จัตวา กลิ่นสุนทร : รักคุณเข้าแล้ว?

ขออนุญาตหยิบชื่อเพลงที่โด่งดังทั่วบ้านทั่วเมืองในอดีตของท่านมาเป็นชื่อเรื่องในคอลัมน์นี้เพื่อจะได้มีส่วนร่วมกับการไว้อาลัย (พี่) สุเทพ วงศ์กำแหง “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปะการแสดง (พ.ศ.2533) ด้วยอีกคน

อาจจะช้าเกินไปบ้างแต่ไม่เรียกว่าสาย เพราะงานพิธีทางศาสนาเพิ่งเสร็จเรียบร้อยไปเป็นขั้นตอนแรก ทางเจ้าภาพได้เก็บบรรจุร่างของ (อดีต) ศิลปินแห่งชาติ ไว้อีก 100 วัน

เพื่อให้ “กรมส่งเสริมวัฒนธรรม” (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จะได้ดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป รวมทั้งการช่วยเหลือต่างๆ ตามระเบียบสวัสดิการของผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ”

เป็นศิลปินเพลงที่สร้างสรรค์ผลงานมากมายให้กับวงการเพลงไทยสากลที่เรียกกันว่า “เพลงลูกกรุง” โดย (พี่) สุเทพ วงศ์กำแหง ได้บันทึกผลงานไว้ถึงประมาณ 3,000 เพลง ชีวิตท่านโลดแล่นอยู่ในวงการไม่น้อยกว่า 60 ปี

โดยเข้าสู่วงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2500

 

(พี่)สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ด้านร้องเพลงมาตั้งแต่ยังเด็กๆ โดยเป็นคนมีเสียงดีชอบร้องเพลง กระทั่งได้เป็นต้นเสียงร้องเพลงชาติ

ประกอบกับเป็นคนมุมานะ พยายาม อดทน แสวงหา กระทั่งได้มาพบกับ “ครูไศล ไกรเลิศ” และ “ป.ชื่นประโยชน์” เป็นผู้ชักชวนมาทำงาน รุ่นเดียวกับชรินทร์ นันทนาคร “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาศิลปะการแสดง (2541) กระทั่งทั้ง 2 เป็นเพื่อนรักกัน

ท่านเคยรับราชการในกองดุริยางค์ทหารอากาศ มียศเป็นเรืออากาศตรีก่อนจะลาออกมาร้องเพลงเป็นอาชีพหลักตลอดมา ร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ ร้องเพลงตามไนต์คลับ สถานบันเทิง อัดแผ่นเสียง และได้ร้องเพลงคู่กับ “สวลี ผกาพันธุ์” (เชอรี่ เศวตนันทน์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (พ.ศ.2532) ซึ่งได้จากโลกนี้ไปก่อนตั้งแต่ปี พ.ศ.2561

สวลี ผกาพันธุ์ เป็นลูกครึ่งไทย-เดนมาร์ก สกุลเดิม “ฮอฟแมนน์” เป็นนักแสดงรุ่นแรกๆ และเป็นนักร้องโด่งดังมากความสามารถในวงการเพลงไทยสากล ได้รับการย่องเป็นปูชนียบุคคลของวงการเพลงลูกกรุง จับคู่ร้องเพลงกับ (พี่) เทพ โดยเพลง “อาญารัก” ดังกระฉ่อน

จนกระทั่งเรียกขานกันว่านักร้อง “คู่ขวัญ”

 

เคยแอบภูมิใจอยู่เงียบๆ ตามประสาเด็กบ้านนอกที่ได้เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ว่า (พี่) สุเทพเป็นนักเรียนรุ่นพี่ที่โรงเรียนเพาะช่าง ท่านได้รับการสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาให้ไปศึกษาศิลปะที่ประเทศญี่ปุ่น และเดินทางกลับมาเมื่อปี พ.ศ.2503 แต่ไม่ได้ประกอบอาชีพที่ศึกษาเล่าเรียนมา หากแต่กลับโลดแล่นอยู่ในวงการเพลง วงการแสดง

เริ่มติดตามเสียงเพลง (พี่) สุเทพ วงศ์กำแหง สักประมาณปี พ.ศ.2503-2504 เมื่อย่างเหยียบเข้ากรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศไทย จนได้เข้าโรงเรียนเดียวกันเป็นรุ่นน้องหลายปี เรียกว่าไม่ทันกัน เพราะอายุต่างกันประมาณ 10 ปี

เมื่อหันหลังให้มหาวิทยาลัยศิลปะแถวละแวกหน้าพระลาน กระทั่งชีวิตหักเหมาหลงใหลในสื่อกระดาษย่านราชดำเนินนอก ทำให้ได้รู้จักกับ (พี่) สุเทพอย่างเป็นทางการ ถ้าหากความจำไม่คลาดเคลื่อนดูเหมือนจะอยู่ในปี พ.ศ.2514-2515

แต่จำได้อย่างแม่นยำเกี่ยวกับเรื่อง (ท่าน) ผู้จัดการ “บริษัท สยามรัฐ จำกัด” ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ที่ผมเพิ่งไปเริ่มต้นทำงานในกองบรรณาธิการได้สักปีสองปี เป็นผู้นำพาให้ได้พบกันครั้งแรก

ผู้จัดการเป็นนักดื่มคอแข็งมีระดับทีเดียว และท่านมักจะไปซดวิสกี้ ดวดเบียร์ เคล้าเสียงเพลงระหว่างมื้อเที่ยงเสมอๆ ที่ไนต์คลับชื่อ “โลลิต้า” (LOLITA) ซึ่งอยู่เยื้องๆ กับสำนักงานหนังสือพิมพ์ของเรา หากเดินเลยไปทางสนามหลวงอีกสักเล็กน้อยก็จะเป็นสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ถูกเผา)

โลลิต้า (LOLITA) ใน พ.ศ.นั้นไม่มีนักเที่ยวกลางคืนคนไหนไม่รู้จัก เนื่องจากเป็นไนต์คลับชั้นแถวหน้า ที่มีวงดนตรีและนักร้องชั้นนำแห่งยุคสมัย มีการลีลาศ ขณะเดียวกันก็มีเพื่อนหญิงที่เรียกกันว่าพาร์ตเนอร์ (Partner) มานั่งพูดคุย และเต้นรำ

(พี่) เทพร้องประจำไนต์คลับแห่งนี้ รวมทั้งผุสดี อนัฆมนตรี ซึ่งหวือหวาสดใสสุดสวยในยุคสมัย เธอเป็นนักร้อง นักแสดง ก่อนจะมาเป็นคู่ชีวิตของ (พี่)เทพ นอกจากนั้น ยังมีนักร้องชื่อดังๆ อย่าง สวลี ผกาพันธุ์, ลินจง บุนนากรินทร์, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, ดวงตา ชื่นประโยชน์ และ ฯลฯ

โลลิต้า (LOLITA) ยังเปิดเป็นภัตตาคารช่วงเที่ยงถึงบ่าย เป็นการกล่อมเพื่อการเจริญอาหารมื้อกลางวัน ซึ่งในย่านถนนราชดำเนินเมื่อกว่า 5 ทศวรรษ ในรัศมีใกล้เคียงสัก 2-3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ทำงานของราชการเป็นจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงคมนาคม และ ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่รัฐสภา

เพราะฉะนั้น เวลามื้อเที่ยงย่อมจะแออัดไปด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่พอสมควร

 

(พี่)สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องเสียง “ขยี้แพรบนฟองเบียร์” โดย (พี่ปุ๊) “รงค์ วงษ์สวรรค์ (พญาอินทรีแห่งสวนอักษร) “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาวรรณศิลป์ (พ.ศ.2538) ผู้ล่วงลับ เป็นผู้ตั้งสมญานามนี้ให้ ท่านร้องที่คลับแห่งนี้ทั้งกลางวัน กลางคืน แล้ววันหนึ่งเมื่อผมเดินตามผู้จัดการตามคำเชื้อเชิญของเขาเข้าไปยังโลลิต้าแบบยังงงๆ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าผมไม่ค่อยกินเส้นกับผู้จัดการ เพราะแกชอบโยนเงินเดือนให้บ่อยๆ (จะจ่ายปกติเหมือนคนอื่นๆ ก็ไม่ได้)

ซึ่งวันนั้นอาจเป็นเพราะแรงแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น ผู้จัดการจึงชวนไปเลี้ยงข้าวกลางวัน อันที่จริงก็ดื่มกลางวันนั่นแหละ เป็นที่มาของการได้มีโอกาสรู้จักกับ (พี่) เทพเมื่อท่านเดินร้องเพลงด้วยเสียงอันทุ้มนุ่มเข้ามารินเบียร์ให้ที่โต๊ะผู้จัดการ (กับผม) อย่างเป็นกันเอง

ต่อมาได้พบกับ (พี่) เทพบ่อยๆ เนื่องจากว่าท่านมีความสนใจเรื่องการเมือง การเขียนคอลัมน์ จึงมักจะได้พบปะกันเสมอๆ

ท่านได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา อยู่ 1 สมัย เปลี่ยนมาเข้าสังกัดพรรค “พลังธรรม” ของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้เป็น ส.ส.กรุงเทพฯ อีกหลายปี ก่อนถูกทหารทำรัฐประหาร

นอกจากผลงานและรางวัลต่างๆ จำนวนมากทุกรางวัลในวงการเพลงกับอาชีพนักร้อง นักแสดงอันเป็นอมตะ ท่านยังเขียนคอลัมน์ในนิตยสาร “ฟ้าเมืองไทย” ของ (พี่) อาจินต์ ปัญจพรรค์ “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาวรรณศิลป์ (2534) ผู้ล่วงลับ

(พี่) เทพเดินทางไปเปิดการแสดงคอนเสิร์ตยังสหรัฐบ่อยครั้งตามคำเรียกร้องของคนไทยที่นั่น โดยมีแฟนคลับอย่างล้นหลาม–กมล ทัศนาญชลี “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม+สื่อผสม) ซึ่งมีมีบ้านพักอยู่ในสหรัฐ กล่าวถึง (พี่) เทพว่า– “เมื่อเดินทางมาสหรัฐทุกครั้งจะไปนอนค้างที่บ้านของเขา จะพากันไปเที่ยว ไปเขียนรูปสีน้ำตามสถานที่ต่างๆ (พี่) เทพสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยผ่านเสียงเพลง คนไทยในสหรัฐและชาวสหรัฐเป็นแฟนคลับ เมื่อจัดคอนเสิร์ต บัตรจะเต็มทุกรอบ ท่านตั้งใจว่าจะเดินทางมาสหรัฐอีกครั้ง แต่เสียดายไม่มีวันนั้นอีกแล้ว–”

“ท่านเป็นนักร้องที่มีสไตล์การร้องเพลงที่มีน้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์ นุ่มนวล และยังสร้างความคุ้นเคยอย่างเป็นกันเอง ทำให้แฟนเพลงรักท่านทั้งประเทศ พี่เทพเป็นผู้มีจิตใจเอื้อเฟื้อ คอยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยเหลือดูแลเพื่อนศิลปิน และเพื่อนสายศิลปะในยามเจ็บป่วยเสมอมา

ล่าสุดกำลังจะจัดทำคอนเสิร์ตเพื่อ (ครู) ชาลี อินทรวิจิตร และสุรพล โทณะวณิก 2 ศิลปินแห่งชาติ ที่ได้ล้มป่วยลง นอกจากนี้ ยังเป็นครูที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ ทักษะการร้องเพลงให้แก่ศิษย์จำนวนมาก” กมลกล่าว

 

(พี่)สุเทพ และครูชาลี อินทรวิจิตร สนิทสนมกับกมล หลังจากได้เป็นศิลปินแห่งชาติ และเดินทางไปยังสหรัฐด้วยกันบ่อยครั้ง ยังได้ร่วมเดินทางไปในโครงการ “ศิลปินแห่งชาติสัญจร” ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งกมลเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเกือบทั่วประเทศ เพื่อปลูกฝัง เผยแพร่ เพาะเชื้อเรื่องของศิลปะแขนงต่างๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และครูผู้สอนศิลปะร่วมทั้งประชาชนาทั่วไป

ผมได้พบกับ (พี่) เทพ และครูชาลี อินทรวิจิตร เป็นครั้งสุดท้ายวันงานพิธีเปิด “หอศิลป์-บ้านศิลปินแห่งชาติ” ของกมล ทัศนาญชลี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ที่ ซอยราษฎรร่วมเจริญ วงเวียนใหญ่ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ได้พูดคุยสอบถามสารทุกข์กันตามปกติ ผมถามว่า “อายุอ่อนกว่าครูชาลีกี่ปี? (พี่) เทพบอกว่า 10 ปี–”

กมล ทัศนาญชลี ร่วมกับชาวชุมชนไทยในแอลเอจัดพิธีสวดพระอภิธรรมศพจากรูปถ่าย (พี่) สุเทพ วงศ์กำแหง ณ ศาลาวัดไทยในนครลอสแองเจลิส (Los Angeles, California., USA) เพื่ออำลานักร้องคนสำคัญเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 กมลจัดทำการ์ดรูป (พี่) เทพ พร้อมชื่อเพลง– เนื้อเพลง “รักคุณเข้าแล้ว” (อันโด่งดังเมื่อราว 60 ปี) มา 86 ใบ เท่ากับอายุของท่าน

ขอท่าน (พี่) “สุเทพ วงศ์กำแหง” ไปสู่ภพภูมิที่ดี