คำ ผกา | โรคระบาด ไม่ได้ทำให้ประชาชนเป็นเด็กอมมือ

คำ ผกา

สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแต่ละอย่าง แต่ละเรื่องในช่วงนี้มันช่างพิลึกพิลั่นเสียเหลือเกิน

มาเริ่มต้นกันที่ เราเผชิญกับการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ชื่อโควิด-19 และเรามีรัฐบาลที่ทำงานภายใต้สภาอยู่ในระบบรัฐสภา มีรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบงานในกระทรวงต่างๆ

และแน่นอนว่าการบริหารวิกฤตโรคระบาดไม่ใช่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเดียว แต่เกี่ยวพันไปทุกกระทรวง ทั้งพาณิชย์ คลัง พัฒนาสังคมฯ แรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ

สิ่งที่แปลกประหลาดที่สุดคือ ในขณะที่สภายังอยู่ แถมยังเป็นสภาที่วุฒิสภาก็แทบจะเป็นสภาของนายกฯ ยกมือเป็นฝักถั่วสนับสนุนรัฐบาลโดยชื่นมื่นสุขสันต์ แถมยังมีการอัศจรรย์นานาเกิดขึ้น เช่น การยุบพรรคอนาคตใหม่ และอื่นๆ ที่ทำให้รัฐบาลพ้นจากสภาวะเสียงปริ่มน้ำไปท่ามกลางความงุนงงของคนไทยทุกคนที่ยังไม่ได้เอาสมองไปฝากธนาคาร

รัฐบาลภายใต้สภา มั่นคงปานฉะนี้ การจัดการบริหารประเทศภายใต้โควิด-19 แทนที่นายกฯ จะได้องคาพยพของ ครม., รัฐบาล และสภาไปตามปกติ

แต่นายกฯ กลับเลือกที่จะตั้งศูนย์บริหารโควิด อันเบื้องแรกนั้นมีชื่อที่ชวนให้ขนหัวลุกมากคือ “ศอฉ.” (แบบว่าหน้าไก่อูกับเทพเทือกลอยมาแต่ไกล) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ศคบ.

อ่ะ จะตั้งศูนย์ที่เป็นอะไรคล้ายๆ “วอร์รูม” ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน อยากให้นายกฯ สามารถสั่งการอะไรได้ฉึบฉับทันท่วงทีก็พอเข้าใจได้ (แหม่ อีตอนจะไปรับคนไทยกลับ กับตอนที่ควรรีบยกเลิกไฟลต์บินจากจีน หรือการกักตัวคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน ณ เวลานั้น กลับไม่รีบ ไม่ฉึบฉับ)

แต่ไหงกลายเป็นว่า เป็นศูนย์ที่นายกฯ เป็นประธานแล้วทำงานสั่งตรงกับข้าราชการ มีปลัดกระทรวงเป็นข้อต่อ เท่ากับว่าตอนนี้นายกฯ ไม่ได้เป็นแค่นายกฯ แต่เป็นรัฐมนตรีทุกกระทรวงไปเสียเองด้วย

ลำพังนายกฯ เป็นแค่นายกฯ เรายังงง แต่นี่นายกฯ อาสามาแบกภาระของรัฐมนตรีต่างๆ ความมึนงงจึงบังเกิดอย่างชนิดที่แต่ละวันๆ เรามีเรื่องให้งงกันแทบไม่ทัน

นี่จะมาบัญชาเองทุกมิติอีก เราจะต้องงงกันไปขนาดไหน

แต่ก่อนจะไปสำรวจความงงของนายกฯ สิ่งที่คนไทยควรจะงงมากกว่าคือ กลไกการทำงานของ ครม. และสภาที่ควรมีอยู่เพื่อการตรวจสอบ ถ่วงดุล ก็เกิดจะอันตรธานไปอย่างไร้ร่องรอย โดยที่ตั้งแต่ตัวประธานสภา ส.ส. รัฐมนตรีทั้งหลาย กรรมาธิการคณะต่างๆ ก็ไม่มีใครทักท้วงใดๆ ทั้งสิ้น

สภาพของคนไทยในตอนนี้จึงเหมือนกับเราถูกเอาความน่ากลัวของโควิดมาเรียกค่าไถ่ให้เรายอมแลกสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยให้นายกฯ ประยุทธ์ไปโดยละม่อม ละมุนละไมที่สุด

ประชาธิปไตยที่ถูกล้วงจากกระเป๋าประชาชนไปอย่างเนียนๆ นี้ก็เป็นไปอย่างน่าทึ่งมาก

เริ่มจากก่อนที่จะมีศูนย์นี้ ก็มีการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลว่ารับมือกับโควิด-19 ได้ไม่ดีพอ

และคนที่ถูกโจมตีหนักที่สุดคือ รมต.กระทรวงสาธารณสุข ต่อมาก็คือจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่รับผิดชอบเรื่องหน้ากาก เพราะดูแลกระทรวงพาณิชย์

ทีนี้ “เรื่องเล่า” ว่าด้วยความเฮงซวยของรัฐบาล มันก็จะเริ่มเข้าอีหรอบเดิมคือ นักการเมืองห่วย พรรคการเมืองเลว (ปฏิเสธไม่ได้ว่าห่วยจริง)

จากนั้นวาทกรรม “เอาผู้รับเหมามาเป็นรัฐมนตรี” ก็มา

ซึ่งฉันก็ได้ทักไปบ้างแล้ว เฮ้ย อนุทิน ชาญวีรกูล อาจจะห่วยจริง แต่ห่วยไร ก็วิจารณ์กันสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่กระโดดไปที่คำว่า “เอาผู้รับเหมามาเป็นรัฐมนตรี” หรือ “เอาผู้รับเหมามาสั่งงานหมอ”

เพราะท้ายที่สุดชุดคำพูดแบบนี้มันเปิดเปลือยเบื้องลึกในใจของเราว่า เรายังจัดผู้คนไว้เป็นชั้นๆ สูง ต่ำ ไล่เรียงกันลงมา

กลุ่มที่ถูกจัดไว้ชั้นบนๆ และแทบจะล่วงละเมิดมิได้ ก็น่าจะเป็นพระกับหมอ

และโดยอัตโนมัติ เราสามารถทึกทักไปได้เองเลยว่า เทียบระหว่างหมอกับผู้รับเหมา – หมอก็ต้องเป็นคนดี คนเก่ง คนฉลาด ส่วนผู้รับเหมานั้นมาพร้อมคุณสมบัติคนเถื่อนคนถ่อย คนขี้โกง ยิ่งเป็นผู้รับเหมาบวกนักการเมือง แถมยังไม่ใช่พรรคการเมืองของคนดี โอ้โห นี่มันทุรชนแน่นอน

ระหว่างที่เรามี รมต.สาธารณสุขเป็นผู้ร้าย ทุรชน

ผู้รับเหมาบังอาจมาเป็นรัฐมนตรีคุมกลุ่มอาชีพที่เป็นคนดีที่สุดเก่งที่สุดของประเทศไทยคือหมอนั้น ก็มีการ “เล่าเรื่อง” ใหม่ขึ้นมาอีกเรื่องคู่ขนานกันไป คือเรื่องเล่าที่ว่าด้วย “นักรบชุดขาว” และ “นักรบชุดกาวน์”

ในโครงเรื่องเล่านี้ดำเนินไปบนเส้นเรื่องว่าด้วย ประเทศของเรารวมถึงโลกทั้งใบกำลังเผชิญกับภัยคุกคามไวรัส

ในที่นี้ไวรัสจึงถูกจัดไว้ให้อยู่ในระนาบเดียวกันกับภัยคุกคามจากภายนอก ประหนึ่งว่าประเทศของเรากำลังถูกข้าศึกโจมตี เท่ากับเรากำลังอยู่ในภาวะการทำ “สงคราม”

ภายใต้ Metaphore หรืออุปมานี้ เวลาพูดถึง “ไวรัส” แทนที่เราจะจินตนาการถึง “เชื้อโรค” ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เรากลับจินตนาการถึง “ไวรัส” ว่าเป็นตัวร้าย ปีศาจอะไรบางอย่าง มีตัวมีตน

ขณะเดียวกันก็สามารถ “หยุดยั้ง” และ “กำจัด” ออกไปจากประเทศของเราอย่างหมดจดได้เหมือนเป็นเรากำจัดหรือผลักดัน “ข้าศึก” ออกไปจากประเทศได้โดยสิ้นเชิง

เมื่อกำจัดออกไปได้โดยสิ้นเชิงแล้วเมื่อไหร่นั่นแหละ ประเทศชาติ สังคมเราก็จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ สงบสุขอีกครั้ง

เมื่อไวรัสเป็นดั่งข้าศึก นักรบในที่นี้จึงไม่ใช่ทหาร แต่คือหมอและบุคลากรทางการแพทย์

ภาพของหมอและบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งอันที่จริงแล้วมีความหลากหลายในบทบาทหน้าที่ (และหมอจำนวนมากกำลังดูแลรักษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิดอีกก็มาก เพราะในความเจ็บป่วยของคนทั้งประเทศนั้น เขาไม่ได้ป่วยเป็นโควิดอยู่โรคเดียว) ถูกเหมาให้เป็นวีรบุรุษ วีรสตรีชุดขาว ทำงานเสี่ยงภัย เสี่ยงชีวิตอยู่ที่แนวหน้า

ต้องพรากจากครอบครัว คนรัก ต้องเสียสละ อดทน เหน็ดเหนื่อย เพื่อปกป้องประชาชนคนไทยทุกคนให้รอดพ้นจากการถูกโจมตีทำร้ายจากข้าศึก

เมื่อเรามีนักรบผู้เสียสละ เหน็ดเหนื่อย เสี่ยงตายอยู่แนวหน้า ประชาชนอย่างเราต้องทำอะไร?

ความพอดีเป๊ะของโครงเรื่องเล่านี้ก็จะสวมเข้าพอดีกับ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ประชาชนคือแนวหลังมีหน้าที่ “ส่งจดหมายไปชายแดน” คอยสนับสนุนให้กำลังใจนักรบแนวหน้า ที่สำคัญอย่าทำตัวเป็น “ภาระ” ของหมอที่กำลังเสียสละ เหน็ดเหนื่อยอยู่นะ

โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ภายใต้เรื่องเล่านี้ ประชาชนจึงถูกวางไว้ในตำแหน่งของ – ผู้คนไร้เดียงสาไม่รู้สี่รู้แปด โง่ จน เจ็บ ดื้อ

ที่กำลังได้รับการปกป้องจากข้าศึกโดยนักรบเสื้อกาวน์ที่อยู่แนวหน้าภายใต้แม่ทัพคือนายกฯ ประยุทธ์และคณะ ศบค.

เมื่อตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนอยู่ตรงนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นมาเนียนๆ แบบไม่รู้ตัวคือ ประชาชนถูกสั่งว่า “ต้องให้ความร่วมมือกับรัฐ” (แทนที่การป้องกันไวรัสจะเป็นเรื่องของการป้องกันไม่ให้ตัวเองป่วย)

เมื่อตรรกะถูกถักทอมาเช่นนี้ จึงกลายเป็นว่า ถ้า “กำจัด” ไวรัสไม่ได้ (การ “จำกัด” การระบาดถูกทำให้กลายเป็นการ “กำจัด” ไวรัส) ก็เป็นเพราะประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ นายกฯ ทำเต็มที่แล้ว, นักรบเสื้อกาวน์ทำเต็มที่แล้ว แต่เพราะประชาชนดื้อ ไม่เชื่อฟัง เราจึงล้มเหลว

จึงเป็นที่มาของคำพูดประเภท

“อยู่บ้านเถอะ อย่าทำให้หมอต้องเหนื่อย” หรือ

“ฉันออกจากบ้านมาเหนื่อยเพื่อเธอแล้ว เธออย่าแรด”

แทนที่การรับมือกับโรคระบาดจะเป็นเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” ล้วนๆ เช่น รัฐบาลมีหน้าที่วางแผนรับมือกับมันในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์อันอาจทำให้เกิดความเสียหายทางสังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชน และในเมื่อมันเป็นเชื้อโรค สิ่งที่ต้องทำในระยะยาวแบบไม่ดราม่าคือ

หน่วยงานด้านนวัตกรรม การวิจัยก็ต้องทำงานเพื่อพัฒนาองค์ความรู้มารับเมือกับเรื่องเหล่านี้

ในระยะสั้นในแง่ของการรักษา รัฐมีหน้าที่เพิ่มศักยภาพ ทรัพยากร บุคลากร งบประมาณให้แก่หน่วยงานสาธารณสุข โดยที่พวกเขาไม่ต้องเป็นนักรบ พวกเขาจะได้ไม่ต้องเหนื่อยมาก ไม่ต้องเสียสละอะไร

ส่วนประชาชนซึ่งโดยมากคนก็รักตัวกลัวตายกันทั้งนั้น ก็แค่ทำความรู้จักกับไวรัสตัวนี้ โรคอันนี้ และรู้ว่าทำอย่างไรตัวเองถึงจะปลอดภัย

เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราก็ต้องเรียนรู้ว่าถ้าไม่อยากเป็นมาลาเรียก็จงนอนกางมุ้ง

แต่เมื่อสังคมไทยสมาทาน “เรื่องเล่า” นี้ไปแล้วโดยเต็มอกเต็มใจ โรแมนติก ชอบพล็อตเรื่องนักรบผู้เสียสละ สิ่งที่ตามมาคือ การเกิดขึ้นของ ศคบ. ที่นำโดยนายกฯ แล้วคนไทยอย่างเราก็ดีใจ๊ดีใจที่บรรดารัฐมนตรีทุรชนคนชั่วทั้งหลายไม่ต้องมาเสนอหน้ามาก

ต่อไปนี้ฟังประกาศจากคุณหมอโฆษกคนเดียวก็พอแล้ว

โอ๊ยย ฟิน รู้สึกปลอดภัย คุณหมอพูดรู้เรื่อง สุภาพ ดูดีไปทุกอิริยาบถ เมตตา เสียสละ ปรารถนาดี

ไม่เพียงเท่านั้น คนไทยจำนวนไม่น้อยก็บอกว่า ดีจัง นายกฯ ทำงานสายตรงกับปลัดกระทรวง พอไม่มีพวกรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมืองเท่านั้นแหละ ทุกอย่างมีทิศทางชัดเจนขึ้นเลย

อีพวกที่ทำให้ทุกอย่างรวนเนี่ย นักการเมืองทั้งนั้น

ที่สุดไปอีกคือ มีคนไทยอีกไม่น้อย ฟินกับอำนาจเต็มของผู้ว่าฯ แล้วบอกว่า นี่ไง ท้องถิ่นจัดการตัวเอง – เดี๋ยว – คำว่าท้องถิ่นจัดการตัวเองหมายถึง ท้องถิ่นจัดการตัวเองภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ประชาชนเลือก และมีอำนาจในการบริหารภาษีท้องถิ่นเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยนะ – วางถุงกาวก่อนจ้า

ภายใต้พล็อตเรื่อง “ประเทศไทยต้องชนะ” เรามีข้าศึกชื่อ “โควิด-19” นักรบของเราคือหมอ แม่ทัพของเราคือ นายกฯ ประยุทธ์

ในเรื่องนี้เรามีพระเอกสองคน คนหนึ่งสายเข้ม โหด ดุ แต่จริงใจ มุ่งมั่น พระเอกอีกคนเป็นสายหวาน มุ้งมิ้ง อ่อนโยน มี feminine quality เต็มเปี่ยม ครบเครื่องหยิน-หยาง

ส่วนเราประชาชนมีหน้าที่สนับสนุนนักรบ ทั้งต้องเชื่อฟัง ให้ความร่วมมือ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ใครไม่ทำตาม มันคือประชาชนที่ชั่วที่เลว ที่ไปซ้ำเติมนักรบของเรา เราต้องออกไปด่ามัน ประจานมัน ล่าแม่มดมัน

ประชาชนอย่างเราต้อง “ส่งจดหมายไปชายแดน” ให้กำลังใจ บริจาค อะไรที่ช่วยตัวเองได้ก็ช่วยไปก่อน รัฐบาลทำเต็มที่แล้ว จะเอาอะไรอีก

ภายใต้พล็อตเรื่อง “ประเทศไทยต้องชนะ” เราจึงอ้าแขน โอบรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างอบอุ่น รู้สึกดีจัง ปลอดภัยจัง

โอ๊ย ดีมากเลย มีเคอร์ฟิว ไม่ต้องมีพวกแรดๆ ร่านๆ ไม่เชื่อฟังคำสั่งคุณหมอออกมาเพ่นพ่านสร้างปัญหา

โอ๊ย ดีจังห้ามขายเหล้า ดูสิ บ้านเมืองสงบเชียว ไม่มีอุบัติเหตุ อยากให้ห้ามขายเหล้าตลอดไปเลยได้ป่าว

ตื่นเช้ามาก็ฟังคุณหมอ ภูมิฐาน พูดจาไพเราะ มีความรู้เป็นวิชาการ และมีความปราถนาดีต่อเรา คอยเตือนเราว่าอย่าดื้อ อย่าซน เดี๋ยวอดไปเที่ยวนะ เดี๋ยวไม่เปิดเมืองนะ

ฟินจนลืมไปเลยว่า กลไกรัฐสภาที่มีเพื่อแบ่งอำนาจ ตรวจสอบถ่วงดุลหายไปโดยละม่อม

ฟินจนลืมไปเลยการล็อกดาวน์นั้นต้องมีกรอบเวลาและเป้าหมายในการ “จำกัด” การระบาด (ไม่ใช่กำจัด)

และมีต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล ดังนั้น รัฐมีหน้าที่คิดให้ครบว่าจะล็อกดาวน์นานเท่าไหร่ มีต้นทุนทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ จะโยกเงินจากที่ไหนมาฟื้นฟูส่วนที่เสียหาย จะ “เยียวยา” ผู้คนที่ได้รับผลกระทบอย่างไร

เพราะเราฟินกับละครเรื่องประเทศไทยต้องชนะ และฟินกับพระเอกหยิน-หยางของเรา เราจึงลืมไปเลยว่าหน้าที่บริหารประเทศเป็นหน้าที่ของ ครม. ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆ นายกฯ จะมาประกาศส่งจดหมายถึง 20 เจ้าสัวขอความช่วยเหลือ

เพราะถ้ามันเป็นละคร พระเอกอาจจะไปขอ “ความช่วยเหลือ” จากพันธมิตรได้ แล้วได้ภาพว่า กรีส พระเอกของเรามีบารมีจัง มีคนมาเสริมทัพด้วย

แต่นี่ไม่ใช่ละคร และพวกเขาไม่ใช่พระเอก ส่วนประชาชนก็ไม่ได้มีหน้าที่เป็นกองหนุน กองเชียร์ แม่ยก

และการมีโรคระบาดไม่ใช่ข้ออ้างที่จะทำให้กลไกรัฐสภาหายไป เพราะนั่นคือการ “ชิง” อำนาจประชาชนโดยละม่อม

การมีโรคระบาดไม่ใช่ข้ออ้างที่จะเปลี่ยนพลเมืองไปเป็นเด็กอมมือ