ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต/ปิดตำนาน 20 ปี ‘เชฟโรเลต’ ‘จีเอ็ม’ โบกมือลาเมืองไทย

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์/สันติ จิรพรพนิต [email protected]

ปิดตำนาน 20 ปี ‘เชฟโรเลต’

‘จีเอ็ม’ โบกมือลาเมืองไทย

ช็อกซีนีม่าไปตามๆ กัน เมื่อ “เชฟโรเลต” (ประเทศไทย) ประกาศยุติบทบาททั้งการขายและผลิตรถยนต์ในเมืองไทย

เป็นการปิดตำนาน 20 ปีกับการเข้ามาในเมืองไทย

“เชฟโรเลต” เป็นหนึ่งในแบรนด์รถยนต์เครือเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ที่ตามเพื่อนๆ ทั้งจากอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นเข้ามาหาช่องทางในเมืองไทย โดยเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543

ช่วงนั้นประเทศไทยกำลังสาหัสจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ลดค่าเงินบาทจาก 25 บาท/ดอลลาร์ ทะลุไปราวๆ 50 บาท/ดอลลาร์

ทำให้ค่ายรถยนต์ทั่วโลกแห่กันมาปักธงฐานการผลิตและทำตลาดแทนผู้จำหน่ายเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นดีลเลอร์ใหญ่ หรือผู้นำเข้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ แถมบริษัทแม่ยังประหยัดเงินลงทุนไปมหาศาลเมื่อเทียบค่าเงินในช่วงเวลานั้น

ไม่มีใครคาดคิดว่าระยะเวลาเพียง 20 ปีเท่านั้น แต่เชฟโรเลต ประเทศไทย ต้องปิดฉากตัวเอง

ที่ไม่คาดเพราะไม่มีวี่แววมาก่อนเลย เพราะแม้ช่วงที่บริษัทแม่อย่างจีเอ็มประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง ด้วยผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจ “แฮมเบอร์เกอร์” ของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน จนต้องขอความช่วยเหลือด้านการเงินจากรัฐบาล บริษัทในไทยไม่ได้กระทบสักเท่าไหร่

แต่จู่ๆ ย่างเข้าต้นปี 2563 ได้ไม่กี่มากน้อย จีเอ็มประกาศปิดตัวเชฟโรเลตในไทย หลังจากตกลงดีลซื้อขายโรงงานผลิตรถยนต์ที่ระยองให้กับ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” ยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดรถเอสยูวีจากประเทศจีนได้สำเร็จ

 

หากดูเอกสารชี้แจงของจีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ ถึงเหตุผลการปิดฉากเชฟโรเลตในไทย หลักๆ ไม่พ้นปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมายติดต่อกันหลายปี

โรงงานที่ระยองผลิตได้น้อยกว่าที่คาด

“จีเอ็มศึกษาและวิเคราะห์โดยละเอียดถึงแผนธุรกิจ ที่จะจัดสรรโครงการรถยนต์รุ่นใหม่ให้แก่ศูนย์การผลิตในจังหวัดระยอง แต่พบว่ามีอัตราการใช้กำลังการผลิตของศูนย์การผลิตแห่งนี้ไม่เต็มที่ ตลอดจนความต้องการสินค้าในตลาดประเทศไทยและตลาดส่งออกที่เราคาดการณ์ไว้นั้นจะมีจำนวนน้อย อีกทั้งยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายประการที่ไม่เอื้อต่อแผนธุรกิจนี้”

นายแอนดี้ ดันสแตน ประธานกรรมการตลาดเชิงกลยุทธ์ พันธมิตรและผู้แทนจำหน่าย จีเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล โอเปอเรชั่นส์ กล่าวถึงสาเหตุหลักๆ ของการรูดม่านเชฟโรเลตในไทย

แต่เดิมมีรายงานว่า แม้จะขายโรงงานให้เกรท วอลล์ มอเตอร์ แต่จีเอ็มยังมีทางเลือกทำตลาดแบรนด์เชฟโรเลตต่อไป แต่เปลี่ยนจากการผลิตเองเป็นนำเข้าจากอินโดนีเซีย ฐานใหญ่อีกแห่งของจีเอ็ม ซึ่งที่ผ่านมามีรถหลายรุ่นที่นำเข้าจากประเทศนี้ เพราะได้สิทธิ์ภาษีกลุ่มอาเซียน

อาทิ “เชฟโรเลต สปิน” หรือแม้แต่รุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งทำตลาดคือ “เชฟโรเลต แคปติวา”

แต่หลังจากพิจารณาแล้วคิดว่าขนาดผลิตในประเทศยังสู้ยาก แล้วนำเข้าจะเหลืออะไร จีเอ็มจึงตัดสินใจรูดม่านไปพร้อมๆ กันเลย

 

เชฟโรเลตหลังเข้ามาชิมลางตลาดเมืองไทย เริ่มส่งรถครอบครัวยอดนิยม “เชฟโรเลต ซาฟิร่า” แบบ 7 ที่นั่งเข้ามาเป็นรุ่นแรก มีเสียงตอบรับน่าพอใจเพราะเวลานั้นประเทศไทยยังแทบไม่มีรถเซ็กเมนต์นี้เลย

ตอกย้ำความฮอตอีกรอบด้วยปิกอัพ “โคโลราโด” ซึ่งใช้โครงสร้างพื้นฐานและเครื่องยนต์จากอีซูซุž แต่ออกแบบภายนอกได้ดุดันสไตล์อเมริกัน จุดเด่นคือไฟหน้าแบบ 2 ชั้น

โคโลราโดออกมาอย่างต่อเนื่องหลายเจเนอเรชั่น จนถึงปัจจุบัน

จากนั้นกระโดดเข้าสู่ตลาดเก๋งด้วย “ออพตร้า” ถือเป็นหนึ่งในรถดีอีกรุ่นที่ผมชื่นชอบ เพราะความแน่นหนึบของช่วงล่าง และความเงียบในห้องโดยสาร

ก่อนเปิดเซ็กเมนต์ใหม่ที่หายไปนานจากเมืองไทยด้วย “ออพตร้า เอสเตท” เก๋งแวน

ต่อด้วยเก๋ง “เชฟโรเลต ครูซ”

เก๋งเล็กมี “เชฟโรเลต โซนิค”

รถครอบครัวเอ็มพีวีขนาดเล็ก เป็นเชฟโรเลต สปิน ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย

รถเอสยูวี มี “แคปติวา” เป็นตัวชูโรง

เมื่อเมืองไทยเริ่มฮิตกับรถกลุ่มพีพีวี หรือปิกอัพดัดแปลง เชฟโรเลตส่ง “เทรลเบรเซอร์” มาแชร์ส่วนแบ่ง

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายปีหลังตลาดเก๋งของเชฟโรเลต ยอดขายลดลงเรื่อยๆ จนถอดใจเลิกทำตลาด เน้นแต่ปิกอัพโคโลราโด กับรถเอสยูวี และพีพีวีเท่านั้น

แต่ยอดขายไม่หวือหวามากนัก จนท้ายที่สุดตัดสินใจออกจากตลาดไป

 

หลังจากเชฟโรเลตประกาศยุติบทบาทในเมืองไทยภายในสิ้นปีนี้ สิ่งที่ตามมาไม่พ้นสต๊อกรถที่ยังค้างเติ่ง เพราะแน่นอนว่าเมื่อเลิกกิจการทำให้ยอดขายหายวับไปทันที

แต่ไม่กี่วันต่อมาเมืองไทยต้องฮือฮาเมื่อเชฟโรเลตประกาศลดราคารถยนต์ทุกรุ่นชนิดล้างสต๊อก

ลดสูงสุดเป็นเชฟโรเลต แคปติวา ใหม่ ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2562 นี่เอง

หั่นราคาถึงคันละ 5 แสนบาท

รุ่นต่ำสุดคือ LS ราคา 999,000 บาท เหลือ 499,000 บาท ถูกกว่ารถอีโคคาร์ด้วยซ้ำ

ส่วนปิกอัพและเทรลเบรเซอร์ก็ลดหลั่นกันไป แต่อย่างต่ำหั่นราคาไปแสนเศษๆ

เพียงวันเดียวที่ประกาศ ลูกค้าแห่จองแน่นทุกศูนย์บริการ จนสต๊อกแคปติวาหมดอย่างรวดเร็ว

หลายคนอาจสงสัยว่าซื้อรถแบรนด์นี้ ซึ่งต่อไปไม่ได้ทำตลาดแล้วจะมีปัญหาบริการหลังการขายหรือไม่

จีเอ็มและเชฟโรเลตยืนยันว่ายังมีศูนย์บริการอยู่ แต่ลดขนาดให้ย่อมลงเพราะไม่มีโชว์รูมแล้วนั่นเอง ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 100 ศูนย์บริการกระจายทั่วประเทศ

ส่วนรถใหม่ยังการันตี 3 ปี หรือ 1 แสนกิโลเมตรเช่นเดิม

รวมทั้งมีสต๊อกอะไหล่ยาวถึง 10 ปี และไม่ใช่เฉพาะรถใหม่เท่านั้น แต่อะไหล่รุ่นแรกอย่างซาฟิร่า หรือเก๋งออพตร้า ยังมีบริการอยู่

 

สําหรับแคปติวา ใหม่ ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ส่วนหนึ่งเพราะหั่นราคาไปถึง 5 แสนบาท

ทำให้ผู้ซื้อประเมินแล้วว่าคุ้มแน่ เพราะปกติแล้วรถใหม่หากใช้ไปสัก 4-5 ปี ราคาขายต่อจะตกลงราวๆ 50-60% อยู่แล้ว

เปรียบง่ายๆ หากซื้อรถแคปติวาในราคาปกติ 999,000 บาท ใช้ไป 5 ปี ราคาขายต่อได้ไม่เกิน 5 แสนแน่นอน

ส่วนเรื่องอะไหล่ ต่อให้หมดสต๊อก แต่ช่างไทยขึ้นชื่อเรื่องการซ่อมหรือดัดแปลงอยู่แล้ว อีกทั้งรถรุ่นนี้นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย หากลูกค้าต้องการจริงๆ สามารถสั่งนำเข้าผ่านร้านจำหน่ายอะไหล่ได้ไม่ยากนัก

รวมถึงกลุ่มอะไหล่มือสอง ที่บรรดาเซียงกงทั้งหลายไม่พลาดนำเข้าจากอินโดฯ หรือจีนแน่นอน เนื่องจากข้อมูลพบว่ามีรถแบรนด์เชฟโรเลตวิ่งบนถนนกว่าแสนคัน

ที่น่าเห็นใจที่สุด นอกเหนือจากพนักงานที่ต้องตกงานจำนวนกว่าพันคนแล้ว แม้จะได้เงินชดเชยซึ่งจีเอ็มยืนยันว่าจ่ายมากกว่าที่กฎหมายกำหนดแน่นอน แต่ก็ต้องหางานใหม่ ไต่เต้ากันใหม่ต่อไป

และที่น่าเห็นใจสุดๆ ไม่พ้นผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อรถราคาเต็มไปก่อนหน้านี้

งานนี้ทำได้อย่างเดียวคือ “ทำใจ”