ท่าที พุทธทาส ต่อฆราวาส บรรพชิต การปฏิบัติธรรม

มีความแตกต่างอย่างเด่นชัดระหว่าง “ฆราวาส” กับ “บรรพชิต” ความแตกต่างนี้มีผลสะเทือนต่อกระบวนการของการปฏิบัติธรรม

ในความเห็นของท่านพุทธทาสภิกขุ

“คำว่าฆราวาสมีคำประกอบขยายความในภาษาบาลีว่า ผู้ครองเรือน ผู้แออัดอยู่ด้วยบุตรภรรยา ลูบไล้กระแจะจันทน์ของหอม อย่างนี้เป็นต้น”

ขณะเดียวกัน ก็กล่าวด้วยว่า

“ฆราวาส ก็คือสัตว์ที่เกิดมาเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ และทั่วกันทุกคน”

“น้ำเสียง” ของท่านพุทธทาสภิกขุต่อ “ฆราวาส” แยกจำแนกอย่างเด่นชัดตามสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่

แต่เป็น “น้ำเสียง” อันเปี่ยมด้วย “ความเมตตา”

ขณะที่ความเชื่อส่วนใหญ่ของปราชญ์ชาวพุทธในแบบเก่า ไม่ค่อยให้น้ำหนักต่อ “ฆราวาส” เมื่อเปรียบเทียบกับ “บรรพชิต”

ถึงกับตัดหนทางและโอกาสที่จะ “พ้นทุกข์” ได้อย่างสิ้นเชิง

ตรงกันข้าม ท่านพุทธทาสภิกขุค่อนข้างให้โอกาส ค่อนข้างให้กำลังใจ และยอมรับต่อบทบาทในการปฏิบัติธรรมของ “ฆราวาส”

นั่นก็หมายถึง “ฆราวาส” ที่มีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะ มิใช่ “ฆราวาส” โดยทั่วไป

ปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน นำเอาจุดเด่นนี้ของท่านพุทธทาสภิกขุมาพิจารณาเปรียบเทียบและแยกแยะอย่างวิเคราะห์

ต้องอ่าน

 

เมื่อกล่าวถึงการเจริญสติอันเป็นฐานหลักของ “จิตว่าง” ซึ่งจำเป็นแก่การบรรลุ “นิพพาน” ท่านพุทธทาสเห็นว่า “คนปฏิบัติธรรม” ไม่ได้หมายถึง

“คนที่ปฏิบัติธรรมอยู่คนเดียวในป่า

“คนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ทำงานตามหน้าที่หรือภาระรับผิดชอบอะไรก็ตามถือเป็น “คนปฏิบัติธรรม” ได้ เพราะพวกเขาก็ปฏิบัติธรรมหรือทำหน้าที่อยู่เช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสไม่ได้มุ่งล้มล้างบทบาทที่แท้จริงของบรรพชิตและฆราวาส ท่านเพียงแต่จัดให้บุคคลทั้ง 2 ฝ่ายได้อยู่บนฐานรองรับทางจิตวิญญาณที่เสมอกัน และมีโอกาสได้รับมรรคผลเท่ากันเท่านั้น

ยกตัวอย่างว่า ท่านเสนอแนะว่า คนไทยควรจะดำรงประเพณีที่ให้ผู้ชายบวชและจำพรรษา 3 เดือนอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต โดยกล่าวว่า

“การบวช 3 เดือนซึ่งยังถือปฏิบัติกันอยู่มากในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำและควรสนับสนุน”

ท่านพุทธทาสกล่าวว่า ประเพณีนี้ควรถือปฏิบัติกันต่อไปเพื่อธำรงพระศาสนาไว้ไม่ให้เสื่อมสลาย และเพื่อให้ฆราวาสเข้าใจหลักการของพระพุทธศาสนาได้ดีขึ้น

 

ในขณะที่ท่านวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติและความเชื่ออย่างอื่นๆ หลายอย่างที่ไม่เป็นไปตามแบบบัญญัติในพระพุทธศาสนา ท่านกลับแนะให้ดำรงประเพณีการบวช 3 เดือนซึ่งไม่มีบัญญัติไว้ในพระพุทธศาสนาเช่นกัน แต่ด้วยเหตุที่ประเพณีนี้มีประโยชน์

ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

“แม้ว่าการบวช 3 เดือนจะไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติกันในครั้งพุทธกาล แต่ถ้าพวกเราทำตามประเพณีนี้ด้วยความประสงค์ดี ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสำหรับการยึดถือโดยรวมและการปฏิบัติ (ธรรม) สืบต่อไปในอนาคต”

แม้ว่าท่านพุทธทาสจะเปิดโอกาสให้ฆราวาสได้เข้าถึงความพ้นทุกข์ในขั้นสูงสุดท่านก็ไม่ได้ยกวัตรปฏิบัติของฆราวาสขึ้นไปเท่าเทียมวัตรปฏิบัติของพระภิกษุแต่อย่างใด

ท่านยังคงยืนยันข้อแตกต่างนี้โดยกล่าวว่า

“ในพระบาลีไตรปิฎกเองมีข้อความว่า พรหมจรรย์ไม่ใช่สิ่งที่ฆราวาสจะสามารถประพฤติให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ เพราะสถานะของฆราวาสมีเรื่อง (ทางโลก) ที่เกี่ยวข้องและอุปสรรคขัดขวางมากมายนัก”

เนื่องจากชีวิตฆราวาสมีข้อจำกัดหลายอย่าง ท่านพุทธทาสจึงได้ให้ข้อคิดไว้ว่า

“คนเราจะยังไม่สามารถเข้าถึง (ความหมายของ) ตัวศาสนาเองได้ จนกว่าจะได้ชีวิตตามแบบพระภิกษุอย่างแท้จริง”

ตามคำกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า ท่านพุทธทาสไม่ได้ล้มเลิกสถาบันหรือบทบาทของบรรพชิตแต่อย่างใด สิ่งที่ท่านล้มเลิกก็คือขนบประเพณีที่เป็นสิ่งขัดขวางการปฏิบัติสมาธิของฆราวาส และกิจกรรมต่างๆ ของฆราวาสที่มุ่งสู่ความหลุดพ้นเท่านั้น

ใครก็ตามที่อ่านประวัติการปฏิบัติธรรมของ พระอาจารย์เทียน จิตตสุโภ จะประจักษ์ในลักษณะเฉพาะของท่าน

ตอนที่ค้นพบลักษณะของ “เชือก” อันถือว่าเป็น “เส้นแบ่ง” อย่างสำคัญ

คงจำได้ว่าเป็นการค้นพบระหว่างปฏิบัติธรรมและดำรงสถานะแห่ง “ฆราวาส” อย่างเต็มเปี่ยม เส้นแบ่งนี้ทำให้พระอาจารย์ตระหนักใน “สัจจธรรม”

และจากนั้นจึงตัดสินใจสละ “ฆราวาส” เพศ เข้าสู่ความเป็น “สมณะ” โดยสมบูรณ์