขึ้นอย่างมีบทบาท ที่เป็นจริง ไม่ใช่ผ่านตัวบุคคล อย่างที่เคยทำและพยายามจะทำในยุคใกล้ๆ

 

ผมเองเคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ภายใต้รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันที่กล่าวถึงข้างต้น ตั้งแต่ยุครัฐประหาร ได้มีความพยายามสร้างแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนในนาม “สานพลังประชารัฐ” นั้น น่าจะเป็นการสืบทอดบทเรียนในยุค กรอ.อย่างพลิกแพลง เมื่อพิจารณาโครงสร้างตัวแทนภาคธุรกิจ ซึ่งดูผิดแผกไปจากยุคก่อนพอสมควร มีทั้งตัวแทนองค์กรอย่างเป็นทางการและคัดเลือกตัวบุคคลอย่างเจาะจง โดยเฉพาะ “ตัวแทน” จากเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ดูเหมือนจะเป็นร่องรอย “ผู้ร่ำรวย 20 คนแรก” อย่างไรอย่างนั้น

ยุคเปรม ติณสูลานนท์ กรอ.แสดงบทบาทและพลังขับเคลื่อนอย่างเป็นจริง อ้างอิงได้ ว่าด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ความพยายามเข้าสู่และวางตำแหน่งสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นกระแสหลักของโลกเวลานั้น กับอีกฉากหนึ่ง วางรากฐานอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์แห่งยุค “โชติช่วงชัชวาล” จากการค้นพบและพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (ปี 2523) เป็นจุดพลิกผันว่าด้วย “โมเดลความมั่งคั่งใหม่” โอกาสทางธุรกิจใหม่บรรดาเครือข่ายธุรกิจอิทธิพลในเวลานั้น ทั้งที่มีอันเป็นไปแล้ว และยังคงอยู่ในปัจจุบัน

ขณะโมเดล “สานพลังประชารัฐ” กลับเดินทางไปสู่จุดหักเหที่แตกต่าง ดูเหมือนจะเป็นเพียงภารกิจเฉพาะหน้า มีปลายทางเป็นพรรคการเมือง

 

จึงพอจะเชื่อได้ว่า ถ้อยแถลงรวมการเฉพาะกิจเวลาหกโมงเย็น ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ “ทีมประเทศไทย”

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ขยายวงจากโรคระบาดครั้งใหญ่สู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจระดับโลก คาดกันว่าจะมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่าครั้งใดๆ แห่งยุคโลกาภิวัตน์ ยุทธศาสตร์การบริหารวิกฤตการณ์ตามตำราคลาสสิค จะไม่ใช่ไม่ให้เป็นภาระอันหนักอึ้งของทีมบริหารเศรษฐกิจแห่งรัฐ หากพยายามเคลื่อนย้ายให้เป็นภาระหนักทุกภาคส่วนในสังคมช่วยกันแบกรับ

ไม่เป็นเพียงยุทธศาสตร์การบริหารรัฐท่ามกลางวิกฤต หากเป็นยุทธศาสตร์อันหลักแหลมทางการเมือง อาจจะรวมไปถึงเป็นแผนการปกป้องตนเองและรักษาอำนาจทางการเมืองด้วย

ภาระหนักอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ที่กำลังมาถึง ควรปรับเปลี่ยนโมเดล สู่ทีมใหม่ๆ แม้อาจจะมีคนหน้าเดิมอย่างพร้อมหน้า “ทีมประเทศไทย” อะไรทำนองนี้

_________________________________

หากสนใจติดตามข้อเขียนเกี่ยวเนื่องซึ่งอัพเดตในประเด็นกว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากแหล่งหลัก-มติชนสุดสัปดาห์ (https://www.matichonweekly.com/) แล้ว ยังมีอีกที่หนึ่ง–โปรดไปที่ https://viratts.wordpress.com/