ต่างประเทศ : นวัตกรรม “คอนแทกต์ เทรซซิ่ง” ทางรอดวิกฤตโควิด-19 ก่อนมีวัคซีน

ในช่วงเวลาวิกฤตเชื้อไวรัส “ซาร์ส โคฟ-2” ดูจะยังไม่มีทีท่าจะยุติลง มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วกว่า 2.5 ล้านราย เสียชีวิตแล้วกว่า 171,000 ราย

ประชากรโลกจำนวนมากกว่า 4 พันล้านคนทั่วโลกถูกร้องขอให้อยู่ในบ้านเพื่อลดอัตราการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบลูกโซ่ในเชิงเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ามหาศาล

วิกฤตการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ถูกคาดหมายว่าจะสิ้นสุด และชีวิตคนกลับสู่ภาวะปกติได้ ก็ต่อเมื่อโลกสามารถคิดค้นวัคซีนได้สำเร็จอย่างเร็วที่สุดในปี 2021

จนกระทั่งล่าสุดสองบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “แอปเปิล” และ “อัลฟาเบท” บริษัทแม่ของ “กูเกิล” ได้จับมือกันคิดค้นระบบ “คอนแทกต์ เทรซซิ่ง” ที่จะทำให้มนุษย์สามารถลุกขึ้นสู้กับการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เป็นอีกหนึ่งความหวังที่พวกเราจะกลับมาสู่สภาวะปกติได้อีกครั้ง

 

ถามว่าระบบ “คอนแทกต์ เทรซซิ่ง” คืออะไร?

คำตอบก็คือ “ระบบการสืบสวนโรค” ผ่านสมาร์ตโฟน ที่จะช่วยให้เจ้าของสมาร์ตโฟนสามารถรู้ได้ว่าตนเองได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสหรือไม่ และเมื่อรู้แล้วก็สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการกักตัวเอง หรือเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้อย่างทันท่วงที

ระบบดังกล่าวจะฝังอยู่ในระบบปฏิบัติการสมาร์ตโฟน “ไอโอเอส” และ “แอนดรอยด์” ระบบปฏิบัติการสมาร์ตโฟนที่มีอยู่ในมือประชากรโลกส่วนใหญ่จำนวนราว 3,000 ล้านคน ที่จะมาทำหน้าที่แทนการสืบสวนโรคแบบ “แมนนวล” ที่ต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรมนุษย์มหาศาล

ปัจจุบันการสืบสวนโรคเป็นกระบวนการที่ใช้ “คน” ในการ “สอบถาม” ผู้ติดเชื้อเกี่ยวกับการเดินทางในช่วง 14 วันที่ผ่านมา และหาตัวคนที่อาจสัมผัสใกล้ชิด นั่นอาจเป็นงานที่ไม่ยากนักหากจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มากนัก แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อมากเป็นหลัก 100,000 คนแล้วละก็ นั่นเป็นงานระดับมโหฬารเลยทีเดียว

 

ล่าสุดรายงานจากนักวิจัยด้านสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ และสมาคมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแห่งรัฐและดินแดนระบุว่า เพียงแค่ในสหรัฐอเมริกาเพียงชาติเดียว จะต้องว่าจ้างเจ้าหน้าที่สำหรับการสอบสวนโรคเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 100,000 คนเป็นอย่างต่ำ ขณะที่ปัจจุบันมีคนทำงานจริงอยู่แค่ 2,200 คนเท่านั้น

แต่ว่าสิ่งที่ “แอปเปิล” และ “กูเกิล” กำลังร่วมกันทำนั้นสามารถมาแทนที่การสืบสวนโรคแบบ “แมนนวล” ที่ว่านั้นได้

ระบบดังกล่าวที่สองบริษัทยักษ์ใหญ่ให้คำมั่นเอาไว้ว่าจะพร้อมใช้จริงในช่วง “กลางเดือนพฤษภาคม” จะถูกติดตั้งลงในระบบปฏิบัติการ “ไอโอเอส” และ “แอนดรอยด์” โดยที่ไม่ต้องลงแอพพลิเคชั่นใดๆ เพิ่มเติม

ระบบดังกล่าวพึ่งพาการ “เชื่อมต่อบลูทูธ” ที่มีในสมาร์ตโฟนแทบทุกเครื่องบนโลก โดยสมาร์ตโฟนแต่ละเครื่องจะสร้าง “คีย์” (โค้ดที่ประกอบด้วยตัวเลขและตัวอักษร) ชุดหนึ่งขึ้นมาทุกๆ 15 นาที

หากคุณและสมาร์ตโฟนของคุณอยู่ในระยะซึ่งแอปเปิลและกูเกิลกำลังพิจารณาอยู่ (อาจเป็น 2-3 เมตร) เป็นเวลานาน 10 นาที “คีย์” ที่ว่าจะถูกแลกเปลี่ยนระหว่างสมาร์ตโฟน 2 เครื่องในทันทีเพื่อบันทึกว่าได้มีการติดต่อใกล้ชิดระหว่างกัน

หลังจากนั้นหากมีเจ้าของสมาร์ตโฟนคนใดคนหนึ่งที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขจะให้ “โค้ด” พิเศษกับผู้ติดเชื้อใช้บันทึกลงใน “แอพพลิเคชั่น” ที่แต่ละประเทศจะพัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ “คอนแทกต์ เทรซซิ่ง” ของแอปเปิลและกูเกิล

แอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะอัพโหลดข้อมูล “คีย์” จากสมาร์ตโฟนเครื่องต่างๆ ที่เคยใกล้ชิดกับสมาร์ตโฟนเครื่องนี้ในรอบ 14 วันที่ผ่านมาไปยังเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง หากคุณลง “แอพพลิเคชั่น” เอาไว้ “เปิดบลูทูธ” เอาไว้ตลอด และเคยใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ คุณจะได้รับ “การแจ้งเตือน” ที่สมาร์ตโฟนของคุณในทันที

 

จุดเด่นของระบบ “คอนแทกต์ เทรซซิ่ง” นี้ก็คือ “ความเป็นส่วนตัว” คุณจะไม่รู้ว่าคนที่ติดเชื้อคือใคร และคุณใกล้ชิดกับบุคคลคนนั้นที่ไหน และคนที่รู้จะมีเพียงแค่คุณเพียงคนเดียว และก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับการแจ้งเตือน ว่าจะดำเนินการกักตัว หรือจะเข้ารับการตรวจเชื้อ

ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ “แอปเปิล” และ “กูเกิล” ให้ความสำคัญและระมัดระวังที่จะไม่ “ละเมิดความเป็นส่วนตัว” ซึ่งผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา

สิงคโปร์เคยใช้เทคโนโลยีในการสืบสวนโรคในลักษณะใกล้เคียงกัน

แต่ข้อมูลจะถูกส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์กลาง เพื่อติดตามตัวทุกคนที่อาจสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ เป็นวิธีที่ทำให้รู้การเคลื่อนไหวของทุกคน หรืออย่างน้อยรู้ความเคลื่อนไหวของคนที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นได้

วิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ประชาชนจะต้องศรัทธาและเชื่อมั่นในรัฐบาลและนักการเมืองอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านั้นจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

ในกรณีของ “คอนแทกต์ เทรซซิ่ง” ของกูเกิลและแอปเปิล รัฐบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุขใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าวในทางที่ผิด กูเกิลและแอปเปิลก็จะสามารถถอดแอพพลิเคชั่นของแต่ละประเทศออกจาก “แอพพ์สโตร์” และ “กูเกิลเพลย์” ได้ในทันที

 

นวัตกรรม “คอนแทกต์ เทรซซิ่ง” ของแอปเปิลและกูเกิล ดูจะเป็นความหวังในการติดตามตัวกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ

“การติดตามกลุ่มเสี่ยง” เป็นกลยุทธ์ในการควบคุมโรคที่ได้ผล ได้รับการยอมรับจากกรมควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา ศูนย์ความมั่นคงทางสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ ได้รับการยอมรับจากผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก แมสซาชูเซตส์ แมรี่แลนด์ วอชิงตัน และอื่นๆ

และนั่นก็เป็นกลยุทธ์ที่รัฐบาลเยอรมนีใช้จนได้ผล และเวลานี้ค่อยๆ เริ่มเปิดเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าอีกครั้งแล้ว

นวัตกรรม “คอนแทกต์ เทรซซิ่ง” แม้จะไม่ได้เป็นระบบที่สมบูรณ์แบบ เนื่องจากอาจเกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลได้จากข้อมูลของแอปเปิลและกูเกิลเอง

แต่ก็ดูจะเป็นความหวังที่มนุษยชาติอาจยอมแลกเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเวลานี้

ก่อนที่เราจะมี “วัคซีน” ป้องกันใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต