กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “เผื่อไว้ ไม่ดี”

ความเดิมตอนที่แล้ว

โรงไฟฟ้าฟูคุชิมา ไดอิชิ ถูกคลื่นสึนามิเข้าโรมรัน

เครื่องปั่นไฟฟ้าสำรอง ถูกน้ำท่วม

เครื่องหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ยูเรเนียม หยุดทำงาน

แร่ยูเรเนียมที่ร้อนถึงขีดสุด ค่อยๆ หลอมละลาย

กลายเป็นกัมมันตรังสีปนเปื้อนออกสู่บริเวณโดยรอบอย่างรวดเร็ว

ดังความมืดที่ค่อยๆ คืบคลาน กลบแสงของวันในเมืองฟูคุชิมา

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ณ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

โจอี้ อิโต ชาวญี่ปุ่น ถูกเชิญไปสัมภาษณ์งาน

เพื่อเข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าของ MIT Media Lab

สถาบันวิจัยที่ “ล้ำ” ที่สุดในมหาวิทยาลัยระดับโลก MIT

ทันทีที่ได้ยิน “ข่าวร้าย” ที่ประเทศบ้านเกิด

โจอี้ติดต่อทางบ้าน เช็กว่า ทุกอย่างโอเค ไม่มีใครได้รับผลกระทบ

เขานั่งลงบนเตียง แล้วคิดกับตัวเองว่า

“คงต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว”

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุด เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น

ก็คือ “ไม่มีใครรู้ว่า กัมมันตรังสีได้แผ่ไปถึงไหนแล้ว”

วิธีการที่บริษัท Tokyo Electric หรือ TEPCO ก็ล้าสมัยไปเสียแล้ว

รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ไม่คุ้นเคยกับเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน

เรียกได้ว่า “ข้อมูล” ไม่น่าเชื่อถือ

จะอพยพคนไปที่ไหน อย่างไร เมื่อไร ก็เหมือนตาบอดคลำช้าง

โจอี้โทร.หาเพื่อนๆ ในแวดวงเทคโนโลยีจากทั่วโลกที่รู้จักกันดี

แล้วเริ่มพูดคุยที่จะแก้ปัญหานี้

ไม่ต้องเจอหน้ากัน วางแผนงานผ่านอินเตอร์เน็ต

แรกสุด พวกเขาคิดว่า ทำอย่างไรก็ได้ ที่จะหาเครื่อง Geiger Counter หรือ เครื่องวัดกัมมันตรังสี คุณภาพดีให้ได้มากที่สุดจากทั่วโลก

แล้วระดมคนออกลงสำรวจพื้นที่จริงๆ

แดน ซิท บริษัทที่ผลิตเจ้าเครื่องนี้ บริจาคเครื่องให้ส่วนหนึ่ง

ปีเตอร์ แฟรงเคน และ ชอน บอนเนอร์ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ทั้งคู่อาศัยอยู่ที่เมืองลอสแองเจลิส อีกฟากของประเทศอเมริกา

มีความพยายามที่จะสั่งซื้อเจ้าเครื่องนี้นำไปส่งที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ประสบผลเท่าที่ควร

เพราะได้มีความตระหนกเกิดขึ้นในแถบรัฐแคลิฟอร์เนีย

ผู้คนกลัวว่า กัมมันตรังสีรั่วไหลที่กำลังเกิดขึ้นในอีกซีกโลก

จะแพร่มาถึงชายฝั่งตะวันตกของประเทศ ในไม่ช้า

ทำให้คนในสหรัฐอเมริกา ก็อยากจะเก็บเจ้าเครื่องนี้เอาไว้กับตัว ไม่ปล่อยไปให้ที่ญี่ปุ่น

โจอี้พบว่า ถ้าเขาอยากจะช่วยให้ปัญหานี้คลี่คลาย

เขาคงจะต้องสร้างเจ้าเครื่องนี้ขึ้นมาเสียเอง

 

ไม่รอช้า เขาระดมสมองกับสมัครพรรคพวก

บอนเนอร์ช่วยติดต่อ “ฮวง” ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย MIT ผู้ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการ “Hardware” ในประเทศจีน สามารถสร้าง “ของ” ขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น คุณภาพดี

ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ ก็สามารถสร้างเครื่อง Geiger Counter ได้จำนวนมาก

ทีมงานลงพื้นที่ฟูคุชิมาทันทีหลังจากได้เครื่องเหล่านี้ไว้ในมือ

พวกเขาแจกจ่ายให้กับอาสาสมัครที่จะลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว

แล้วก็พบว่า การวัดค่ากัมมันตรังสี ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่นั้น ไม่ถูกต้อง

เนื่องจากวัดโดยการบินสำรวจจากเฮลิคอปเตอร์ ทำให้ค่าที่วัด ไม่เสถียร

ทีมงานต้องรีบเก็บข้อมูล โดยเครื่องวัดผล Geiger Counter บนภาคพื้นดิน

แล้วหาวิธีส่งข้อมูลเหล่านี้ไปให้ถึงมือประชาชนและผู้อพยพโดยเร็ว

โจอี้ติดต่อ มาเซลิโน อัลวาเรส เจ้าของธุรกิจโทรคมนาคมในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา

มาเซลิโนช่วยสร้างเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลของกัมมันตรังสีขึ้นมาโดยใช้เวลาไม่กี่วัน

เรย์ ออสซี่ วิศวกรที่เคยทำงานอยู่ที่บริษัทไมโครซอฟต์ ก็อาสามาช่วยในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)

ทีมงานตั้งชื่อเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลนี้ว่า “เซฟคาสต์ (Safecast)”

เงินทุนที่ใช้ในการทำโครงการนี้เกิดจากการระดมทุนผ่าน “Kickstarter”

เว็บไซต์ “ระดมทุนผ่านมวลชน (Crowdfunding)” ชื่อดังระดับโลก

Safecast ได้เก็บข้อมูลต่อเนื่อง เป็นระยะเวลากว่าหนึ่งปี

ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือกว่า 50 ล้านจุด

และที่สำคัญ ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ในทันที (Real-time)

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ยังใช้ข้อมูลจาก Safecast ในการเรียนรู้ เรื่องการกระจายตัวของกัมมันตรังสี

มาจนถึงทุกวันนี้

 

ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และโลกที่เชื่อมถึงกัน

โจอี้ อิโต เขียนเอาไว้ในหนังสือขายดีระดับโลก ชื่อว่า “Whiplash”

องค์กรในโลกอนาคต สามารถจะทำงานได้อย่างรวดเร็ว ด้วย “ค่าใช้จ่าย” ที่ถูกลงมาก

เราอาจเคยได้ยินคำว่า “เผื่อๆ ไว้ก่อน” หรือ “Just in case” ในที่ประชุมองค์กรหลายแห่ง

ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดงบประมาณ การทำโครงการต่างๆ นานา

เรามักจะขอ “เผื่อ” เนื่องจากอนาคตอาจจะไม่มีความแน่นอน

และกระบวนการที่ไม่ยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน จึงต้อง “ขอเผื่อมาก่อน”

ถ้าได้ใช้ก็ดีไป ถ้าไม่ได้ใช้ก็เป็น “เงินจม” ที่ไม่เกิดประโยชน์

เป็น “ค่าใช้จ่ายแฝง” ที่องค์กรต้องแบกรับเอาไว้อย่างเสียมิได้

หากแต่ว่าโลกใบนี้ ที่ติดต่อถึงกันมากขึ้น และมีเทคโนโลยีมากมาย

ไม่ใช่แค่การสื่อสาร แต่รวมถึงการระดมหัวสมอง (Crowdsourcing) และระดมทุน (Crowdfunding)

จะทำให้แนวคิดเรื่อง “เผื่อไว้ (Just in Case)” ต้องเปลี่ยนมาเป็น “ทันที (Just in time)” มากขึ้น

เมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องใช้ “คน” หรือใช้ “เงิน” ค่อยเรียกใช้เป็นครั้งๆ ไป

เหมือนที่ โจอี้ อิโต้ กับผองเพื่อน รวมตัว รวมเงินกัน “ช่วยโลก”

ไม่ต้อง “สแตนด์บาย” กันให้มากมาย ทำให้ “ค่าใช้จ่ายหลังบ้าน” สูงขึ้น

ลด “ขีดความสามารถในการแข่งขัน” ของบริษัทตัวเองโดยไม่รู้ตัว

อนาคตอีกไม่ไกล คำว่า “พนักงานประจำ” จะเป็นคำที่ “ล้าสมัย”

คนที่มีความสามารถ ไม่อยากจะทำงานเดิมๆ ที่เดียวอีกต่อไปแล้ว

ทุนของบริษัท ก็ไม่จำเป็นต้องกู้จาก “ธนาคาร” ผ่านกระบวนการมากมาย ให้ปวดหัวอีกต่อไป

แหล่งเงินใหม่ๆ มากมายที่ต้นทุนเงินอาจจะถูกกว่า ก็จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

องค์กรใดที่เข้าใจโลกที่เปลี่ยนไป จะสามารถทำงานได้ “เร็ว” ขึ้น

ด้วยต้นทุน “มนุษย์” และ “เงินทุน” ที่ถูกลง

just in time ชนะ just in case

“คาถากันตาย” ที่ผู้บริหารยุคใหม่ควรท่องไว้