ธุรกิจไทยไม่ไว้ใจเศรษฐกิจ กอดเงินสด 9 แสนล้าน เน้นจ่ายปันผล-ไม่ยอมลงทุน

แรงส่งการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนไทย ถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นหลายระลอก ทั้งจากวิกฤตใหญ่ๆ อย่างซับไพรม์ของสหรัฐอเมริกา วิกฤตในยูโรโซน ตามด้วยเศรษฐกิจจีนที่โตลดลงอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

จนทำให้เกิดภาวะความต้องการ (ดีมานด์) ซื้อสินค้าของตลาดทั่วโลกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว

เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะภาคส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 จนฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยโตระดับต่ำราว 2-3% เท่านั้น เพราะมีเพียงเครื่องยนต์ภาครัฐที่ใช้จ่ายและลงทุน

ส่วนภาคธุรกิจเอกชนต่างวิตกกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีแต่ความไม่แน่นอน

สิ่งที่ภาคธุรกิจเอกชนต้องปรับตัวก็คือ พลิกแผนมารับมือประคองธุรกิจของตัวเอง และเพิ่มความระมัดระวังการขยายธุรกิจรวมไปถึงชะลอการตัดสินใจใช้เงินลงทุนใหม่ๆ เพื่อกอดเงินสดหมุนเวียนไว้ก่อน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ ที่ตัดสินใจ ถือเงินสด ลดการลงทุน จนทำให้มีตัวเลขสะสมในระบบสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

รายงานจากสำนักวิจัยทิสโก้ ระบุข้อมูลกระแสเงินสดในมือของบริษัทจดทะเบียน ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน) มีมูลค่าเงินสดในมือ (Cash On Hand) สะสมสูงถึง 928,303 ล้านบาท

เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2558 ที่มีเงินสดในมือสะสมรวม 848,627 ล้านบาท และสิ้นปี 2557 ที่อยู่ระดับ 799,840 ล้านบาท หมายความว่า ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาถึงไตรมาส 1ของปี 2559 บจ. โดยรวมได้สะสมเงินสดในมือเพิ่มขึ้นมากถึง 1.28 แสนล้านบาท

เมื่อเปิดดูรายชื่อ บจ. ที่มีเงินสดในมือสะสมสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ปตท. (PTT) มีเงินสดในมือสะสมสูงถึง 2.49 แสนล้านบาท ตามด้วย บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 1.29 แสนล้านบาท บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 2.64 หมื่นล้านบาท บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 2.59 หมื่นล้านบาท บมจ. การบินไทย (THAI) 2.29 หมื่นล้านบาท

บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) 2.15 หมื่นล้านบาท บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) 2.13 หมื่นล้านบาท บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 2.05 หมื่นล้านบาท บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 2.02 หมื่นล้านบาท บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) 1.70 หมื่นล้านบาท

และเมื่อรวมยอดเงินสะสมในมือของ 10 บจ.ใหญ่ข้างต้นนี้ก็ราวกว่า 4.94 แสนล้านบาท ซึ่งเกือบแตะ 5 แสนล้านบาทแล้ว

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า สาเหตุที่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บจ. ยังมีเงินสดในมือตุนอยู่เป็นมูลค่าสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ บจ.ขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงานที่ต้องชะลอแผนการลงทุนหรือ ลดขนาดการลงทุนลง เนื่องจากราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก

ขณะที่ บจ. ในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ อาจกังวลกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ดี และอาจมีความเสี่ยงจากประเด็นต่างๆ จึงทำให้ไม่กล้าตัดสินใจลงทุนขยายกิจการ หรือซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมา

“การที่จะให้ บจ. เหล่านี้ไปซื้อกิจการ หรือใช้ลงทุนมากๆ คงไม่ใช่จังหวะที่ดี และไม่ใช่สไตล์การบริหารของคนไทยที่จะกล้าเสี่ยงแบบนั้น” นายธนเดช กล่าว

นายกวี ชูกิจเกษม รองกรรมการผู้จัดการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับ บจ. ที่มีเงินสดในมือสูง โดยเฉพาะ บจ.ขนาดใหญ่คาดว่าอาจจะนำมาใช้เพื่อลงทุนขยายธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง เช่น กลุ่มสื่อสารและพลังงาน ที่มีการวางแผนลงทุนไว้อย่างชัดเจนแล้ว รวมถึงมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการนำเงินมาใช้สำหรับจ่ายปันผลเพิ่ม กรณีที่ไม่มีแผนลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาหลาย บจ. ก็นิยมทำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนส่งผลให้อัตราการจ่ายเงินปันผลของ บจ. ในตลาดปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

“โดยธรรมชาติ บจ. ที่มีเงินสดในมือสูงๆ อาจนำไปใช้สำหรับขยายลงทุน หรือไปจ่ายเงินปันผลก็ได้ แต่ข้อสังเกตคือ บริษัทที่จ่ายปันผลเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะเป็น บจ.ขนาดกลางๆ ไม่ใช่ บจ.ขนาดใหญ่ที่มีแผนการลงทุนชัดเจน” นายกวี กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บจ. ที่มีเงินสดในมือสูง จะมีการจัดสรรเงินออกเพื่อจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น และส่วนหนึ่งจะนำเงินสดมารองรับการทำโครงการรับซื้อหุ้นคืน ในช่วงที่ราคาหุ้นตกต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็นนั้น

โดยในส่วนของการจ่ายเงินปันผล ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ในปี 2557 บริษัทจดทะเบียนโดยรวมมีการจ่ายเงินปันผลจำนวน 358,124 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราการจ่ายปันผล 54% ของกำไรสุทธิ ขณะที่ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนที่ 3% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2558 โดยเป็นปีที่ บจ. มีการจ่ายเงินปันผลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยมูลค่า 381,464 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล 61% ของกำไรสุทธิ ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทนอยู่สูง 3.55%

ที่สำคัญ ยังพบว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม อัตราการจ่ายเงินปันผลของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 3.34% มากกว่าตลาดหลักทรัพย์ในประเทศเพื่อนบ้าน 9 แห่ง ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน เกาหลี ที่มีค่าเฉลี่ยการจ่ายเงินปันผลราว 2.95%

สำหรับข้อมูลการนำเงินไปซื้อหุ้นคืนบริษัทจดทะเบียนมีการทำโครงการซื้อหุ้นคืนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2557 มี บจ. ที่ซื้อหุ้นคืนเพียง 6 บริษัท มูลค่ารวม 4,392.54 ล้านบาท และปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 7 บริษัท มูลค่ารวม 3,965 ล้านบาท ส่วนช่วงปีนี้ (11 กรกฎาคม 2559) มีจำนวน 9 บริษัท มูลค่ารวมประมาณ 7,516.56 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเพียง 3 บริษัทมูลค่ารวม 1,593.32 ล้านบาท

โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ถึง 11 กรกฎาคม 2559 ได้แก่ บมจ.อาปิโก ไฮเทค (AH), บมจ.บีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี (BJCHI), บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร (DRT), บมจ.เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง (GEL), บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS), บมจ.เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS), บมจ.แพรนด้า จิวเวลรี่ (PRANDA), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ.อาร์เอส (RS)

สําหรับแนวโน้มในครึ่งปีหลังจากนี้ไป นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ สำนักวิจัยทิสโก้ กล่าวว่า ในช่วงหลังจากนี้ ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจที่อาจผันผวน ดังนั้นการเก็บเงินสดไว้น่าจะเหมาะสมกว่า

เช่นเดียวกับเสียงสะท้อนจากภาคอกชน นายแพทย์ศิริพงศ์ เหลืองวารินกุล กรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุที่ชะลอลงทุน เพราะว่าจำเป็นต้องมองหาโปรเจ็กต์ที่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งแต่ละปีบริษัทเตรียมงบลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาโอกาสลงทุนในโรงพยาบาล 2-3 แห่งที่สุรินทร์และบุรีรัมย์ ทั้งศึกษาโอกาสการลงทุนในกัมพูชา

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีภายใต้ยุครัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่พยายามใช้จ่ายเงิน-ลงทุนเพื่อกระตุ้นบริโภคและการลงทุนโครงการเล็กๆ ประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกรุมเร้า ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง

ขณะที่ภาคเอกชนก็พึ่งตัวเองประคองตัวให้รอดมาในแต่ละปี

และแม้ว่าปีนี้จะเป็นปีที่รัฐบาลส่งสัญญาณมานานแล้วว่าจะเป็นปีแห่งการลงทุน แต่เมื่อมองจากพฤติกรรมของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ยังกอดเงินสดนิ่งๆ เน้นไปที่การจ่ายปันผลหรือซื้อหุ้นคืน นั่นดูเหมือนการลงทุนจริงจากภาคเอกชนก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องตั้งเป้ากันต่อไป