เชิงบันไดทำเนียบ : ฟื้นศรัทธา สร.1-ทบ.1 ‘บิ๊กตู่’ ยึดอำนาจพรรคร่วม ‘บิ๊กแดง’ เคลียร์สนามมวย

นับจากสัปดาห์ก่อน ‘บิ๊กตู่’พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ได้เปิดทำเนียบฯ ต้อนรับ ‘คณาจารย์ด้านการแพทย์’ นั่งโต๊ะกลมหารือและประเมินสถานการณ์ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ‘บิ๊กตู่’ มีอาการเป๋น้อยลง รวมทั้งสามารถจัดการสิ่งต่างๆได้มากขึ้น
.
ผ่านมาเพียง 1 สัปดาห์ ได้ใช้ยาแรง ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น 1 เดือน โดยตามกฎหมายแล้วสามารถใช้ได้ 3 เดือน แล้วขอที่ประชุม ครม. อนุมัติเป็นรายครั้งไป ทำให้อำนาจสูงสุดอยู่ในมือ ‘บิ๊กตู่’ เปรียบเป็นการ ‘กระชับอำนาจ’ จากมือนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลทันที โดยการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้ง ‘ปลัดกระทรวง’ ขึ้นมาทำงานสายตรงถึงนายกฯ เพราะปลัดกระทรวงถือเป็นเบอร์ 1 ของแต่ละกระทรวง ในฐานะข้าราชการประจำ ที่รู้งานในหน้าที่ดี

จากนั้นได้มีการตั้งศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือ ศอฉ.โควิด-19 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผอ.ศอฉ.โควิด-19 ก่อนเปลี่ยนมาเป็นศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค.โควิด-19 พร้อมตั้ง ‘บิ๊กกบ’พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด เป็น หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.)
.
สะท้อนปรากฏการณ์ ‘กระชับอำนาจ’ ของ ‘บิ๊กตู่’ ที่ก่อนหน้านี้เกิดเรื่องราวต่างๆขึ้นมาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้การบริหารจัดการไวรัส-19 มีเรื่องการเมืองที่ต้องตามแก้ตลอด ส่วนอำนาจ ‘รองนายกฯ’ หากดูจากคำสั่งนายกฯ ที่ 4/2563 ให้รองนายกฯเป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของนายกฯ และให้ปฏิบัติภารกิจตามที่นายกฯมอบหมาย
.
แน่นอนว่า 2 รองนายกฯ ที่ถูกพุ่งเป้ามาแต่แรก คือ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’รองนายกฯและรมว.กลาโหม ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์’รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งมาตรการรับมือทางสาธารณสุข รวมทั้งเรื่องสินค้าและเวชภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งทั้งคู่เป็นหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ‘ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์’ ผลลัพธ์จากการบริหารงานที่ผ่านมา เชื่อว่าต้องมีการมาสะสางกันหลังพ้นช่วงวิกฤตช่วงนี้ไปแล้ว

สิ่งที่ตอกย้ำอดีต ‘ความไร้เอกภาพ’ คือ การที่ นายกฯ อ่านแถลงการณ์ก่อนประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 วันว่า การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้ตั้งไว้แล้ว ให้เป็นหน่วยงานพิเศษ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดฯ เพื่อบูรณาการทุกส่วนราชการ และสั่งการทุกส่วนราชการได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ จำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการไว้ที่เดียว เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และขจัดปัญหาการทำงานแบบ “ต่างคนต่างทำ” ของหน่วยงานต่างๆ
.
โดยมี นายกฯ เป็นประธาน โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้า ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข , ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านการสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด – ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้า ผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านการควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์ , ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านการต่างประเทศ และการคุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ , ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านความมั่นคงการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ
.
ซึ่งคำว่า ‘ต่างคนต่างทำ’ ในสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตั้งรัฐบาลคือ ‘ต่างพรรคต่างทำ’ ตามนโยบายของตัวเอง จึงเรียกกันว่า ‘ศึก 3 ก๊ก’ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นมา ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ในบางกระทรวงมีรัฐมนตรีอยู่ถึง 3 พรรคด้วย จึงทำให้ ‘บทบาทของ’ พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ 2 รองนายกฯ ‘อนุทิน-จุรินทร์’ ในขณะนี้ลดลงทันที

แต่งานนี้ ‘บิ๊กตู่’ ก็ยังมีอีกเรื่องที่ต้องสะสาง และเป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธในฐานะ รมว.กลาโหม ในกรณีสนามมวยลุมพินี ที่อยู่ในการดูแลของ ทบ. หลังไม่ยกเลิกการจัดแข่งขัน 6มี.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากสนามมวย และเป็นสถิติลำดับต้นๆที่ สธ. แถลงออกมา แม้ว่า คณะกรรมการกีฬามวย กกท.จะออกหนังสือขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการจัดแข่งขัน ที่ออกเมื่อ 4 มี.ค. ตามมาตรการของ ครม. ที่ออกมาเมื่อวันที่ 3 มี.ค. แต่สุดท้าย สนามมวยลุมพินี ไม่เลื่อนไม่เลิกจัดการแข่งขัน 6 มี.ค.ที่ผ่านมา
.
หนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19 คือ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการ ทบ. ในฐานะนายสนามมวยเวทีลุมพินี ที่ไปชมการแข่งขันวันนั้นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการพักรักษาตัวที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ประธานอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี ทำให้ปฏิเสธความรับผิดชอบครั้งนี้ไม่ได้
.
ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ สั่งการให้ พล.ท.อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก ตั้ง ‘คณะกรรมการสอบสวน’ ขึ้นมาสอบสวน กรณีที่มีการจัดการแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ ‘ลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกร’ เมื่อ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาความผิดในการลงโทษ ซึ่งล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ได้ออกคำสั่งโยก พล.ต.ราชิต พร้อมผู้เกี่ยวข้องและรับผิดชอบสนามมวยลุมพินี มาช่วยราชการที่ บก.กองทัพบก เพื่อเปิดทางให้คณะกรรมการได้เข้าสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
.
ถือเป็นการลงดาบแรกของ พล.อ.อภิรัชต์ ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นระดับเจ้ากรม อีกทั้ง พล.ต.ราชิต เป็นเพื่อน ตท.20 จปร.31 กับ พล.อ.อภิรัชต์ ด้วย แต่ทุกอย่างยังไม่จบเพราะ พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ประธานอำนวยการสนามมวยเวทีลุมพินี ด้วย จะรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร รวมทั้ง ทบ. จะฟื้นศรัทธาจากสังคมกลับมาอย่างไร เพราะเป็นเหตุการณ์ในห้วง 1 เดือน ที่ ทบ. ต้องเสียศรัทธาจากสังคม นับจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ จ.นครราชสีมา มาจนถึงสนามมวยลุมพินี ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องมีความชัดเจนด้วย
.
ในขณะนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ก็พยายามจะฟื้นศรัทธานี้กลับมา โดยการจัดกำลังพลลงพื้นที่ 10 วันต่อเนื่อง ทำความสะอาดฆ่าเชื้อสถานที่ต่างๆใน กทม. รวมทั้งให้เตรียมพร้อม รพ.ทหาร และพื้นที่ทหารทุกแห่ง เพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆที่อาจมีความจำเป็นฉุกเฉินในอนาคตด้วย

อีกทั้งให้แต่ละหน่วยเตรียมสำรวจบุคลากรที่มีต้นกำเนิดการรับราชการทหารมาจากเหล่าแพทย์ เช่น แพทย์ พยาบาล และ นายสิบเสนารักษ์ ที่ปัจจุบันอาจไม่ได้ปฏิบัติงานอยู่ในสายงานทางการแพทย์หรือสายงานเสนารักษ์แล้ว แต่ไปบรรจุปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานต่างๆของกองทัพบก เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูล เพราะในอนาคตหากมีกรณีจำเป็นฉุกเฉิน จะสามารถเรียกตัวเข้ามาช่วยเหลือกันได้
.
ในเวลาที่ ทบ. และ รบ. ต้องเคลียร์อดีต ควบคู่ ฟื้นศรัทธาสังคม ไปพร้อมๆกัน