รายงาน | การกลับบ้านของแรงงานไทยในมาเลเซีย : น่าเห็นใจและเป็นกำลังใจทุกภาคส่วน

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

หลังจากไทยเปิดด่านชายแดนภาคใต้ให้คนไทยจากมาเลเซียซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ (แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด) ที่ทำงานในมาเลเซีย

มีทั้งผ่านด่านปกติ และยอมทำผิดกฎหมายเข้าทางด่านธรรมชาติ

ต้องยอมรับน่าเห็นใจและเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายในการทำงาน

นายทวีศักดิ์ ปิ หนึ่งในคณะกรรมการเฉพาะกิจสมาคมจันทร์เสี้ยว การแพทย์และสาธารณสุข เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 กล่าวถึงแรงงานไทยในมาเลเซียที่ต้องการเดินทางกลับไทยว่า จากการสัมภาษณ์แรงงานไทยพบว่า ปัญหาปากท้อง การอดอยาก เนื่องจากแรงงานไม่สามารถทำงานได้ เงินก็ไม่มีแล้ว ความเป็นอยู่ก็ลำบาก หากจะให้พวกเขาอยู่ เราก็ต้องหาอาหารให้พวกเขาสามารถบรรเทาถึงระยะเวลาที่ด่านเปิด

ระหว่างรอจึงมีการตั้งกรรมการเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซีย โดยมีนายตูแวดานียา มือรีงิง เป็นประธาน และกรรมการท่านอื่นๆ ที่มีความสามารถและประสบการณ์กับมาเลเซีย

หลังจากมีการตั้งกรรมการ เราได้หาข้อมูลพบว่าความลำบากในการช่วยเหลือพี่น้องไทยในมาเลเซียคือ ไม่รู้ว่าพี่น้องอยู่ในพิกัดไหนบ้าง ในรัฐไหนบ้าง จึงได้ทำแบบฟอร์มให้คนลงทะเบียน ซึ่งมีแรงงานที่เดือดร้อนลงทะเบียน 3 พันกว่าคน

ทางกรรมการได้ร่วมกันผลักดัน จนได้รับการช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ สถานกงสุลไทยที่ปีนัง โกตาบารู และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กอ.รมน.ภาค 4 ในเรื่องอำนวยความสะดวกในการประสานงานและได้รับงบประมาณสนับสนุนงวดแรก 1 แสนบาทจาก ศอ.บต.เพื่อให้นำไปแจกจ่ายยังผู้เดือดร้อนในมาเลเซีย ซึ่งตอนนี้ได้ทำ MOU กับ BB Ngo ของมาเลเซีย ได้นำไปแจกจ่ายแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงได้มีการเปิดบัญชีระดมทุนและทำโครงการขอสนับสนุนจาก ศอ.บต.อีกด้วย แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติอีก

นายทวีศักดิ์กล่าวอีกว่า เมื่อระยะเวลา MOC หรือควบคุมการเคลื่อนไหวของรัฐบาลมาเลเซีย ที่ได้เพิ่มการเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง บวกกับอยู่ในช่วงใกล้เข้าสู่เดือนรอมฎอน แรงงานไทยในมาเลเซียจึงอยากกลับมาถือศีลอดที่บ้านจะรู้สึกดีกว่า จึงเพิ่มความต้องการอยากกลับบ้าน

แต่รัฐบาลไทยก็ได้มีการเลื่อนการเปิดด่านอยู่เป็นระยะๆ หลายครั้ง ในที่สุดมีประกาศเปิดด่านจริงๆ ในวันที่ 18 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

เมื่อมีประกาศเปิด แต่มีเงื่อนไขต่างๆ หลายอย่าง อาทิ ต้องมีใบรับรองแพทย์ และลงทะเบียนใบรับรองจากสถานทูตผ่านระบบออนไลน์ และจำกัดจำนวนการออกในแต่ละด่าน

บทบาทของคณะกรรมการจึงเปลี่ยนมาดูแล พร้อมให้คำปรึกษา เปิด call center ถาม-ตอบปัญหา เรื่องเอกสาร และการลงทะเบียน

นายทวีศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาที่ทุกคนกังวลคือกระบวนการกลับบ้าน สาเหตุหนึ่งที่รัฐบอกกับเราว่าจำกัดจำนวน เพราะเกรงว่าสถานที่กักตัวไม่เพียงพอ

แต่ปัญหาเรื่องนี้ ทางรัฐก็ได้เปิด Local contacting ในแต่ละชุมชน และเปิดสถานที่ราชการ เพื่อเป็นที่กักตัว จึงไม่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ

แต่ส่วนหนึ่ง ความกังวลในระดับความเข้าใจก็ยังมี อันเนื่องมาจากชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความขัดแย้ง จึงมีปัญหาในเรื่องความเข้าใจ มีเรื่องความกังวลต่อแรงงานที่กลับมา เป็นกลุ่มเสี่ยง ทำให้พื้นที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของความเข้าใจมากกว่า

โดยเฉพาะสังคมไทยมักจะเข้าใจว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานมาเลเซียล้วนแล้วแต่เป็นคนมลายูนับถือศาสนาอิสลาม และอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ข้อมูลที่พบ 40 เปอร์เซ็นต์เป็นคนต่างศาสนาและมีภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่ชายแดนใต้

“หากได้สื่อสารให้สังคมรับรู้ในข้อมูลดังกล่าวนี้ เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจ ที่มีความอคติอยู่ลึกๆ จะจางหายไป”

นายอดลุย์ แวมะ ผู้จัดการบริษัท ยัสกินเทรแวล์ แอนด์ทัวร์ (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ที่คลุกคลีกับชมรมต้มยำในมาเลเซียกว่า 30 ปี เสนอทางออกในการช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซีย ในเพจ ช่วยพี่น้องมาเลเซีย ว่า

“ปัญหาที่ต้นเหตุคือ คนเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายทั่วมาเลเซีย มีหลายคนที่ไม่สามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์ ไม่สามารถออกมาติดต่อได้ ออกจากที่พักมารายงานตัวไม่ได้”

“มีเงื่อนไขต้องไปรับใบรับรองแพทย์ (เป็นไปได้ยากเพราะออกจากบ้านไม่ได้) มีบางคนไม่มีพาสปอร์ตเลยไม่กล้ามาแสดงตัว เสนอให้ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ ให้มาถึงเมืองไทยก็เข้าในที่กักตัว 14 วัน”

นายอดลุย์ แวมะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก็คือเจ้าของร้านต้องไปเดินเรื่อง ส่งรายชื่อที่มีความประสงค์จะกลับในกลุ่มรถตู้ที่ทำ “UTurn” รู้ดีว่าบุคคลเหล่านี้อยู่ไหน จะติดต่ออย่างไร?

“คนเหล่านั้นต้องไปรับกลับมาโดยรถบัสหรือรถตู้ ต้องให้เจ้าของร้านมาแจ้งที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดและส่งรายชื่อมีกี่คนจะกลับ และทางกงสุลต้องแจ้งไปที่สถานีตำรวจทุกแห่งให้รับทราบ เมื่อรับแจ้งแล้วติดตามที่สถานีตำรวจไหน มีกี่คนต้องการกลับ…กำหนดวันเวลารวมตัว จะมีรถมารับ ส่วนค่าใช้จ่ายก็ควรปรึกษาว่าจะตกคนละเท่าไหร่ ใครเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย” นายอดลุย์กล่าว

ส่วนรถรับ-ส่ง สมควรใช้รถตู้เพราะเขาเหล่านี้รู้เส้นทางดี และอีกส่วนหนึ่งให้รัฐไทยช่วยประสานในเรื่อง “UTurn” ขอให้ทางสถานทูตไทยหรือกงสุลออกหนังสือเฉพาะการแก่รถตู้ “UTurn” ในการไปรับกลุ่มผู้เดือดร้อน ภายใน 1 อาทิตย์ และรถตู้จะต้องมารายงานที่ด่านสุไหงโก-ลกเพื่อได้เอกสารรับรองการเดินรถเฉพาะการ และรอวันที่กงสุลแจ้งว่าทางมาเลเซียอนุมัติให้ความสะดวกทางตำรวจ ทางขนส่งทางด่านและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับข้อกังวลหลังจากคนงานเหล่านี้กลับไทยซึ่งเดิมเป็นกำลังสำคัญที่ส่งเงินเลี้ยงดูครอบครัวและช่วยนำเงินตราต่างประเทศนับร้อยล้านบาทต่อปี นายทวีศักดิ์ ปิ ให้ทัศนะว่า “สำหรับปัญหาที่กรรมการเห็นว่าน่าจะประสบหลังจากนี้คือ เมื่อแรงงานไทยกลับเข้ามายังประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนใต้แล้ว ได้เพิ่มความกระจุกตัวของผู้คน หากว่าสถานการณ์โควิดได้ยืดเยื้อ มาเลเซียเข้มงวดเรื่องเปิดด่านขาเข้าก็จะเป็นปัญหาในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องการว่างงานของแรงงานดังกล่าวนี้ เราจะนำประเด็นข้อกังวลดังกล่าวนี้นำเสนอต่อ ศอ.บต.เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ต่อไป”

สำหรับข้อเสนอแนะหลังจากนี้

1. ติดตามและประเมินผลการทำงานของทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินในการช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากที่สุด ซึ่งอาจมีบางคนอาศัยช่องโหว่นี้ซ้ำเติมปัญหา หากเป็นไปได้นำงบประมาณการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีงบประมาณนับแสนล้านมาพิจารณาใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้

2. หาแนวทางแก้ไขปัญหา บรรเทาความเดือดร้อนด้านเศรษฐกิจของประชาชนในทุกระดับ โดยจัดลำดับความเร่งด่วน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นำข้อเสนอแนะในอดีตเกี่ยวกับแรงงานไทยที่ทำงานที่มาเลเซียจำนวนนับแสนคนมาปัดฝุ่น

3. รีบพิจารณายกเลิกเอกสารประกอบในการเดินทางกลับ (FIT TO TRAVEL) ซึ่งสร้างภาระตามที่นักวิชาการเสนอ

4. พิจารณาดำเนินการให้พยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการรายเดือนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้และส่วนหนึ่งของจังหวัดสงขลา มีสิทธิคัดเลือกแต่งตั้งเป็นข้าราชการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 เมษายน 2563

ด้วยเหตุผลทั้งหมด เห็นใจทุกคนและเป็นกำลังใจทุกภาคส่วน