หนุ่มเมืองจันท์ | ม็อบทวิตเตอร์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเป็นคนที่ไม่เล่นทวิตเตอร์

จนเมื่อทำรายการพอดคาสต์ “เดอะ เพาเวอร์ เกม” และพบว่าเด็กรุ่นใหม่ติดตามรายการนี้เยอะมาก

ส่วนหนึ่งเพราะคนที่ฟังพอดคาสต์ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่

ผมก็เลยเริ่มเข้ามาเล่นทวิตเตอร์

เพราะรู้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะเล่นทวิตเตอร์กับอินสตาแกรม

ดูยูทูบ

ส่วนเฟซบุ๊ก เด็กๆ จะไม่ค่อยเล่นกันแล้ว

เพราะพ่อ-แม่เล่นเฟซบุ๊กและชอบขอมาเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กของลูก

จะไม่รับก็กลัวโดนว่า

แต่พอพ่อ-แม่เข้ามา พื้นที่ส่วนตัวของลูกก็หายไป

หนีมาทวิตเตอร์กับอินสตาแกรมดีกว่า

นั่นคือเหตุผลที่ผมเข้ามาในอาณาจักรทวิตเตอร์

อยากรู้ว่าเด็กรุ่นใหม่คิดอย่างไร

และผมก็เจอดินแดนใหม่ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน

โดยเฉพาะสำนวนภาษาของเด็กรุ่นใหม่

สนุกมากครับ

เพราะทวิตเตอร์จะจำกัดจำนวนตัวอักษร

ทำให้ต้องเขียนข้อความด้วยคำที่กระชับแต่รู้เรื่อง

และต้องมีความคมคายด้วย

เหมือนเล่นบอลในพื้นที่แคบ

เล่นยากนะครับ

ยัง…ยังไม่พอ

ที่ผมชอบที่สุดก็คือการคิดแฮชแท็กครับ

สั้นๆ กระชับ แต่กวน…

ผมนึกถึงการพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ในสมัยก่อน

บรรทัดละ 10-12 ตัวอักษร

ยิ่งถูกบีบบังคับด้วยพื้นที่มากเท่าไร

ความคิดสร้างสรรค์จะบังเกิด

หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่

กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ 10 ปี

“ทวิตเตอร์” ก็เดือดพล่าน

เด็กรุ่นใหม่รับไม่ได้กับคำตัดสิน

จากการแสดงความไม่พอใจเริ่มพัฒนาเป็นการนัดชุมนุมตามสถาบันการศึกษา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มก่อนที่ลานโพธิ์ ท่าพระจันทร์

คนเยอะพอสมควร

จากนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ตามมา

มหาวิทยาลัยอื่นๆ เริ่มไม่ยอม

ทุกแห่งพยายามคิดค้นแฮชแท็กเพื่อดึงเพื่อนๆ ร่วมสถาบันมาชุมนุม

ช่วงนี้ล่ะครับ สนุกมาก

นั่งอ่านไปหัวเราะไป

แต่ละคนสร้างสรรค์คำจนเกิดความอิจฉาเลยครับ

อยากได้สำนวนนี้มาเป็นของตัวเอง

เริ่มจากจริงจังอย่าง “จุฬาฯ”

#เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป

พอมาถึง “เกษตรฯ”

สำนวนก็เริ่มเล่นขึ้น

#KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ

เขาหมายถึง “สลิ่ม”

เป็นสำนวนที่ว่ากลุ่มคนที่ทำทีเป็นกลาง เป็น “เสื้อหลากสี” แต่จริงๆ แล้วหนุน กปปส.หรือ “เสื้อเหลือง”

จากนั้นคำว่า “สลิ่ม” ก็กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาล้อเลียนในแฮชแท็กของหลายมหาวิทยาลัย

#ศาลายางดกินของหวานหลายสี

#KKUขอโทษที่ช้าโดนสลิ่มลบโพสต์

#BUกูไม่ใช่สลิ่ม

#ราชภัฏอยากงัดกับสลิ่ม

ทุกสถาบันจริงจังมาก

แต่ “พระจอมเกล้า” จริงจังกว่า

#พระจอมเกล้าชอบกินเหล้าไม่กินสลิ่ม

…ชัดเจน

ใครจะไปนึกว่าเพียง 5-6 ปี คำว่า “สลิ่ม” กลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจสำหรับเด็กรุ่นใหม่

โลกหมุนเร็วจริงๆ

จน “ผู้ใหญ่” ตามไม่ทัน

“แฮชแท็ก” พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

มีอารมณ์กวนๆ แบบเด็กรุ่นใหม่

#ที่ยุบอนาคตใหม่พี่มหาลัยกูทั้งนั้น

…ธรรมศาสตร์ รังสิตครับ

#ฝุ่น6 ล้านหรือจะสู้ท่าน 9 เสียง

…มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

แฮชแท็กมหาวิทยาลัยศิลปากรก็น่ารัก

#ศิลปากรขอมีซีน

ยิ่งเข้าไปอ่านทวิตเตอร์ของเด็กแต่ละมหาวิทยาลัยในแฮชแท็กพวกนี้

ยิ่งอ่านยิ่งฮา

อย่างของมหาวิทยาลัยเล็กๆ แห่งหนึ่ง น้องคนหนึ่งบอกว่าไม่ต้องหาสถานที่นัดชุมนุมหรอก

นัดได้ทุกที่

เพราะตอนนี้มหาวิทยาลัยก็แคบจนไม่มีที่เดิน

“ฝุ่นยังแทรกเข้ามาไม่ได้เลย”

หรืออยู่ดีๆ ก็มีภาษาญี่ปุ่นโผล่ขึ้นมา

#สลิ่มจาไนเดส

แปลว่า “ไม่ใช่สลิ่มจ้า”

เป็นของมหาวิทยาลัยไทยญี่ปุ่น

หรือตอนที่ชุมนุมที่จุฬาฯ ก็มีนิสิตหญิงคนหนึ่งติดป้ายที่เสื้อ

“ไม่มีผัวไม่เป็นไร ไม่มีประชาธิปไตยอยู่ไม่ได้”

อ่านแล้วยิ้มเลย

ถ้าใครได้ฟังการปราศรัยของนิสิตนักศึกษา

เราจะรู้เลยว่า “เด็กรุ่นใหม่” ไม่ธรรมดา

จุดยืนเรื่องประชาธิปไตยชัดเจน

เขารู้สึกทนไม่ได้กับความอยุติธรรมที่ “คนรุ่นเก่า” เคยชิน

แต่เขารับไม่ได้

วิธีการเคลื่อนไหวของเด็กรุ่นใหม่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง

เริ่มการคิดแฮชแท็กแข่งกัน

มีการชวนเพื่อนทางทวิตเตอร์ผ่านแฮชแท็กของมหาวิทยาลัย

พอมหาวิทยาลัยหนึ่งเริ่มชุมนุม

มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ตาม และแข่งกันนิดๆ ว่าใครจะมากกว่ากัน

กระแสการชุมนุมจุดติดแล้ว

ภาพของคนที่มาชุมนุมไม่ใช่คนหัวรุนแรง

แต่เป็นคนรักประชาธิปไตย

ดูเท่ ดูหล่อ ดูสวย

ผมไม่รู้ว่าพัฒนาการต่อไปจะเป็นอย่างไร

แต่มันไม่หยุดนิ่งอยู่เพียงเท่านี้อย่างแน่นอน

รูปแบบการชุมนุมจะไม่ใช่แบบ “คนเสื้อแดง” หรือ กปปส.

แต่จะเป็นแบบไหน นึกไม่ออกครับ

คนแต่ละรุ่นก็มีวิธีการของเขาเอง

ใครจะไปนึกว่าในการชุมนุมที่จุฬาฯ

เพลงที่ใช้ในการชุมนุมเพลงหนึ่ง คือ เพลง “แสงสุดท้าย” ของ “บอดี้สแลม”

“นาทีที่ความฝันนั้นพร้อมเป็นเพื่อนตาย

…เส้นทางนี้

ฉันยังมีจุดหมาย

ตราบใดที่ปลายท้องฟ้ามีแสงรำไร

จะไปจนถึงแสงสุดท้าย”

ฟังแล้วก็คล้อยตาม

“ความหมาย” ใช้ได้ 555