โลกร้อนเพราะมือเรา : สถิติมีไว้ทำลาย อภิมหาร้อนสุดเป็นประวัติการณ์

นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันเพื่อการศึกษาอวกาศก็อดดาร์ดขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซ่า) เปิดเผยสถิติโลกร้อนล่าสุดของเดือนมกราคมปี 2560 เป็นเดือนมกราคมที่มีอุณหภูมิร้อนสุดเป็นครั้งที่สามในรอบ 137 ปี

สถิตินี้เก็บรวบรวมจากอุณหภูมิโลกยุคปัจจุบันเท่าที่มีการจดบันทึกไว้

เดือนมกราคมที่เพิ่งผ่านมา อุณหภูมิร้อนขึ้น 0.20 องศาเซลเซียส เปรียบเทียบกับเดือนมกราคมปี 2559 อุณหภูมิต่ำกว่าเล็กน้อย แต่เมื่อเอาไปเปรียบกับเดือนมกราคม ระหว่างปี 2494-2523 อุณหภูมิสูงกว่า 0.92 องศาเซลเซียส

นาซ่าให้ข้อสังเกตว่า อุณหภูมิของเดือนมกราคมปีที่แล้วกับมกราคมปีนี้ มีความผิดปกติ เพราะทั้งสองปีอุณหภูมิสูงขึ้น ติดอันดับสูงสุด 2 ใน 3 ของเดือนมกราคมในรอบ 137 ปี

กล่าวคือ อุณหภูมิเดือนมกราคมปี 2559 ทำสถิติร้อนที่สุดเท่าที่มีการจดบันทึกไว้ อยู่ที่ 1.12 องศาเซลเซียส

อันดับสอง ปี 2550 อุณหภูมิอยู่ที่ 0.96 องศาเซลเซียส

ตามด้วยอันดับสาม เดือนมกราคมปีนี้

 

การจดบันทึกอุณหภูมิของนาซ่า จัดทำอย่างละเอียดด้วยการนำข้อมูลของสถานีอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก 6,300 แห่งมาวิเคราะห์และประมวลผล

ข้อมูลดังกล่าวนี้รวมผลการตรวจวัดทั้งอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและสถานีวิจัยขั้วโลกเหนือ

ก่อนหน้า นาซ่าได้เปิดเผยสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 2559 ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจดบันทึกเมื่อปี 2423

เมื่อไล่ย้อนจากปี 2559 ถึงปี 2557 อุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกสถิติต่อเนื่องกันเป็นปีที่สาม

ปีนี้มีเค้าลางว่า จะทำลายสถิติอีกรอบเพราะแค่อุณหภูมิเฉพาะเดือนมกราคม ก็พุ่งกระโดดติดอันดับต้นๆ แล้ว

สถิติมีไว้ทำลายจริงๆ

 

แต่การทำลายสถิติอย่างนี้ ชาวโลกฟังแล้วไม่รื่นหู เพราะนั่นเป็นสัญญาณร้าย

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น อิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดมวลน้ำอุ่นผิดปกติในหลายจุดของมหาสมุทรแปซิฟิก

ปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลก และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

แต่ “เอลนีโญ” เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัญหา ต้นตอจริงๆ มาจากฝีมือชาวโลกที่ร่วมทำกิจกรรมปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนชั้นบรรยากาศมีความเข้มข้น

อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นจนทำลายสถิติต่อเนื่องเช่นนี้ ชี้ชัดว่า โลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1 องศาเซลเซียสจากระดับในช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

แถมยังเป็นสถิติที่ขยับเข้าใกล้เกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งรัฐบาลทั่วโลกร่วมลงนามในสัญญาลดโลกร้อนที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

 

กลับมาที่บ้านเรามั่ง กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าวันที่ 3 มีนาคมเป็นต้นไป ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิพุ่งสูงในช่วงกลางวัน บางภาคทะลุ 40 องศาเซลเซียส และอากาศจะร้อนยาวไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม

อากาศร้อนระอุอย่างนี้ ให้ระวังสุขภาพกันไว้ ไม่จำเป็นอย่าไปยืนกลางแดดเปรี้ยงๆ ส่วนชาวไร่ชาวนา เตรียมหาแหล่งน้ำสำรองรับมือกับภัยแล้ง คาดว่าอาจรุนแรงไม่น้อยกว่าปี 2559 ซึ่งมีความแห้งแล้งกินพื้นที่ 48 จังหวัดทั่วประเทศ

ปิดท้าย ขอฝากไปถึงรัฐบาล กรณีอนุมัติให้กรมธนารักษ์ ก่อสร้างคอนโดมิเนียม 8 ชั้นในซอยพหลโยธิน 11 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ทบทวนโครงการนี้อย่างละเอียดรอบคอบอีกสักครั้งก่อนจะเกิดผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมของเมือง

โครงการดังกล่าว มีข้อน่าสงสัยตั้งแต่แรกว่า รัฐบาลอนุมัติไปได้อย่างไรเพราะพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในซอยแคบๆ เล็กๆ เป็นเขตที่ชุมชนอยู่กันหนาแน่นแออัดมาก

การนำพื้นที่เช่นนี้มาก่อสร้างตึกสูงเป็นที่พักอาศัย ควรจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นอันดับแรก

อาคารสูง 8 ชั้น 2 หลัง มีห้องพักรวม 432 ยูนิต นั่นหมายถึงต้องมีคนเข้ามาอยู่เพิ่มในซอยอีก อย่างต่ำๆ 432 คน

ในจำนวน 432 คน ถ้ามีรถยนต์ส่วนตัวครึ่งหนึ่ง ปาเข้าไป 200 กว่าคัน

พื้นที่โครงการมีแค่ 2 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา จะสร้างที่จอดรถ ไม่คุ้มแน่นอนเนื่องจากกรมธนารักษ์ปล่อยให้ข้าราชการเช่าห้องละ 4 พันบาทเท่านั้น ขณะที่ราคาที่ดินในบริเวณนั้นตารางวากว่า 2 แสนบาท

หากไม่มีที่จอดรถ คนที่เข้าพักอาศัยในคอนโดฯ ต้องไปหาที่จอดในซอยใกล้เคียงซึ่งแคบเล็กอยู่แล้ว ยิ่งทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดมากขึ้นไปอีก

ทุกวันนี้ ระบบผังเมืองของกรุงเทพมหานครสุดแย่ การจราจรเลวร้ายที่สุดในโลก

การสร้างตึกสูงในซอยแคบๆ มีผู้คนอยู่กันหนาแน่น จึงควรเป็นเรื่องต้องห้าม

น่าแปลก รัฐบาลดันกลับทำเป็นตัวอย่างเสียเอง แทนที่จะคุมเข้มไม่ให้ผังเมืองและการจราจรเละตุ้มเป๊ะไปกว่านี้

หรือว่าโครงการนี้มีกลิ่นตุๆ อยู่ข้างหลัง?