จิตต์สุภา ฉิน : ออฟฟิศยุคใหม่หลังโควิด

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ก่อนการมาถึงของโควิด เทรนด์ของการออกแบบออฟฟิศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือออฟฟิศประเภทที่เรียกว่า open-plan office หรือออฟฟิศแบบเปิดโล่ง

ไม่มีอีกแล้วผนังกั้นระหว่างโต๊ะ ไม่มีการแบ่งห้องสำหรับหัวหน้า-ลูกน้อง

ทุกคนนั่งทำงานอยู่ด้วยกันบนโต๊ะยาวๆ ตัวเดียวกัน พอเบื่อจากการทำงานก็ย้ายกันไปคุยเล่นที่โต๊ะพูลข้างๆ หรือนอนเอกเขนกอยู่ตามบีนแบ๊กที่วางอยู่ทั่วออฟฟิศ

บางออฟฟิศที่ต้องการให้พนักงานไม่ยึดติดกับโต๊ะทำงานของตัวเองก็อาจจะออกนโยบาย hot desk นั่งโต๊ะทำงานตัวไหนก็ได้ไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน

แต่ก็คงจะคาดเดาได้ไม่ยากว่ายุคหลังโควิด ไม่ใช่แค่ออฟฟิศแบบเปิดโล่งเท่านั้นที่มาถึงกาลอวสาน

แต่ออฟฟิศเดิมในแบบที่เรารู้จักก็อาจจะไม่มีอยู่อีกต่อไป หรือค่อยๆ กลายพันธุ์ไปจนก่อกำเนิดเป็นรูปแบบใหม่ที่เราต้องมาทำความคุ้นเคยกันใหม่ทั้งหมด

เทคโนโลยีจะถูกนำเข้ามาช่วยในการออกแบบออฟฟิศใหม่หลังการระบาดของไวรัส

ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดการสัมผัสลงให้เหลือน้อยที่สุด

พื้นฐานที่สุดก็คือประตูอัตโนมัติที่เปิดเองได้โดยไม่ต้องใช้มือผลักหรือดึง จะกลายเป็นมาตรฐานของประตูที่จะต้องติดตั้งในออฟฟิศ

ไปจนถึงลิฟต์ที่เราสามารถสั่งการด้วยเสียง แค่เปล่งเลขชั้นที่ต้องการออกมามันก็จะพาเราไปถึงจุดหมายได้เอง

นี่น่าจะเป็นสองตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดเพราะในช่วงไวรัสระบาดนี่คือสองพื้นผิวที่คนไม่ต้องการใช้ส่วนใดของร่างกายไปสัมผัสเลย

 

ก่อนหน้านี้ ออฟฟิศแบบเปิดโล่งแม้จะได้รับความนิยมเพราะว่ากันว่าจะกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากการเห็นหน้าและแลกเปลี่ยนไอเดียกันได้ตลอดเวลา

แต่ก็มีข้อเสียหลายอย่างที่มาพร้อมกับการเปิดให้ทุกคนเข้าหากัน

ไม่ว่าจะเป็นการทำให้วอกแวกเสียสมาธิเพราะต้องคอยทักทายพูดคุยหรือฟังบทสนทนาของคนอื่นไปแบบไม่ตั้งใจ

ไปจนถึงการแพร่ระบาดของโรคได้ง่ายเพราะทุกที่นั่งติดกันหมด ใครไอ หรือจามทีไร น้ำมูกน้ำลายก็มีโอกาสกระเซ็นไปถูกคนอื่นได้ด้วยความที่รัศมีระหว่างกันมันแคบมาก

ดังนั้น ก็แปลว่าออฟฟิศในอนาคต (อันใกล้) ก็จะต้องเว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะให้มากขึ้น

และดึงเอาฉากกั้นที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของออฟฟิศล้าสมัยกลับมา

บริเวณไหนที่ใช้ร่วมกัน อย่างเช่น ห้องนั่งเล่น ห้องหนังสือ ห้องประชุม หรือแพนทรี (ครัวเล็ก) ก็จะต้องถูกจำกัดจำนวนคนในการเข้าใช้แต่ละครั้ง

เก้าอี้ที่เคยวางเรียงรายเพื่อให้พนักงานได้จับกลุ่มนั่งคุยกันในเวลาว่างได้ก็อาจจะถูกดึงออกให้เหลือไม่กี่ตัว

แต่อันที่จริงก็อาจจะไม่จำเป็นต้องทำเลยก็ได้เพราะพนักงานยุคหลังโควิดก็จะระมัดระวังการสัมผัสกับข้าวของเครื่องใช้อะไรที่ไม่ใช่ของตัวเองมากขึ้น

การจะไปนั่งๆ นอนๆ เอาตัวไปแนบกับเบาะโซฟาที่เป็นของสาธารณะก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่อยากทำอีกต่อไปแล้ว

ในระยาวก็จะส่งผลต่อการออกแบบออฟฟิศใหม่ๆ ที่จะต้องเผื่อที่ไว้สำหรับการสร้างห้องทำงานส่วนตัว ส่วนกลางที่มีพื้นที่มากขึ้น

ออฟฟิศที่จะสร้างใหม่หลังจากนี้ก็จะต้องเป็นไปตามเทรนด์นี้ทั้งหมด ก่อนหน้านี้หลายบริษัทเลือกที่จะเช่าพื้นที่สำนักงานเล็กๆ และใช้สอยพื้นที่ให้คุ้มค่าทุกตารางนิ้วด้วยการยัดพนักงานเข้าไปนั่งรวมๆ กันให้ได้มากที่สุดในห้องแค่ห้องเดียว

หลังจากนี้ไปก็จะทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะโต๊ะทำงานทุกตัวจะต้องการระยะห่างระหว่างกันและต้องออกแบบการวางให้ไม่หันหน้าเข้าหากันด้วย

นอกจากการออกแบบและตกแต่งแล้ว เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ลงลึกไปถึงโครงสร้างด้วย อย่างเช่น การเลือกใช้วัสดุที่ต้านจุลินทรีย์ การออกแบบระบบระบายอากาศใหม่ การใช้แสง UV เข้ามาช่วยฆ่าเชื้อ (ในเวลากลางคืนเมื่อพนักงานกลับบ้านไปหมดแล้ว) หรือการรื้อนโยบายการทำความสะอาดที่มีอยู่เดิมและเขียนของใหม่ขึ้นมาทั้งหมด

(พนักงานทำความสะอาดประจำออฟฟิศมีงานเยอะขึ้นแน่นอน)

 

คราวนี้มาดูเรื่องรูปแบบการทำงานของพนักงานบ้าง

แม้จะมีการผลักดันเรื่องการปรับให้ออฟฟิศสามารถทำงานได้แบบดิจิตอลมากขึ้นมาโดยตลอด แต่หากไม่มีโควิด พนักงานออฟฟิศก็จะไม่ถูกมัดมือชกให้ต้องปรับตัวกันเร็วขนาดนี้

ตอนนี้การประชุมผ่านวิดีโอคอลล์ กลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ที่จะเลือกโปรแกรมที่เหมาะสม การใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ ในนั้น ตั้งแต่การเปิด-ปิดกล้องและไมโครโฟน การเปลี่ยนฉากหลัง ไปจนถึงการฉายสไลด์ของตัวเองให้คนอื่นในการประชุมได้เห็น

การถูกบังคับให้ต้อง Work from Home ทำให้ทั้งพนักงานและบริษัทได้เห็นว่าในหน้าที่ความรับผิดชอบและตำแหน่งของแต่ละคน มีใครบ้างที่จริงๆ แล้วไม่ต้องหอบร่างกลับมาที่ออฟฟิศทุกวันอีกแล้วก็ยังสามารถทำงานลุล่วงได้ตามปกติ

หรือมีใครบ้างที่ไม่ต้องหอบร่างมาออฟฟิศ และไม่ต้องทำงานจากที่บ้าน บริษัทก็ยังเดินหน้าไปได้เหมือนเดิมแบบไม่รู้สึกขาดอะไร

(ดีไม่ดีอาจจะคล่องตัวกว่าเดิมอีกต่างหาก)

 

เทรนด์ของการ Work from Home จะยังคงดำเนินต่อไปสำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่พบว่าตัวเองสามารถทำงานได้มีประสิทธิผลที่ดีขึ้นเมื่อไม่ต้องเสียเวลาและพลังไปกับการเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและที่ทำงาน

ดังนั้น เมื่อการแพร่ระบาดจบลง คนกลุ่มนี้ก็น่าจะสามารถเจรจากับบริษัทเพื่อขอทำงานจากบ้านเป็นส่วนใหญ่ต่อไป

ในขณะที่ช่วงหลังโควิดซึ่งหลายบริษัทก็น่าจะต้องประสบปัญหาทางการเงินและพยายามตัดลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด การยอมให้พนักงานทำงานจากที่บ้านก็สามารถประหยัดรายจ่ายให้บริษัทไปได้ และเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเลย์ออฟอยู่แล้ว

พนักงานที่ทำงานจากบ้านต่อไปก็ต้องตกแต่งมุมใดมุมหนึ่งของบ้านให้มีความเป็นโฮมออฟฟิศให้ได้มากที่สุด จากเดิมที่อาจจะใช้อะไรชั่วคราวอย่างการนั่งทำงานบนโต๊ะกินข้าว ก็จะต้องลงทุนไปกับการแบ่งบางส่วนของบ้านเพื่อตกแต่งให้ได้บรรยากาศและฟังก์ชั่นของการทำงาน

เราน่าจะเห็นคนเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นออฟฟิศมากขึ้นหลังจากนี้

 

สําหรับคนที่ยังเข้าออฟฟิศ รูปแบบการเข้าไปทำงานก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากเดิมที่ทุกคนต้องเข้าและออกงานในเวลาเดียวกัน บริษัทก็อาจจะจัดสรรให้เข้าเหลื่อมกันเป็นกะๆ เพื่อลดความแออัดภายในออฟฟิศและไม่ให้คนจำนวนมากอยู่ในสถานที่เดียวกันพร้อมๆ กัน

ยังมีอีกหลายอย่างให้เราต้องปรับและแก้ไขกันไป แม้จะไม่ใช่ความคุ้นเคยแบบเดิมๆ แต่หากมันจะเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้เราทุกคนปลอดภัยและไปต่อกันได้

ก็เชื่อว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนยอมรับและยินดีทำตามแน่นอน