เมื่อกัมพูชา “ไม่ว่าง”

AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมกัมพูชา ประกาศ “ระงับ” การฝึกร่วมทางยุทธการเพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายกับกองทัพออสเตรเลีย ที่ใช้ชื่อรหัสว่า “ดอว์น คูเปรย (คูปรี)” ซึ่งกำหนดจะมีขึ้นเป็นประจำทุกปี

ให้เหตุผลกันไว้ชัดเจนมากว่า “ไม่ว่าง”

เรื่องนี้ปรากฏเป็นรายงานข่าวทั้งในกัมพูชาและในออสเตรเลียในช่วงต้นเดือนมีนาคม

สัน สมนาง อธิบดีกรมการเมืองและกิจการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหมกัมพูชา บอกกับบรรษัทกระจายเสียงเอบีซี ของออสเตรเลีย ว่า มีการตัดสินใจ “ระงับ” การฝึกร่วมดังกล่าวเพราะ “เราจะยุ่งอยู่กับการเลือกตั้งสำคัญ 2 ครั้ง”

ครั้งแรก คือการเลือกตั้งระดับคอมมูนในเดือนมิถุนายน

อีกครั้งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018

“ข้อจำกัดด้านงบประมาณ” ก็เป็นปัจจัยประกอบด้วย อธิบดีสันบอก

AFP PHOTO / WANG ZHAO

ไล่เลี่ยกัน ชุม โสเชียท รัฐมนตรีกลาโหมบอกกับพนมเปญโพสต์ยืนยันการระงับ “ชั่วคราว” ดังกล่าวเพราะการเลือกตั้ง

แต่ต่อสร้อยไว้อีกนิดว่า ตอนต้นปี “เรายุ่งอยู่กับการรณรงค์ปราบปรามยาเสพติดด้วย” อีกต่างหาก

เรื่องนี้คงจบแค่นั้นถ้าไม่มีการตั้งข้อสังเกตขึ้นมาว่า ออสเตรเลียไม่ใช่ชาติตะวันตกชาติแรกที่ถูกกัมพูชา “เมิน” พ่วงด้วยข้อกังขาที่ว่า ทหารต้องไป “มีเอี่ยว” อะไรกับการเลือกตั้ง?!

ก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ กัมพูชาก็ระงับการฝึกร่วมประจำปีเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายกับกองทัพสหรัฐอเมริกาทุกรายการในช่วง 2 ปีนี้ รวมทั้งการฝึกร่วมที่ใหญ่ที่สุดซึ่งใช้ชื่อรหัสว่า “อังกอร์ เซนติเนล” ด้วยเหตุผล “ไม่ว่างเพราะเลือกตั้ง” เช่นเดียวกัน

เดวิด โจซาร์ โฆษกสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงพนมเปญบอกว่า จนถึงบัดนี้ฝ่ายอเมริกันยังไม่เคยได้รับ “คำอธิบายเหตุผลอย่างละเอียด” แต่อย่างใด

แต่เมื่อเดือนธันวาคม กัมพูชาอ้าแขนต้อนรับหน่วยทหารในสังกัดกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) 377 นายให้เดินทางเข้ามาร่วมซ้อมรบกับทหารกัมพูชา 280 นายในการฝึกเพื่อ “ปฏิบัติการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและบรรเทาทุกข์” ในชื่อรหัส “โกลเดน ดรากอน” ต่อเนื่องกันนาน 16 วันที่กำปงสปือด้วยความยินดี

พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการอเมริกัน ปักใจเชื่อว่า นี่คือพฤติกรรมที่สะท้อนการตัดสินใจ “เลือกข้างจีน” ของกัมพูชา

จีนที่ทั้งค้าขายด้วย, ขนเงินไปลงทุนด้วย แถมยังให้ความช่วยเหลืออีกต่างหาก ทำให้ในทางปฏิบัติ “กลายเป็นผู้อุปถัมภ์” ของ ฮุน เซน ไปแล้วในทัศนะของแชมเบอร์ส พร้อมกับคาดหมายว่า กัมพูชาคงเพิ่มการซ้อมรบร่วมกับจีนมากขึ้นในเวลาเดียวกับที่ทิ้งช่องว่างห่างจากตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ

“เพื่อแสดงความภักดี”

 AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

จอห์น แบลกซ์แลนด์ นักวิชาการจากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (เอเอ็นยู) ฟันธงว่า การปฏิเสธด้วยข้ออ้างนี้ไม่ต่างอะไรกับการ “ตบหน้าออสเตรเลีย”

ข้อสังเกตที่น่าสนใจของเอบีซี ก็คือ เพียงแค่การเดินทางเยือนของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา จีนก็รับปากจะให้ความช่วยเหลือกับกัมพูชาถึง 308 ล้านดอลลาร์ ในเวลาเดียวกันก็ยกหนี้เกือบๆ 117 ล้านดอลลาร์ที่กัมพูชาเป็นหนี้จีนอยู่ทิ้งไป

แถมยังเสนอเงินให้การสนับสนุนด้านการทหารอีกร่วมๆ 20 ล้านดอลลาร์

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความช่วยเหลือทั้งหมดไม่ได้มีเงื่อนไขต้องปรับปรุงสภาพสิทธิมนุษยชนหรือกระชับความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น “พ่วง” ติดมาด้วยแต่อย่างใด

เอบีซี ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ปกติทั่วไปในประเทศอื่นๆ หน่วยงานความมั่นคงที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่อันเนื่องมาจากการเลือกตั้ง เป็นกองกำลังตำรวจ ไม่ใช่ทหาร

แต่ทหาร โดยเฉพาะหลายหน่วยในกองทัพบกเข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งของกัมพูชาที่มักเป็น “เลือกตั้งเลือด” ในระดับ “มีนัยสำคัญ” มานานแล้ว

AFP PHOTO / TANG CHHIN SOTHY

ที่น่าสังเกตก็คือ สองสามปีหลังกองกำลังที่ใช้ “ควบคุมฝูงชน” และ “โจมตีกลุ่มผู้ประท้วง” ก็เป็นกำลังของหน่วยทหารและสารวัตรทหารทั้งสิ้น

แถมยังเป็นส่วนของกองทัพที่ ฮุน เซน หว่าน “เงิน” และ “ยุทโธปกรณ์” จากจีนลงไปให้เป็นส่วนใหญ่อีกต่างหาก

บทบาทของตำรวจ ถูกลดลงจนเหลือจำกัดจำเขี่ยอย่างยิ่ง ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญกว่าเป็นประเด็นทางการเมืองอีกเหมือนกัน

นั่นคือ เนื่องเพราะตำรวจอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่าง ซาร์ เคง

เป็น ซาร์ เคง คนที่ได้ชื่อว่าคือ “คู่แข่งบารมี” ภายในพรรคประชาชนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน นั่นเอง