ฉัตรสุมาลย์ : วันสตรีสากลปีนี้

เออ ทำไมวันสตรีสากลต้องเป็นวันที่ 8 มีนาคมด้วย เคยสงสัยไหม ถ้าไม่เกิดคำถาม มันก็ไม่นำไปสู่การแสวงหาข้อมูลความรู้เพื่อตอบปัญหา

ผู้เขียนเองก็เคยสงสัย แต่ปล่อยให้เลยไป ไม่ได้ติดตามต่อ

ปีนี้ ไปงานฉลองที่ทางอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสตรี ในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้จัดเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมานี้ คุณทิชา ณ นคร เป็นผู้ที่ขึ้นมากล่าวถึงความเป็นมาของวันสตรีสากล ก็เลยทำให้ต้องไปติดตามต่อ

ย้อนความไปตั้งแต่ พ.ศ.2400 เมื่อกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมตัวกันประท้วงชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน เรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และดูแลสวัสดิการการทำงานของกรรมกรสตรี ในขณะที่ชุมนุมกันนั้น มีผู้ลอบวางเพลิงเผาโรงงาน ทำให้กรรมกรสตรีเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 119 คน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม

นี่แหละเป็นที่มาของวันสตรีสากล วันที่ 8 มีนาคม ของทุกๆ ปี

เหตุการณ์ครั้งนั้น แม้ว่าสตรีเสียชีวิตไปจำนวนมากก็ยังไม่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะมีประโยชน์ต่อสตรี

เราต้องรออีก 50 ปี ต่อมา

พ.ศ.2450 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศเดิมนั่นแหละ คือประเทศมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา กรรมกรเหล่านี้อดทนต่อการเอารัดเอาเปรียบกดขี่ทารุณของนายจ้างไม่ไหว พากันออกมาประท้วง เพราะพวกเธอต้องทำงานวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีการประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดการล้มป่วยและตายตามมาในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่ได้รับการชดเชย และหากตั้งครรภ์ก็จะถูกไล่ออก

ชื่อหนึ่งที่เราควรจดจำด้วยความขอบคุณคือ คลาร่า เซ็ตคิน นักการเมืองสตรี สังคมนิยมชาวเยอรมัน ที่ลุกขึ้นมารวมกำลังปลุกระดมกรรมกรสตรีโดยการนัดหยุดงาน ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2450 เรียกร้องให้นายจ้างลดชั่วโมงทำงานลงมาเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้ปรับปรุงสวัสดิการการทำงาน และเรียกร้องให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

แม้จะไม่ได้ผลทันที กรรมกรสตรีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ คลาร่า เซ็ตคิน เป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้น

ปีรุ่งขึ้น พ.ศ.2451 วันที่ 8 มีนาคม มีแรงงานสตรีกว่า 15,000 คน ร่วมเดินขบวนที่เมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยรณรงค์ด้วยคำขวัญว่า “ขนมปังกับดอกกุหลาบ” อันเป็นสัญลักษณ์ของการได้รับอาหารพอเพียง พร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี

อีกสองปีต่อมา วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2453 ความพยายามของกลุ่มกรรมกรสตรีประสบความสำเร็จเมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมประกาศรับรองข้อเรียกร้องที่เรียกว่า ระบบสาม 8 คือทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตน 8 ชั่วโมง และ 8 ชั่วโมงเพื่อการพักผ่อน

สิ่งที่เราทำเป็นปกติในปัจจุบันนั้น มิได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ กว่าจะได้มาด้วยความยากลำบาก ต้องเสียเลือดเนื้อพี่น้องสตรีไปหลายร้อยชีวิต วันที่ 8 มีนาคม เราควรระลึกถึงเส้นทางที่ยาวนานที่บรรพสตรีของเราได้กรุยทางมาให้เราได้สะดวกสบายในยุคนี้

นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนั้น ยังวางรากฐาน ปรับค่าแรงงานหญิงให้เท่ากับแรงงานชาย และคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กด้วย

และรับรองข้อเสนอของ คลาร่า เซ็ตคิน ให้กำหนดวันที่ 8 มีนาคมของทุกปีเป็นวันสตรีสากล

นี่แหละค่ะ ว่าทำไมจึงเลือกเอาวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล

 

ปีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการทำงานของคณะอนุกรรมการหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ อนุกรรมการสิทธิสตรี ประธานของคณะอนุกรรมการชุดนี้คือ คุณอังคณา นีละไพจิตร ท่านได้เข้ามาทำงานเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานของกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และเห็นความสำคัญของสตรีที่เป็นผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน

แต่กลายเป็นว่าบ่อยครั้งที่สตรีเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงได้จัดงานวันสตรีสากล โดยมอบกิตติคุณประกาศแก่สตรีเหล่านี้ในฐานะเป็นผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน

จัดงานที่โรงแรมในย่านสุขุมวิท เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานของสตรี และงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาหลายท่าน เช่น คุณทิชา ณ นคร คุณสุเพ็ญศรี โคกสูงเนิน คุณนัยนา สุภาพึ่ง ฯลฯ ผู้สื่อข่าวก็มากันหลายสำนัก เท่าที่เห็นและรู้จัก มีทั้งเนชั่น และบางกอกโพสต์ และนักข่าวจากสำนักข่าวอิศรา ฯลฯ

ในพิธีนี้ รองข้าหลวงใหญ่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ มากล่าวสุนทรพจน์ด้วย

แม้ท่านจะพูดเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีผู้แปลเป็นไทย ที่ทำหน้าที่อย่างคล่องแคล่วไม่ติดขัด เป็นผู้หญิงค่ะ มีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตอเมริกันมากัน 2-3 คน

นอกจากคนไทยแล้วก็ยังมี คุณมิน ซู ซอน ชาวเกาหลี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยที่เข้ามาทักทายท่านธัมมนันทาด้วย

มีความรู้สึกว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาให้ความสนใจและให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนมากทีเดียว

 

มีผู้ได้รับกิตติคุณประกาศ 4 ท่าน และ 4 กลุ่ม ได้แก่ ท่านธัมมนันทาภิกษุณี ทางด้านศาสนาเกี่ยวกับสิทธิของสตรี ที่ได้เคี่ยวกรำมาหลายสิบปีในการสร้างองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจในสังคมไทยให้เข้าใจในสิทธิในการออกบวช

คุณพนา เจริญสุข ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ก้าวผ่านการถูกละเมิดสิทธิมาเป็นผู้สร้างความเข้มแข็งให้กับสตรีที่ถูกกระทำโดยใช้ความรุนแรงในครอบครัว

คะติมะ หลีจ๊ะ สตรีชาวลีซูที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความถูกต้องเมื่อบิดาถูกยิงตาย เธอเป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อสิทธิที่ดินที่ทำกินให้กับพี่น้องในชาติพันธุ์เดียวกัน

คุณณัฐพร อาจหาญ มหาบัณฑิตจากธรรมศาสตร์ ที่เรียนรู้จากกลุ่มชาวบ้านสตรีที่จะปกป้องถิ่นกำเนิดของตัวเองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เธอเป็นหญิงสาวชาวอีสาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

สำหรับอีก 4 กลุ่มนั้น เป็นกลุ่มสตรีที่ปกป้องพื้นที่ของตน ตั้งกลุ่มสตรีเครือข่ายคนรักษ์เมืองเทพา ที่ อ.เทพา จ.สงขลา คัดค้านการสร้างโรงผลิตถ่านหิน

กลุ่มสตรีจากจังหวัดกระบี่ ตั้งเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน จ.กระบี่ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม ปกป้องชุมชนจากผลกระทบในการทำเหมืองแร่ กลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง

และสุดท้าย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นองค์กรที่ทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนของกะเทย และคนข้ามเพศ กลุ่มนี้เกาะกลุ่มกันแข็งแรง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคม

และยืนหยัดปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างสง่างามและเท่าเทียม

 

ก่อนเริ่มงาน ท่านธัมมนันทาเดินเข้าไปทักทายและนั่งอยู่ท่ามกลางสตรีชาวมุสลิมที่มาจากเทพา จ.สงขลา ผู้ชายที่มาด้วยมาขอถ่ายรูปเอาไปอวดพี่น้องชาวเทพา เพราะยังไม่เคยเห็นภิกษุณี

บรรยากาศเต็มไปด้วยความยอมรับซึ่งกันและกัน เป็นภาพที่อบอุ่นหาดูได้ยากอย่างยิ่ง

กลุ่มชาวลีซูก็ตื่นตาตื่นใจที่ได้พบกับภิกษุณีตัวเป็นๆ สัมผัสถึงรากฐานของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และเท่าเทียมกัน อันมีที่มาของรากฐานแห่งสิทธิมนุษยชนนั่นเอง

คำขวัญของวันสตรีสากลปีนี้ เน้นที่ จงกล้าที่จะเปลี่ยน แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนมาตั้ง 2,600 ปีมาแล้ว ว่า เราสามารถที่จะยกระดับจิตของเราที่หมกมุ่นจมอยู่กับความทุกข์ ให้ก้าวออกมาจากความทุกข์นั้นได้ และความสามารถนี้มีเสมอเหมือนกันทั้งชายและหญิง

ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาหนึ่งในโลกที่เห็นความทัดเทียมในสิทธิมนุษยชนมาตั้งนานแล้วด้วยซ้ำ