ธงทอง จันทรางศุ | ปรารถนา “รถราง”

ธงทอง จันทรางศุ

วันหยุดติดต่อกันสองสามวันเมื่อสองสัปดาห์ก่อนผมไม่ได้เดินทางไปที่ไหน

วนเวียนอยู่ในกรุงเทพมหานครนี่แหละครับ

ตลอดระยะเวลาของวันหยุดที่ว่านั้น ผมมีธุระออกจากบ้านไปด้วยเรื่องกิจการงานที่ต้องไปร่วมไปทำบ้าง หรือไปหาของกินบ้าง

ผมได้ใช้รถไฟฟ้ามหานครเป็นยานพาหนะสองวัน

ได้รับความสะดวกสบาย และเดินทางถึงที่หมายปลายทางตรงตามกำหนดที่คิดไว้ในใจทุกอย่าง

นอกจากรถไฟฟ้ามหานครแล้ว บ่อยครั้งเหมือนกันที่ผมใช้รถใต้ดิน ทำตัวเป็นขอมดำดินมุดจากที่นู่นไปโผล่ที่นี่ มุดจากที่นี่ไปโผล่ที่โน่น

บางคราวใช้ทั้งสองอย่างคู่กันคือนั่งรถใต้ดินไปต่อรถไฟฟ้า ถึงปลายทางแล้วเดินอีกนิดหน่อย

ทำอย่างนี้จนคุ้นเคยกันกับระบบโดยสารสาธารณะทั้งสองอย่าง

พูดถึงการเดินทางสมัยนี้ ถ้าไม่นับรถยนต์ส่วนตัว รถแท็กซี่แบบดั้งเดิม วินมอเตอร์ไซค์ เรือโดยสารตามแม่น้ำลำคลอง หรือรถเมล์โดยสารประจำทางที่อยู่คู่ชาติบ้านเมืองมาเนิ่นนานแล้ว

ยานพาหนะระบบใหม่ก็เกิดขึ้นมากนะครับ

ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้ามหานคร

รถใต้ดินหรือรถแท็กซี่ที่สามารถเรียกได้ทางโทรศัพท์มือถือ แทนที่จะต้องยืนแกร่วคอยเสี่ยงบุญกรรมอยู่ข้างถนนอย่างสมัยก่อน เหมือนรอพระมาโปรด

ถ้าเรารู้จักเลือกใช้ระบบเหล่านี้ให้เหมาะสมและเชื่อมโยงกัน ก็นับว่าการเดินทางในกรุงเทพมหานครมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางดีกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก

ยังจะต้องร้องทุกข์กันอยู่ก็ในเรื่องราคาค่าใช้จ่ายที่อาจไม่เหมาะสมกับเงินในกระเป๋าของเราอยู่บ้าง ข้อนี้ก็ต้องว่ากันต่อไปในวันข้างหน้าว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง

เมื่อมีของใหม่เกิดขึ้น ของที่มีมาแต่เดิมก็ต้องถดถอยหรือปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เด็กสมัยนี้เขาบอกว่า ถ้าอ่อนแอก็ต้องแพ้ไป เป็นความจริงที่เจ็บปวดนะครับ

ผู้อาวุโสด้วยอายุเช่นผมได้เห็นยานพาหนะที่แพ้พ่ายไปหลายอย่างแล้วครับ ดังนั้น เมื่อพูดขึ้นมาเด็กยุคปัจจุบันย่อมไม่รู้จักหรือเคยเห็นรถรางและรถสามล้อถีบอีกต่อไปแล้ว

พาหนะที่เรียกว่ารถรางนั้นมีลักษณะตรงกับชื่อเป็นที่สุด คือต้องวิ่งไปตามราง ที่มีขนาดไม่ใหญ่โตเท่าไหร่นัก ตัวรถมีความโปร่งโล่งสบาย

ถ้าฝนตกแดดออกมากนักก็คลี่มู่ลี่ที่อยู่ด้านข้างลงมาปิดบัง

ตัวรถรางบางรุ่นมีความมิดชิดมากกว่านั้น หน้าตาน้องๆ โบกี้รถไฟเลยทีเดียว

แต่ใจผมว่าสู้แบบลมพัดโกรกไปมาไม่ได้

เท่าที่ผมทรงจำได้ อย่างมากที่สุดรถรางจะเป็นรถสองโบกี้วิ่งตามกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นรถเพียงโบกี้เดียว รถทั้งขบวนขับเคลื่อนด้วยกำลังไฟฟ้าซึ่งมีอุปกรณ์คล้ายเสากระโดงอยู่กลางหลังคารถขึ้นไปเชื่อมกับสายไฟฟ้าที่อยู่กลางถนนหรือข้างถนน

เสากระโดงที่ว่านี้โอนเอนไปมาได้ เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่รถรางจะวิ่งเกาะอยู่กับแนวของเสาไฟฟ้าตลอดไป บางช่วงเวลาก็ต้องเว้นระยะห่างออกมาบ้าง แต่ก็ต้องไม่ออกมาไกลเกินรัศมีของเสากระโดงครับ

ความทรงจำราวหกสิบปีที่ผ่านไปบอกผมว่ารถรางมีที่นั่งสองชนิด จะเรียกว่าเป็นรถชั้นหนึ่งและชั้นสองก็ได้

ความแตกต่างอยู่ตรงที่มีเบาะรองนั่งหรือเป็นเก้าอี้ไม้ไม่มีเบาะ

ส่วนราคาดูเหมือนจะเป็น 50 สตางค์กับ 25 สตางค์ลดหลั่นกันตามฐานานุรูป

ระหว่างที่นั่งชั้นหนึ่งกับที่นั่งชั้นสองมีลูกกรงโปร่งด้านซ้ายขวา เปิดทางเดินไว้ตรงกลาง สามารถเดินทะลุหรือไปมาหากันได้ตั้งแต่หัวรถยันท้ายรถ

รถรางวิ่งด้วยความเร็วเนิบนาบ ถ้านำมาเปรียบกับรถไฟฟ้าหรือรถใต้ดินปัจจุบันแล้วห่างไกลกันมาก

แต่ก็เหมาะสมกับชีวิตของคนในยุคนั้นครับ

บ่อยครั้งที่รถรางต้องไปจอดรอหลีกอยู่กลางถนน เพราะรางรถรางทั่วไปแล้วเป็นรางเดี่ยว ไม่ใช่รางคู่ที่สวนกันได้สะดวก

ดังนั้น เพื่อให้รถรางวิ่งสวนกันได้ในบางตำบลจึงต้องสร้างเป็นรางคู่แยกออกจากกันเพื่อให้รถคันที่มาถึงก่อนจอดรอไว้ เรียกว่ารอหลีก

อีกคันหนึ่งมาถึงที่เดียวกันวิ่งอ้อมไปยังรางคู่ฝั่งตรงข้าม จากนั้นต่างคนจึงต่างเดินทางต่อไป

ถ้านึกภาพไม่ออกขอให้ไปดูที่เขาวังเมืองเพชรบุรี ลักษณะรถเคเบิลที่วิ่งขึ้น-ลงสวนกัน เขาใช้รางแบบที่ผมว่านี้แหละ เพียงแต่ว่าไม่ต้องจอดรอเวลากันเพราะจัดวางระบบไว้ให้สวนกันได้พอดี

กิจการรถรางในกรุงเทพฯ ของเราเริ่มต้นตั้งแต่พุทธศักราช 2431 และมีอายุยืนยาวมาจนกระทั่งถึงพุทธศักราช 2511 เป็นเวลานานถึง 80 ปีเต็มทีเดียวจึงเลิกกิจการไปอย่างเด็ดขาด ด้วยข้อหาสำคัญคือเกะกะและกีดขวางการจราจรที่พลุกพล่านหนักขึ้นทุกที

ทุกวันนี้รถรางจึงเป็นเรื่องความหลังไว้ให้คนแก่พูดคุยกันเท่านั้น

เมื่อหลายปีก่อนผมเดินทางไปสหรัฐอเมริกาได้ไปที่เมืองนิวออร์ลีนส์ เมืองนั้นเขายังเก็บรถรางไว้สองสามสายครับ

ถึงแม้จะมีระบบการจราจรและขนส่งยังใหม่มากมายเพียงไรก็ตาม ชาวเมืองและผู้บริหารของเมืองก็ยังเก็บรถรางเอาไว้เป็นเสน่ห์ของเมือง

ช่วงเวลาที่ผมไปอาศัยแรมคืนอยู่ที่เมืองนั้นเกือบหนึ่งเดือนได้นั่งรถรางเกือบทุกวันครับ มีความสุขมากรู้สึกเหมือนว่าตัวเองกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง

เส้นทางเดินรถของรถรางเมืองนิวออร์ลีนส์ก็น่าสนใจครับ เพราะจากใจกลางเมืองวิ่งออกไปมหาวิทยาลัยทูเลนซึ่งเป็นเส้นทางที่ผมต้องใช้เป็นประจำทุกวัน

วิ่งผ่านบ้านเก่าอายุหลายร้อยปีเรียงรายอยู่สองข้างทาง บ้านแต่ละหลังปลูกต้นไม้ร่มรื่น งดงามทั้งสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตย์ชวนให้หันซ้ายหันขวาเลี้ยวดูกันจนคอเคล็ดไปเลยทีเดียว

ข้อดีของรถรางที่เราไม่เคยพูดถึงกันเลย ในเวลาที่เราจะตัดสินใจเลิกรถรางในเมืองไทย นั่นคือความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เพราะรถรางใช้พลังงานไฟฟ้า ก็ไฟฟ้าแหล่งเดียวกับที่เราใช้ตามบ้านเรือนอยู่นี่แหละ

สุ้มเสียงก็ไม่ได้ดังอึกทึก ผมว่าถ้ารถรางกลับมาวิ่งอีกครั้งหนึ่งในเส้นทางที่เหมาะสม เห็นจะมีแฟนคลับทั้งเก่าทั้งใหม่สนใจใช้บริการกันน่าดู

ในที่แห่งนี้ผมได้เสนอให้ทุบโน่นสร้างนี่มาสองรายการแล้ว

วันนี้ขอเสนอให้สร้างแบบไม่ทุบอะไรบ้าง

จะดีไหมครับถ้าเรามีรถรางสักสายหนึ่งวิ่งวนเวียนอยู่ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นสุดยอดแห่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ

และเมื่อมีรถรางเกิดขึ้นแล้ว เราอาจจะวางระบบให้ลดความหนาแน่นของการจราจรในพื้นที่ลงได้บ้าง แทนที่เราต้องนำรถขนาดใหญ่ขนาดเล็กหลายพันคันก็ไปวิ่งอยู่ในเมืองเก่า รถรางอาจจะมาชดเชยหรือหนุนช่วยความต้องการในส่วนนี้ได้

เสน่ห์กรุงเทพฯ ที่มีมากอยู่แล้วอาจจะเพิ่มขึ้นอีกนิดนึงก็ได้นะครับ

นานมาแล้วมีละครบรอดเวย์ชื่อ A Streetcar Named Desire เป็นละครที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก และมีผู้แปลเป็นภาคภาษาไทยว่า รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา

วันนี้ผม “ปรารถนารถรางคันนั้น” ครับ