“บิ๊กตู่” เปรยขึ้นแวต… แค่โยนหิน หรือส่งสัญญาณ รบ.หน้ามืด จัดเก็บหลุดเป้า!

เมื่อช่วงต้นปี กระทรวงการคลังรับมอบการบ้านจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้หาแนวทางเพิ่มรายได้ โดยให้เวลา 3 เดือน ซึ่งใกล้ครบกำหนดปลายเดือนมีนาคมนี้

แผนปรับเพิ่มรายได้ ต้องสอดคล้องกับการจัดทำงบประมาณปี 2561 กำหนดงบประมาณรายจ่ายไว้ 2.9 ล้านล้านบาท รายได้ 2.45 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท

กรมหลักที่ต้องหารายได้คือกรมสรรพากรกับกรมสรรพสามิต ในปีงบฯ 2560 มีเป้าหมายรายได้รวมกันกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ขณะที่กรมศุลกากรมีเป้าหมายรายได้ 1.25 แสนล้านบาท

ในช่วงใกล้ครบกำหนดส่งการบ้าน 3 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปกล่าวระหว่างลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ขอให้คนไทยเสียสละจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ขณะนี้มีอัตราจัดเก็บ 7% จากเพดาน 10% หากเพิ่มแวต 1% เป็น 8% จะทำให้ประเทศมีรายได้ถึง 1 แสนล้านบาท

เป็นการพูดออกมาในวันเดียวกับที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปพูดกับนักลงทุนต่างชาติว่าเตรียมเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ต่ออายุแวต 7% ออกไปอีก 1 ปี จากที่จะครบกำหนด 30 กันยายน 2560

แม้นายอภิศักดิ์จะออกมาพูดว่าไม่ขึ้นแวต ก็ไม่มีใครเชื่อ และเกิดกระแสต่อต้านคำพูดนายกฯ มากมาย ทั้งจากบรรดานักการเมือง จากนักธุรกิจ และจากประชาชน ส่วนใหญ่เป็นกระแสในแง่ลบมากกว่าแง่บวก

ทำให้ทั้งนายสมคิด พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาประสานเสียงว่ารัฐบาลไม่ขึ้นแวตแน่นอน

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาย้ำด้วยตัวเองอีกครั้งว่าไม่ขึ้นแวต การพูดขอขึ้น 1% เป็นแค่เปรียบเปรยให้เห็นว่าเมื่อต้องการให้รัฐช่วยเหลือ ควรต้องจ่ายภาษีเพิ่ม เพราะเงินรัฐมีอย่างจำกัด

ซึ่งนายกฯ โยนบาปไปยังสื่อมวลชนที่ไปพาดหัวเรื่องจะขึ้นแวตว่า “น่ารังเกียจ”

แวตกลายเป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งที่มีการพูดถึงว่าจะขึ้น เพราะแวตถือเป็นภาษีใหญ่สุดของไทย ในปีงบประมาณ 2559 มียอดจัดเก็บกว่า 7 แสนล้านบาท แวตเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการเกือบทุกประเภทในไทย

ดังนั้น การขึ้นแวต ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนคนทุกวงการ และสั่นคลอนอนาคตของรัฐบาล เพราะตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ไทยนำแวตมาใช้ มีการปรับขึ้นแวตเพียงช่วงสั้นๆ ตามข้อเสนอกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อปี 2540 ปรับขึ้นเก็บเต็มเพดาน 10% จากเก็บ 7% หลังจากนั้นในปี 2542 ลดมาเก็บ 7% เท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลชุดนี้กล้าจะขึ้นแวต 1% น่าจะเพียงพอกับการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษียิบย่อยอย่างที่ผ่านมา

 

ตลอด 3 ปีงบประมาณที่ผ่าน กรมภาษีจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายทุกปี โดยพบว่า ในปีงบประมาณ 2557 ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.64 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 ต่ำกว่าเป้าหมาย 2.25 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2559 ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.24 แสนล้านบาท และในช่วง 4 เดือนแรกปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2560) กรมภาษีจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.3 หมื่นล้านบาท

กฤษฎา จีนะวิจารณะ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีหลุดเป้า เกิดจากประเมินภาษีไว้สูงเกินจริง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังไม่โตเท่าที่คาดการณ์ การจัดเก็บกรมภาษียังไม่สร้างปัญหาช่วงที่ผ่านมา เพราะการเบิกจ่ายยังทำได้ไม่เต็มที่ ภาพรวมการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ในปีนี้รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายตั้งเป้าหมายไม่น้อยกว่า 96% ของงบประมาณรายจ่ายรวม ประกอบกับปีนี้ไม่ได้มีรายได้พิเศษมาเสริม ทำให้กระทรวงการคลังต้องหันมาดูการจัดเก็บภาษี อย่างน้อยต้องจัดเก็บให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ในช่วง 3 ปี กระทรวงการคลังพยายามหารายได้ทางอื่นมาโปะรายได้จากกรมภาษีจัดเก็บต่ำกว่าเป้า ทั้งการให้รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้พิเศษ เรียกเงินคืนจากกองทุนนอกงบประมาณที่มีเงินสะสมมากๆ รวมถึงมีรายได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล ประมูล 4 จี

ซึ่งถือเป็นรายได้พิเศษมาช่วยชีวิตการเก็บภาษีต่ำเป้า

สมชัย สัจจพงษ์

“รัฐบาลไม่ได้ถังแตก” นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ยืนยันกระแสข่าวลือว่ารัฐบาลจะขึ้นแวต

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีว่า ยืนยันว่าการเพิ่มประสิทธิภาพไม่ใช่เพราะรัฐบาลถังแตก แต่เป็นปรับการทำงานของ 3 กรมภาษีใหม่ โดยให้ไปดูว่าอะไรที่ยังเป็นช่องโหว่ มีรอยรั่วในการเก็บภาษี จะเพิ่มเติมตรงไหนได้บ้าง

โดยเตรียมนำแผนดังกล่าวมาใช้ในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ คือช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2560

นายสมชัยยืนยันว่า แผนเพิ่มประสิทธิภาพภาษี ไม่มีขึ้นแวต ไม่เพิ่มอัตราภาษีเดิม และไม่มีการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ โดยยังใช้แนวทางการจัดเก็บภาษีเดิม อัตราเดิม

แต่ปรับวิธีการทำงานใหม่

เช่น นำไอทีเข้ามาช่วย ทำความเข้าใจกับผู้เสียภาษีเพื่อให้เข้ามาในระบบภาษีให้มากขึ้น ตรงไหนขาด ตรงไหนมีรอยโหว่ ก็ให้ไปอุดไว้

สมชาย พูลสวัสดิ์

ด้านกรมภาษี เปิดเผยถึงแผนเพิ่มประสิทธิภาพ นำโดย นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า แผนของกรมจะช่วยเพิ่มการหารายได้ 5-10% จากเป้าหมายภาพรวม 5.5 แสนล้านบาท โดยมี 2 ส่วน คือ

1. สินค้าทั่วไปต้องเข้มงวดการจัดเก็บ เพื่อป้องกันการรั่วไหล

2. บริการ เช่น การจัดเก็บสนามม้า สนามกอล์ฟ และสถานบริการ กรมจับมือกับกรมสรรพากรในการสุ่มตรวจ

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า แผนเพิ่มประสิทธิภาพของกรมจะเน้นในกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง เช่น กลุ่มร้านกลางคืน ทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ กลุ่มอาบอบนวด กลุ่มธุรกิจร้านค้าออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ โดยจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสั่งซื้อของ และดูว่ามีการออกใบเสร็จและใบกำกับภาษีอย่างไร

แผนของกรมสรรพากรคงไม่เน้นเพิ่มรายได้ แต่จะทำให้การจัดเก็บในปีงบฯ 2560 เป็นไปตามเป้าหมาย 1.867 ล้านล้านบาท ซึ่งการจัดเก็บรายได้ 5 เดือนแรกปีงบฯ 2560 (ตุลาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2560) ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 6,000 ล้านบาท

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า แผนกรมจะเน้นเรื่องการสำแดงภาษีนำเข้า กรมจะเข้มงวดมากขึ้น นำไอทีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมในช่วง 4 เดือนแรกปีงบฯ ต่ำกว่าเป้าหมาย 6,000 ล้านบาท

กรมพยายามจัดเก็บในปีงบฯ นี้ตามแผนที่วางไว้ 1.25 แสนล้านบาท

เรื่องภาษีต้องติดตามอย่ากะพริบตา ภาษีตัวไหนมีข่าวว่าจะขึ้น อาจไม่ขึ้น

แต่ที่ไม่มีข่าว อาจถูกเสนอเข้า ครม. แบบเงียบๆ และประกาศในราชกิจจานุเษกษา กว่าจะรู้ภาษีก็มีผลไปแล้ว

เนื่องจากการขึ้นภาษีถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าต้องเป็นความลับ เพราะจะกระทบหลายส่วน บางภาษีอาจทำให้เกิดการกักตุนสินค้า หรือเกิดการชะลอซื้อ

ดังนั้น จึงยังวางใจไม่ได้ว่ารัฐบาลจะไม่ขึ้นภาษีใดๆ

เพราะดูการจัดเก็บรายได้ของกรมภาษียังหลุดเป้าต่อเนื่อง