เศรษฐกิจ / เกษตรกรกังวลภัยแล้งแซงโควิด-19 ห่วงรัฐต้วมเตี้ยม… เศรษฐกิจเสียหายเฉียด 2 หมื่นล้าน

เศรษฐกิจ

 

เกษตรกรกังวลภัยแล้งแซงโควิด-19

ห่วงรัฐต้วมเตี้ยม…

เศรษฐกิจเสียหายเฉียด 2 หมื่นล้าน

 

ปัจจุบันปัญหาที่รัฐบาลมุ่งแก้ไขแบบเต็มกำลังคงจะหนีไม่พ้นเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งภาครัฐคงลืมไปว่า ประเทศไทยยังมีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในภาคการเกษตร ที่ต้องเร่งเข้าดูแลเหมือนกันในขณะนี้ และอาจกลายเป็นปัญหาลุกลามกินเวลายาวนาน

นั่นคือ ปัญหาภัยแล้ง ที่กำลังคืบคลานมาเงียบๆ

จากการสำรวจความกังวลของเกษตรกร และชาวสวนส่วนใหญ่ พบว่า มีความกังวลในเรื่องของภัยแล้งมากกว่าโควิด-19

เนื่องจากถ้าผลผลิตขาดน้ำ ความเสียหายก็จะตามมาอย่างมหาศาล จึงอยากให้ภาครัฐให้น้ำหนักในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้มากขึ้นกว่านี้

เมื่อย้อนดูความเสียหายที่เกษตรกรได้รับจากภัยแล้งในปี 2553 มีมูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรกรรมอันเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งจะไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท โดยอิงการคำนวณความเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง และปรากฏการณ์เอลนีโญที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540-2541 และปี 2547-2548 และหวั่นว่าปี 2563 จะย้อนกลับมาอีกครั้ง และคาดเสียหายอาจคูณสองเท่า

จากการวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่คาดการณ์ว่า ในปีนี้อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.10-0.11% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ซึ่งมากกว่าในปี 2553

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้งโดยเฉพาะในเดือนมีนาคม-เมษายน และระยะเวลาการเกิดภัยแล้งที่อาจลากยาวไปในช่วงแล้งนอกฤดูกาล จนไปกระทบต่อภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้ให้อยู่ในภาวะวิกฤตมากขึ้น

 

ส่วนความเสียหายจากโควิด-19 ถึงแม้จะยังไม่สามารถตีมูลค่าความเสียหายที่ชัดเจนได้ แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2563 จากเดิม 2.7% ลงมาอยู่ที่ 0.5% โดยได้คำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ภาครัฐอาจนำออกมาใช้เพื่อเยียวยาความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้ว ซึ่งการใช้จ่ายของภาครัฐน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางโครงสร้างเช่นในปี 2540 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

ดังนั้น ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปตามสมมุติฐาน เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้

ขณะที่ฟากภาครัฐยังยืนยันว่า ในช่วงนี้ยังไม่มีเกษตรกรได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง และการระบาดของไวรัสโควิด-19 มากนัก ซึ่งในส่วนของแผนบริหารจัดการน้ำ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ยอมรับว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าปี 2562 ราว 7,600 ล้านลูกบากศ์เมตร (ลบ.ม.) โดยมีอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% จำนวน 20 แห่ง

ดังนั้น กรมชลประทานจึงได้ให้ทุกโครงการชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการบริหารจัดการน้ำ และปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้อย่างไม่ขาดแคลน และยืนยันว่าน้ำยังมีเพียงพอต่อการเพาะปลูกอย่างแน่นอน

 

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า จากภาวะภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ต้นพืชไม่สมบูรณ์ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และลำไย รวมถึงมีผลผลิตน้อย และคุณภาพลดลง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 หรือระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2563 ลดลงมาอยู่ที่ 4.8%

อย่างไรก็ตาม สศก.คาดการณ์ว่า หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงในช่วงครึ่งปีหลัง จะทำให้หลายประเทศมีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากเริ่มมีคำสั่งซื้อข้าวไทยและสินค้าที่เป็นอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าการส่งออกในภาคเกษตรจะกลับมาสดใสอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และโควิด-19 อาทิ การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคผลไม้ภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น, การหาตลาดใหม่เพิ่มเติมจากเดิม และส่งเสริมการแปรรูปและการกระจายสินค้าเกษตรอย่างรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์

พร้อมเตรียมการรองรับแรงงานที่จะไหลกลับไปสู่ภาคเกษตร ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา โดยมีโครงการสำคัญที่แรงงานไหลกลับเข้าสู่ภาคเกษตร สามารถเข้าไปเรียนรู้และปฏิบัติตาม ได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทุกภูมิภาค

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ถือว่าสร้างความแตกตื่นให้กับประชาชน คือประกาศของคณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติปิดห้างสรรพสินค้า และตลาดทั่วกรุงเทพฯ ยกเว้นให้เปิดโซนซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านยา และร้านอาหารที่ให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น ส่วนตลาดยกเว้นของสด ของแห้งขายได้ บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม-12 เมษายน 2563 นั้น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป มีมุมมองในประเด็นนี้ว่า สำหรับการประกาศปิดสถานที่ดังกล่าว ยังไม่ได้รับผลกระทบกับภาคการผลิต และภาคการเกษตรแต่อย่างใด เพราะภาคการผลิตและภาคการเกษตรยังเป็นปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างมาก หากมีการหยุดชะงัก หรือหยุดการผลิต ยิ่งจะเป็นการสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนมากขึ้นอีกด้วย

ในส่วนของแรงงานภาคเกษตร ยืนยันว่ายังมีการเพาะปลูกตามปกติ เพราะพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ยังไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงการเกิดโรคระบาด และการทำการเกษตรสมัยใหม่ ไม่มีการทำงานแบบใกล้ชิดกันอยู่แล้ว จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะหยุดการเพาะปลูกแต่อย่างใด

สำหรับข้อเสนอแนะที่อยากเสนอต่อภาครัฐ คือในเรื่องของการประกาศต่างๆ ควรใช้บุคคลเดียวในการสื่อสาร และควรขึ้นต้นด้วยการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ ทั้งในเรื่องของการแพร่ระบาดและภัยแล้ง และต้องทำความเข้าใจว่าในประเทศไทยมีกลุ่มคนอยู่หลายกลุ่ม ถ้าเป็นภาคธุรกิจ จะมีความกังวลในเรื่องโควิด-19 แต่ในกลุ่มเกษตรกร จะมีความกังวลในเรื่องของภัยแล้ง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีการบริหารทั้ง 2 เรื่องนี้ รวมถึงปัญหาอื่นๆ ให้ครอบคลุม เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากคนในประเทศให้กลับมาโดยเร็ว

ถึงแม้ว่าภาครัฐจะงัดมาตรการออกมาสู้ภัยแล้งบ้างแล้ว แต่ดูเหมือนยังไม่มากพอที่จะดับความทุกข์ร้อนของเกษตรกรได้ และเหมือนว่าในยามนี้จะถูกไวรัสโควิด-19 ปิดปัญหานี้เสียเกือบมิด ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ภาครัฐจะบูรณาการให้ทั้ง 2 ปัญหาระดับชาตินี้ จบลงด้วยความเท่าเทียมที่สุด

ซึ่งทั้งรัฐและเอกชนประสานเสียงโควิด-19 จบลง ส่งออกหมวดอาหารและเกษตรไทยพุ่งแน่ อาจดับฝันหากปล่อยแล้งจนผลผลิตหายไป 40-50%

           แต่จะแก้ไขด้วยวิธีใดนั้น รัฐก็ต้องรีบทำ อย่าปล่อยไฟไหม้เรือนแล้วค่อยดับ!!