วิรัตน์ แสงทองคำ : กรณีดุสิตธานี-เซ็นทรัล (2) ที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานี ตำนานย้อนกลับยุคอาณานิคม

เรื่องราวที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานี ถือเป็นตำนานซึ่งย้อนกลับสู่ยุคอาณานิคม

“โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนถนนสีลม ถือเป็น “สัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ยุคสมัยใหม่แห่งแรก” สร้างขึ้นเมื่อปี 2513 ตั้งตระหง่านเป็นอาคารที่สูงโดดเด่นใจกลางกรุงเทพฯ” ชนินทธ์ โทณวณิก ผู้บริหารโรงแรมดุสิตธานีกล่าวไว้มีความหมายเชื่อมโยง “กรุงเทพฯ ยุคสมัยใหม่” ในยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นเพียง “ยุคสมัยใหม่” ยุคหนึ่งเท่านั้น

แท้จริงแล้วกรุงเทพฯ ได้ผ่านกระบวนการ “สมัยใหม่” ครั้งสำคัญมากๆ มาแล้ว ในช่วงศตวรรษก่อหน้านั้น “In 1910, at the time of King RamaV”s death, Thailand had become a modern nation recognized by the Western world,” (Thailand : Archipelago Guides 1994 หนังสือที่ผมมักอ้างอิง หนังสือคู่มือการท่องเที่ยว เสนอภาพสังคมไทยได้อย่างน่าทึ่ง)

ภาพช่วงเวลาสำคัญของกรุงเทพฯ ยุคสมัยใหม่ข้างต้น อยู่ในช่วงต่อรัชกาลที่ 5 และ 6 มิติหนึ่งเชื่อมโยงเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ว่าด้วยการปรับโฉมหน้ากรุงเทพฯ

พระราชวังดุสิตสร้างขึ้น (2442) จุดเริ่มต้นศูนย์กลางความทันสมัยของราชอาณาจักร พร้อมกับการสร้างถนนราชดำเนิน (2444)

จากนั้นพระที่นั่งอนันตมหาสมาคมสร้างขึ้น (2451) เป็นแลนด์มาร์กใหม่กรุงเทพฯ ถือได้ว่าเริ่มต้นยุคอิทธิพลสถาปัตยกรรมตะวันตกอย่างแท้จริง

เวลานั้นการก่อสร้างวังหรือที่อยู่อาศัยของชนชั้นนำไทย แบบสถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมเกิดขึ้นอย่างครึกโครม อาทิ วังปารุสกวัน (2446) วังลดาวัลย์ (2449) วังพญาไท (2452) วังจันทรเกษม (2453) วังเทวะเวสม์ (2457) วังสระปทุม (2459) วังศุโขทัย (2461)

 

“บ้านศาลาแดง” เป็นภาพสะท้อนกระแสการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นเช่นกัน

“ท่านเสนาบดีจึงเดินลงบันไดไม้สักมาที่เฉลียงหินอ่อน หน้าตึก “บ้านศาลาแดง” รถยนต์ยี่ห้อ Essex จอดติดเครื่องรออยู่แล้ว Essex เป็นรถยนต์สร้างในอังกฤษ เจ้าพระยายมราชได้สั่งเข้ามาลองใช้เป็นรถยนต์ส่วนตัวในประเทศไทยรุ่นแรกๆ”

“…ถนนในสมัยนั้นก็ยังเป็นดินโรยด้วยหิน ระหว่างทางทั้งสองข้างเป็นป่าไผ่หนาทึบเป็นหย่อมๆ ไปตลอดทาง…กรุงเทพมหานครสมัยนั้นยังคงเป็นเมืองเล็กที่กำลังเริ่มขยายตัว และเริ่มจะเจริญขึ้น ถนนหนทางยังมีไม่มากนัก ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมน้ำเจ้าพระยาและริมคลองใหญ่ การค้าขายจำกัดอยู่ในวงชาวจีนที่ตั้งร้านค้าขนาดเล็กเป็นห้องแถวอยู่ริมถนน และมีห้างฝรั่งอยู่เพียง 2-3 แห่ง”

จากภาพประหนึ่งภาพยนตร์พีเรียด ซึ่งมีฉากหลังเป็นภาพกรุงเทพฯ เมื่อกว่าศตวรรษที่แล้วข้างต้น ได้ขมวดปมเป็นเรื่องราวจริงจัง

“เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในครั้งนั้น เป็นการจุดชนวนการพัฒนากรุงเทพมหานครครั้งสำคัญที่สุด เนื่องจากพลังไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าสามเสนนั้นได้มีผลต่อเนื่องไปถึงการสร้างการประปากรุงเทพฯ ให้คนไทยได้เริ่มใช้น้ำสะอาดแทนการใช้น้ำตามแม่น้ำลำคลอง และมีผลต่อไปจนถึงการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คือโรงงานปูนซีเมนต์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ ซึ่งมีผลต่อไปทำให้กรุงเทพฯ มีตึกรามบ้านช่องที่ถาวรสร้างด้วยปูนซีเมนต์” ฉากการเดินทางของเจ้าพระยายมราชเพื่อเข้าเฝ้ารายงานความคืบหน้าการสร้างไฟฟ้าสามเสน เกิดขึ้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2451

เรื่องราวข้างต้นคัดมาจากหนังสือ “ยมราช ถึง สุขุมวิท เหตุการณ์ใน 4 รัชกาล” โดย ประสงค์ สุขุม (ทายาทรุ่นที่สามของเจ้าพระยายมราช ผู้มีโปรไฟล์การศึกษาดีเลิศ เรียนจบโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่สหรัฐ-Philippe Exeter และสุดท้ายจบ MBA จาก Harvard Business School) เป็นเนื้อหาตอนสำคัญในบทแรกๆ ของหนังสือประวัติภาคพิสดารเจ้าพระยายมราช รวมทั้งทายาทอีกหลายคน ซึ่งมีบทบาทในสังคมไทยในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองกับยุคสงครามเวียดนาม

 

โฉมหน้ากรุงเทพฯ ยุคใหม่ปลายรัชสมัย ร.5 เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่แตกต่าง อ้างอิงด้วยมุมมองสำคัญจากหนังสือที่อ้างแล้ว

“ประเทศไทยกำลังวิวัฒนาการเข้าสู่ความเป็นอารยประเทศ…ให้ก้าวหน้าและมีความแข็งแกร่งพอที่รักษาความเป็นเอกราชไว้ให้ได้ ในขณะที่ประเทศยุโรปกำลังล่าเมืองขึ้นอยู่ทั่วไปในภาคพื้นทวีปเอเชีย และประเทศไทยกำลังอยู่ในอันตรายอย่างยิ่ง อังกฤษและฝรั่งเศสได้ยึดเอาดินแดนของไทยไปแล้วบางส่วน ประเทศไทยจะต้องรักษาอิสรภาพของดินแดนส่วนที่เหลือไว้ให้ได้ การพัฒนาประเทศทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุ ด้านการปกครองหรือด้านการค้าขายย่อมจะเป็นป้อมปราการที่ป้องกันชาติที่สำคัญทั้งสิ้น”

เจ้าพระยายมราช (เดิมชื่อ ปั้น) เกิดเมื่อปี 2405 จากภูมิหลังครอบครัวคหบดีสุพรรณบุรี เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาหาความรู้ด้วยบวชเป็นสามเณร ต่อมาเป็นครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนพระตำหนักหลวง ก้าวสำคัญที่สุด เขาได้เดินทางไปอังกฤษในฐานะครูสอนภาษาไทยพระโอรสทั้ง 4 พระองค์ในรัชกาลที่ 5 ด้วยความใฝ่รู้ เขาได้จ้างครูมาสอนภาษาอังกฤษ จนแตกฉานและกลายเป็นคุณสมบัติของคนที่มีโอกาสมากกว่าเดิม

จากนั้นได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งราชการ จากตำแหน่ง เลขานุการสถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน มีโอกาสเดินทางตามเสด็จรัชกาลที่ 5 ประพาสยุโรป ที่สำคัญได้ทำหน้าที่ถวายการสอนภาษาไทยให้รัชกาลที่ 6 ระหว่างศึกษาที่อังกฤษ

ต่อมาเขาได้โอนไปอยู่กระทรวงมหาดไทย รับราชการที่ภาคใต้ถึงประมาณ 10 ปี ก่อนมาเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการในปี 2449 แล้วก้าวขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงนครบาล เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยรัชกาลที่ 5 เป็นอันมาก

ด้วยบทบาทสำคัญในยุค Westernization of Siam ว่าด้วยบทบาทสำคัญในการปรับโฉมหน้าใหม่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม รวมไปถึงการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมืองสมัยใหม่ ตั้งแต่โรงไฟฟ้า ระบบประปา และเป็นผู้ก่อตั้งโรงงานซีเมนต์แห่งแรกของไทยด้วย

“เจ้าพระยายมราช จึงกู้เงินจากกระทรวงการคลังจำนวน 1,000,000 บาท โดยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้าและการดำเนินงานผลิตจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และขอโอน นายเอฟ บี ชอว์ นายช่างไฟฟ้าชาวอังกฤษจากกรมโยธาธิการมาเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ใช้วิธีเรียกประกวดราคา และบริษัท อัลเกไมเน อิเล็กตริกซิตี้ เกเซ็ลซาฟต์ จำกัด (Allgameine Elektricitats Gesellsehaft) หรือที่รู้จักกันดีใน ปัจจุบันนี้ในนามบริษัท AEG จากประเทศเยอรมนีเป็นผู้ประมูลได้ และทำการก่อสร้าง จนกระทั่งวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2456 กองไฟฟ้าหลวงสามเสน จึงได้เริ่มทดลองเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรกและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนอย่างเป็นทางการราวต้นปี พ.ศ.2457 โดยมีเขตจำหน่ายอยู่บริเวณตอนเหนือของคลองบางกอกน้อยและคลองบางลำพู”

ข้อมูลประวัติการไฟฟ้านครหลวง (http://www.mea.or.th) กล่าวถึงบทบาทเจ้าพระยายมราช เกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งที่สองอยู่ตอนเหนือกรุงเทพฯ ขณะนั้นเรียกว่า โรงงานไฟฟ้าสามเสน (ผมค่อนข้างแน่ใจว่า กระทรวงการคลังที่อ้างถึง เป็นพระคลังข้างที่)

ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งแรกอยู่ตอนใต้ (โรงไฟฟ้าวัดเลียบ) ดำเนินการภายใต้ระบบสัมปทานโดยชาวเดนมาร์ก จนถึงช่วงรัฐบาล พลเอกถนอม กิตติขจร โรงงานไฟฟ้าทั้งสองแห่งจึงรวมกันตั้งเป็นการไฟฟ้านครหลวง

ส่วนบทบาทเกี่ยวกับการก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยนั้น ผมเคยนำเสนออย่างพิสดารมาแล้ว หากสนใจโปรดอ่านซีรี่ส์ชุด “ธุรกิจศตวรรษ” ยาวมากกว่า 50 ตอน มติชนสุดสัปดาห์ ช่วงปี 2556

 

บางแหล่งอ้างว่า “ปี พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทาน “บ้านศาลาแดง” แก่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ สุขุม)”

แต่หนังสือข้างต้น (ยมราช ถึง สุขุมวิท เหตุการณ์ใน 4 รัชกาล) นำเสนอข้อมูลที่แตกต่างออกไป แม้ไม่ได้ระบุช่วงเวลาแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ตามที่ปรากฏในเนื้อหาบางตอนทั้งที่อ้างแล้ว และมีอีกบางตอนกล่าวไว้ค่อนข้างเจาะจงพอ

“เมื่อเจ้าพระยายมราชนั่งรถยนต์กลับจากพระบรมมหาราชวังเพื่อกลับไปยังบ้านศาลาแดง จะต้องผ่านป่าไผ่ที่หนาทึบ…และในสมัยนั้นก็เป็นที่ทราบกันว่ามีเสือโคร่งลายพาดกลอนอาศัยอยู่ในป่าแถบนั้น ฉะนั้น อธิบดีกรมพลตระเวนนครบาล ซึ่งเป็นชื่อเดิมของกรมตำรวจ ได้ขอให้เจ้าพระยายมราชแวะที่โรงพักสามยอดทุกครั้ง เพื่อรับพลตระเวนหรือตำรวจถือปืนไรเฟิล นั่งกำกับมาหน้ารถเพื่อรักษาความปลอดภัย…นั่นคือกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2451”

บ้านศาลาแดง “มีตึกที่สร้างแบบตะวันตกหลังใหญ่อยู่หลังหนึ่ง… บ้านไม้ภายในบริเวณอีกหลายหลัง” มีเรื่องราวมาก่อนหน้าแต่ไม่นานนัก เจ้าของคนแรกเป็นฝรั่ง ก่อนจะมาเป็นของพระคลังข้างที่ ก่อนจะตกมาเป็นของเจ้าพระยายมราช ซึ่งเป็นเจ้าของและอาศัยอยู่ยาวนานประมาณ 3 ทศวรรษ ใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในยุคโรงแรมดุสิตธานี

“ปลายรัชกาลที่ 6 …อังกฤษจะมาขอสัมปทานเหมืองแร่ในดินแดนภาคใต้ต่อขึ้นมาจาก 4 จังหวัดที่อังกฤษได้ยึดไปแล้ว…รับสั่งให้เจ้าพระยายมราช… “ครูไปทำเหมืองดักไว้ที่สุราษฎร์ก่อน ฉันจะได้ใช้เป็นข้ออ้างที่จะไม่ให้สัมปทานเหมืองแร่แก่บริษัทอังกฤษ” เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าฯ พร้อมที่จะไปทำเหมืองดักไว้ทันที แต่ข้าพระพุทธเจ้าฯ ไม่มีทุนพอที่จะไปลงทุน เพราะจะต้องสร้างรถไฟเข้าไปในเขตเหมืองเสียก่อนด้วย” …พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า ครูไปเอาเงินพระคลังข้างที่ก่อน เพราะงานนี้ต้องรีบทำ เมื่อได้ลงทุนไปแล้ว พอดีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต “เหมืองแร่รักษาดินแดน” ตามพระราชกระแสไม่มีรายได้ และไม่มีเงินจะลงทุนต่อไป เจ้าพระยายมราชต้องล้มเลิกโครงการและต้องนำเงินส่วนตัวไปใช้หนี้พระคลังข้างที่จำนวนมาก ทำให้ต้องมอบ “บ้านศาลาแดง” ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 และหุ้นส่วนบริษัทปูนซิเมนต์ไทยส่วนใหญ่ให้แก่พระคลังข้างที่” (เรียบเรียงและตัดตอนจากเนื้อหา หนังสือ “ยมราช ถึง สุขุมวิท เหตุการณ์ใน 4 รัชกาล” ซึ่งพยายามคงสาระสำคัญไว้)

นั่นคือจุดเปลี่ยนอีกครั้ง จาก “ที่ดินผืนสำคัญ” กับอาคารสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยยุคอาณานิคมซึ่งคงอยู่มากว่ากึ่งศตวรรษ ก่อนจะก้าวสู่ยุคต่อมา