สุจิตต์ วงษ์เทศ / ลิเก ถุงเท้ายาวสีขาว ทันสมัย ใกล้ชิดฝรั่ง

ลิเกสวมถุงเท้ายาวสีขาว โดยไม่สวมรองเท้า แสดงความทันสมัยใกล้ชิดฝรั่งผู้มีอำนาจและมีเกียรติยศสูงส่งสมัย ร.5 และก่อนหน้านั้น (มีอธิบายละเอียดอีกมากในหนังสือ โขน, ละคร, ลิเก, หมอลํา, เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? สั่งซื้อที่ www.facebook.com/ituibooks หรือโทรศัพท์ 08-8919-4516)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ลิเก ถุงเท้ายาวสีขาว

ทันสมัย ใกล้ชิดฝรั่ง

 

ลิเกเป็นการแสดงสนองสามัญชนคนดู ที่ต้องการความทันสมัยทางสังคมและการเมืองในเศรษฐกิจการตลาด สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อช่วงเวลาราวครึ่งศตวรรษก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

ดังนั้น ลิเกจึงให้ความสําคัญกับเครื่องแต่งกายล้ำสมัยแบบตะวันตก แล้วเล่นแหกคอก นอกขนบ และละเมิดข้อห้ามทั้งปวง โดยมุ่งไปทางแนวตลกหัวหกก้นขวิด, เสียดสี, เย้ยหยัน, ถากถางอย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต เพื่อสนองคนดูหมู่มากรากหญ้า

สามัญชนคนดูคาดหวังให้ลิเกส่งสารความทันสมัยจากโลกศิวิไลซ์ สู่แหล่งรุงรังซอกซอยซอมซ่อทั้งในเมืองและนอกเมืองที่เป็นบ้านนอกขอกนาเมื่อมีลิเกและไปดูลิเก ได้แก่ ความฝันใหม่, ความทะเยอทะยานใหม่, ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างหญิง-ชายที่เปิดเผยและใกล้ชิดกันมากขึ้น

 

กําเนิด

ลิเกเป็นละครในวัฒนธรรมประชาชน เริ่มมีครั้งแรกสมัย ร.5 กรุงรัตนโกสินทร์ (ไม่เคยมีในรัฐอยุธยา, รัฐสุโขทัย, รัฐธนบุรี)

มีเหตุจากความอึดอัดและเบื่อหน่ายการแสดงที่มีอยู่ก่อนตามจารีตแบบแผนตายตัว เรียกละคร ได้แก่ ละครใน, ละครชาตรี (คือละครชาวบ้านที่ถูกเรียกสมัยหลังว่าละครนอก)

เมื่อสบช่องต้องการความทันสมัย จึงสร้างสรรค์การแสดงอย่างใหม่ที่แหกคอกนอกขนบ และละเมิดข้อห้ามทั้งปวงของละครแบบเก่า แล้วเรียกด้วยชื่อใหม่ว่าลิเก จากการประสมกลมกลืนระหว่างการละเล่นของมลายูมุสลิม เข้ากับการละเล่นที่มีอยู่แล้วของชาวสยามพูดภาษาไทย

[ดูในงานวิจัยสําคัญมาก ได้แก่ ลิเก ของ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2522]

 

การแสดงใหม่ในเศรษฐกิจการตลาด

ความกระตือรือร้นค้นหาการแสดงอย่างใหม่ที่ดูสนุกและไม่ซับซ้อนเพื่อสนองคนดูหมู่มาก ทําให้มีผู้คิดค้นการแสดงเลียนแบบคนชั้นสูง แต่ไม่คล้อยตาม แล้วมีวิกลิเกเก็บค่าเข้าดูแห่งแรกเรียกวิกพระยาเพชรในชุมชนป้อมมหากาฬ ริมคลองโอ่งอ่าง สมัย ร.5

การแสดงในโรงละครมีเก็บค่าดูตามประเพณีจากตะวันตก พบแห่งแรกเป็นของเจ้านายและขุนนาง เรียกโรงละครปรินซ์เธียเตอร์ (ท่าเตียน) อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ.2425 มีแสดงเฉพาะกลางคืนเดือนหงาย คราวละ 1 สัปดาห์ เรียกอย่างฝรั่งว่า 1 วีก เป็นที่มาของคําว่าวิก

(หมายถึงสถานที่ที่มีการแสดงเก็บค่าเข้าดู)

 

กว่าจะเป็นลิเก

ลิเก มาจากคํามลายู-อาหรับ ว่า “ดิเกร์” กลายเป็นยี่เก หลังจากนั้นไม่นานจนถึงปัจจุบันเรียกว่าลิเก (เคยถูกกําหนดให้เรียกนาฏดนตรี แต่ไม่เป็นที่นิยมเลยหายไป)

ลิเกมีต้นทางจากดิเกร์ของมลายูปัตตานี คือการละเล่นสวดแขก (หมายถึงสวดสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าศาสนาอิสลาม) ผสมสวดไทย (หมายถึงสวดคฤหัสถ์) แล้วปรับเล่นเป็นละครชาวบ้าน (หมายถึงละครชาตรี) ร้องเองรําเองด้วยลักษณะสร้างสรรค์ใหม่

กว่าจะเป็นลิเก เริ่มจากต้นแบบสวดแขกด้วยภาษามลายู แล้วดัดแปลงเล่นเป็นภาษาไทย เรียกลําตัด, ลิเก ในที่สุดเติบโตกว้างขวางเป็นลิเกทรงเครื่องจนแตกแขนงมากมาย

 

แต่งสวย เล่นสนุก ถูกใจคนดู

คนชอบลิเกเพราะแสดงถูกใจใน 3 อย่าง ดังที่พระยาเพชรปาณี (ตรี) บอกว่าถ้าฝืนความนิยมใน 3 อย่างนี้ คนก็ไม่ชอบดู ได้แก่ (1.) แต่งตัวสวย (2.) เล่นตลกขบขัน (3.) เล่นให้เร็วทันใจ

“คนที่ชอบดูยี่เก ไม่เอาใจใส่ในการขับร้องฟ้อนรํา หรือเพลงปี่พาทย์” พระยาเพชรปาณี (ตรี) ทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เมื่อคราวเสด็จไปทอดพระเนตรลิเกที่วิกพระยาเพชร ป้อมมหากาฬ (ลายพระหัตถ์กราบทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อ พ.ศ.2483) มีเนื้อความสําคัญสรุปดังนี้

เลียนแบบละคร ลิเกเล่นเป็นเรื่องต่างๆ อย่างละคร ไม่เล่นเป็นชุดๆ อย่างสวดคฤหัสถ์เหมือนเมื่อแรกมีลิเก

แต่งตัวสวยสดฉูดฉาด ลิเกแต่งตัวสวยสดฉูดฉาดปักดิ้นแพรวพราว

สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงนิพนธ์ว่า “หรูหรานอกรีตต่างๆ เช่น ใส่ปันจุเหร็จยอด ใส่สังวาลแพรสายตะพาย และโบว์แพรที่บ่า เป็นต้น” เพื่อดึงดูดคนดูส่วนมากซึ่งเป็นผู้หญิง

พระยาเพชรปาณี (ตรี) ทูลตอบสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ตอนหนึ่งว่า “แต่งอย่างนั้นผู้หญิงเห็นว่าสวย มักติดใจชอบไปดู มีผู้หญิงไปดูมาก พวกผู้ชายก็พากันไปดูพวกผู้หญิง ก็การตั้งโรงยี่เกเป็นข้อสําคัญอยู่ที่อยากให้มีคนชอบไปดูให้มาก จึงต้องคิดแต่งตัวยี่เกไปทางอย่างนั้น”

ลิเกสวมถุงเท้ายาวสีขาว โดยไม่สวมรองเท้า (ตัวโกงสวมถุงเท้าสีดําก็ได้บางครั้ง) ถุงเท้ายาวสีขาวเพื่อพรางท่อนล่างผิวคล้ำถึงดําของตน ที่พื้นเพเป็นคนพื้นเมืองมีอาชีพชาวสวนชาวนาชาวไร่ ถ้าเป็นละครซึ่งมีมาแต่เดิมต้องพรางด้วยการทาแป้ง “ผัดฝุ่น” ให้ขาวนวล (การละเล่นของไทย ของ มนตรี ตราโมท พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2540 หน้า 89)

อีกด้านหนึ่ง ถุงเท้าเป็นการแสดงออกถึงความทันสมัยและใกล้ชิดฝรั่ง เพราะผรั่งคืออำนาจและเกียรติยศ และความทันสมัยเป็นเป้าหมายสําคัญของลิเกที่ต้องการสร้างสรรค์เสน่ห์ดึงดูดคนดู

ลิเกมีลักษณะเฉพาะอย่างอื่นอีก ได้แก่ รําเอง, ร้องเอง, ตลกเอง

รําเอง รําอย่างลัดๆ ลวกๆ เลียนแบบละครรําของหลวงพอเห็นเค้าเป็นกระสาย เพราะคนลิเกไม่ใช่เล่นละคร และรําไม่แข็งแรง จึงไม่เป็นรํา

ร้องเอง ร้องอย่างลวกๆ หลวมๆ เลียนแบบละครร้องของขุนนางพอให้เห็นเค้าเป็นหางเครื่องทางร้อง เพราะคนลิเกไม่ใช่คนร้อง และร้องไม่แข็งแรง จึงไม่เป็นร้อง

ลิเกต้องจําบทร้องเองจากครูแต่งบทให้ท่องอย่างสั้นๆ เพราะไม่มีคนบอกบทเหมือนละครชาตรี และไม่มีคนร้องแทนเหมือนละครใน

ตลกเอง นอกเหนือจากรําเองร้องเองและแต่งตัวสวยๆ งามๆ พระและนางต้องเล่นตลกได้เอง เข้ากับตลกจําอวดตามพระตามนาง เพราะเป็นสิ่งต้องการของคนดูทั่วไป

ดังนั้น ลิเกสมัยแรกนอกจากเครื่องแต่งตัวทันสมัยสวยงามสุดเหวี่ยงแล้ว ยังต้องตลกหัวหกก้นขวิดให้ถูกใจคนดูหมู่มาก

 

ชายล้วนกับชายจริงหญิงแท้

ลิเกมีคนเล่นเป็นชายล้วน ไม่ใช่ข้อกำหนดจากไหนๆ แต่มีต้นตอที่กําเนิดของลิเกมาจากผู้ชายล้วนสวดแขก (ดิเกร์) และสวดไทย (สวดคฤหัสถ์)

สมัยแรกของลิเกเล่นเป็นชุดจําอวดสองง่ามสองแง่ถึงขั้นลามก ซึ่งหาคนเล่นผู้หญิงไม่ได้ ต้องผู้ชายแต่งเป็นหญิง เลยบอกต่อกันสืบมาว่าลิเกต้องเล่นด้วยชายล้วน (ทั้งๆ ไม่ใช่ข้อกําหนด) แล้วสมัยหลังเมื่อเล่นจับเรื่องแบบละคร จึงเป็นชายจริงหญิงแท้