โบแดงรัฐบาล “ประยุทธ์” ปิดเหมืองทองอัครา ประชาชนเฮ นายเหมืองสะอึก

ปัญหาการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ที่เริ่มทำเหมืองมาตั้งแต่ปี 2544 ตามมาด้วยการกระทบกระทั่งกับชุมชนที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่ทำเหมืองในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน

จนกระทั่งขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา สั่งให้ยุติการอนุญาตการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ รวมไปถึงกรณีของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ด้วย

แน่นอนว่า มติ ครม. ดังกล่าวได้สร้างความยินดีให้กับเครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดพิจิตร และเครือข่ายภาคประชาชน (NGO) ที่ต่อสู้ให้ปิดเหมืองแร่มาอย่างยาวนาน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง มติ ครม. ดังกล่าวกับสร้างปัญหาการขาดความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการชาวไทยและชาวต่างประเทศในแง่ของความชัดเจนและความถูกต้องในการปิดเหมืองครั้งนี้

บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นสูงสุด 3 อันดับแรก ประกอบไปด้วย นางณุชรีย์ ไศละสุต (สัญชาติไทย) 51.7578%, เอเซีย โกลต์ ลิมิเต็ด (สัญชาติมอริเชียส) 41.1865% และ บริษัทคิงสเกท แคปปิตอล (สัญชาติออสเตรเลีย) 7.0557% โดย “คิงสเกท แคปปิตอล” มีสถานะเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส

สถานะปัจจุบันก่อนที่ ครม. จะมีมติสั่งให้ยุติการทำเหมืองทองทั่วประเทศ บริษัทอัคราฯ ได้รับประทานบัตรทำเหมืองทองทั้งหมด 14 ใบ ในจำนวนนี้มี 1 ใบ (ML 25528/14714 เพชรบูรณ์) หมดอายุประทานบัตรไปแล้วและอยู่ระหว่างการยื่นขอต่ออายุประทานบัตรมา 3 ปีแล้ว

ส่วนประทานบัตรที่บริษัทใช้ทำเหมืองขณะนี้มีอยู่ 3 ใบ (ML 32530/15810-32531/15811-32532/15812 เพชรบูรณ์) โดยประทานบัตรจะหมดอายุลงในเดือนมิถุนายน 2563 กับเดือนกรกฎาคม 2571

หรือเท่ากับบริษัทอัคราฯ ยังเหลือระยะเวลาการทำเหมืองชาตรีได้อีก 12 ปี

ตลอดระยะเวลาการทำเหมืองที่ผ่านมา บริษัทอัคราฯ ต้องเผชิญกับการต่อต้านจากชุมชนรอบข้างในประเด็นของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

โดยในเดือนกรกฎาคม 2557 ประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนว่า ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง มีสารตกค้างอันตรายเกินกว่ามาตรฐานปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม

และนำมาซึ่งการเจ็บป่วยของประชาชน โดยข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ก็คือ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายให้เข้าไปเก็บตัวอย่างทางชีวภาพเพื่อตรวจหาปริมาณสารหนูและแมงกานีสมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2557 จากจำนวนตัวอย่าง 732 ราย

ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการพบสารหนู-แมงกานีสเกินค่าอ้างอิง 394 ราย มีประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง 8,449 คน

ต่อมา สำนักงานสาธารณสุข 3 จังหวัดได้รับมอบหมายให้เฝ้าระวังและดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 จนถึงปี 2559 ได้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงผลการตรวจสุขภาพมาโดยตลอด

โดยผลการตรวจสอบครั้งล่าสุดของ คณะทำงาน 4 ฝ่าย ซึ่งตั้งขึ้นมาในสมัยรัฐบาลชุดนี้ในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นการนำข้อมูลรายชื่อจากการตรวจสอบทั้ง 3 ครั้งก่อนหน้านี้ (ตั้งแต่ปี 2557) มาตรวจสอบความซ้ำซ้อนกันพบจำนวนประชาชนเข้ามารับการตรวจสอบโลหะหนักในร่ายกาย 1,583 ราย

ในจำนวนนี้มีการตรวจแมงกานีสในเลือด 1,574 ราย เกินค่าอ้างอิง 579 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.78, ตรวจสารหนูในปัสสาวะ 1,572 ราย เกินค่าอ้างอิง 362 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 23.03 และตรวจไทโอไซยาเนตในปัสสาวะ 1,002 ราย เกินค่าอ้างอิง 59 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 5.88

ที่สำคัญก็คือ ในรายงานของคณะทำงาน 4 ฝ่ายระบุว่า ประชาชนที่มีผลการตรวจระดับโลหะหนัก (ตามข้อกล่าวหาที่ว่า โลหะหนักเหล่านี้มาจากการทำเหมืองทองอัครา) เกินค่าอ้างอิงนั้น “ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่า สัมผัสโลหะหนักเหล่านี้มาจากแหล่งใดและมีระดับสูงกว่าโลหะหนักในพื้นที่อื่นหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวางแผนการศึกษาในพื้นที่เปรียบเทียบ (Reference Area)”

นั่นหมายความว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส ยังไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่า โลหะหนักเหล่านั้นมาจากการทำเหมือง สอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งและผลกระทบจากการทำเหมืองอัคราฯ ชุดของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ข้อสรุปเบื้องต้นในเดือนเมษายน 2559 ที่ว่า

ด้านธรณีวิทยา พื้นที่บริเวณเหมืองแร่ทองคำเป็นพื้นที่การปนเปื้อนของเหล็ก แมงกานีสและสารหนูในระดับสูงมาก่อนการทำเหมืองแล้ว

ด้านคุณภาพดินพบว่า มีปริมาณแมงกานีส-เหล็ก-สารหนูในระดับสูง ทั้งในช่วงก่อนการทำเหมืองและช่วงการทำเหมือง

ด้านคุณภาพน้ำใต้ดินพบค่าเหล็ก-แมงกานีสเกินเกณฑ์มาตรบานหลายจุด พบแมงกานีส-สารหนูในบ่อสังเกตการณ์

แต่มีข้อสงสัยที่รอการพิสูจน์เกี่ยวกับการพบน้ำปนเปื้อนไซยาไนด์สูงในแปลงนาข้าวใกล้บ่อกักเก็บกากแร่อยู่

ข้อเท็จจริงจากรายงานผลการตรวจสอบปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมข้างต้น จึงนำมาซึ่ง “ความคลุมเครือ” ในมติ ครม. วันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่ว่า “แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาข้อร้องเรียนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนเกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ หรือไม่

แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมและประชาชนเป็นส่วนรวมและแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชนในชุมชน ประกอบกับมีคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2557

รัฐมนตรีทั้ง 4 กระทรวง (อุตสาหกรรม-สาธารณสุข-วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี-ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) จึงมีมติร่วมกันให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำรวมถึง คำขอต่ออายุประทานบัตร แต่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัทอัคราฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของบริษัทก่อนที่จะยุติการทำเหมืองในวันที่ 31 ธันวาคม 2559

นั่นหมายถึง บริษัทอัคราฯ ยังมีเวลาถลุงแร่ทองคำที่เหลือจนถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น

และจากความคลุมเครือของมติ ครม. ดังกล่าว ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทอัคราฯ จึงมีปฏิกิริยาตอบโต้ขึ้นมาทันทีจากเหตุผลที่ว่า บริษัทยังมีอายุประทานบัตรจนถึงปี 2571 แต่ถูกสั่งให้ยุติการทำเหมือง โดยที่สาเหตุของการสั่งให้ยุติยังไม่ชัดเจน

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า บริษัทคิงสเกทฯ ในฐานะบริษัทแม่ อาจจะใช้วิธีการต่อสู้ทางกฎหมาย ผ่านทางอนุญาโตตุลาการ หรือยื่นฟ้องและขอความคุ้มครองจากศาลปกครอง หากไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้กับกระทรวงอุตสาหกรรมภายในอีก 7 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทอ้างความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคำสั่งของรัฐบาลไทย

ในขณะที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่รายอื่นก็ได้เคลื่อนไหวผ่านทาง สภาการเหมืองแร่ เพื่อขอความชัดเจนในคำสั่งปิดเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ จากความกังวลว่า คำสั่งที่ไม่ชัดเจนดังกล่าวอาจจะถูกใช้กับเหมืองแร่แห่งอื่นๆ

ในเมื่อรัฐบาลชุดนี้เลือกที่จะดูแลประชาชนเป็นเรื่องหลักสำคัญที่สุด สะท้อนผ่านคำพูดของ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ว่า “คำสั่งหยุดทำเหมืองทองคำถือเป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายมากกว่า ให้ถือประชาชนเป็นสำคัญ”

เดิมพันครั้งนี้ถือว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง