โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญสมเด็จพระสังฆราชเจ้า

กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นพระราชวงศ์ในราชสกุล ชมพูนุท ดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2465 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกอยู่นานถึง 16 ปี

เหรียญสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ รุ่นแรก จัดสร้างในปี พ.ศ.2466 ทรงสร้างไว้เป็นที่ระลึก ในปีที่พระชนมายุ 65 พรรษา เสมอพระชนมายุของพระชนก สร้างประมาณ 1,000 เหรียญ

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์ม ขนาดกว้าง 2.6 เซนติเมตร ขนาดยาว 3.3 เซนติเมตร

ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางมีพระนามย่อ “ช.ส.” เป็นตัวอักษรประดิษฐ์ไขว้กัน โดยมีลายกนกประดับทั้ง 2 ข้าง บน ช.ส.มีอุณาโลมเปล่งรัศมีโดยรอบ

ด้านหลังเหรียญ เป็นคาถาอักษรขอม 4 บท และเลข “๒๔๐๒-๒๔๖๖” คาถาอักษรขอม 4 บทนี้ เป็นคาถา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ว่า “สัมพุทธาทะยานุภาเวนะ สัพพะสันตาปะวัชชิโต สัพพะสะมัตถะสัมปันโน สีติภูโตสะทาภะวะ” แปลว่า “ด้วยอานุภาพแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของท่านจงห่างจากความเดือดร้อนทุกประการ ก้าวล่วงเวรทั้งปวง เป็นผู้มีความร่มเย็นในกาลทุกเมื่อ”

ส่วนเลข ๒๔๐๒-๒๔๖๖ เป็นปีประสูติ และปีที่ฉลองพระชนมายุ

เป็นอีกหนึ่งเหรียญวัตถุมงคลที่หายากและควรมีเก็บไว้บูชา

เหรียญสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.ศ.2466 (หน้า-หลัง)

 

ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม 2402 เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ (ต้นราชสกุลชมพูนุท) กับหม่อมปุ่น มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์ ทรงศึกษาอักขรสมัยเบื้องต้นกับ เจ้าจอมมารดาสัมฤทธิ์ ในรัชกาลที่ 3 ผู้เป็นอัยยิกา

เสด็จทรงศึกษาที่โรงเรียนแรฟเฟิลส์ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ทรงบรรพชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้น พ.ศ.2422 ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ประทับ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงมี พระฉายาว่า สิริวัฑฒโน

ทรงศึกษาภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และพระปริยัติธรรมจนแตกฉาน ทรงพระปรีชาญาณพิเศษในทางรจนาหนังสือทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ทรงพระนิพนธ์ตำราและหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก นิทานต้นบัญญัติ สามเณรสิกขา เป็นต้น

พระนิพนธ์เหล่านี้ยังใช้เป็นคู่มือในการศึกษาภาษาบาลี และการศึกษาพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบันทรงเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และทรงริเริ่มให้จัดหลักสูตรธรรมศึกษา เป็นหลักสูตรการเรียนพระพุทธศาสนาสำหรับฆราวาส ควบคู่ไปกับหลักสูตรนักธรรมของบรรพชิต

พระกรณียกิจพิเศษได้แก่ การเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงผนวช

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสยุคที่ 1 สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ.2444 จึงได้ทรงเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา เป็นเจ้าอาวาสยุคที่ 2

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงบริบูรณ์ด้วย พระศีลาจารวัตรเนกขัมมปฏิปทาไม่บกพร่อง มีพระอัธยาศัยเยือกเย็นสุภาพ ไม่เคยมีผู้ใดเคยเห็นพระอาการกริ้วโกรธหรือมีรับสั่งผรุสวาทรุนแรงแม้แต่ครั้งเดียว ทรงพระสุขุมคัมภีรภาพในการบริหารกิจการพระศาสนา ด้วยความมั่นคงในหลักการตามพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ยังทรงอุปการกิจสาธารณูปการไว้เป็นอันมาก เช่น ทรงอุปถัมภ์โรงเรียนวัดราชบพิธสืบต่อจากเจ้าอาวาสยุคที่ 1, ทรงอุปถัมภ์การสร้างวัดมะขามใต้ (วัดชินวราราม) สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย จังหวัดปทุมธานี, ทรงสร้างโรงเรียนวัดชินวราราม (เจริญผลวิทยาเวศม์) จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงทรงงอกงามไพบูลย์ในพระศาสนาและในพระอิสริยยศทางราชตระกูลตลอดมานับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ทรงพระราชศรัทธายิ่งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2464

 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงมีพระปรีชาสามารถในทางรจนา นับได้ว่าทรงเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

ได้ทรงพระนิพนธ์ตำรับตำรา และหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนาไว้มาก

เช่น พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาหรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย มหานิบาตชาดก ต้นบัญญัติสามเณรสิกขา เป็นต้น ซึ่งพระนิพนธ์เหล่านี้ยังได้ใช้เป็นคู่มือในการศึกษาอย่างแพร่หลาย

ทรงประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในกระเพาะพระบังคลเบาพิการ ทำให้พระบังคลเบาเป็นโลหิต

สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2480 สิริพระชนมายุ 77 พรรษา