ในประเทศ / AI หรือ I เอง สถาบันสถาปนา 5000

ในประเทศ

 

AI หรือ I เอง

สถาบันสถาปนา 5000

 

ช่วงสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน โลกออนไลน์ร้อนระอุ

เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งอ้างตนเป็นพ่อค้าขายปลาทู ได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอประท้วงระบบ AI ของกระทรวงการคลัง ที่คัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนเงินเยียวยา 5,000 บาท ที่ทำให้คนที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ได้รับเงิน แต่คนที่กรอกข้อมูลเป็นแต่ไม่เดือดร้อนกลับได้เงินแทน

ในคลิปหนุ่มคนดังกล่าวได้ทำการเผาแผงและเข่งปลาทู

มีแม่และน้องสาวพยายามเข้ามาห้ามเพราะกลัวถูกทางการเล่นงานแล้วแต่ไม่เป็นผล

สะท้อนถึงภาวะไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม

และยังได้นำขึ้นเฟซบุ๊กข้อความว่า “แด่ #ระบบAiกระทรวงการคลัง ใครที่ประกอบอาชีพจริงๆ และเข้าข่ายจะได้รับเงินเยียวยาแต่กับถูกตัดสิทธิ์มารวมกันที่นี้ครับ #เราต้องปกป้องสิทธิ์ที่เราควรจะได้รับ”

พร้อมกันนี้ยังมีคลิปที่ระบายความรู้สึกด้วย

 

“ผมไม่รู้ระบบของท่านมันดีตรงไหน

ท่านเคยลงมาดูบ้างไหม ว่ามันมีความผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างไร

ท่านมีอำนาจ ทำอะไรก็ได้

ลองลงมาดูสิครับ ลงมาดูเสียบ้างว่า ระบบของท่านมันผิดพลาด

ท่านได้แต่ด้านวิชาการ หลักการ ว่าระบบของท่านดี

ลองลงมาดูครับ มันดีจริงอย่างที่ท่านพูดหรือเปล่า

ประชาชนเดือดร้อนไปหมด

คนค้าขายตลาดนัด โดนตัดสิทธิ์ โดยบอกว่ากิจการของท่านสามารถไปต่อ

ไปได้ยังไงวะ

ตลาดปิด บางคนไม่ได้เป็นเกษตรกร ก็ยัดเยียดข้อกล่าวหาว่าเป็นเกษตรกร

ความยุติธรรมมีบ้างไหม (ทุบอก) มันอยู่ในนี้ มันรู้สึกท้อนะ เหนื่อยนะ

อยากเป็นคนดีของสังคม

แต่มันเหมือนโดนเอารัดเอาเปรียบ

และฝากไปถึงพวกมีอันจะกิน พวกที่สมัครเล่นๆ หรือพวกที่ไม่มีสิทธิ์จะได้รับ

มึงเก่งในการกรอกข้อมูล วิธีในการกรอก

มึงมาแย่งคนที่เขาเดือดร้อนทำไม คนที่ค้าขายจริงๆ มึงรู้ไหม อะไรน่ากลัวกว่าโควิด

ความเห็นแก่ตัวของพวกมึงไง

กูฝากให้มึงไปคิดด้วยนะ…”

 

ภายหลังจากที่คลิปวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะ

ต่างมีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความเห็นด้วยเป็นจำนวนมาก

แน่นอน หนุ่มพ่อค้าปลาทูคนนี้ เป็นหนึ่งในประชาชนกว่าสิบล้านคน ที่พลาดหวังจากการได้เงินเยียวยาจากรัฐบาล ผ่านโครงการ เราไม่ทิ้งกัน

และเริ่มทยอยแสดงปฏิกิริยาไม่พอใจออกมา

ทั้งผ่านโลกเสมือนจริง และโลกแห่งความเป็นจริง

โลกแห่งความเป็นจริง จุดหนึ่งก็คือ กระทรวงการคลัง

มีประชาชนเดินทางมาร้องเรียนถึงการไม่ได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาท หลังลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com

โดยบางรายไม่ได้รับเงิน

บางรายถูกตัดสิทธิ์เป็นเกษตรกร ทั้งที่เจ้าตัวบอกว่าไม่มีที่ดินในการทำกิน ทำอาชีพขับรถรับจ้างมาโดยตลอด

ประชาชนบางรายถึงกับร่ำไห้ออกมา เพราะหวังอยากได้เงินดังกล่าวไปใช้จ่ายประทังชีวิตในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่ไม่ได้

พร้อมทั้งแสดงความข้องใจถึง AI ว่าคือเครื่องมือพิเศษ ในการกลั่นกรองจริงหรือ

 

คําถามอันอื้ออึงนั้น เกิดกับผู้เชี่ยวชาญในวงการปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ด้วย

เพราะเมื่อกล่าวถึง AI สิ่งที่สื่อออกมาจากคำนี้ มักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่มีความอัจฉริยะ เลียนแบบความฉลาดของมนุษย์

ด้วยเพราะมันมี “ต้นแบบ” ซึ่งก็คือ “ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data”

ที่นำมาหาความสัมพันธ์ หรือประมวลผลเชิงลึก หลายๆ ชั้น

ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้เลย

แทบไม่จำเป็นต้องผ่านการพิจารณาจากมนุษย์อีก

ตรงกันข้ามบางเรื่องการตัดสินใจเกิดโดยมนุษย์ อาจจะทำให้ดำเนินการได้ช้าเกินไป ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง

AI สามารถเข้ามาปิดจุดอ่อนตรงนี้ได้

ความลึกล้ำ และเลอเลิศเท่ากับหรือเหนือกว่าคนนี้เองเมื่อถูกประกาศ จากกระทรวงการคลังว่า จะนำ AI มาใช้ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน โดยมอบเงิน 5,000 บาทต่อเดือนเป็นจำนวน 3 เดือนให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด

ประชาชนที่แห่ไปลงทะเบียนกว่า 27 ล้านคน จึงมีความหวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม

หรือแม้จะถูกตัดสิทธิ์ก็ควรถูกตัดสิทธิ์ด้วยเหตุผลที่เป็นธรรม

ตรงข้อเท็จจริง

 

แต่พอผลทยอยออกมา เสียงบ่น เสียงความข้องใจ ว่า ทำไมไม่ได้ 5,000 บาท ก็ดังกระหึ่ม

กลายเป็นคำถามคาใจสำหรับผู้ลงทะเบียน

บางคนแจ้งเป็นอาชีพรับจ้าง ลงทะเบียนแล้วกลับไม่ได้ โดยอ้างว่าเป็นเกษตร

บางอาชีพอิสระไม่มีนายจ้าง แต่ลงทะเบียนแล้ว กลับกลายเป็นนายจ้างเสียเอง

และบางอาชีพลงทะเบียนแล้วไม่ได้ เพราะอ้างว่าเป็นนักศึกษา ทั้งๆ ที่เรียนจบประกอบอาชีพมานานแล้วหลายปี

จนหลายคนตั้งคำถามว่า AI คัดกรองจริงหรือ และคาดว่าจะมีการร้องเรียนจำนวนมาก

ในตอนแรกๆ แทนที่จะได้คำอธิบายจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ประชาชนกลับได้รับการตอบโต้จากผู้ดูแลระบบลงทะเบียนเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน

อาทิ นายสมคิด จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และที่ปรึกษา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย

โดยไปเขียนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Chao Jiranuntarat” ว่า

…คิดแบบไทยๆ อยู่แบบไทยๆ ทำแบบไทยๆ

เกิดโรคโควิด-19 ระบาด จะปิดเมืองก็บ่นว่าทำมาหากินไม่ได้ ยังไม่ทันเป็นโควิด จะตายเพราะอดตายกันเสียก่อน

ไม่ปิดเมืองก็บอกไม่เข้มแข็ง ชักช้า จะพากันตายเพราะโควิดระบาดกันหมด

ห้ามชุมนุม ก็ไปมั่วสุมกินเหล้ากันตามชายหาด

บอกยังไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังไม่มีเคอร์ฟิว ไม่มีเคอร์ฟิว ก็บอกมาตรการไม่เข้มข้น

พอมีเคอร์ฟิวก็บอกไม่สะดวก ฝ่าฝืนกันเป็นพัน

ไม่มีเงินแจกก็บอกจะอดตายกันหมดแล้ว จะแจก 3 ล้าน ก็บอกน้อยไป จะแจก 9 ล้าน ก็บอกจะเลือกยังไง ลงทะเบียนไปกว่า 20 ล้าน

จะเลือกอาชีพที่จะแจก ก็บอกอีกว่าแล้วอาชีพที่ฉันทำก็กระทบ ทำไมไม่ได้ ให้กรอกอาชีพละเอียด ก็บอกถ้าไม่ให้ แล้วให้กรอกทำไม

ไม่ได้เงินก็บอกจะอดตายแล้ว ทำไมไม่เห็นใจ

ได้เงินแล้วก็มาอวดว่ารวยแล้ว ลงทะเบียนเล่นๆ ทำไมถึงได้

ก็อยากจะถามเหมือนกันว่า ถ้าบอกว่าอาชีพนี้จะได้ อาชีพนี้จะไม่ได้ จะมีใครลงทะเบียนอาชีพที่จะไม่ได้มั้ย แล้วจะเปลี่ยนอาชีพตัวเองตอนลงทะเบียนมั้ย

ถามมากไปก็บอกข้อมูลส่วนบุคคล ถามไปทำไม แต่ถ้าถามน้อยไปแล้วจะเลือกกันยังไง

#หงุดหงิดกับคนได้เงินแล้วมาเยาะเย้ย #น่าจะจับมาเข้าคุกหากข้อมูลที่ให้ตั้งใจเป็นเท็จ

 

ยิ่งไปกว่านั้น นายสมคิดยังมีคำอธิบายกรณีมีผู้ตั้งคำถามว่า เว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ใช้ระบบ AI ในการคัดกรองคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนจริงหรือไม่

โดยนายสมคิดแจงว่า

“มีผู้ถามมามากว่า ระบบการคัดกรองเป็น AI จริงหรือไม่

ถ้าตอบตามความหมายของ AI ในปัจจุบัน คิดว่าคงไม่ใช่ AI

แต่เป็นการให้ระบบไปตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กำหนด

โดยอาจไปตรวจสอบกับข้อมูลภาครัฐอื่นๆ ตามเงื่อนไข ซึ่งข้อมูลภาครัฐอื่นๆ ที่ไปตรวจสอบอาจไม่ได้สมบูรณ์ 100%

จึงเป็นกรณีที่หลายคนกังขาว่าทำไมคนนี้ได้ คนโน้นไม่ได้

ซึ่งแม้ผมไม่ได้มีส่วนในการคัดกรอง เพราะการคัดกรองที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภาครัฐเป็นเรื่องที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยภาครัฐเท่านั้น

ผมก็เชื่อว่ากระทรวงการคลังต้องการให้เงินชดเชยสามารถกระจายไปให้ผู้ที่เหมาะสมมากที่สุด สิ่งที่ทุกคนบอกกล่าว หรือบ่นมาก็เป็นส่วนสำคัญให้การคัดกรองมีการปรับให้ตรงตามเป้าหมายมากที่สุด ได้แต่ให้กำลังใจทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายให้และฝ่ายรอรับ”

 

คําอธิบายนี้ ทำให้สังคมกระจ่างขึ้นว่า มิใช่ระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่จะประมวลข้อมูลได้อย่างครบถ้วน

หากแต่เป็นเพียงขั้นตอนคัดกรองให้ผ่านข้อมูลภาครัฐเท่านั้น

ข้อมูลจึงออกมาให้คนบ่นพึมดังกล่าว

และทำให้ประชาชนจำนวนมากเดินทางไปร้องเรียนที่กระทรวงการคลัง

เป็นของร้อนให้นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลัง แก้ไข

โดยนายประสงค์ขอให้ผู้ที่ลงทะเบียนไว้และยังไม่ได้รับเงิน หรือถูกปฏิเสธกลับไปดำเนินการในช่องทางออนไลน์

และยืนยันว่าจะดูแลคนที่ลงทะเบียนเพื่อให้ได้รับเงินเยียวยาตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ส่วนคนที่ถูกตัดสิทธิ์ว่าเป็นเกษตรกรนั้นเพราะกระทรวงการคลังกำลังมีแนวทางช่วยเกษตรกร ซึ่งรับทราบแล้วว่าบางคนไม่ได้เป็นเกษตรกรแต่มีชื่อลงทะเบียนเกษตรกรไว้

กรณีคนขับแท็กซี่ มีพ่อ-แม่เป็นเกษตรกรไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรและใส่ชื่อลูกไว้ในฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งถูกตัดสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5 พันบาทไปนั้น กรณีนี้หากลูกไม่เคยเป็นเกษตรกร ให้มาอุทธรณ์ ให้ยื่นหลักฐานคือใบอนุญาตขับขี่แท็กซี่ คลังจะคืนสิทธิ์ให้

“ขอให้ใจเย็นๆ กระทรวงการคลังยินดีจ่ายเงินช่วยเหลือกลุ่มที่เดือดร้อนทุกคน และไม่อยากให้เดินทางมากระทรวงการคลัง เพราะไม่สามารถรับเรื่องอะไรได้ เนื่องจากต้องดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น” นายประสงค์ระบุ

และว่า สำหรับคนที่ถูกตัดสิทธิ์ กระทรวงการคลังจะเปิดให้อุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com พยายามเปิดให้อุทธณ์ในวันที่ 19 เมษายน หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 22 เมษายน โดยขอคัดกรองคนที่ลงทะเบียนไว้ 27 ล้านคนให้แล้วเสร็จก่อน หลังส่งคำร้องอุทธรณ์แล้วจะพิจารณาให้เร็วที่สุดภายใน 7 วัน

 

ดูตามนี้แล้ว เรื่องเงิน 5,000 บาท น่าจะไม่จบลงง่ายๆ

ยิ่งกว่านั้น ยังบั่นทอนขวัญกำลังใจของชาวบ้านให้ตกต่ำไปอีก

เพราะในส่วนของภาครัฐ ดูเหมือนจะกระทำตนเป็น “สถาบันสถาปนา” ที่จะพิพากษาว่าใครได้-ไม่ได้

แถมเทคโนโลยี AI ที่ใช้ นั่นก็เป็นเพียงตะแกรงคัดกรอง ไม่อาจสร้างความเป็นธรรมได้

กลายเป็นเรื่องของ I ที่วินิจฉัยในแง่บุคคลและใส่อารมณ์มองชาวบ้านคือผู้ที่รอการสงเคราะห์

ทั้งที่เงินก็เป็นเงินภาษีของทุกคนและมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลจาก “รัฐ”

จึงไม่แปลก ปฏิกิริยาแบบหนุ่มพ่อค้าปลาทู จะเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลต้องรีบแก้

            เพราะคนอีกนับล้านๆ ที่อยู่ในภาวะเดียวกันกำลังจ้องเขม็งอยู่!