อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่มักลักขโมย (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตอน 1

ในนิวยอร์ก บารอนเนส เอลซ่า หาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานในโรงงานผลิตบุหรี่ และรับจ้างเป็นนางแบบให้กับศิลปินชื่อดังในนิวยอร์กยุคนั้น อย่าง แมน เรย์ (Man Ray), หลุยส์ บูเช่ (Louis Bouch?) และ จอร์จ บิดเดิล (George Biddle)

มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่ง จอร์จ บิดเดิล จ้างหญิงชาวเยอรมันมาเป็นแบบวาดภาพนู้ด

เมื่อเธอมาถึง เขาก็บอกให้เธอถอดเสื้อผ้า เธอเหวี่ยงเสื้อคลุมกันฝนที่สวมอยู่ออก ภายใต้เสื้อคลุมไม่ใช่ร่างเปลือยเปล่าล่อนจ้อน แต่เธอสวมบราที่ทำจากกระป๋องซุปมะเขือเทศที่ผูกโยงด้วยเชือกสีเขียวแปร๋น

คอแขวนกรงนกเล็กๆ ใส่นกขมิ้น

ข้อมือสวมห่วงผ้าม่านเป็นพวงที่เพิ่งขโมยมาจากห้างสรรพสินค้า

ศีรษะสวมหมวกที่ตกแต่งด้วยแครอต หัวผักกาด และผักนานาชนิด

ในวินาทีนั้น บิดเดิลผู้น่าสงสารก็รู้ว่าเขาโดนศิลปินสาวสุดเฮี้ยนผู้นี้สำแดงศิลปะแฮปเพนนิ่งใส่ จนตัวเองเปลี่ยนสถานภาพจากศิลปินกลายเป็นผู้ชมงานไปเสียแล้ว

บารอนเนส

ยิ่งไปกว่านั้น บารอนเนส เอลซ่า ของเราก็ได้พานพบกับศิลปินสัญชาติฝรั่งเศสอเมริกันสุดฮ็อตในยุคนั้นอย่างดูชองป์ และตกหลุมเสน่ห์ของเขาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

และเธอก็สำแดงความหลงใหลนั้นออกมาเป็นศิลปะเพอร์ฟอร์มานซ์ด้วยการฉีกเอาบทความที่เขียนวิจารณ์ผลงานชื่อดังของดูชองป์ในช่วงนั้นอย่าง Nude Descending a Staircase, 1912 มาทาถู ทาถู ไปทั่วทุกตารางนิ้วบนเรือนกายเปลือยเปล่า เพื่อเชื่อมโยงภาพเปลือยชื่อดังของดูชองป์เข้ากับร่างกายเปลือยของเธออย่างแนบชิดสนิทเนื้อ

พลางท่องบทกวีที่เป็นเหมือนหนึ่งการถึงจุดสุดยอดของกิจกรรมนี้ที่ประกาศว่า “มาร์แซล, มาร์แซล, ฉันรักคุณจนแทบบ้า, มาร์แซลจ๋าาา”

ถึงป๋าดูชองป์ของเราปฏิเสธที่จะสานต่อสัมพันธ์ทางเพศกับเธอไปอย่างสุภาพ ด้วยความที่เขาไม่ใช่ศิลปินหูดำแบบปิกัสโซ่ (ฮา)

แต่เขาก็จดจำบุคลิกและความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานศิลปะเธอได้เป็นอย่างดี

เขาถึงกับกล่าวว่า “(บารอนเนส) ไม่ใช่นักทำนายอนาคต แต่เธอคือ “อนาคต” เลยต่างหาก

God (1917)

นอกจากทำศิลปะเพอร์ฟอร์มานซ์และเขียนบทกวีแล้ว บารอนเนส เอลซ่า ยังทำงานจิตรกรรมและประติมากรรมจากขยะและของเก็บตกเหลือใช้ที่เธอเก็บมาจากข้างถนน เธอยังเป็นที่รู้จักจากการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายจากสิ่งของเก็บตกเหลือใช้ มาสร้าง “ศิลปะปะติดที่มีชีวิต” ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือในการลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับชีวิต

เชื่อกันว่า การที่ บารอนเนส เอลซ่า หยิบฉวยเอาข้าวของเก็บตกเหลือใช้มาสร้างเป็นงานศิลปะของเธอนั้น เธอทำก่อนที่ดูชองป์จะประกาศแนวคิด readymades ขึ้นมาเสียอีก

ยกตัวอย่างเช่น ผลงาน Enduring Ornament (1913) ประติมากรรมที่ทำจากห่วงเหล็กประดับสวนสนิมเขรอะที่เธอเก็บได้ระหว่างทางไปงานแต่งงานกับสามีคนที่สามของเธอ

นอกจากจะนำของเก็บตกเหลือใช้มาทำเป็นงานศิลปะ เธอยังตั้งชื่อมันในเชิงจิตวิญญาณและศาสนาหรือมีนัยยะแฝงเร้น อาทิ เศษไม้ธรรมดาๆ ที่เธอเอามาติดแท่นโชว์ ที่ตั้งชื่อว่า Cathedral (1918) (มหาวิหาร) หรือท่อประปาดักกลิ่นเหล็กเก่ากรุที่ถูกติดบนกล่องไม้งานช่าง ที่มีชื่อว่า God (1917) (เดิมมันถูกบันทึกไว้ว่าเป็นผลงานของศิลปินอเมริกัน มอร์ตัน แชมเบิร์ก (Morton Livingston Schamberg) แต่ในภายหลังนักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อว่ามันเป็นผลงานของ บารอนเนส เอลซ่า มากกว่า ส่วนแชมเบิร์กเป็นเพียงผู้ถ่ายภาพผลงานชิ้นนี้เท่านั้น)

ซึ่งลักษณะของการหยิบฉวยเอาของเก็บตกเหลือใช้มาทำให้เป็นศิลปะ การเล่นกับสุนทรียะของสุขภัณฑ์ที่เกี่ยวกับปฏิกูล (ท่อดักกลิ่น/โถฉี่)

การตั้งชื่องานอย่างมีนัยยะแฝงเร้นและอารมณ์ขันพิลึกพิลั่นในผลงานของ บารอนเนส เอลซ่า นั้นมีความพ้องต้องกันกับผลงานโถฉี่ศิลปะ หรือ Fountain อันลือลั่นของดูชองป์อย่างปฏิเสธไม่ได้

FOUNTAIN

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็หมายความว่าป๊ะป๋าดูชองป์ของเราแอบหยิบฉวยเอาเครดิตจากงานของ บารอนเนส เอลซ่า มาเป็นของตัวเองหน้าตาเฉย

แม้ดูชองป์จะเคยกล่าวว่า เขาซื้อโถฉี่ที่ว่ามาจากบริษัทขายอุปกรณ์ก่อสร้าง JL Mott Iron Works ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในที่มาของลายเซ็น R. Mutt บนโถ แต่ก็มีคนไปสืบค้นในภายหลังว่าบริษัทนี้ไม่ได้ผลิตโถฉี่รุ่นนี้ออกมาขายแต่อย่างใด (อ่านะ!)

แต่อย่างไรก็ดี คู่กรณีอย่างดูชองป์กับบารอนเนสที่รู้ความจริงเบื้องหลังเรื่องนี้ ต่างก็ตายจากโลกนี้ไปนานนมแล้ว

เหลือทิ้งไว้แต่ปริศนาให้คนรุ่นหลังอย่างเราๆ ท่านๆ ได้แต่สงสัยกันต่อไปนั่นแหละครับท่านผู้อ่าน!