Lock down ฉุดค่าไฟพุ่งพรวด กฟน.-กฟภ.เฉือน 23,668 ล้าน “อุ้ม” ประชาชนสู้ Covid

หลังจากที่รัฐบาลกำหนดมาตรการ Lock down ทั้งการประกาศเคอร์ฟิว การขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่ในที่พักอาศัย การทำงานที่บ้าน ลดการเดินทางข้ามพื้นที่ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 มาได้ 1 เดือน

ปรากฏการณ์ที่ตามมาคือ บิลค่าไฟฟ้าของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัยพุ่งพรวดขึ้นไปมากกว่าปรกติ ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ตั้งใจปฏิบัติตามข้อแนะนำและข้อบังคับของรัฐบาลที่ต้องการให้คนอยู่บ้าน ลดการติดเชื้อหรือลดการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19

แม้ว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องของไฟฟ้ามาแล้ว 2 ชุดมาตรการ

 

โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ครม.ได้มีมติให้การไฟฟ้านครหลวง (MEA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ลดค่าไฟฟ้าลงร้อยละ 3 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) การขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าประเภทธุรกิจโรงแรม กิจการให้เช่าที่พักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563

และการคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับบ้านพักอาศัย กับกิจการขนาดเล็ก จากปัจจุบันที่มีการคืนไปแล้วกว่า 6,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ครม.ยังได้มีมติช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 หลังจากประชาชนจำนวนมากย้ายกลับภูมิลำเนา เนื่องจากสถานที่ทำงานปิดกิจการชั่วคราว ไปจนถึงการทำงานที่บ้าน เพิ่มเติมอีกด้วยการกำหนดมาตรการค่าไฟฟ้า “ฟรี” กับบ้านพักอาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ จากเดิม 50 หน่วย เป็น 90 หน่วยต่อเดือน

พร้อมกับขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 อีกด้วย

 

ทว่าชุดมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทบ้านพักอาศัยและกิจการขนาดเล็ก ดูเหมือนจะไม่เพียงพอกับความเดือดร้อนจากบิลค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคมที่พุ่งขึ้นไปมากกว่า 1-2 เท่าจากที่เคยจ่ายค่าไฟฟ้าตามปรกติ

ประกอบกับมาตรการให้ใช้ไฟฟรีที่ขยายจาก 50 หน่วยเป็น 90 หน่วย (มิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์) นั้น “แทบจะไม่มีใครได้รับประโยชน์แต่อย่างใด” เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าในช่วงอากาศร้อนล้วนแล้วแต่เกินไปกว่า 90 หน่วยทั้งสิ้น

ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องความเห็นใจให้กับภาคประชาชนที่ต่อสู้กับการระบาดของไวรัส Covid-19 ด้วยการตั้งคำถามเอากับ 3 การไฟฟ้า “ทำไมไม่ออกมาช่วยเหลือประชาชนลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค” พร้อมกับเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ

1) การไฟฟ้าจัดเป็น 1 ใน 10 รัฐวิสาหกิจที่นำส่งผลกำไรให้กับกระทรวงการคลังโดยสม่ำเสมอ

2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกร่วงหนักจากปริมาณความต้องการใช้ที่ลดลงในช่วงการระบาดของไวรัส Covid-19 ที่จะกินเวลายาวนานออกไปอย่างน้อยอีกครึ่งปี ส่งผลให้เชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเตา-ก๊าซธรรมชาติ-LNG ปรับราคาต่ำลงมาตามราคาน้ำมันดิบด้วย และ

3) ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้าอยู่ในสภาวะสำรองไฟฟ้า “ล้นเกิน” ความต้องการใช้และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนไปกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ขึ้นมาอีก หรือเท่ากับเงินลงทุนของ 3 การไฟฟ้าน่าจะต้องลดลงตามไปด้วย

เหตุผลทั้งหมดนี้อยู่บนความเชื่อที่ว่า ราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนน่าจะต้องลดต่ำลงจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม การจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นกว่าปรกติในรอบบิลเดือนมีนาคมจะได้รับการอธิบายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นของ “การจัดเก็บค่าพลังงานไฟฟ้า” ในอัตราก้าวหน้า

ยกตัวอย่าง การใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือนอัตรารายเดือน ค่าพลังงานไฟฟ้า 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 1-150) ราคาหน่วยละ 3.2484 บาท แต่ถ้าใช้ 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) จะถูกเรียกเก็บค่าพลังงานไฟฟ้าหน่วยละ 4.2218 บาท แต่หากใช้เกินกว่า 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) ค่าพลังงานไฟฟ้าก็จะถูกคิดถึง 4.4217 บาท

เท่ากับว่า ยิ่งใช้หน่วยมาก ตัวคูณค่าไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ประกอบกับการใช้ไฟฟ้าในช่วง Work from Home ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แม้จะสามารถเลือกใช้ในอัตราตามช่วงเวลาของการใช้งาน (Time of Use Tariff หรือ TOU Tariff) On Peak จ่ายแพงกว่า Off Peak แต่เนื่องจากสภาพการณ์ที่ต้องอยู่ในที่พักอาศัยแทบจะตลอด 24 ช.ม. ทำให้การใช้ไฟฟ้าของประชาชนกลับครอบคลุมตั้งแต่ทั้งช่วง On Peak (09.00-22.00 น.) ต่อเนื่องไปถึง Off Peak (22.00-09.00 น.) ไปโดยปริยาย

ทั้งหมดนี้ถูกใช้เป็นเหตุผลสำคัญเพื่อตอบคำถามที่ว่า ทำไมค่าไฟฟ้าตามรอบบิลในช่วงเดือนมีนาคมต่อเนื่องไปจนถึงเดือนเมษายนของประชาชนจึงพุ่งสูงขึ้นมากกว่ารอบบิลตามเดือนปรกติ

 

ไม่ว่าข้อเท็จจริงในการใช้ไฟฟ้าของประชาชนจะเป็นเช่นใดก็ตาม ย่อมไม่อาจ “หักล้าง” เหตุผลสำคัญที่ว่า ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นเป็นผลมาจากมาตรการการกักตัวให้ประชาชนทำงานภายในที่พักอาศัย หรือ Work from Home ตามมาตรการที่รัฐเป็นผู้กำหนด

ส่งผลให้ในทางการเมือง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องเรียก 3 การไฟฟ้าและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเข้ามาหารือภายใต้โจทย์ง่ายๆ ว่า “ทำอย่างไรจะลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนลงได้อีก” เนื่องจากเห็นแล้วว่ามาตรการบรรเทาผลกระทบตามมติ ครม.วันที่ 17 มีนาคม กับวันที่ 7 เมษายนข้างต้น “เอาเข้าจริงแล้วไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้”

จนกลายเป็นที่มาของมติ ครม.ล่าสุดในวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid-19 “เพิ่มเติม” ด้วยการ

1) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วย/เดือนให้ใช้ไฟ “ฟรี” เป็นเวลา 3 เดือน (รอบบิลเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563) หรือเท่ากับให้ประชาชนใช้ไฟฟรีเพิ่มจากของเดิมที่ 90 หน่วยเป็น 150 หน่วย กับ

2) หากใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วย/เดือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าในรอบการใช้ไฟเดือนมีนาคม-พฤษภาคม โดยให้ใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นฐานการอ้างอิง (เพราะเดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นการใช้ไฟฟ้าโดยที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19) ดังต่อไปนี้

นั่นคือ ถ้าการใช้ไฟฟ้ารายเดือน “น้อยกว่า” หน่วยการใช้ของเดือนกุมภาพันธ์ ให้จ่ายค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง หากใช้ไฟฟ้ารายเดือน “มากกว่า” หน่วยการใช้ในเดือนกุมภาพันธ์แต่ไม่ถึง 800 หน่วยให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยเดือนกุมภาพันธ์

แต่หากใช้ไฟฟ้า “มากกว่า” 800 หน่วย แต่ไม่ถึง 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยเดือนกุมภาพันธ์ บวกค่าไฟฟ้าของหน่วยที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 50 ของค่าไฟฟ้าจริง

และหากใช้ไฟฟ้า “มากกว่า” 3,000 หน่วยขึ้นไปให้จ่ายค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 70 ของค่าไฟฟ้าจริง

 

มาตรการ “เพิ่มเติม” ของรัฐบาลครั้งล่าสุดนี้มีการประมาณการกันว่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน (ประเภทบ้านพักอาศัย 22 ล้านราย) ได้ประมาณ 23,668 ล้านบาท

หรือแปลอีกความหมายหนึ่งได้ว่า การไฟฟ้านครหลวงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะต้องยอม “เฉือนเนื้อ” ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนในรอบบิล 3 เดือนลง 23,668 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองอันเนื่องมาจากมาตรการ Work from Home ของรัฐบาล

ประเด็นนี้จึงกลายเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไปว่า “รายได้” ของ 2 การไฟฟ้าที่หายไปอันเนื่องมาจากมาตรการของรัฐนั้น รัฐบาลจะเลือกตัดสินใจอย่างไร ระหว่างการจ่ายเงินชดเชยให้กับ 2 การไฟฟ้า หรือให้ 2 การไฟฟ้าเป็นผู้รับภาระในส่วนนี้ไปเอง

แต่อย่างน้อยมาตรการล่าสุดที่ช่วยเยียวยาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 ก็ได้รับเสียงชื่นชมเชิงบวกมากกว่าการใช้มาตรการชุดแรกๆ แบบเทียบกันไม่ติด

ลดแรงกดดันให้กับทั้งกระทรวงพลังงานและรัฐบาลได้มากพอสมควรเลยทีเดียว