Covid-19 ความท้าทายรัฐบาลมาเลเซีย ภายใต้การนำนายกฯ คนใหม่

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

1 มีนาคม 2563 มาเลเซียมีนายกรัฐมนตรีใหม่ (คนที่ 8) ที่มีนามว่า Tan Sri Muhyidddin Mohd Yassin แทนที่ Tun Mahathir Muhammad ท่ามกลางเกมพลิกไปพลิกมา นาทีต่อนาที ระหว่าง Mahathir กับ Anwar Ibrahim ที่ Mahathir เคยสัญญาว่าจะส่งต่อให้เมื่อสองปีที่ผ่านมาเพื่อคว่ำ Tan Sri Najib อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 6

อย่างไรก็แล้วแต่ ตาอยู่อย่าง Muhyiddin ก็คว้าพุงปลาไปกิน โดยอาศัยอำนาจราชาธิบดีฝ่าวิกฤต หลังจากนั้น Mahathir แถลงข่าวว่าเขาพลาดเองในเกมการเมืองครั้งนี้ หรือแกล้งพลาด

ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อ Muhyiddin ได้เป็นนายกรัฐมนตรี นักวิชาการทั้งในและต่างประเทศมองว่า ท่านอาจจะต้องเผชิญความท้าทายในความสามารถเพื่อแก้ปัญหาหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ

ความท้าทายในการฝ่าวิกฤต Covid-19

หากดู Covid-19 ที่มาเลเซียตั้งแต่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 (ก่อน Muhyiddin รับตำแหน่งไม่กี่วัน) กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียเปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อ Covid-19 รายที่ 23 ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นหญิงวัย 53 ปี ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น

แต่ถึงวันนี้ (29 มีนาคม 2563) มีผู้ติดเชื้อถึง 2,470 คน มีผู้รักษาหาย 388 คน เสียชีวิต 34 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 150 คน รวมยอดทั้งหมด 2,470 คน มี 73 คนที่ต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู

ในนี้มี 52 คนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

อาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ (อาจารย์ชาวไทยที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมาลายาและติดตามเรื่องนี้อย่างเกาะติด) ให้ข้อมูลว่า

จากการติดตามแนวทางแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในมาเลเซีย ขอสรุปว่ามีการใช้ 3 แนวทาง นั่นคือ “หยุดคนให้อยู่กับที่ จับตรวจกลุ่มเสี่ยงอย่างเข้มข้น และเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล”

หยุดคนให้อยู่กับที่ ก็คือการประกาศมาตรการ Movement Control Order MCO ที่มีผลออกมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ ตามรายงานจากรัฐมนตรีอาวุโสด้านความมั่นคงระบุว่า ประชาชน 95% ปฏิบัติตามมาตรการ มีเพียง 5% เท่านั้นที่ฝ่าฝืน เช่น ออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง จับกลุ่มออกมาคุยกันนอกบ้าน และมีการจับกุม ลงโทษ ปรับ และขังได้จำนวนหนึ่ง

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศทุ่มงบประมาณจำนวน 250,000 ล้านริงกิต เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่มในโครงการ PRIHATIN Package (Prihatin หมายถึงความห่วงใย) แบ่งเป็น 1 แสนล้านริงกิตเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และอีก 2,000 ล้านริงกิตเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ

ที่เหลือเป็นการช่วยเหลือประชาชนโดยตรง ประกอบด้วย

1. แจกเงิน 1,600 ริงกิตให้กับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 4,000 ริงกิตต่อเดือน จำนวน 4 ล้านครอบครัว โดยแบ่งเป็น 1,000 ริงกิตในเดือนเมษายน และอีก 600 ริงกิตในเดือนพฤษภาคม

2. แจกเงิน 1,000 ริงกิตกับครอบครัวที่มีรายได้ 4,000-8,000 ริงกิต จำนวน 1.1 ล้านครอบครัว โดยแบ่งเป็น 500 ริงกิตในเดือนเมษายน และอีก 500 ริงกิตในเดือนพฤษภาคม

3. แจกเงิน 800 ริงกิตกับคนโสดอายุ 21 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้เดือนละ 2,000 ริงกิตลงมา จำนวน 3 ล้านคน โดยจะให้ 500 ริงกิตในเดือนเมษายน และอีก 300 ริงกิตในเดือนพฤษภาคม

4. แจกเงิน 500 ริงกิตกับคนโสดอายุ 21 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ 2,000-4,000 ริงกิต จำนวน 4 แสนคน แบ่งเป็น 250 ริงกิตในเดือนเมษายน และอีก 250 ริงกิตในเดือนพฤษภาคม

และให้ความช่วยเหลือกับภาคส่วนอื่นๆ อีก เช่น กระทรวงสาธารณสุข แจกเงินให้นักศึกษา 200 ริงกิต พนักงานของรัฐ 500 ริงกิต ลดค่าไฟฟ้า อินเตอร์เน็ตฟรี รวมทั้งให้เงินพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ทำงานในแนวหน้าทุกกลุ่ม เป็นต้น โครงการนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงเวลาของการใช้มาตรการ MCO

จากโครงการนี้จะเห็นได้ว่าการแจกเงินจะแบ่งเป็น 2 เดือนคือเมษายนและพฤษภาคม แสดงให้เห็นว่ามาเลเซียเตรียมที่จะขยาย MCO ไปอีกอย่างน้อยถึงเดือนพฤษภาคม

ส่วนการจับตรวจกลุ่มเสี่ยงอย่างเข้มข้น มาเลเซียมีการตรวจหาเชื้อไวรัสต่อจำนวนประชากรนับเป็นรายหัวสูงสุดในอาเซียนและสูงกว่าหลายประเทศในยุโรป โดยอยู่ที่ 482 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่ชาติอาเซียนอื่นๆ จะอยู่ที่ 6-109 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

ขณะนี้สามารถตรวจได้วันละ 7,500 คน และในสัปดาห์หน้าจะเพิ่มเป็น 16,500 คนต่อวัน

โดยนับจนถึงวันที่ 28 มีนาคม มีการตรวจไปแล้วทั้งหมด 35,516 คน ผลเป็นบวก 2,320 คน ผลเป็นลบ 24,727 คน

ยังรอผลตรวจอีก 8,459 คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วมีผู้ติดเชื้อ 8.58% จากที่มีการตรวจทั้งหมด

มาเลเซียเพิ่งได้รับชุดตรวจหาเชื้อไวรัสจากรัฐบาลจีนที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) แล้วจำนวน 1 แสนชุด และสั่งซื้อชุดตรวจที่ทราบผลเร็วขึ้นจากเกาหลีใต้อีกจำนวน 2 แสนชุด ในราคา 22-25 ริงกิตต่อชุดเท่านั้น การตรวจหาเชื้อในจำนวนที่มากและทราบผลได้เร็วจะช่วยรักษาผู้ป่วยได้ทัน ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ โดยในปลายสัปดาห์ที่แล้วอัตราการเสียชีวิตในมาเลเซียอยู่ที่ 0.77% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 4.4% แล้ว ต่ำกว่าประมาณ 2%

นอกจากนี้ การตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเข้มข้นทำให้พบผู้ติดเชื้อสูงตามมา แนวทางนี้เกาหลีใต้เคยใช้ได้ผลมาแล้ว และมาเลเซียกำลังเดินตามแนวทางของเกาหลีใต้

การเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลขนาด 3,500 เตียง และโรงพยาบาลสนาม

ขณะนี้โรงพยาบาล Sungai Buloh ในเขตชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ ถูกปรับเป็นโรงพยาบาลหลักที่รับผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเดียว มีทั้งหมด 1,350 เตียง และโรงพยาบาลอื่นๆ กระจายไปทุกรัฐ

พร้อมทั้งเตรียมโรงพยาบาลอีก 33 แห่งทั่วประเทศจำนวน 3,000 เตียง และโรงพยาบาลสนาม โดยใช้ศูนย์แสดงสินค้า Taman Ekspo Pertanian Malaysia Serdang (MAEPS) ซึ่งเป็นศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ เป็นสถานที่กักตัวและรองรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงทั้งหมด 600 เตียง

แบ่งเป็นเพศชาย 400 เตียง และเพศหญิง 200 เตียง ไว้รองรับคลื่นลูกที่สามของการระบาดของโควิด-19

มาตรการทั้งหมดเห็นความร่วมมือจากพรรคฝ่ายค้านที่หยุดพูดเรื่องการเมืองมาเลเซีย ทั้งๆ ที่ช่วงแรกที่นำโดยนายอันวาร์ อิบรอฮิม และแนวร่วมออกมาโจมตีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต่างๆ นานา นายอันวาร์ อิบรอฮิม ออกรายการสดทุกวันผ่าน Facebook แนะนำให้ทุกคนร่วมมือกันทำงานเพื่อชาติในการฝันฝ่าวิกฤตครั้งนี้

ตั้งแต่รณรงค์การเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยคำว่า Duduk Rumah อยู่บ้าน ทำศาสนกิจที่บ้าน กับครอบครัว แทนทำกิจกรรม ศาสนพิธีที่มัสยิด แม้แต่ท่านยังรณรงค์ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่บ้านกับครอบครัว กับหลานๆ ไม่ว่าทำอาหาร เล่นกีฬา ทำสวนและอื่นๆ อันเป็นแบบอย่างที่ดี งดงานบุญ งานแต่ง งานศพที่เป็นวิถีชีวิตปกติซึ่งไม่ใช่ง่ายสำหรับคนมลายูมุสลิมมาเลเซีย

ราชาธิบดีอับดุลเลาะ ลงถนนอย่างไม่ถือพระองค์โดยรณรงค์ให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ซึ่งได้ใจมวลมหาประชาชนมากๆ หลังจากก่อนหน้านี้ออกมาแก้วิกฤตการแย่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศ

นายกรัฐมนตรีออกรายการแถลงมาตรการด้วยท่านเอง ด้วยคำที่สุภาพอ่อนน้อม รวมทั้งขอพรด้วยบทขอพรภาษาอาหรับสลับมลายูที่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนไหนเคยทำ ยิ่งสร้างกำลังใจและความเชื่อมั่นให้ประชาชนมาเลเซีย ในเพจ Fcebook ท่านก็ออกมาตอบคำถามด้วยวิทยปัญญา

ผู้นำศาสนาสูงสุดของมาเลเซียครั้งนี้ (อาจจะถูกที่ถูกเวลาแม้เป็นคนนอกไม่สังกัดพรรค) ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีด้านกิจการศาสนา ทำงานอย่างแข็งขัน บูรณาการระหว่างหลักการศาสนากับสาธารณสุขอย่างลงตัว

มีการอบรมแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุขให้เข้าใจหลักปฏิบัติศาสนาไปพร้อมกันเมื่อต้องทำพิธีทางศาสนาเมื่อจะจัดการศพ และทำคลิปขั้นตอนต่างๆ ให้เข้าใจง่ายและถูกแชร์ทั่วโลก แม้แต่ 2 ศพมุสลิมชายแดนใต้ที่เสียชีวิตยังนำคลิปนี้มาปฏิบัติเพราะเห็นภาพง่าย (แม้สำนักจุฬาราชมนตรีจะส่งวิธีปฏิบัติให้แล้ว แต่เป็นแค่ตัวหนังสือ อาจเข้าใจยาก)

ความที่มาเลเซียเป็นการปกครองที่กระจายอำนาจ แต่ละรัฐมีอำนาจการจัดการตนเองสูง ทุกหน่วยงานราชการขึ้นตรงผู้ว่าการรัฐจึงยิ่งทำให้การจัดการมีความคล่องตัวสูง

อาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ ยังเสริมอีกว่า สำหรับคนไทยในมาเลเซียประกอบด้วย 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. คนไทยที่แต่งงานกับคนมาเลเซีย มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก

2. กลุ่มนักศึกษาไทยประมาณ 1,100 คนที่ติดค้างตามหอพักของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทางมหาวิทยาลัยให้การดูแล มีอาหารฟรี 3 มื้อต่อวัน กลุ่มนี้ไม่น่ากังวลเช่นกัน

3. กลุ่มคนไทยที่ทำงานในบริษัทข้ามชาติประมาณ 5,000-6,000 คน กลุ่มนี้มีเงินเดือนประจำ และยังทำงานในลักษณะ Work from Home

4. เป็นแรงงานในร้านอาหารต้มยำ แรงงานประมง สวนปาล์ม ผีน้อย จำนวนนับแสนคน มากกว่า 3 กลุ่มข้างต้นรวมกัน

ดังนั้น กลุ่มที่ 4 จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากมาเลเซียขยายเวลาการปิดประเทศออกไปอีก

เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วเป็นลูกจ้างรายวัน ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ เพราะด่านทางบกทุกด่านของไทยปิดหมด หลายคนกำลังเดือดร้อนเนื่องจากขาดเสบียงยังชีพ เงินเริ่มหมด

เรื่องนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลไทยและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องขบคิดว่าจะช่วยแรงงานไทยเหล่านี้อย่างไร จะมีการเปิดด่านให้คนไทยกลุ่มนี้กลับบ้านได้หรือไม่

และมีมาตรการกักตัวตามที่กำหนด หรือถ้าจะให้พวกเขาอยู่ในมาเลเซียไปก่อนจนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ จะมีมาตรการอะไรบ้างเพื่อช่วยเหลือพวกเขาเหล่านี้

เป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันสมาคมจันทร์เสี้ยวแห่งประเทศไทย นำโดยหมอกิ๊ฟลัน ดอเลาะ (หมอขวัญใจมหาชนชายแดนใต้) ได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซีย โดยมีอาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ (อาจารย์ชาวไทยที่สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมาลายาและติดตามเรื่องนี้อย่างเกาะติด) เป็นเลขานุการเพื่อประสานงานช่วยเหลือเบื้องต้น

อนึ่ง แรงงานไทยประมาณ 280 คน หลังจากไทยก็ปิดทุกด่านเมื่อ 28 มีนาคม 2563 ได้รับการอนุโลมเข้าจากด่านบ้านวังประจัน จังหวัดสตูล ซึ่งจังหวัดสตูลเป็นเพียงจังหวัดเดียวที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ Covid-19 จากห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น ต้องช่วยกันทุกภาคส่วน และเฝ้าระวังมากที่สุดหลังจากนี้

สําหรับสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สถานการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีคนเสียชีวิตแล้วสองคน

โรงพยาบาลบันนังสตา จังหวัดยะลา ถูกประกาศปิด เพราะหมอกับพยาบาลสามคนติดเชื้อด้วย โรงพยาบาลยะลา และยะรัง จังหวัดปัตตานี กำลังจะรับผู้ป่วยไม่ได้ (เพราะเตียงไม่เพียงพอ) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนแรกๆ ที่นำเชื้อมาจากคนไทยในมาเลเซีย ที่กลับมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคน ไม่นับรวมที่กลับมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง และนักศึกษาไทยในต่างประเทศจากจังหวัดชายแดนภาคใต้จากทั่วโลกที่จะทยอยกลับมาอีก

ดังนั้น จังหวัดชายแดนภาคใต้ผลกระทบหนักกว่าที่คิด กลัวอย่างเดียวว่า ระบบสาธารณสุขชายแดนใต้จะพังคือขาดคนทำงาน โดยเฉพาะหมอ พยาบาล และอุปกรณ์ไม่พอ ไม่ว่าชุด เตียง ยา ซึ่งตอนนี้ทุกตำบลเริ่มใช้มาตรการจัดการตนเอง เช่น ความร่วมมือของผู้นำสี่เสาหลักอันเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ชายแดนภาคใต้

หวังว่า รัฐบาลใหม่มาเลเซียจะสามารถฝันฝ่าวิกฤต Covid-19 นี้ได้โดยเร็ว อันจะส่งผลต่อชายแดนใต้ในภาพรวมด้วยเช่นกัน