สุรชาติ บำรุงสุข | อนาคตรัฐบาลไทย! มีอำนาจ แต่อ่อนแอ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“คุณอาจจะตกหลุมรักรัฐบาลได้ แต่อย่าคิดแต่งงานกับรัฐบาลเป็นอันขาด”

แจ๊ก หม่า

1)ทิศทางการต่อสู้ทางการเมืองของไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือการต่อสู้ระหว่าง “เสรีนิยม vs อนุรักษนิยม”

การต่อสู้เช่นนี้ทวีความเข้มข้นมากขึ้นในปี 2563 และสะท้อนให้เห็นถึงการถดถอยของรัฐบาลอนุรักษนิยม ที่การเป็นรัฐบาลเกิดจากการใช้ “กลเกมทางกฎหมาย”

และขณะเดียวกันรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาของประเทศ และเริ่มไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน อันอาจนำไปสู่การต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นในอนาคต

2) ผลจากการต่อสู้ในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมไทยมีทิศทางที่เป็นจารีตนิยมมากขึ้น และเกิดการรวมพลังของ “อนุรักษนิยม+จารีตนิยม” กระแสอนุรักษนิยมไทยในตัวเองไม่มีพลังที่จะต้านทานการมาของกระแสเสรีนิยมจากโลกาภิวัตน์

จึงจำเป็นต้องต้องดึงเอาพลังของกระแสจารีตนิยมมาช่วยเสริม ซึ่งการเสริมพลังของสองชุดนี้ทำให้ขวาไทยเข้มแข็งมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ล้าหลังมากขึ้น (คือเป็น “ultra conservative”)

3) หากพิจารณาเชิงเปรียบเทียบ กลุ่มขวาจัดในโลกตะวันตกที่เป็น “far right” แล้ว จะเห็นได้ว่ากลุ่มขวาจัดไทยแตกต่างอย่างมาก และไม่ใช่ปีกขวาในกระแสโลก เป็นเพียงขวาจัดที่ทวีความเป็นจารีตนิยมมากขึ้น (ต่างแม้กระทั่งกับขวาจัดไทยในยุคสงครามเย็น ที่เป็นขวาในกระแสโลก) และเห็นได้ว่ากระแสขวาไทยดำรงอยู่ไม่ได้โดยปราศจากกระแสจารีตนิยม หรือในอีกด้านพลังจารีตนิยมจำเป็นต้องอาศัยฐานของอนุรักษนิยมเข้ามาเสริมเช่นกัน พลังสองส่วนนี้จึงแยกออกจากกันไม่ได้ในการเมืองไทย

4) แต่จะทำให้พลังทั้งสองนี้มีอำนาจชี้ขาดการเมืองได้ พวกเขาจะต้องควบคุมพลังของ “เสนานิยม” ที่มีนัยถึงการเข้าควบคุมกองทัพแห่งชาติ (ใช้คำว่ากองทัพแห่งชาติ หรือ National Army ในความหมายทางรัฐศาสตร์)

การควบคุมเช่นนี้ ทำให้เกิดการประสานกำลังเป็นอุดมการณ์การเมืองแบบ “ไตรภาคี” ของพลังขวาไทย คือ “อนุรักษนิยม+จารีตนิยม+เสนานิยม”

5) ไตรภาคีของอำนาจฝ่ายขวาในปัจจุบันยังได้รับการสนับสนุนจากพลังทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยที่พัฒนามากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และเติบโตในศตวรรษที่ 21 นั้น ระบบทุนนิยมไทยขยายตัวอย่างมาก

ทุนไทยขยับตัวเป็นทุนใหญ่และเป็นทุนข้ามชาติ ความหวังว่าพวกเขาจะเป็น “ทุนชาติ” ที่มีลักษณะเป็นทุนชาตินิยม และมีส่วนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อให้แก่คนในชาตินั้น อาจจะเป็นความฝันที่เลื่อนลอย

ทุนใหญ่เหล่านี้กลายเป็น “ทุนผูกขาด” ที่ฉกฉวยเอาประโยชน์จากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของสังคมไทย อันจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีสภาพเป็น “ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบผูกขาด” (Monopoly Capitalism)

และส่งผลให้การพัฒนาทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ประสบความพ่ายแพ้ และไม่สามารถเป็นพลังทางการเมืองได้

6)

การขยายตัวของทุนผูกขาดเห็นได้ชัดหลังรัฐประหารทั้ง 2549 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง 2557 และแกนกลางของอำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารคือทุนผูกขาด ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการยึดอำนาจ หรือเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้แก่รัฐบาลทหาร อันสะท้อนให้เห็นถึงการประสานอำนาจอีกส่วนในการเมืองไทย ที่เกิดสภาวะ “เสนานิยม+ทุนนิยม”

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนผูกขาดเหล่านี้

นโยบายที่ถูกออกแบบให้เป็นประชานิยมภายใต้อิทธิพลของฝ่ายทหาร จึงเป็นเพียง “นโยบายทุนนิยมผูกขาด” ที่นโยบายเช่นนี้เอื้อให้ทุนใหญ่เติบโต และทำลายทุนเล็ก หรือในอีกด้านคือการแบ่งผลประโยชน์ของชนชั้นนำทหารและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ที่เอื้อกันในกันทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

7) เพื่อให้พลังปีกขวาไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น พวกเขาจึงต้องดึงเอาพลังทุนนิยมผูกขาดเข้ามาเสริมในการต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตยที่เป็นพลังเสรีนิยม

อำนาจทางการเมืองของ “จตุรมิตรปีกขวา” จึงได้แก่ อนุรักษนิยม+จารีตนิยม+เสนานิยม+ทุนนิยม

ซึ่งการรวมพลังทั้งสี่เช่นนี้ เป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในทางการเมืองที่ทำให้ขวาจัดไทยมีพลังอย่างมาก

และเป็นอำนาจที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องตระหนักว่า อุปสรรคใหญ่ไม่ใช่เพียงปัญหาจากฝ่ายทหารเท่านั้น

ทหารเป็นเพียงหน้าฉากที่ชัดเจนของฝ่ายขวาเท่านั้น และเป็นตัวแสดงที่พร้อมจะใช้กำลัง

8) การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2562 ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ที่จะพาประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตย

หากเป็นเพียงการเปลี่ยนรูปจากรัฐบาลทหาร ไปสู่รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง ที่การเลือกตั้งถูกออกแบบให้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่การสืบทอดอำนาจ และคงอำนาจของรัฐบาลทหารให้อยู่ได้โดยไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองจากภายนอกและภายใน

และไม่อาจเรียกการเลือกตั้งเช่นนี้ว่า “เสรีและเป็นธรรม” หรืออาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งทำหน้าที่ในการให้กำเนิด “ระบอบพันทาง” (Hybrid Regime) ในยุคปัจจุบัน

คือเป็นระบอบการเมืองแบบทหารที่ใส่ “เสื้อคุมประชาธิปไตย” หรืออาจเรียกว่าระบอบ “ทหารนอกเครื่องแบบ”

9) การเปลี่ยนจากรัฐบาลทหารในเครื่องแบบ เป็นรัฐบาลทหารนอกเครื่องแบบ หรืออาจเรียกในทางทฤษฎีว่า เป็น “ระบอบอำนาจนิยมแบบเลือกตั้ง” (elective authoritarianism) เป็นปรากฏการณ์ที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบของระบอบอำนาจนิยมในศตวรรษที่ 21 หรือในทางวิชาการเรียกว่า “ระบอบพันทาง” คือ การสวมเสื้อคลุมประชาธิปไตยอำพรางความเป็นอำนาจนิยม

10) หากพิจารณากับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาจกล่าวได้ว่า ระบอบพันทางคือการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่หยุดอยู่กลางทาง และไม่เดินไปสุดสู่ความเป็นประชาธิปไตยเต็มรูป การหยุดลงกลางทางเช่นนี้ กลายเป็นโอกาสให้ระบอบอำนาจนิยมเดิมคงอยู่ได้ แม้จะเปลี่ยนรูปไปบางประการจากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

แต่สาระหลักของระบอบเดิมไม่ได้หายไปเช่นตัวแบบการเมืองไทยปัจจุบัน ที่ตอกย้ำว่าระบอบอำนาจนิยมยังอยู่ต่อ

11)พื้นที่ที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหยุดลง จึงมีสภาวะที่เป็น “พื้นที่สีเทา” (gray zone) ทำให้ระบอบใหม่อาจจะดูดีที่ไม่เป็นเผด็จการเต็มรูป แต่ก็น่าผิดหวังที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูป ข้อถกเถียงทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติก็คือ การหยุดเช่นนี้ค่อนไปทางที่เป็นเผด็จการหรือเป็นประชาธิปไตย

ถ้าหยุดค่อนไปทางประชาธิปไตย ก็เป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เช่นในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

แต่ถ้าหยุดในจุดที่ค่อนไปทางเผด็จการ ก็จะเป็น “เผด็จการการครึ่งใบ” ซึ่งในยุคปัจจุบัน น่าจะหยุดแบบเป็น “เผด็จการครึ่งใบ” มากกว่า หรือเป็นรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง

12) การบริหารจัดการรัฐบาลพันทางไม่ใช่เรื่องง่าย จะพึ่งกลไกรัฐเผด็จการในแบบเดิมไม่ได้ทั้งหมด เพราะการเมืองถูกเปิดด้วยการเลือกตั้ง มาตรการควบคุมที่เคยใช้ในยุครัฐบาลทหาร ไม่ใช่สิ่งที่จะใช้ได้จริง

ระบอบพันทางจึงต้องการผู้นำที่มีขีดความสามารถทั้งในการควบคุมระบบการเมืองและควบคุมสังคมควบคู่กันไป และทั้งยังจะต้องมีบารมีทางการเมืองในลักษณะ “charismatic leaders”

เช่นกรณีของประธานาธิบดีปูติน (รัสเซีย) และประธานาธิบดีแอร์โดอาน (ตุรกี) แต่ผู้นำทหารไทยที่มีบทบาททางการเมืองไม่มีองค์ประกอบเช่นนั้น และรัฐบาลที่เกิดขึ้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในด้านต่างๆ จนไม่มีเวลาเหลือให้ “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” หลังเลือกตั้ง

13) แต่รัฐบาลพันทางนี้มีเครื่องมือพิเศษอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาในรัฐบาลอื่นๆ คือ การสนับสนุนของกลุ่มทุนใหญ่ ที่ยืนเป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ให้แก่รัฐบาล จนเกิดเป็นภาพลักษณ์ของการผนึกอำนาจระหว่าง “เสนานิยม+ทุนนิยม” หรืออาจกล่าวได้ว่า “ทุนขุนศึกในศตวรรษที่ 21” มีพลังอย่างมาก แตกต่างจากยุคจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์ หรือการผนึกกำลังของอำนาจทหารกับอำนาจทุนกลายเป็น “ทวิอำนาจ” ในทางเศรษฐศาสตร์การเมือง

14) แต่รัฐบาลนี้ก็มีจุดอ่อนใหญ่ 3 ประการ คือ ไม่มีความชอบธรรม ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ไม่ประสบความสําเร็จในเชิงนโยบาย จุดอ่อนทั้งสามประการทำให้รัฐบาลถดถอยลงทุกวัน

15) ในอีกด้านความเป็น “รัฐบาลผสม” คือ จุดเริ่มต้นของความวุ่นวายในตัวเองของรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากการคุมไม่อยู่ หรือมาจากคุยไม่รู้เรื่อง หรืออีกนัยหนึ่งคือปัญหาเอกภาพของรัฐบาลผสม ส่งผลให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพในตัวเอง เสถียรภาพจึงไม่ใช่เพียงเรื่องเสียง “ปริ่มน้ำ” ในสภา ที่อาจจะแก้ด้วยมาตรการจัดตั้ง “ฟาร์มงู”

แต่เสถียรภาพที่แท้จริงมาจากปัญหาของรัฐบาลผสม เช่นตัวแบบในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร หลังเลือกตั้ง 2512

16)

ผู้นำทหารเชื่อว่า ด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายตน และอาศัยทั้งช่องว่างทางกฎหมาย และมีอำนาจในการสร้างอภินิหารทางกฎหมาย จะทำให้รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งสามารถเอาตัวรอดจากแรงกดดันได้เสมอ

ไม่ว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายเกิดเมื่อใด ก็อาศัยการ “ตะแบง” และการ “บิดพลิ้ว” จนไม่มีความผิดทางกฎหมาย

17) การสร้างความได้เปรียบทางการเมืองอีกส่วนคือการยึดกุมองค์กรอิสระ ที่สุดท้ายแล้วอำนาจขององค์กรอิสระเหล่านี้ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบจากการกระทำ” (accountability)

และองค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ในการค้ำประกันการอยู่รอดของรัฐบาล

คำตัดสินที่เกิดขึ้นจึงมักไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย และกลายเป็นการใช้กฎหมายนอกกรอบนิติรัฐ

18) หลังการสิ้นสุดของรัฐบาลทหาร ทำให้ ม.44 ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลทหารในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามสิ้นสุดลง แต่อำนาจในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามกลับปรากฏในรูปแบบของการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ

ที่ด้านหนึ่งของการใช้อำนาจนี้ไม่ใช่เป็นอำนาจของระบอบอำนาจนิยม หากเป็นอำนาจขององค์กรทางกฎหมาย

ดังเช่นกรณีการตัดสินคดียุบพรรคอนาคตใหม่ หรือในคดีทางการเมืองอื่นๆ องค์กรอิสระที่มีอำนาจเช่นนี้เป็นเสมือน “ม.44 เปลี่ยนรูป” ที่อำนาจในการจัดการกับฝ่ายค้านเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป

19) การใช้อำนาจขององค์กรอิสระในทางกฎหมาย ซึ่งเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของสถาบันตุลาการ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดจากการใช้อำนาจในทางกฎหมายเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องของ “ตุลาการภิวัฒน์” (Judicial Review) ที่มีนัยหมายถึงการมีบทบาทของสถาบันตุลาการทางการเมืองในการตีความกฎหมายเพื่อขยายเสรีภาพและสิทธิพลเมือง

หากสิ่งที่เกิดในหลายปีที่ผ่านมา คำตัดสินขององค์กรอิสระในลักษณะเช่นนี้มีลักษณะเป็น “ตุลาการธิปไตย” (Juristocracy) อันมีนัยหมายถึงการที่สถาบันตุลาการเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรง และทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดความอยู่รอดของรัฐบาล

การล้มลงของรัฐบาลไม่จำเป็นต้องอาศัยการยึดอำนาจในแบบเดิม เพราะอำนาจในการตีความกฎหมายอยู่กับองค์กรเช่นนี้ การต่อสู้ทางกฎหมายสำหรับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจึงแทบไม่ประสบชัยชนะแต่อย่างใด

20)

การมีกลไกแบบ “ทวิภาคี” ของพลังทั้งจากสถาบันทหารและสถาบันตุลาการ ทำให้ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดากลุ่มอนุรักษนิยมสามารถคงอำนาจในการควบคุมสังคมการเมืองไทยไว้ได้อย่างมั่นคงและมั่นใจ เพราะหากเกิดความท้าทายทางการเมืองขึ้นในรูปแบบใดๆ ก็สามารถใช้กลไกทั้งสองนี้เข้าจัดการ

เช่น ถ้าความท้าทายเกิดจนปีกอนุรักษนิยมทั้งหลายไม่อาจยอมรับได้แล้ว พวกเขาก็พร้อมที่จะเคลื่อนกำลังรบ ที่เป็นเครื่องมือการสงครามของรัฐ เข้าจัดการกับรัฐบาลที่พวกเขาไม่ปรารถนา แต่ถ้าจำเป็นต้องอยู่ในการเมืองในระบบเปิด พวกเขาก็พร้อมที่จะใช้กลไกทางกฎหมายเข้าจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และใช้แล้วดูดีในเชิงภาพลักษณ์

21) พลังของ “ทวิภาคี” ในทางกฎหมายการเมืองเช่นนี้ ทำให้ไม่เพียงรัฐบาลทหารในช่วงที่ผ่านมา ไม่ต้องกังวลกับการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน หากยังทำให้รัฐบาลทหารพันทางเช่นปัจจุบัน สามารถจัดการกับความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หรืออีกนัยหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นการสนธิกำลังระหว่าง “เสนาธิปไตย+ตุลาการธิปไตย” ที่พลังเช่นนี้กลายเป็นพลังอำนาจของกลุ่มอนุรักษนิยมที่แทบจะต้านทานไม่ได้ และเป็นพลังที่เข้มแข็งอย่างมากด้วย

22) เมื่อมีการผนวกกำลังในสองมิติคือ “เสนานิยม+ทุนนิยม” หลอมรวมเข้ากับ “เสนาธิปไตย+ตุลาการธิปไตย” พลังการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาธิปไตยจึงประสบปัญหาอย่างมาก

แต่พลังนี้ก็เปราะบางเมื่อต้องเผชิญกับความตื่นตัวของประชาชน เพราะรัฐบาลไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น!